Skip to main content

กุ๊กไทยในอินโดนีเซีย

อินโดนีเซียเป็นประเทศที่ช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวย ห่างกันมากเหลือเกิน

ดูง่ายๆ ในชีวิตประจำวัน ราคาอาหารที่ขายในร้านค้าทั่วไป ซึ่งที่อินโดนีเซียเรียกว่า วารุง เปรียบเทียบกับราคาในห้างสรรพสินค้าทั้งหลายแล้วเรียกว่าต่างกันลิบลับ หากร้านอาหารขึ้นห้างแล้ว สนนราคาไม่ต่ำกว่า 50–200 บาท นี่เป็นแค่ราคาอาหารจานเดียว แต่หากเป็นร้านวารุงหรือร้านอาหารตามฟุตบาทเหมือนบ้านเรา ราคาเพียงแค่จานละ 5-15 บาทแต่อิ่มจริงๆ แต่ขอบอกว่าคุณภาพแตกต่างกันสิ้นเชิง เพื่อนร่วมหอพักชาวอินโดบอกว่า ร้านอาหารแบบนี้ส่วนใหญ่จะซื้อวัตถุดิบจากตลาดในอีกระดับหนึ่งที่นำอาหารมาขายลดราคาเพราะเป็นสินค้าใกล้หมดอายุแล้ว เธอบอกว่า เป็นตลาดของคนจน นั่นหมายถึงเธอเองก็ไม่เคยเข้าไปใช้บริการตลาดนั้นนั่นเอง เธอเติบโตในครอบครัวคนจีนมีฐานะ หน้าที่การงานเป็นหน้าห้องของท่านทูตสหรัฐอเมริกา เช่าหอพักราคาเดือนละหกพันบาทในจาการ์ตา แต่กลับบ้านที่โบโกร์ทุกอาทิตย์

ชาวอินโดเอาแค่ในจาการ์ตาเกือบ 80 เปอร์เซ็นต์ทานข้าวเพียงมื้อละไม่เกิน 15 บาท บางครอบครัวมีแค่ข้าวกับอาหารประจำชาติคือ "กะรุปุก" ซึ่งเป็นอาหารเคียงกับข้าวทุกมื้อของชาวอินโดนีเซีย ผู้เขียนต้องขออภัยหากสะกดผิดพลาด แต่การออกเสียงไม่น่าพลาดแน่นอน กะรุปุกในแต่ละพื้นที่จะแตกต่างกันไป รสชาติและรูปร่างเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละจังหวัดแต่ละพื้นที่ ถ้าเป็นกะรุปุกในจาการ์ตารูปร่างจะธรรมดาที่สุด คล้ายๆ กับข้าวเกรียบกุ้งบ้านเรา มีทั้งทำเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย และแบบชนิดชิ้นใหญ่


กะรุปุกอาหารเคียงข้าวของชาวอินโด


ชาวอินโดนีเซียโปรดปรานอาหารไทย นิยมรับประทานอาหารไทยมากทีเดียว ทั้งที่เครื่องเทศระหว่างอาหารไทยและอินโดนีเซียมีความคล้ายคลึงกันมาก เครื่องแกงเขาก็คล้ายเครื่องพริกแกงบ้านเรา พื้นที่ที่อาหารคล้ายคลึงกันมากที่สุดคือ แถบเกาะสุมาตราตั้งแต่ปาดังขึ้นไปถึงเมดาน อาหารปาดังคล้ายคลึงอาหารไทยมากที่สุด แต่รสชาติอ่อนโยนกว่า คือไม่เผ็ด และไม่รสจัดเท่านั้นเอง อาหารไทยในอินโดราคาค่อนข้างแพง และมีเพียงคนระดับเดียวเท่านั้นที่จะสามารถเข้าไปใช้บริการได้ คือ คนรวย เพราะราคาแพงจริงๆ ครั้งหนึ่งเพื่อนสาวชาวมาเลย์พาผู้เขียนไปเลี้ยงวันเกิดพร้อมเพื่อนชาวอินโดอีกสองคน รายการอาหารมี ต้มยำทะเล ลาบไก่ ยำปลาดุกฟู แกงเขียวหวาน น้ำพริกลงเรือ ยำทะเล ตบด้วยขนมหวานแบบไทย สนนราคามื้อนั้นขาดไม่กี่สิบบาทก็สามพันบาทพอดี ถ้าในไทยจะเกินห้าร้อยบาทไปเท่าไร เป็นมื้อที่ช้ำในกับราคาอาหารมากที่สุด


ในจาการ์ตามีอย่างน้อย 2 ร้านอาหารไทยยอดนิยม เจ้าของเป็นคนไทยที่แต่งงานกับหนุ่มอินโดนีเซียใจกว้างที่ไม่ต้องให้ภรรยาชาวไทยเปลี่ยนศาสนา เข้าสู่ศาสนาอิสลาม เป็นสิ่งประหลาดใจสำหรับผู้เขียนเพราะเกิดขึ้นในประเทศที่มีประชากรนับถือศาสนาอิสลามมากที่สุด มาทราบทีหลังจากเพื่อนสาวชาวมาเลย์ว่า มีหลายคู่ที่หญิงสาวไม่ต้องเปลี่ยนศาสนาตามชายหนุ่มหรือชายหนุ่มไม่ต้องเปลี่ยนศาสนาตามหญิงสาว เธอบอกว่าเกิดขึ้นได้เฉพาะที่อินโดนีเซียเท่านั้น แต่ที่มาเลเซียเป็นไปได้ยากแม้แต่ในกลุ่มคนที่จบการศึกษาสูงหรือแม้แต่จบจากเมืองนอกเมืองนามาก็ตาม แต่นั่นเป็นลักษณะเฉพาะของอินโดนีเซียเพราะการผสมผสานวัฒนธรรมความเชื่อที่หลากหลายในอดีตทั้งพุทธศาสนาที่รุ่งเรืองมาก่อนฮินดู ก่อนที่จะมานับถือศาสนาอิสลาม นอกจากนี้ยังเป็นเรื่องของความหลากหลายทางชาติพันธุ์ที่มีลักษณะเฉพาะของประเพณีความเชื่อแตกต่างกันออกไปอีกในแต่ละพื้นที่

หญิงสาวมุสลิมแถบยอกยาการ์ตาโดยส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ญิฮาบ เพื่อนสาวชาวปาดังเพิ่งจะรับญิฮาบ เมื่อสามปีที่ผ่านมา เพื่อนชายชาวสุราบายามีฐานะการเงินดี เดินทางไปฮัจย์เจ็ดครั้ง แต่เพื่อนๆ แซวว่าก็ไม่ได้ทำให้เขาเลิกดื่มเบียร์ได้ เธอบอกว่า สำหรับชาวอินโดนีเซีย ทุกอย่างอยู่ที่จิตใจ ตราบใดที่ไม่ได้คิดร้ายให้ร้ายใคร แบ่งปันให้ทาน เชื่อในอัลเลาะห์ เขายังคงเป็นมุสลิมที่ดี แต่ลักษณะเฉพาะแบบนี้กำลังจะหายไป และอาจถูกกลืนกลายจากแนวคิดฟื้นฟูอิสลาม


วกกลับเรื่องอาหารไทย เนื่องจากอาหารไทยเป็นที่นิยมของบรรดาเศรษฐีอินโดนีเซีย ร้านอาหารระดับสามถึงห้าดาว ไม่ว่าจะเป็นในโรงแรมหรู หรือห้างสรรพสินค้า ศูนย์อาหาร จะมีร้านอาหารไทยอยู่เกือบทุกแห่ง หากไม่มีร้านอาหารไทยก็จะเป็นรายการอาหารไทย ที่ขึ้นชื่อมากที่สุดก็คือ ต้มยำ และส้มตำ ที่แปลกสุดคือ ก๋วยเตี๋ยวทั้งที่มาจากวัฒนธรรมอาหารชาวจีน แต่ปรับเปลี่ยนรสชาติได้ใจคนไทยทั่วทุกภาคก็ไประบาดที่อินโดนีเซียด้วย ก๋วยเตี๋ยวน้ำตก (แต่คงไม่ใช่เลือดหมูแน่นอน) ก๋วยเตี๋ยวต้มยำ เย็นตาโฟ เป็นร้านก๋วยเตี๋ยวไทยโดยเฉพาะ ขึ้นห้างหรูระดับพลาซ่าอินโดนีเซีย ถ้าบอกราคาแล้ว หลายคนอยากร้องให้ถ้าต้องไปใช้ชีวิตในอินโดนีเซีย เพราะสนนราคาชามละ 150-200 บาท โปรดอย่านึกว่าผู้เขียนจะลอง แต่ขอบอกว่าเขาทำได้เหมือนทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นผักเครื่องเคียง เช่น โหระพาและถั่วงอก


ที่กล่าวถึงรายการอาหารไทยก็เพราะว่า แรงงานข้ามชาติชาวไทยยอดนิยมสำหรับอินโดนีเซียคือ "กุ๊กไทย" ผู้เขียนมีโอกาสพูดคุยกับพ่อครัวไทยนำเข้า ทำงานกับภัตตาคารและร้านอาหารไทยสองท่าน ท่านหนึ่งทำอาหารไทยกับภัตตาคารหรูบนชั้นบนสุดของอาคารหรูที่สุดในอินโดนีเซีย แต่ภัตตาคารแห่งนั้นมีอาหารหลากหลายเชื้อชาติ อาหารไทยถูกบรรจุเป็นอาหารยอดนิยม พี่ชายบอกว่า ตนทำงานที่นี่มาสองปีแล้ว ได้เงินเดือนงาม พร้อมสวัสดิการดี แถมบ้านและคนใช้ให้อีกสองคน เวลามาทำงานก็มีคนขับรถมาส่ง เขาเป็นเพียงกุ๊ก แต่ถ้าระดับหัวหน้ากุ๊ก - ชาวมาเลเซียแล้ว เขาไม่อยากจินตนาการเงินเดือนและสวัสดิการของหัวหน้า เพราะเงินเดือนอยู่ในระดับเรือนแสนบาท (ไม่ใช่แสนรูเปีย) วันๆ เขาทำอาหารไทยไม่กี่อย่าง อาหารยอดนิยมสำหรับภัตตาคารนั้นคือ ต้มยำ ส้มตำ และยำมะม่วง น่าแปลกว่ายำมะม่วงขึ้นชื่อมากกว่าต้มยำ เฉพาะในภัตตาคารแห่งนี้เท่านั้น พี่ชายใจดีอุตส่าห์ยำมะม่วงมาให้ผู้เขียนชิมหนึ่งจาน นับเป็นอีกบรรยากาศหนึ่งที่เคยกินยำมะม่วงตามร้านข้างทาง แต่วันนั้นก็ชิมยำมะม่วงเคล้ากับบรรยากาศของตึกสูง ท้องฟ้าใสอยู่ใกล้แค่เอื้อม เปรี้ยวไปอีกแบบ เจ้าของภัตตาคารที่นี่เป็นชาวจีนร่ำรวย มีเพื่อนเป็นนักการเมือง ทหารระดับสูง อดีตประธานาธิบดีมาการ์วาตีก็เคยมาปาร์ตี้ที่นี่



พี่ชาย กุ๊กไทย (นั่งกลาง) และเพื่อนหัวหน้ากุ๊ก (ซ้าย)


ภัตตาคารอยู่ชั้นบนสุดของอาคารยอดแหลม


พี่ชายเล่าว่า กุ๊กไทยเป็นที่นิยมมาก มีทั้งคนอิสาน คนใต้ พี่ชายเป็นคนภาคกลาง จังหวัดสิงห์บุรี เจ้าของร้านอาหารเซ็นสัญญากับกุ๊กไทยเป็นปี ร้านก๋วยเตี๋ยวที่ว่าแพงชามละร้อยสองร้อยก็ใช้กุ๊กไทยชาวอิสานประจำร้าน และเป็นกุ๊กไทยอีกท่านที่มีโอกาสได้พูดคุยด้วย แม้ว่าจะไม่ตั้งเป็นสมาคมกุ๊กไทยอย่างเป็นทางการ แต่ว่าบรรดากุ๊กไทยทั้งหลายในอินโดนีเซียจะรู้จักมักคุ้นกันดี ถ้านับตามร้านอาหารและภัตตาคารหรูในจาการ์ตาก็มีเกือบ 30 คน เรียกว่าเป็นแรงงานที่มีรายได้และสวัสดิการในระดับดี ฉะนั้นแรงงานกุ๊กไทยจึงไม่ต้องพึ่งพาสถานทูตไทยเรื่องการเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้าง แต่ใช่ว่าจะมีด้านสวยงามเพียงอย่างเดียว แรงงานไทยข้ามถิ่นในพื้นที่อื่นก็มีความลำบากไม่น้อย


แรงงานไทยที่มีปัญหาอยู่เนืองๆ ก็เห็นจะเป็นแรงงานประมง ส่วนใหญ่จะถูกหลอกจากบริษัทประมงคนไทยด้วยกันเองหลอกพามาทำประมงในอินโดนีเซีย บางครั้งก็ถูกโกงค่าแรง บางครั้งถูกปล่อยเกาะต้องให้สถานทูตช่วยเหลือประจำ แต่มีกรณีคลาสสิคที่ต้องพูดถึง ซึ่งมาจากคำบอกเล่าจากเจ้าหน้าที่สถานทูต แรงงานชาวประมงอิสานถูกหลอกมาทำงานที่อินโดนีเซีย และถูกปล่อยเกาะจากนายหน้า เขาไม่สามารถพูดภาษาอินโดนีเซียได้ จึงไม่สามารถหางานทำได้ ตลอดเวลาสองปี เขาต้องเร่ร่อนนอนตามถนน และเก็บขยะประทังชีวิต วันหนึ่งบังเอิญไปเก็บขยะหน้าบ้านคนอินโดนีเซียที่เข้าใจภาษาไทย เมื่อได้ยินเขาพูดภาษาไทยก็สอบถามจนได้ความ จึงได้นำตัวมาส่งที่สถานทูตไทย และเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือส่งกลับบ้านไป เป็นเรื่องเศร้าสำหรับคนไทยในต่างแดน


พี่ชายบอกว่า อนาคตกุ๊กไทยในอินโดนีเซียยังไปได้สวย เพราะอาหารไทยรสชาติหลากหลาย ตอนนี้อาหารอิสานยังไม่เป็นที่นิยมนัก แต่เขาบอกว่า อีกไม่นานคงมีขึ้น สำหรับผู้เขียนการแกะรอยอาหารไทยในอินโดนีเซีย กลายเป็นเรื่องเศร้า เพราะได้เห็นความแตกต่างระหว่างคนจนและคนรวยของสังคมอินโดนีเซียในจาการ์ตาชัดเจนขึ้น ในขณะที่คนเกือบแปดสิบเปอร์เซ็นต์ทานอาหารมื้อละไม่เกิน 15 บาท แต่คนอีกห้าเปอร์เซ็นต์สามารถซื้อหาอาหารจานละ 150 บาทขึ้นไปได้ทุกวัน



บ้านของชาวบ้านในชุมชนแออัดอยู่ระหว่างตึกสูงกลางกรุงจาการ์ตา