Skip to main content

ระเบียบสังคมแบบ ‘บ้านๆ’

คอลัมน์/ชุมชน


เมื่อสองปีก่อน ตอนที่ผมย้ายมาอยู่ลำพูนใหม่ๆ มีหลายเรื่องที่ผมต้องปรับตัวยอมรับ และปฏิบัติตามเพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกับสังคมใหม่ได้ ในบรรดาหลายเรื่องนั้น มีอยู่เรื่องหนึ่งที่ติดอยู่ในใจผมมาจนทุกวันนี้ ไม่ใช่ว่ายอมรับไม่ได้นะครับ เพียงแต่คิดว่า ที่อื่นๆ ในภาคเหนือหรือที่อื่นๆ ในประเทศไทย เขาจะเป็นแบบนี้กันหรือเปล่า


บ้านเช่าหลังแรกที่ผมเข้ามาอยู่ มีพื้นที่หลังบ้านประมาณหนึ่งงาน ผมถามเจ้าของบ้านว่า ผมสามารถจะปลูกอะไรไว้กินได้บ้างหรือเปล่า คุณป้าเจ้าของบ้าน บอกว่า ยินดีไม่มีปัญหา ดังนั้น ผมจึงลงผักไว้หลายชนิด ทั้งกะเพรา โหระพา ฟักทอง ถั่วฝักยาว ถั่วพู รดน้ำเช้าเย็นเข้า ไม่นานนัก พืชผักเหล่านั้นก็เติบโต เริ่มได้เก็บกินแทบทุกวัน หลังจากนั้นไม่นาน ผมสังเกตุว่า พืชผักที่ปลูกไว้ มันหายไปเร็วผิดปกติ วันหนึ่งกลับบ้านเร็ว ถึงได้เห็นว่า ชาวบ้านแถวนั้นนั่นเองที่เข้ามาเก็บ พอเห็นหน้าผมเขาก็บอกว่าขอเก็บไปกินหน่อยนะ ผมบอกว่าตามสบายครับ เขาก็เก็บไปแบบพอประมาณ แล้วก็กลับบ้านไป ผมคิดว่า เขาขอผมเพราะเขาเห็นผม ถ้าเขาไม่เห็นผมเขาก็คงไม่ขอ และเก็บไปเท่าที่เขาอยากจะเก็บ และแน่นอนว่าไม่ได้มีแค่คนเดียวที่มาเก็บ


ช่วงที่ฝนเริ่มลง พืชผักก็ยิ่งเติบโต ให้ผลได้เก็บกินกันจนบางวันไม่ต้องซื้อกับข้าว แล้วในวันหยุดวันหนึ่ง ขณะที่ผมกำลังทานข้าวเย็น ก็ได้เห็นคุณป้าเจ้าของบ้านเช่า พาเพื่อนบ้านเข้ามาเก็บผักที่ผมปลูกไว้ ราวกับเป็นผักของแกเอง ซึ่งอันที่จริง ผมก็ชักจะชินๆ กับเรื่องนี้เสียแล้ว คิดว่าแบ่งๆ กันไป แต่ปรากฎว่า เพื่อนบ้านคุณป้าไม่ได้เก็บแค่ผัก แต่เก็บดอกฟักทองที่เพิ่งจะออกไปด้วย

(เดาว่าคงเอาไปนึ่งจิ้มน้ำพริก) ผมเลยลองเดินออกไปทักทายเขา ดูซิ เขาจะว่ายังไง


ปรากฎว่า คุณป้าและเขาสะดุ้งนิดๆ แล้วก็ทักทายผมนิดหน่อยตามมารยาท ก่อนจะถามว่า "ฟักทองนี่ไม่ออกผลบ้างเหรอ" ผมได้ส่ายหน้ายิ้มๆ ไม่ตอบอะไร คิดในใจว่า "ก็เด็ดดอกฟักทองไปกินแล้วมันจะออกผลได้ยังไง (วะ!)"


ยิ่งพืชผักที่ผมปลูกไว้เติบโต คุณป้าเจ้าของบ้านและเพื่อนบ้านของแก ยิ่งเห็นว่าหลังบ้านเช่าของผมเป็นซุปเปอร์มาเก็ตมากขึ้นเท่านั้น แห่กันมาเก็บจนช่วงหลังๆ ผมแทบจะไม่ได้กินผลผลิตที่ปลูกไว้กินเอง ภรรยาผมบอกว่า ถ้ารู้ว่าเป็นอย่างนี้ไม่ปลูกอะไรเลยดีกว่า ความอดทนของผมจบลงในวันที่ลูกชายของคุณป้าแกมาเก็บกะเพรา คือถ้าเก็บตามปกตินี่ก็ไม่ว่าหรอกครับ เพราะมันก็ต้นใหญ่พอสมควรแล้ว แต่นี่พี่แกเล่นถอนไปทั้งต้นเลย ทั้งที่มันก็มีอยู่แค่ไม่กี่ต้น พอผมเดินออกไปดู อยากจะถามว่า แกจะถอนเอาไปทำไมทั้งต้น แกก็บอกหน้าตาเฉยว่า

"พันธุ์มันดีนะ ขอไปทำพันธุ์หน่อยก็แล้วกัน"

อันที่จริง คุณป้าเจ้าของบ้านกับลูกชายแกก็มีน้ำใจดี ทำกับข้าวก็แบ่งมาให้เรื่อย แต่นั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องที่เกิดขึ้น พอดีกับที่ผมไปเจอบ้านเช่าหลังใหม่ที่สภาพดีกว่า ค่าเช่าถูกกว่า เลยตัดสินใจย้ายออกตอนสิ้นเดือน ลูกชายป้าเจ้าของบ้าน เขายังมาบ่นๆ ว่าไม่น่าย้าย

"พี่ก็สงสัยนะ ว่าใครไปทำอะไรให้เราหรือเปล่า อยู่ดีๆ ทำไมถึงได้ย้ายออกไปล่ะ"
"
บ้านหลังใหม่ค่าเช่าถูกกว่าน่ะครับ" ผมตอบแบบเลี่ยงๆ

บ้านเช่าหลังใหม่คือหลังที่ผมอยู่ปัจจุบันนี้ มีพื้นที่หลังบ้านเหมือนหลังเก่า แต่ผมก็ตัดสินจะไม่ปลูกอะไรแล้ว เพราะเกรงว่า คนปลูกคงจะได้กินน้อยกว่าคนมาขอ ซึ่งผิดกับบ้านคุณน้าที่อยู่ติดกัน คุณน้าแกปลูกผักสวนครัวไว้หลายอย่าง ทั้งตะไคร้ มะเขือ พริก ฯลฯ เวลาใครมาขอแกก็ให้ ทีแรกผมคิดว่าคุณน้าแกเป็นคนใจดีทีเดียว แต่พออยู่ไปนานๆ ผมก็ได้รู้ว่า พืชผักที่แกให้คนอื่นนั้น ไม่ใช่พืชผักที่ต้องดูแลอะไร ทั้งตะไคร้ ทั้งมะเขือ มันก็ดกของมันอยู่อย่างนั้นทั้งปี ไม่ต้องให้ปุ๋ยมันก็เติบโตของมันเอง แต่พืชผักที่แกไม่อยากแบ่งให้คนอื่นนั้นก็มีอยู่ เพราะหลายครั้งที่ผมเห็นแกแอบไปปลูกผักไว้ข้างรั้วบ้านหลังกอใบเตยกอใหญ่ ตรงที่ลับตาคน แน่ละครับ เป็นผม ผมก็ไม่อยากปลูกพวกผักชีฝรั่ง หรือ สะระแหน่ หรือ คื่นช่ายไว้ให้ใครมาขอเก็บบ่อยๆ


นอกจากนี้ ที่หลังบ้านของบ้านเช่า เป็นต้นมะม่วงลูกดกสองต้น ซึ่งรสชาติก็ใช่ว่าจะดี ถ้าดิบก็เปรี้ยว ถ้าสุกก็จืด แต่ด้วยความที่มันเป็นของ

"ฟรี" ใครใคร่เก็บก็เก็บ พอมันเริ่มจะโต มันก็ถูกสอยไปเกือบจะหมดต้นในเวลาอันรวดเร็ว

ไปๆ มาๆ ผมจึงสรุปได้ว่า ชาวบ้านแถวนี้เขาเป็นกันอย่างนี้ คือขอเก็บผักเก็บพืชผลกันเป็นเรื่องธรรมดา ส่วนใหญ่ก็เป็นญาติพี่น้องหรือคนรู้จักกันทั้งหมู่บ้าน จะไม่ให้ก็กระไรอยู่ แต่ผมไม่รู้ว่า เขาจะคิดกันหรือเปล่าว่า บ้านที่เขาขอนั้น อาจจะเป็นบ้านที่คนอื่นๆ ก็มาขอด้วย พอขอกันมากๆ เข้า บ้านที่ปลูกก็อาจจะไม่ได้กินเลยก็เป็นได้


มีอยู่ช่วงหนึ่ง ที่หลังบ้านผมมีมะเขือเทศขึ้นเอง แถมดกเสียด้วย สันนิษฐานว่า มันคงจะมาจากเศษอาหารเวลาล้างจานแล้วเมล็ดมันไปขึ้นพอดี ก็เลยได้เก็บกินอยู่หลายหน แต่การเก็บแต่ละครั้งก็เหมือนการชิงไหวชิงพริบกับชาวบ้านแถวนั้น เพราะถ้าลูกไหนใกล้จะสุก ถ้าเก็บช้าไปแค่วันเดียว กลับมาดูอีกที ลูกนั้นจะอันตรธานหายไปเสียแล้ว หลังๆ ผมเลยใช้วิธี เก็บมาก่อน ถึงมันจะยังเขียวอยู่ แต่ทิ้งไว้ไม่กี่วัน เดี๋ยวมันก็สุกเอง


คิดแล้วก็ขำๆ ดีเหมือนกัน ระเบียบสังคมแบบ

"บ้านๆ" นี้ เป็นเรื่องที่ชาวบ้านแถวที่ผมอยู่จำต้องยอมรับไม่ว่าจะชอบหรือไม่ก็ตาม ใครมีก็ถูกขอ ใครไม่มีก็ไม่มีใครมาขอ ฉะนั้น จึงไม่ค่อยจะมีใครปลูกอะไรไว้กินเอง หรือหากจะปลูกก็ต้องปลูกแบบแอบๆ ไม่ให้ใครรู้ใครเห็น ที่จริง ถ้าทุกๆ บ้านจะปลูกผักไว้กินเอง ก็สามารถทำได้ เพราะมันไม่ได้ใช้พื้นที่อะไรมากมาย เพียงแต่อาศัยการเอาใจใส่ดูแลสม่ำเสมอหน่อย แต่นี่คนไม่ปลูกมาขอคนปลูก มันก็กลายเป็นไม่มีใครอยากปลูก เพราะมีคนปลูกแล้ว ค่อยไปขอเอาดีกว่า ง่ายดี

ผมไม่แน่ใจว่าเรื่องนี้จะเรียกว่าอะไรดี การพึ่งพาจนกลายเป็นการเบียดเบียนหรือเปล่า

? ผมคิดว่า อะไรก็ตามที่เราไม่ได้ปลูกไม่ได้สร้างขึ้นเอง มัวแต่ร้องขอกันจนชิน มันไม่มีทางทำให้สังคมดีขึ้นมาได้หรอกครับ คนสร้างคนปลูกมีน้อยกว่าคนร้องขอ มันก็เลยต้องแก่งแย่งกัน ไม่มีใครคิดจะแบ่งปัน พอนานๆ เข้ามันก็กลายเป็นระเบียบสังคมแบบบ้านๆ ไปได้

เรื่องบางเรื่อง ไม่ใช่เรื่องที่ดี แต่เราก็ต้องยอมรับ เพราะมันถูกสร้างมาก่อนที่เราจะมาอยู่ หลายเรื่องก็ถูกสร้างมาก่อนที่จะเราจะเกิด มันดำรงอยู่ในสังคมได้ เพราะคนส่วนใหญ่ได้ประโยชน์ และแม้เราจะไม่ได้ประโยชน์ แต่หากเราไม่ต้องการมีปัญหากับคนอื่นๆ ก็ต้องยอมรับ แต่ก็ใช่ว่าสิ่งเหล่านี้ จะไม่อาจเปลี่ยนแปลง หรือต่อต้านไม่ได้ แม้แต่กฎหมายก็ยังฝ่าฝืนกันได้ แม้แต่รัฐธรรมนูญก็ยังฉีกทิ้งได้


สำคัญว่า เราทุกคนมองเห็นหรือเปล่าว่า

"อะไร" ที่มันไม่ถูกต้องและควรจะเปลี่ยนแปลง