ต้นกำเนิดพญามังราย ผู้สร้างเมืองเชียงราย และเชียงใหม่ (1)*
คอลัมน์/ชุมชน
พญาลวจงกราช
ลือชาไปทั่วทุกสาระทิศว่า พญาเทวราชเจ้าจากเมืองฟ้าลงมาเกิดเป็น พญาลวจงกราช กินสมบัติอยู่เมืองเงินยาง อันได้ชื่อว่ามีต้นไม้เปลือกขาวดั่งเงินตั้งอยู่กลางยาง (ป่าไม้) หรือ บางทีก็เรียกเมืองยางเงิน ไชยวรนคร เมืองยางคปุระ ผู้คนทั้งหลายต่างนำเครื่องบรรณาการมาถวาย แล้วขออยู่เป็นข้าราชบริพารแห่งพญานั้น พญาลว-จงกราชก่อร่างสร้างบ้านเมืองกว้างขวาง เรือกสวนไร่นา เหมืองฝาย เสนาอมาตย์ทั้งหลายพร้อมใจกันกระทำพิธียกขึ้นเป็นพญามหากษัตริย์ มีเดชฤทธิ์มากมายนัก ครองราชย์โดยธรรมสืบมา
พญามีลูกชาย 3 คน คนพี่ชื่อลาวครอบ คนกลางชื่อลาวช้าง ผู้หล้าชื่อว่า ลาวเก้าแก้วมาเมือง อันว่าลูกผู้สุดท้องนี้ฉลาดเฉลียวยิ่งกว่าพี่ทั้งสอง วันหนึ่ง ราชบุตรทั้งสามชวนกันไปหาปูในลำห้วย เห็นรอยปูหนึ่งใหญ่นัก จึงล่องไปตามห้วยนั้น จนสุดที่ดอยแห่งหนึ่ง เห็นรอยปูเข้าไปในนั้น
ราชบุตรทั้งสามปรึกษากันว่า จะต้องนำปูนี้กลับไปถวายพระราชบิดา ลาวครอบกับลาวช้างคิดกลั่นแกล้งน้องหล้า หลอกให้ไปกางกั้นดักปูอยู่กลางน้ำ หากปูล่องมาให้เอาค้อนฆ่าปูเสีย แล้วพี่ทั้งสองขุดรูปูเข้าไปเจอพื้นผา จึงเอาหินก้อนหนึ่งอุดไว้ แล้วลี้กลับเมือง หาบอกกล่าวน้องไม่ จนเย็นย่ำ ลาวเก้าแก้วมาเมืองร้องเรียกหาพี่ทั้งสอง "ได้ปูได้ว่าบ่ได้" ได้ยินเสียงสะท้อนก้องห้วย นึกว่าเป็นพี่ชายตอบรับ จนตะวันตกดิน ก็ไม่เห็นปูออกมา จึงขึ้นไปตามหาเจ้าพี่ทั้งสอง หามีผู้ใดอยู่ไม่ มีแต่ก้อนหินอุดรูปูไว้
ลาวเก้าแก้วมาเมืองเคียดแค้น จ่มว่าพี่ชายทั้งสองชวนกันมาหากิน กลับมาหลอกกันให้นั่งเฝ้า ได้ก็ไม่บอก ไม่ได้ก็ไม่บอก หนำซ้ำหนีกลับไปก่อน เมื่อกลับไปถึงเมือง ยกมือไหว้พระราชบิดา ลูกทั้งสามเห็นจะอยู่ร่วมกันไม่ได้ ขอพระบิดาท่านแยกย้ายให้ไปปลูกบ้านแปงเมืองเถิด
พญาลวจงกราชผู้พ่อจึงได้สร้างบ้านแห่งหนึ่งกว้างขวางนัก ชื่อบ้านถ้ำต่อ ให้ลาวครอบไปอยู่ และสร้างอีกแห่งหนึ่ง ชื่อว่า บ้านคา ให้ลาวช้างอยู่ ส่วนลูกหล้าผู้เป็นลูกรักนั้น พ่อสร้างบ้านแห่งหนึ่งใกล้ผาเลากว้างขวาง ชื่อว่าบ้านผาเลาให้เจ้าไปอยู่ พญาพ่อยังได้แบ่งข้าวของเงินคำ ช้าง ม้า ข้าคน ไพร่ ไท แก่ลูกทั้งสามเสมอกัน
พญาลาวจงหรือลวจงกราชเสวยราชสมบัติ อำนวยความอยู่เย็นเป็นสุขแก่ประชาราษฎร์ จนอายุได้ 120 ปี ก็ไปสู่ปรโลก ลาวเก้าแก้วมาเมืองราชบุตรผู้หล้าอายุได้ 41 ปี ได้ครองเมืองสืบต่อพญาผู้พ่อเป็นเวลา 45 ปี จึงไปสู่ปรโลก ส่วนราชบุตรผู้พี่ทั้งสอง คือ ลาวครอบ กับ ลาวช้างนั้น หาได้มาครองเมืองสืบต่อไม่
ลูกชายของลาวเก้าแก้วมาเมืองชื่อ ลาวเสาอายุได้ 35 ปี ได้กินเมืองแทนพ่อ จากนั้นลูกชายชื่อลาวตังได้กินต่อ จากลาวตังแล้ว ลาวกม ลาวกับ ลาวกืน ลาวเคียง ก็กินเมืองสืบทอดกันมา อันว่า ลาวเคียง อายุ 37 ปี ผู้นี้ เป็นผู้ใจกว้างขวาง สร้างบ้านแปงเมืองอย่างฉลาด วันหนึ่งไปเที่ยวดูบ้านเมืองป่ายางทั้งหลาย เห็นต้นไม้สลีต้นหนึ่งเปลือกเป็นสีขาวดังเงิน อยู่ในบ้านยางเสี้ยว (สันนิษฐานว่าอาจตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำสาย อ.แม่สาย จ.เชียงราย) ใกล้กับแม่น้ำละว้า (แม่น้ำของชาวละว้า หรือลัวะ) บัดนี้ เรียกว่าแม่น้ำแม่สาย เป็นที่จำเริญใจนัก จึงสร้างเวียงตั้งบ้าน
ลาวเคียงอายุได้ 63 ปี ก็ไปสู่ปรโลก จากนั้นลาวกืน (หรือลาวคริว) ลาวทึง ลาวเทิง ลาวตน ลาวโสม ลาวกวก ลาวกวิน ลาวจง ก็กินเมืองสืบต่อมา ลาวจง มีลูก 2 คน ผู้พี่ชื่อลาวชืน ผู้น้องชื่อ จอมผาเรือง ผู้พี่เป็นพญาแทนพ่อได้ 18 ปี จากนั้นไปสู่ปรโลก ส่วนลูกของจอมผาเรืองชื่อ ขุนเจือง (เป็นวีรกษัตริย์ของชาวไทลื้อในสิบสองปันนา ล้านนา ลาว และเวียดนาม) อายุได้ 37 ปี ก็ขึ้นเป็นพญาแทนพ่อ เจ้าพญาเจืองมีลูกชื่อขุนเงินเรือง ส่วนลาวชืนผู้เป็นลุงของเจ้าพญาเจืองมีลูกหญิงผู้หนึ่งชื่อ นางอัวคำคอนเมือง (อัว หรืออั้ว เป็นคำนำหน้าเรียกลูกสาวคนที่ 5)
พญาเจือง
นางอัวคำขึ้นใหญ่เป็นสาวรูปงามถูกต้องตามลักษณะอิสตรีทุกประการ ความงามของนางระบือไปถึงเมืองฮ่อ (ชาวจีนในมณฑลยูนนาน) เมืองพระกัน (ทางตอนเหนือเวียดนาม) เมืองแกว (เวียดนาม) พญาแกวชื่อท้าวกวารู้ข่าวก็ให้เอาบรรณาการของฝากมาถวายหมายเอานางอยู่สองสามครั้ง พ่อนางก็ไม่ยอมให้ ขัดใจนัก ท้าวกวารี้พลมา จักรบชิงเอานาง เมื่อนั้นลาวชืนพ่อนางให้คนไปบอกพญาเจืองผู้หลาน ว่าอย่าให้ผู้ใดมาดูแคลนเราได้ พญาเจืองเคียดนักยกพลมหาศาลออกรบท้าวกวาจนได้ชัยชนะ ฆ่าพญาแกวตาย จากนั้นพญาเจืองละเมืองไว้ให้ลูกชื่อลาวเงินบุญเรือง และลาวชืนผู้เป็นลุง ช่วยรักษาเมือง ส่วนพญาเจืองยกรี้พลไปรบเอาเมืองแกวได้ แล้วบุกเข้าไปในวังท้าวกวา เอาลูกสาวท้าวกวาชื่อนางอู่แก้ว ผู้งดงาม เป็นเมียอยู่ที่เมืองแกวนั้น
เดชานุภาพอันแกล้วกล้า ฉลาดอาจองของพญาเจืองระบือไปทั่วทุกทิศ ยังมีพญาฮ่อชื่อว่า เจ้าลุ่มฟ้าเพาภิมาน เป็นประธานชุมนุมพวกพญาทั้งหลายที่พูเหิด ในเขตเมืองพระกัน ในบริเวณที่ราบหนึ่งพันสองร้อยวาของพูเหิดนั้น พญาทั้งหลายปลูกสร้างตำหนักขึ้นเต็ม และสร้างปราสาทกลางเด่น สูง 135 วา กว้าง 95 วา มีเศวตฉัตร 770 ดวง อ่างคำใส่น้ำอบน้ำหอม สูง 3 ศอก กว้าง 6 ศอก หนัก 1 ล้าน 4แสนคำ เป็นอ่างอาบเจ้าพญาเจือง แล้วก็สรงเกศด้วยสังข์เกี้ยวด้วยคำ 770 ลูก และสังข์อันเป็นทักขิณวัตมากกว่าร้อยลูก แล้วรดหล่อเจ้าพญาเจือง ซึ่งนั่งเหนือกองแก้ว 7 ประการ เกษมสำราญอยู่ในปราสาทราชมนเทียร แวดล้อมด้วยนางกำนัล 4แสน 4หมื่น โดยมีนางอมราเทวีจากเมืองลาว และนางอู่แก้วลูกพญาแกว เป็นประธาน
ท้าวพญาทั้งหลายมีพญาฮ่อลุ่มฟ้าเพาภิมานเป็นประธาน ก็พร้อมกันแปลงลายจุ้มลายเจีย (ตราแผ่นดินใช้ประทับแทนพระนามเจ้าฟ้า) ไว้กับเจ้าพญาเจือง กระทำราชาภิเษกเจ้าพญาเจืองเป็นเอกในเมืองแกว ในปีกาบยี เดือน 4 ออก 9 ค่ำ วันอังคาร สกราช 496 เจ้าพญาเจืองอยู่สุขสำราญในปราสาทได้ 7 วัน ก็ลงมาอยู่โรงหลวง แวดล้อมด้วยพญาทั้งหลายและเสนาอมาตย์ มีพญาฮ่อลุ่มฟ้าเพาภิมานเป็นประธาน ส่วนโยธาประมาณ 11 โกฏิปลาย 6 ล้าน 6 แสน 6 หมื่น 9 พันคนนั้น เจ้าพญาเจืองประทานรางวัลเลี้ยงดูท้าวพญาเสนาอมาตย์ไพร่พล ทั้งบำรุงบำเรอข้าวปลาอาหารแลเหล้าเป็นที่อิ่มหนำสำราญ
******************
*สรุปถอดความจาก "ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่" โดย อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว และ เดวิด เค วัยอาจ (David K. Wyatt) สำนักพิมพ์ซิลค์เวอร์มบุ๊คส์ 2543 (คำอธิบายในวงเล็บโดยอรุณรัตน์)
"ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่" คาดว่ามีกว่าร้อยฉบับทั้งยาวมาก ปานกลาง และสั้น จารึกด้วยอักษรธรรมล้านนานักวิชาการประวัติศาสตร์ค้นคว้าและเก็บรักษาในรูปไมโครฟิล์ม ฉบับที่อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว และ เดวิด เค วัยอาจ ร่วมกันถอดคำแปลมาจากอักษรธรรมล้านนานี้ มาจากคัมภีร์ใบลาน 8 ผูก ซึ่งสันนิษฐานว่าแต่งขึ้นสมัยพญาติโลกราช ต้นพุทธศตวรรษที่ 21 ซึ่ง ดร.ฮันส์ เพนธ์ (Hans Penth) เก็บไว้หลายสิบปี ตอนพญาลวจงกราชนี้อยู่ในผูกที่ 1 (ผู้สนใจกรุณาอ่านเพิ่มเติมในหนังสือของอรุณรัตน์)
*ภาพอนุสาวรีย์พญามังราย กลางเมืองเชียงราย โดยโรงแรมธนภัทร์ เชียงราย จาก http://travel.sanook.com