Skip to main content

นิทรรศการห้าเชียง ภาพงามตามพุทธศิลป์

คอลัมน์/ชุมชน

5 เมืองหลักในลุ่มน้ำโขง จากต้นน้ำ คือ เชียงรุ่งในเขตสิบสองปันนา มณฑลยูนนานจีน เชียงตุงในพม่า เชียงแสนและเชียงราย เชียงใหม่ ถึงเชียงทอง หลวงพระบาง คืออู่อารยธรรมอันงดงาม มีอายุไม่น้อยกว่าสามพันปี และยังคงดำรงอยู่อย่างท้าทายยุคสมัยโลกาภิวัฒน์

ผู้อำนวยการไร่แม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย อาจารย์นคร พงษ์น้อย ได้เล็งเห็นคุณค่าอารยธรรมอันมีรากฐานมาจากพระพุทธศาสนาและธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ของ 5 เมืองสำคัญเหล่านี้ จึงได้ร่วมกับอาจารย์วิถี พานิชพันธ์ อดีตอาจารย์แห่งคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปัจจุบันเป็นอาจารย์พิเศษ มหาวิทยาลัยนเรศวรวิทยาเขตพะเยา จัดนิทรรศการภาพถ่ายโดยนักประวัติศาสตร์ศิลป์ล้านนา แสดงวิถีชีวิตของผู้คนที่ดำเนินตามรอยพระพุทธศาสนา ธรรมชาติที่ยังบริสุทธิ์และวัดวาอารามที่สงบร่มเย็น


คุณรีเบ็กก้า สิทธิวงศ์ (คุณเบ็กกี้) ผู้ร่วมก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ไร่แม่ฟ้าหลวงคู่กับอาจารย์นคร พงษ์น้อย เธอคือชาวอเมริกันที่ฟ้าประทานมาให้เป็นของขวัญแก่แผ่นดินล้านนา เธอชื่นชมในความงามของศิลปะทุกชนิดที่รังสรรค์โดยชาวบ้าน คุณเบ็กกี้ ได้กรุณานำดิฉันชมงานนิทรรศการพุทธศิลป์ 5 เชียง เมื่อกลางเดือนพฤษภาคม 2550 นี้เอง

เกือบสามชั่วโมงที่ได้ดื่มด่ำกับภาพงามอันนำมาซึ่งความสุข สงบ ปีติ ของ 6 ศิลปินผู้ถ่ายภาพในมุมมองนักประวัติศาสตร์ศิลปะล้านนา (อาจารย์วิถี พานิชพันธ์ อาจารย์พิเศษแห่งมหาวิทยาลัยนเรศวรวิทยาเขตพะเยา, คุณวรลัญจก์ บุณยสุรัตน์, คุณแอลเจล่า ศรีสมวงศ์วัฒนา, คุณมาณพ มานะแซม, คุณภาณุพงษ์ เลาหสม, คุณจรัล ลอยมี) ดิฉันขอเชิญชวนให้ชาวเชียงรายและผู้ที่มีโอกาสได้มาเยือนเชียงราย พาครอบครัวมาชื่นชมกับภาพถ่ายชิ้นเลิศที่แสดงถึงวิถีชีวิตที่สงบสุข เรียบง่าย อยู่ท่ามกลางธรรมชาติ และวัดวาอารามอันทรงคุณค่าทางจิตใจ


นิทรรศการนี้แสดงอยู่ในหอแก้วของไร่แม่ฟ้าหลวง บ้านป่างิ้ว ตำบลรอบเวียง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย จนถึงเดือนมีนาคม 2551 ผู้สนใจเข้าชมติดต่อได้ที่ 053-716605-7


สำหรับโรงเรียนที่ประสงค์จะพานักเรียนเข้าชมเป็นหมู่คณะ ไร่แม่ฟ้าหลวงยินดีต้อนรับโดยไม่คิดค่าผ่านประตู


คุณเบ็กกี้เล่าว่าพิพิธภัณฑ์แม่ฟ้าหลวงเน้นการอนุรักษ์งานศิลปะของชาวบ้าน โดยเก็บรวบรวมงานไม้จากเมืองต่าง ๆ ในดินแดนล้านนา เก็บรักษาไว้อย่างเป็นระบบ แล้วค่อย ๆ ทยอยนำมาจัดนิทรรศการในโอกาสที่เหมาะสม ที่พิพิธภัณฑ์แม่ฟ้าหลวงใช้หลักการประหยัด เรียบง่าย ใช้ปัญญามาก ใช้เงินน้อย อย่างนิทรรศการพุทธศิลป์ 5 เชียง ซึ่งแสดงภาพถ่ายจำนวน 88 ภาพ และงานแกะสลักไม้อีกจำนวนหนึ่ง ใช้งบประมาณแค่ 3,500 บาท เป็นค่าผ้าสีแดงที่ใช้เป็นฉากพื้นหลังของภาพ ซื้อจากตลาดแค่เมตรละ 20 บาท กระดาษสาฝีมือชาวบ้านใช้เขียนคำอธิบายภาพและค่าเส้นฝ้ายทอมือแสดงถึงการเชื่อมโยงวัฒนธรรมและจิตใจของชนชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในเมือง 5 เชียงนี้


คำอธิบายคุณค่าของทั้ง 5 เชียงเขียนรจนาเป็นร้อยแก้วอย่างไพเราะได้สาระจับใจ เชิญอ่านและชมภาพได้เลยค่ะ


เชียงรายและเชียงแสน
นครแห่งแบบแผนและความงดงามในอดีต


ดินแดนอันอุดมสมบูรณ์ระหว่างลุ่มแม่น้ำกกและแม่น้ำโขงที่เป็นจุดกำเนิดของความรุ่งเรืองทางวัฒนธรรมไทยวน ซึ่งนับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อพัฒนาการของศิลปวัฒน ธรรมล้านนาที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนาน


ความสัมพันธ์ที่สร้างให้อาณาจักรล้านนามีความมั่นคง นับตั้งแต่แรกสถาปนานั้น ซึ่งทั้งเมืองเชียงรายและเมืองเชียงแสนต่างก็ได้มีความสำคัญต่อระบบการจัดการทั้งการปกครองของล้านนา อันมีเมืองใหม่เป็นศูนย์กลางกระทั่งช่วงที่อาณาจักรล้านนาเสื่อมลงในช่วงระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๒๒ –๒๔ เมืองเชียงแสนยังคงสถานภาพความสำคัญของล้านนาในช่วงเวลานั้นอยู่


จากบทบาทความสำคัญของเมืองเชียงแสนในครั้งนั้น จึงได้ปรากฎร่องรอยหลักฐานทางศิลปะและวัฒนธรรมไทยวนแบบเชียงแสน ซึ่งยอมรับกันว่าเป็นรูปแบบความงดงามที่มีแบบแผนที่คลาสสิคในหลายๆ แขนง เช่น สถาปัตยกรรม ผ้าแพรพรรณ ดนตรีและอาหารเป็นต้น


นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่
นครแห่งชีวิตและความมั่งคั่ง


นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ ศูนย์กลางของอาณาจักรล้านนาเมื่อปี พ..๑๘๓๙ สถาปนาโดยพญามังรายผู้ที่สืบสายในเชื้อเครือของลวจักรราช ความมั่งคั่งของนครเชียงใหม่ เกิดขึ้นบนเส้นทางการค้าทางไกลจากเมืองท่าบริเวณอ่าวเบงกอลขึ้นมาสู่เมืองต่าง ๆ บนเส้นทางการค้านี้ โดยมีนครเชียงใหม่เปรียบเสมือนชุมทางสำคัญที่ได้กลายเป็นเครือข่ายความสัมพันธ์ทางการเมือง การปกครอง เครือญาติและศาสนา อันได้แก่ เมืองเชียงราย เมืองเชียงแสน เมืองเชียงทอง ทางตะวันออก เมืองเชียงตุงและเมืองเชียงรุ่งทางตอนบนเป็นต้น


โดยเฉพาะการศาสนาในนครเชียงใหม่ นับได้ว่าเป็นศูนย์กลางการเผยแพร่ไปยังภูมิภาคแถบนี้ ส่งผลให้หัวเมืองน้อยใหญ่ต่างได้รับอิทธิพลภาษา วรรณกรรมและงานศิลปกรรมทางศาสนาที่มีทั้งลักษณะร่วมและแตกต่างกันไปตามสภาพสังคมวัฒนธรรมของแต่ละแห่งกลายเป็นเอกลักษณ์ทางศิลปะอันเป็นจุดเด่นของท้องถิ่นต่าง ๆ อย่างน่าสนใจ


เชียงทอง หลวงพระบาง
นครที่งดงามหลังม่านไหมและสายน้ำ


ความสัมพันธ์เหนือดินแดนสองฝั่งโขงที่ยั่งยืนอยู่ในภูมิภาคทางตอนบนแถบนี้ เมืองเชียงทองหรือนครหลวงพระบางศูนย์กลางแห่งอาณาจักรล้านช้างนับเป็นหลักฐานสำคัญที่ยืนยันถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทยวนและไทลาวมีมาอย่างยาวนาน นับเนื่องตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๙ เป็นต้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสัมพันธ์ระหว่างล้านนากับล้านช้าง ได้มีปรากฎหลักฐานชัดเจนในช่วงรัชสมัยของพระเจ้าไชยเชษฐาผู้ครองสองนครที่มีเชื้อสายทั้งจากวงศ์ฟ้างุ้มโดยทางฝ่ายพระราชบิดาและราชวงค์มังรายจากทางฝ่ายพระราชมารดา ซึ่งในช่วงเวลาระหว่างนี้ทั้งล้านนาและล้านช้าง ต่างได้มีความสัมพันธ์กันภายใต้ระบบการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ เครือญาติ โดยเฉพาะทางด้านการศาสนา ภาษาและวรรณกรรม


สำหรับงานศิลปกรรมนั้นเมืองเชียงทองได้มีพัฒนาการของรูปแบบขึ้นมาได้ด้วยตนเอง แต่สำหรับในบางลักษณะก็ยังปรากฎถึงอิทธิพลทั้งทางด้านรูปแบบและแนวทางความคิดที่ได้รับไปจากล้านนาอยู่อย่างชัดเจนทั้งงานทางด้านสถาปัตยกรรมและงานศิลปกรรมแขนงต่าง ๆ แต่ถึงกระนั้นมนเสน่ห์ของศิลปกรรมแห่งล้านช้างยังคงโดดเด่น โดยเฉพาะที่นครหลวงพระบางยังคงได้รับการสืบสานและอนุรักษ์อยู่เป็นอย่างดีจากทุกฝ่ายในปัจจุบันนี้


เชียงตุงเขมรัฐ
นครในเงาแห่งอำนาจ


ไทเขิน หรือ ไทขืน กลุ่มไทลื้อที่มีถิ่นฐานอยู่ลุ่มแม่น้ำเขิน อันมีความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นอยู่กับอาณาจักรล้านนามาแต่ครั้งอดีต นับตั้งแต่ครั้งรัชสมัยของพญามังรายแห่งนครเชียงใหม่อันได้มีเอกสารตำนานเมืองเชียงตุงรองรับถึงความสัมพันธ์นั้นอยู่อย่างชัดเจน ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะได้อยู่ภายใต้อิทธิพลอำนาจของวัฒนธรรมพม่าที่ครอบงำอยู่ก็ตามหากแต่ความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ก็ยังคงแนบแน่นมาโดยตลอด


เสน่ห์ของเมืองเชียงตุง หรือนครเขมรัฐที่ดึงดูดผู้คนเข้าไปเยือนอยู่มิขาด เนื่องจากสภาพที่ตั้งและผู้คนรวมทั้งขนบธรรมเนียมประเพณี ต่างก็มีลักษณะที่คล้ายคลึงกันกับไทกลุ่มอื่น ๆ ในบริเวณใกล้เคียง หากแต่ก็ได้มีความโดดเด่นในรายละเอียดที่ปรากฎอยู่ในงานศิลปกรรมแขนงต่างๆอยู่เสมอ เพียงแค่เราใช้เวลาให้กับการพินิจในสิ่งต่าง ๆ ของวัฒนธรรมไทเขินยามนี้ก็จะพบว่าความงดงามที่ปรากฎอยู่ ณ เบื้องหน้านี้ เป็นเสน่ห์ดึงดูดให้ผู้คนทั้งไกลและใกล้ได้เดินทางไปสัมผัสอยู่เสมอมา


เชียงรุ่งอาฬวี
นครสามฝ่ายฟ้า


เชียงรุ่ง หรือ เมืองอาฬวี ศูนย์กลางของวัฒนธรรมไทลื้อแห่งอาณาจักรสิบสองปันนาในอดีต ที่เคยรุ่งเรืองและมีความสำคัญในฐานะของเมืองสามฝ่ายฟ้า อันหมายถึงมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ที่ตั้งระหว่างอาณาจักรพม่าล้านนาและจีน เป็นเหตุให้ต่างฝ่ายก็จะพยายามขยายอิทธิอำนาจเหนือดินแดนสิบสองปันนาอยู่มาโดยตลอดซึ่งลักษณะดังกล่าวได้สะท้อนออกมาให้ได้สัมผัสจากงานศิลปกรรมแขนงต่างๆที่มีรูปแบบผสมผสานกันระหว่างศิลปะแบบพม่าล้านนาและศิลปะจีน


ถึงกระนั้นเมืองเชียงรุ่งแห่งอาณาจักรสิบสองปันนาก็ยังได้มีความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นอยู่กับอาณาจักรล้านนาโดยเฉพาะเมื่อแรกเริ่มประวัติศาสตร์ของล้านนาเองมีหลักฐานว่าพญามังรายปฐมกษัตริย์นั้นมีเชื้อสายทางฝ่ายพระราชมารดาผู้เป็นธิดาแห่งเมืองเชียงรุ่งนั่นเอง อีกทั้งได้รับอิทธิพลการแผ่ขยายคติความเชื่อในพุทธศาสนาขึ้นไปจากล้านนาอันเป็นศูนย์กลางในเวลาต่อมา


ในท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมของชาวไทลื้อแห่งสิบสองปันนานี้ เราจึงพบว่ามีความผสมผสานกันของรูปแบบงานศิลปวัฒนธรรมจากทั้งจีนพม่าและล้านนาอยู่อย่างชัดเจนกลายเป็นวิถีชีวิตที่ชาวไทลื้อได้คุ้นเคยจนกลายเป็นเอกลักษณ์อยู่บนรากฐานความสัมพันธ์สามเส้าของอำนาจจากภายนอกที่มีผลถึงลักษณะเด่นทางศิลปกรรมนับจากอดีตจวบจนปัจจุบัน


ในโอกาสสัปดาห์วันวิสาขบูชาของโลก ขอให้ชาวไทยทั้งมวล ได้ฝึกจิตให้บริสุทธิ์ กระจ่างใส ดั่งดวงจันทร์ที่ไร้เมฆหมอก พาตัวเองและครอบครัว มิตรสหาย ไปสงบใจกับพุทธศิลป์ที่วัดใดวัดหนึ่งใกล้บ้านของท่าน


ขอให้สันติสุขจงบังเกิดในใจของมนุษย์ทั้งมวล เพื่อสร้างโลกแห่งศานติสุขตลอดไป



เจดีย์วัดพระแก้ว เชียงราย โดย วิถี พานิชพันธ์



ฟ้อนเล็บเจ้านาย เชียงใหม่ โดย มาณพ มานะแซม



ธาตุหมากโม หรือ เจดีย์ปทุม เชียงทอง
,หลวงพระบาง โดย วรลัญจก์ บุณยสุรัตน์



เครื่องพิธีไทยทานชาวพม่า มัณฑเลย์ โดย วิถี พานิชพันธ์



หมอดู กาดเช้าเมืองเชียงตุง โดย เธียรชาย อักษรดิษฐ์



ชานเรือน เชียงรุ่ง
,เมืองแวน ,สิบสองปันนา โดย แอลเจล่า ศรีสมวงศ์วัฒนา



บายศรีวัดธาตุหลวง เชียงตุง หลวงพระบาง โดย เธียรชาย อักษรดิษฐ์


**ภาพและข้อมูล 5 เชียง โดยไร่แม่ฟ้าหลวง อ.เมือง จ.เชียงราย