Skip to main content

เก็บค่าลิขสิทธิ์แบบ ‘บัวช้ำน้ำขุ่น’

คอลัมน์/ชุมชน

เมื่อหลายสิบปีก่อน ยุคที่แผ่นเสียง และเทปเพลง เป็นสื่อยอดนิยมสองประเภทสำหรับคนที่ต้องการจะเสพอรรถรสจากดนตรี เพราะซีดียังหาได้ยากและมีราคาแพง สำหรับนักร้องหรือวงดนตรีระดับซุปเปอร์สตาร์ ออกผลงานกันมาแต่ละชุด การจะขายได้ระดับ "ล้านก๊อปปี้" ขึ้นไปไม่ใช่เรื่องยากเลย บางชุดดังมากอาจจะหลายล้านก๊อปปี้ด้วยซ้ำ อย่าง "พี่เบิร์ด" ธงไชย แมคอินไตย ชุดไหนก็ชุดนั้นล้านแน่ๆ วงดนตรีอย่าง "คาราบาว" ก็หลักล้านทุกชุด โดยเฉพาะชุด ทับหลัง ว่ากันว่า ขายได้ถึงสิบล้านชุดไม่รวมเทปผี แม้กระทั่งเพลงลูกทุ่งหากว่าโดนใจมหาชน อย่างเช่น "ยิ่งยง ยอดบัวงาม" ชุด สมศรี ก็มียอดขายถึงหลักล้านได้เช่นกัน ในยุคนั้น แม้จะมีเรื่องเทปผีอยู่บ้างแต่ก็น้อยมาก เพราะคุณภาพไม่ดีเท่าของแท้ จะพบเห็นเทปผีได้มากก็ตามตลาดชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน

ช่วงเวลาที่เทคโนโลยีของสื่อยังเป็นแบบอนาล็อคอยู่นั้น ธุรกิจดนตรีทำกำไรกันปีละนับหมื่นๆ ล้านบาท ใครมาออกเทปสักชุด จับพลัดจับผลูดังขึ้นมา ก็มีโอกาสรวยเอาง่ายๆ จึงมีช่วงหนึ่งที่ดาราทั้งหนุ่ม สาว และไม่หนุ่ม ไม่สาว เสียงดีบ้าง ไม่ดีบ้าง เข้าแถวกันออกเทปเดือนละหลายๆ คน พอปริมาณเพิ่มขึ้น คุณภาพก็เริ่มต่ำลง ผู้บริโภคเริ่มบ่นว่า หลายอัลบั้มมีเพลงที่พอฟังได้แค่ไม่กี่เพลง


จากยุคอนาล็อกเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิตอล เทคโนโลยีดิจิตอลทำให้การสร้างสรรค์งานเพลงก้าวหน้าชนิดก้าวกระโดด นอกจากนี้ มันยังทำให้สื่อที่เคยมีราคาแพงมากอย่างซีดี (audio) มีราคาถูกลงจนเท่ากับเทปแต่คุณภาพดีกว่ามาก ซีดีจึงก้าวมาแทนที่เทปอย่างรวดเร็ว ทว่า เทคโนโลยีดิจิตอลก็เหมือนดาบสองคม เพราะอีกด้านหนึ่งมันคือคู่ปรับกับธุรกิจสื่อดิจิตอลโดยแท้


การกำเนิดของโปรแกรมที่ชื่อ mp3 พร้อมๆ กับความก้าวหน้าในการก๊อปปี้ ทำให้ธุรกิจสื่อดิจิตอลทุกประเภทเปลี่ยนแปลงอย่างมโหฬาร เพราะ mp3 ขนาดเท่าซีดีธรรมดา แต่บรรจุเพลงได้เป็นร้อย คุณภาพก็ไม่ต่างจากซีดีแบบ audio ทั่วไปเลย จากแผ่นเปล่าราคาไม่ถึงสิบบาทเอาไปก๊อปปี้จำหน่ายจ่ายแจกแผ่นละร้อย หรือสามแผ่นสองร้อย เช่นเดียวกับระบบการสร้างผลงานเพลงแบบอุตสาหกรรม จับคนมาทำเป็นตุ๊กตาที่ร้องเพลงได้ หนึ่งอัลบั้มมีเพลงพอฟังได้อยู่แค่ 1-3 เพลง แล้วใครจะยังซื้อซีดีอยู่อีก ?


ยอดขายผลงานเพลงของแต่ละค่ายเทปร่วงกราวรูด มีการประกาศสงครามกับเทปผีซีดีเถื่อน (เกือบๆ จะกลายเป็นวาระแห่งชาติ) การไล่ปราบจับกุมดำเนินไปอย่างเข้มข้น ยืดเยื้อ ยาวนาน แต่แม้ว่าจะผลักจะดัน จะขอความร่วมมือจากผู้บริโภค จะเข้าพบนายกฯ สักกี่ครั้ง หรือจะมีเพลงอย่าง "พันธุ์ทิพย์" ของร็อคเกอร์อันดับหนึ่งอย่าง เสก โลโซ ซึ่งมีนัยยะต่อต้าน mp3 ที่ขายกันเกลื่อนห้างพันธุ์ทิพย์ ก็ไม่มีแนวโน้มว่าเหล่าค่ายเทปจะเอาชนะได้เลย


กงล้อธุรกิจต้องหมุนไป เมื่อรายได้จากการขายอัลบั้มเพลงลดลง ค่ายเทปจึงต้องหารายได้จากทางอื่น แต่การจัดคอนเสิร์ตนั้นมีต้นทุนสูง อีกทั้งศิลปินนับร้อยในสังกัด มีเพียงไม่กี่รายที่คุ้มกับการจัดคอนเสิร์ต ในที่สุดค่ายเทปก็มองเห็นว่า ช่องทางที่เข้าท่าในเวลานั้น คือ "คาราโอเกะ" ที่มีเกลื่อนเมือง ไม่ว่าจะเป็น คาราโอเกะแบบจอใหญ่ๆ ในร้านหรู ที่มีสาวๆ มานั่งข้างๆ หรือคาราโอเกะแบบตู้ที่ตั้งอยู่ในร้านข้าวต้ม ร้านอาหารอีสาน หรือเพิงขายเหล้าเล็กๆ ยามดึก แหล่งบันเทิงของคนหาเช้ากินค่ำ เหล่านี้ จะใช้ vcd คาราโอเกะ (มิวสิกวีดิโอ) ที่ค่ายเทปออกวางแผง พร้อมๆ กับอัลบั้มเต็มของศิลปิน ซึ่งแต่ละตู้ก็จะมีผลงานเพลงยอดนิยมทั้งเก่าทั้งใหม่ ของแต่ละค่ายเทป รวมๆ กันอยู่หลายสิบอัลบั้ม หลายร้อยเพลง ช่วงหนึ่ง จึงมีข่าวค่ายเทปไล่ปรับร้านคาราโอเกะน้อยใหญ่ทั้งหลาย โดยใช้อำนาจตามกฎหมายลิขสิทธิ์ เนื่องจากร้านคาราโอเกะนำผลงานซึ่งมีลิขสิทธิ์คุ้มครองเหล่านั้นไปใช้หาประโยชน์ทางธุรกิจโดยไม่ได้รับอนุญาต อย่างเบาะๆ ก็โดนหลายหมื่น ร้านใหญ่ๆ อาจต้องจ่ายร่วมแสน ที่มีปัญญาจ่ายก็ดำเนินกิจการต่อไป แต่ที่บอบช้ำหนัก จ่ายเสร็จแล้วต้องปิดกิจการไปเลยนั้นน่าจะมากกว่าเก้าสิบเปอร์เซนต์


เวลาล่วงผ่านอีกหลายปีต่อมา ค่ายเทปคงรู้แล้วว่า ไม่สามารถทำให้ mp3 แผ่นปั๊ม แผ่นไรท์ ละเมิดลิขสิทธิ์ทั้งหลายหมดสิ้นจากประเทศไทยได้ ก็พอดีกับวัยรุ่นไทยกำลังเป็นโรคเห่อเสียงเรียกเข้า (ringtone) ของโทรศัพท์มือถือเป็นเสียงเพลงยอดฮิต ค่ายเทปก็เลยใช้จังหวะนี้ กระโดดเข้าสู่ธุรกิจการ โหลดริงโทน เพลงของศิลปินกลายเป็นเสียงริงโทน แม้แต่เสียงพูดของศิลปินก็กลายเป็นเสียงริงโทน รายได้ก็พอสมควร แต่ถ้าเทียบกับการขายอัลบั้มเพลงแล้วก็ยังน้อยกว่าหลายเท่า




ในที่สุด ค่ายเทปจึงหันมาใช้วิธีล่าสุด (แต่ยังไม่สุดท้าย) นั่นคือการเก็บค่าลิขสิทธิ์จากร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านเหล้า ที่เปิดเพลงของค่ายเทปภายในร้าน ทราบว่า เริ่มมีการดำเนินการมาตั้งแต่เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ล่าสุด ร้านกาแฟ ร้านอาหารในเชียงใหม่โดนเรียกเก็บร้านละหลายพันบาทไปหลายร้านแล้ว วิธีการก็ง่ายๆ รู้ว่าร้านไหนเปิดเพลงของค่าย ตัวแทนของค่ายเทปก็พาตำรวจไป จับ-ปรับ-รับเงิน-กลับ แน่นอน เข้าร้านไหนก็ได้ร้านนั้น เพราะต่อให้ใช้สื่อที่ถูกลิขสิทธิ์ แต่จะมีสักกี่ร้านในประเทศไทยที่ขออนุญาตค่ายเทปเพื่อเปิดเพลงในร้านอย่างเป็นกิจลักษณะ


ที่จริง ก็รับทราบและเข้าใจว่า งานเพลงอันเป็นลิขสิทธิ์ของค่ายเทปนั้น เป็นผลประโยชน์ทางธุรกิจที่ทางค่ายต้องปกป้อง การตามจับเรื่อง mp3 หรือเทปผีซีดีเถื่อนทั้งหลาย ก็เพราะผลงานถูกละเมิด และการจับปรับร้านที่ใช้เพลงคาราโอเกะของทางค่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต ก็เพราะร้านเหล่านั้น ใช้เพลงของทางค่ายเพื่อหาประโยชน์ทางธุรกิจจริง แต่การเปิดเพลงให้ลูกค้าฟังในร้าน หลายๆ กรณีมันไม่ใช่การเปิดเพลงเพื่อดึงดูดหรือเอาใจลูกค้า มันเป็นเพียงการสร้างบรรยากาศให้รื่นรมย์ ไม่เงียบเหงาวังเวง ให้ลูกค้าได้ผ่อนคลาย หรือ จะให้คึกคักสนุกสนาน ก็แล้วแต่บรรยากาศของร้านนั้น และทุกวันนี้การเปิดเพลงไทยกับการเปิดเพลงสากลในอารมณ์ใกล้เคียงกัน ก็ให้ผลไม่ต่างกันเท่าไร (อาจเพราะทำนองก็เกือบๆ จะเหมือนกันอยู่แล้ว)


บางที ค่ายเทปอาจจะมองว่า ร้านเหล่านี้ มักจะเปิดเพลงจาก mp3 หรือใช้สื่อที่ละเมิดลิขสิทธิ์ การไล่ปรับจะเป็นการควบคุม mp3 ให้ลดน้อยลงไป แต่เมื่อร้านเหล่านี้ถูกปรับ ถามว่าจะมีสักกี่ร้าน ที่จะเลิกใช้สื่อที่ละเมิดลิขสิทธิ์ หันมาใช้สื่อที่ถูกลิขสิทธิ์ รวมทั้งยอมเสียค่าขออนุญาตใช้อย่างถูกต้อง จะไม่ดีกว่าหรือ ถ้าจะมาคุยกันดีๆ ขอความร่วมมือกับทางร้านให้เขาหันมาใช้ผลงานที่ถูกลิขสิทธิ์ของคุณ แลกกับการเสียค่าใช้จ่ายที่สมน้ำสมเนื้อ ทางร้านสามารถจ่ายได้ ทางค่ายเทปก็ได้ร้านที่จะช่วยประชาสัมพันธ์ผลงานของคุณอีกตั้งเป็นพันเป็นหมื่นร้านทั่วประเทศ


การเปิดเพลงในร้าน ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ช่วยประชาสัมพันธ์เพลงของค่ายเทปให้ออกสู่วงกว้าง นอกจากวิทยุและโทรทัศน์ ที่ผู้คนในยุคสมัยแห่งความเร่งรีบแทบจะไม่มีเวลาให้กับสื่อสองประเภทนี้แล้ว การได้นั่งฟังเพลงใหม่ๆ ในช่วงเวลาที่ผ่อนคลาย เช่น ช่วงทานอาหารกลางวัน ช่วงคุยธุระในร้านกาแฟ หรือ ระหว่างนั่งรอแฟนในร้านอาหาร ก็สามารถทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อผลงานนั้นได้เช่นกัน คนที่ตั้งใจจะซื้อผลงานของแท้ก็มี ไม่ใช่ทุกคนหรอกครับที่รอแต่ mp3 อีกทั้ง ที่ผ่านมาก็ทราบกันดีอยู่ว่า หลายเพลงดังได้เพราะร้านเปิด ร้านมีคนเข้าเพราะเปิดเพลงฮิต ลูกค้าชอบใจโดนใจก็ไปซื้อหามาฟัง เป็นการพึ่งพากันทางธุรกิจ พอเกิดปัญหานี้ขึ้น คนทำมาค้าขายอาจยอมจ่ายทันทีที่ถูกปรับ แต่เชื่อเถอะครับ เขาอาจจะไม่เปิด ไม่ซื้อ ไปจนถึงไม่ฟังผลงานเพลงของค่ายคุณอีกแล้ว


ในฐานะคนฟังเพลงคนหนึ่ง และไม่ได้เลือกที่รักมักที่ชัง ผมคิดว่า วิธีการเก็บค่าลิขสิทธิ์ของค่ายเทป หรือของบริษัทที่ค่ายเทปให้อำนาจมาไล่ปรับ จากร้านอาหารร้านกาแฟนั้น เป็นวิธีแบบบัวช้ำน้ำขุ่น ที่ทำให้คนค้าขายเสียความรู้สึก วิธีการนี้ แม้จะดำเนินการได้ตามกฎหมาย แต่มันล้ำเส้นการพึ่งพาอาศัยของค่ายเทปกับร้านอาหารเกินไปหน่อย การให้อำนาจบริษัทลูกไปตามจับปรับผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ เป็นวิธีที่เคยใช้ได้ผลกับธุรกิจคาราโอเกะ ได้เงินง่าย เยอะ และเร็ว แต่มันก็ทำลายวงจรการค้าของคุณไปพร้อมกัน จำได้ไหมครับว่า ช่วงที่ตู้คาราโอเกะกำลังบูมนั้น vcd คาราโอเกะก็พลอยบูมไปด้วย แต่พอธุรกิจนี้ทรุดไป ไม่เห็นมีใครพูดถึง vcd คาราโอเกะอีกเลย


เรื่องนี้ก็อาจส่งผลเช่นเดียวกัน คือคุณอาจจะได้รายได้จากการปรับ แต่คุณก็สูญเสียความเชื่อถือและร้านที่จะช่วยประชาสัมพันธ์เพลงของคุณไปแล้ว ลิขสิทธิ์เป็นเรื่องสำคัญ คุณจำเป็นต้องปกป้องผลประโยชน์ของคุณ แต่หากว่าการปกป้องผลประโยชน์นั้น กลับทำลายวงจรสนับสนุนการค้าของคุณเอง คุณจะไม่เสียประโยชน์ยิ่งกว่าเดิมหรือ


คิดเล่นๆ ว่า ถ้ายังมีการใช้วิธีการนี้ต่อไปเรื่อยๆ หรืออีกหน่อย มีการจับปรับค่าลิขสิทธิ์จาก วงดนตรีรับจ้างที่เอาเพลงของค่ายไปเล่นตามร้าน ตามงานต่างๆ หรือการเปิดเพลงตามงานวัด ตามตลาดนัด ถึงตอนนั้นจะยังมีคนอยากเปิดเพลงของค่ายเทปนี้หรือเปล่า ?