Skip to main content

สู่แขวงจำปาสัก นักครา

คอลัมน์/ชุมชน

ไปเมืองเก่า เพื่อเอาสิ่งใหม่ แต่สิ่งที่ได้ คลับคล้ายคลับคลา...
"
ฉันจะไปจำปาสัก" บอกกับเพื่อนร่วมทางที่เริ่มต้นมาด้วยกันจากเมืองเลยโน่น
"
จะบ้าเหรอ ไปจำปาสักต้องข้ามที่ช่องเม็ก ถึงจะใกล้" คุณนายโวยวาย
"
ช่างเถอะ ฉันจะไปทางนี้แหละ แต่อาจจะออกทางช่องเม็ก" ยืนยันความตั้งใจ แล้วเราก็อำลากันตรงเมืองมุกดาหาร เพื่อนบ่ายหน้ากลับกรุงเทพฯ ฉันลงเรือข้ามโขงมาฝั่งลาว

ไม่มีหนังสือแนะนำการเดินทาง ไม่มีแผนที่ ไม่ได้ศึกษาเส้นทาง รู้แต่ว่าจะไปปราสาทวัดพู...จึงมีเพียงจินตนาการว่าที่นั่นจะต้องหอมกรุ่นไปด้วยกลิ่นดอกจำปา แล้วอลังการประมาณสรวงสวรรค์สถิตอยู่บนผืนดิน


ในเมืองปากเซ ที่พักริมฝั่งเซโดน


ตอนค่ำ... เห็นหนังสือไกด์บุค "Lonely Planet" ฉบับเก่าๆ ซุกอยู่ในมุมหนังสือที่เกสต์เฮาท์จึงหยิบมาเปิดอ่าน


"มีการเดินทางทางเรือด้วยแฮะ" จึงถามหญิงสาวที่นั่งรับแขกหน้าเคาน์เตอร์ว่าจะไปปราสาทวัดพู ไปลงเรือได้ที่ไหน เธอแนะให้คุยกับผู้ชายอีกคน ข้อมูลที่ได้คือ มีแต่เรือไปตอนเช้า และต้องกลับในเช้าอีกวัน เพราะเรือนั่นจะล่องไปถึงแก่งหลี่ผี
"
และถ้าจะไปทางรถล่ะ"
"
ก็ต้องค้างคืนเหมือนกัน เพราะว่ารถที่ออกจากเมืองปากเซตอนเช้า จะกลับมาอีกทีก็พรุ่งนี้เช้าตรู่ เป็นรถของชาวบ้านที่มาตลาดน่ะ จึงมีวันละเที่ยว ถ้าอยากไปเร็วมาเร็วต้องเหมาไป"
"!?!"


แค่ไม่ถึงห้าสิบกิโลเมตร ต้องเดินทางแบบค้างคืน เยี่ยมจริงๆ เท่าที่ดูข้อมูลในหนังสือ ถนนหนทางก็สะดวกสบาย แม้จะต้องลงแพข้ามโขงก็ตาม
"
เอาไงเอากัน ลุย!" ฉันตัดสินใจ แต่ก่อนอื่น พรุ่งนี้เช้าต้องออกไปสำรวจตลาดเช้าเสียก่อน ไม่งั้นรู้สึกเหมือนเที่ยวแบบไร้สาระ (หาข้ออ้างเพื่อว่าการกลับมาใหม่จะได้ไม่โง่งมโข่งน่ะ)




ตลาดดาวเฮือง ช่างกว้างใหญ่และน่าสนใจ ฉันร้องโอ้โห อื้อหือ ไปทุกมุมมอง กดชัทเตอร์มาหลายร้อยรูป ตลาดอะไรช่างใหญ่โตจริงๆ ทั้งอาคารด้านในที่ขายของกินได้ทันที กับบริเวณรอบนอกที่ขายผักปลา อาหารสดๆ ประมาณด้วยสายตา ตลาดนี้พื้นที่พอๆ กับปากคลองตลาด หรืออาจจะใหญ่กว่าด้วยซ้ำ ทั้งที่ประชากรของเขาน้อยกว่าเราเยอะ

อืม...คนลาวเขาช่างผลิตช่างกินและช่างซื้อกันขนาดนี้เลยหรือ แต่ทว่าพืชผักที่มองเห็น มากกว่าครึ่งคือผักที่ปลูกเพื่อการตลาด ประเภทกะหล่ำปลี ผักคะน้า ส่วนผักพื้นบ้านมีน้อยกว่าจนน่าแปลกใจ ฉันไม่ได้เจาะลึกว่าเส้นทางเดินของผักเหล่านี้จะไปทางไหน แต่ที่เห็นชัดๆ คือสินค้าอุปโภคประเภทเสื้อผ้า กระเป๋า เครื่องพลาสติกมาจากจีน และอาหารแห้งรวมทั้งเครื่องปรุงรสมาจากไทย ดังนั้น ราคาเฝอในร้านเล็กๆ ชามละสามสิบ สามสิบห้าบาท จึงไม่ย่อมเยาว์นักหากเทียบกับรายได้ขั้นต่ำต่อวัน ที่อยู่ในประมาณร้อยบาทไทย


ฉันมักสอบถามค่าแรงขั้นต่ำของทุกประเทศที่ไป เพื่อจะได้นำมาเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายในหลายเรื่องของการเดินทาง แต่ที่ลาวนี่น่างงมาก เพราะว่าราคาอาหารที่ขายข้างรถหรือขึ้นมาขายบนรถเมล์ ไม่ถูกเลย แต่ผู้โดยสารยังซื้อกันคนละเยอะแยะ เช่น ฝักเมล็ดบัวมัดหนึ่งมีประมาณห้าฝัก ขายในราคาเทียบกับเงินไทย 10 บาท ไก่ย่างน่องกลางๆ เสียบไม้ขาย ไม้ละ 20 บาท ข้าวเหนียวถุงเล็กๆ แถมแจ่วบองห่อ กระจิ๊ดริด ราคา 5 บาท น้ำดื่มขวดละ 5 บาท




สรุปว่า อาหารการกินราคาพอๆ กับประเทศไทย แม้แต่มื้อหนึ่งของฉันที่มีเพียงปลาทับทิมย่าง ข้าวเหนียวหนึ่งกล่อง เบียร์ลาวหนึ่งกระป๋อง ต้องควักเงินลาวจ่ายไปประมาณ เกือบ 300 บาท อุแม่เจ้า...อาหารแพงจริงๆ นั่นเพราะเครื่องปรุงทั้งหลายมาจากประเทศไทย ....ใครบางคนเฉลยปัญหาคาใจให้ฉัน


"แล้วชาวบ้านจริงๆ เขากินอยู่ยังไงคะ" อดไม่ได้ จึงต้องสอบถามต่อ เขาคือคนขับรถโดยสาร ที่มีโอกาสนั่งคุยกันตอนรถอยู่บนแพขนานยนต์
"
เขาอยู่ได้ เพราะไม่ซื้อกิน และยังเลี้ยงหมูเลี้ยงไก่ไว้กินเนื้อเองอีกด้วย" ....(ราคาหมูเนื้อแดงในตลาด กิโลกรัมละ 120 บาท จ้า)


คำตอบชัดเจน ตรงกับภาพที่เห็น เพราะตามรายทางข้างถนน และบางครั้งก็กลางถนน จะมีไก่ มีหมูกระโดน มีวัวควายพันธุ์พื้นบ้าน เดินไปเดินมา มันเป็นแหล่งอาหารอย่างดีและมีคุณภาพ ปราศจากสารเคมีทุกประการ ยังไม่นับรวมป่าไม้ธรรมชาติ ที่ยังคงความหลากหลายเอาไว้รอบๆ หมู่บ้าน คือแหล่งอาหารอีกแห่งหนึ่งที่สำคัญ


น่าดีใจกับลาว (ทางใต้) ที่ยังมีแหล่งอาหารธรรมชาติอยู่รอบบ้านรอบเมือง แต่ก็น่าวิตกเล็กน้อย เมื่อเห็นต้นกล้ายางพารายืนเรียงแน่นขนัดอยู่ในแปลงเพาะชำข้างถนนสายหลัก ระหว่างสุวรรณเขต-ปากเซ ที่คิดวิตกแทนเขา เพราะว่าการปลูกพืชใดๆ ก็ตามที่ทำลายพีชพันธุ์ดั้งเดิมให้หมดไป ก็เหมือนการยินยอมผ่าตัดเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ดูดีตามที่เขาว่า ทั้งที่ไม่รู้เลยว่าจะดีอย่างที่ว่านั้นหรือไม่ และดีกว่าอย่างไร กว่าจะได้คำตอบ...ทุกอย่างก็ยากจะแก้ไข ต้องปล่อยเลยตามเลย ไม่สามารถเรียกหาแขนขาเดิมมาใช้งานได้อีก


คิดตามประสาฉัน หากลาวปล่อยป่าเอาไว้อย่างนั้น แล้วดูแลเรื่องเห็ดป่าให้ดี ส่งเสริมให้เป็นอุตสาหกรรม การส่งออก มาตีตลาดไทยแลกกับเครื่องปรุง น้ำปลา ผงชูรส น่าจะดีไม่น้อย


ที่ได้ข่าวดีอีกอย่างคือ มีคนปลูกผลไม้ ประเภทเงาะ มังคุด ได้แล้ว แถวๆ ปากช่อง ที่ปลูกกาแฟกันมาก เพราะฉันลองถามราคามังคุดที่ตลาดดาวเฮือง ที่นำเข้าจากเมืองไทย ลูกเล็กๆ กิโลกรัมละ 60 บาท ลูกขนาดนี้ ออกจากสวนบ้านฉันไม่เกิน 5 บาทเองแหละ


แต่แหล่งข่าวคนเดิม บอกต่อว่า.... คนปลูกเป็นคนไทย !!
ไม่รู้จะดีใจหรือเสียใจ แต่ยังไงก็ยังดีกว่าการนำเข้าล่ะนะ