Skip to main content

วุฒิสภาคว่ำ พ.ร.บ.ทางหลวง

ในการกลั่นกรองกฎหมายของวุฒิสภา เมื่อร่างพระราชบัญญัติมีการแก้ไขโดยวุฒิสภา แล้วสภาผู้แทนราษฎรไม่เห็นด้วย ก็จะมีการตั้งกรรมาธิการร่วมสองสภาเพื่อหาข้อยุติว่าตัวแทนทั้งสองสภาจะมีความเห็นว่าอย่างไร


เมื่อตัวแทนทั้งสองสภาที่เป็นกรรมาธิการร่วมเห็นอย่างไร ก็จะเสนอให้ทั้งวุฒิสภา และสภาผู้แทนราษฎรลงมติว่าเห็นด้วยกับร่างที่กรรมาธิการร่วมแก้ไขหรือไม่ ยกตัวอย่าง ร่าง พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน


ในประเด็นที่สำคัญคือ ส่วนต่างของดอกเบี้ยเงินกู้กับเงินฝากที่กำหนดไม่ให้เกิน ๕ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งวุฒิสภาไม่ยับยั้งไม่เห็นด้วยกับกรรมาธิการร่วมกันสองสภา เป็นสิทธิของสภาผู้แทนราษฎรที่จะพิจารณาว่าจะนำร่าง พ.ร.บ.ก่อนการแก้ไขโดยวุฒิสภายกขึ้นมาพิจารณาหรือไม่


โดยจะให้เวลาคิดตรึกตรอง เป็นเวลา ๑๘๐ วัน แต่ถ้าเป็นร่าง พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องกับการเงินก็สามารถยกขึ้นพิจารณาได้ทันที โดยจะต้องยืนยันด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า ๒ ใน ๓ ของสมาชิกที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร


แต่ ร่าง พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน ก็ไม่ได้ยกมาพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎรหลังจากที่วุฒิสภาได้ยับยั้งไว้ตั้งแต่ปี ๔๕ ปกติแล้วความเห็นของกรรมาธิการร่วมมักจะตกลงกันได้ และมักจะแก้ไขตามวุฒิสภาหรือไม่ก็ตกลงแก้ไขข้อบกพร่องในกรณีที่วุฒิสภาแก้ไขไม่ครบถ้วน เช่น ในกรณีของ ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคคลากรทางการศึกษา และ ร่าง พ.ร.บ.เงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่งข้าราชการครูและบุคคลากรทางการศึกษา ที่กรรมาธิการร่วมได้ร่วมกันพิจารณาและส่งมาให้ทั้งสองสภารับรอง


กรรมาธิการร่วมเห็นด้วยกับการแก้ไขของวุฒิสภาในเรื่องของอำนาจในการพิจารณาความดีความชอบบุคคลากรในแต่ละเขตพื้นที่การศึกษา


เดิม ส.ส.มองว่าควรให้เป็นอำนาจของผู้อำนวยการโรงเรียนแต่เพียงผู้เดียว แต่ ส.ว.มองว่าควรให้ทุกสถานศึกษามาร่วมกัน และพิจารณารวมโดยคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) ของเขตพื้นที่การศึกษา โดยคิดถึงประเด็นของความเป็นมาตรฐานของการประเมิน และป้องกันความไม่เป็นธรรม ไม่ให้มีความลักลั่น และทั้งสองสภาก็ได้ลงมติเห็นชอบกับร่างที่กรรมาธิการร่วมแก้ไขตามแนวทางการแก้ไขของวุฒิสภาทั้งสองฉบับ


ซึ่ง ส.ส.บางท่านก็มองว่า กรอบเวลาบังคับให้ต้องลงมติตามการแก้ไขของวุฒิสภาที่ให้อำนาจผู้อำนวยการ เขตพื้นที่การศึกษามีอำนาจเหนือกว่าผู้อำนวยการสถานศึกษา แต่ทุกท่านต้องรีบผ่าน ร่าง พ.ร.บ.ทั้งสองฉบับเพราะต้องการให้ครูได้ใช้บัญชีเงินเดือนใหม่


ผมขอเล่าเรื่องที่วุฒิสภามีความเห็นไม่ตรงกับร่างของกรรมาธิการร่วมสองสภา คือ ร่างพ.ร.บ.ทางหลวง


กรรมาธิการร่วมของสองสภามีความเห็นในว่าต้องเพิ่มโทษกรณีมีการชุมนุมประท้วงในเขตทางหลวง แต่แนวความคิดของ ส.ว.เห็นว่ามีกฎหมายเดิมสามารถบังคับใช้ได้อยู่แล้ว เช่น พ.ร.บ.การจราจร ที่ห้ามการขัดขวางการจราจร


ประเด็นที่ ส.ว.ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการห้ามชุมนุมในเขตทางหลวง เพราะการเพิ่มการห้ามชุมนุมในเขตทางหลวงเป็นการกระทำที่ปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นความเดือดร้อนของประชาชน เพราะทั่วโลกมีการประท้วงกันในเขตทางหลวง ถ้าประชาชนเขาได้รับความเดือดร้อนอย่างสาหัสเช่น มีคนเป็นหมื่นเป็นแสนคนเดินขบวนไม่เห็นด้วยกับประธานาธิบดีอเมริกาที่ส่งทหารไปรบที่อิรัก เขาก็ประท้วงกันที่นิวยอร์ค โดยไม่มีการจับกุม ถ้าไม่สร้างความชุลมุน หรือทำร้ายร่างกายกัน


กฎหมายที่มีอยู่ในเมืองไทยปัจจุบัน ก็สามารถเอาผิดกับผู้ชุมนุมได้ ถ้ากีดขวางการจราจร แต่ที่ไม่บังคับใช้เพราะมีผู้เดือดร้อนจริง การจับคนเป็นพันเป็นหมื่น ไม่มีใครเขาอยากทำเพราะจะเกิดปัญหาตามมา


 เราจึงเห็นการให้หลักรัฐศาสตร์ เข้าแก้ปัญหามากกว่าการใช้หลักนิติศาสตร์ เมื่อมีการปิดถนน ปรากฎว่าเป็นประวัติศาสตร์ของวุฒิสภา เพราะการลงมติของร่าง พ.ร.บ.ทางหลวง ได้มีมติเห็นชอบกับกรรมาธิการร่วมสองสภา ๖๓ เสียง และไม่เห็นชอบ ๖๓ เสียง


ประธานที่ทำหน้าที่ในขณะนั้นคือ ท่านรองประธาน นิพนธ์ วิศิษฐ์ยุทธศาสตร์ ก็ใช้สิทธิ์ลงไม่เห็นด้วยกับกรรมาธิการร่วมสองสภา คือเห็นด้วยกับวุฒิสภาที่ให้ตัดมาตราที่ห้ามชุมนุมในเขตทางหลวงทิ้งไป เรียกเป็นภาษาทางการว่า ร่าง พ.ร.บ.ทางหลวงถูกยับยั้งโดยวุฒิสภา หรือ วุฒิสภาคว่ำ พ.ร.บ.ทางหลวง ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์ของการพิจาณากฎหมายของวุฒิสภา