Skip to main content

ไปกับคนหาปลา

คอลัมน์/ชุมชน

เย็นวันอังคารที่ท้องฟ้าโปร่ง ขอบฟ้าฟากตะวันตกสาดสีแสดมาใน "ลมนอก" หรือลมตะวันออกซึ่งเป็นสัญญาณของฤดูฝนอันจะมีความหมายต่อความรู้สึกและการตระเตรียมของผู้คนในระดับการเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตชาวลุ่มทะเลสาบซึ่งมักเป็นวิถีแห่งคนหาปลาแบบดั้งเดิมอยู่มาก


เรานั่งอยู่ในเรือหาปลาของพี่บ่าวชาวบ้านธรรมโฆษณ์ หมู่บ้านริมทะเลสาบฝั่งอำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ขณะลมปะทะแรงขึ้นเมื่อเรือเริ่มบ่ายหัวออกจากอ้อมกอดของป่าชายเลนสู่ห้วงมหาครรโภทรของลุ่มทะเลสาบ เบื้องหน้าเป็นดอกคลื่นขาวโยนเรือของเราอยู่ไหวๆ รายรอบไปด้วยบรรดาไซดักกุ้งดักปลาแบบภูมิปัญญาบรรพบุรุษรุ่นก่อนที่ยังคงหยั่งรากลึกลงในหัวใจของคนที่นี่ แม้ยุคสมัยจะถูกแรงเหวี่ยงของระบบทุนแห่งการผลิตเหวี่ยงหลุดไปบ้างแล้วก็ตามที


ในฤดู "ลมนอก" ที่ "ปลาท้องเชี่ยว" หลงฤดูมาในทะเลสาบ

ผมกับเพื่อนติดเรือมากับชาวประมงออกสู่ทะเลหวังเพื่อติดตามพวกมันกลับมา "ปลาท้องเชี่ยว" เป็นที่ต้องการของชาวประมงพื้นบ้านแถบนี้เป็นอย่างมาก เพราะเป็นปลาตามฤดูกาลและมีเฉพาะแถบนี้เท่านั้นซึ่งโดยปกติแล้วช่วงเวลาของมันที่จะมาพานพบกับชาวประมงพื้นถิ่นที่นี่จะเป็นช่วงเวลาของ "ฤดูน้ำพะ" ฤดูน้ำหลากแห่งวิถีลุ่มทะเลสาบ ดอกคลื่นขาวยังโยนเรืออยู่ไหวๆ ขณะที่เรายังมุ่งหน้าไปต่อ ผมในฐานะผู้อ่อนด้อยประสบการณ์ทะเลเลือกที่นั่งในสุดใกล้ผู้ขับเรือส่วนเพื่อนอีกสองคนในฐานะลูกทะเลสาบ-เกาะยอและทะเลสาบ-บางแก้วโดยแท้นั่งเป็นปราการอยู่ด้านหน้า พวกเขาจัดเจนทะเลมาแต่เล็กความชำนิชำนาญจึงช่ำชองพอตัว


"ปลาท้องเชี่ยว" เป็นปลาขนาดเล็กเท่าๆ กับปลาทราย รูปร่างคล้ายๆ ปลาช่อนมีเกล็ดครีบและหางโต ปกติแล้วจะซุกตัวอยู่ในโคลนหากินตามพื้นล่างหน้าดิน "กัด" (อวน) ที่ใช้จึงเป็น "กัด" (อวน) ชนิดพิเศษเฉพาะใช้กับปลาชนิดนี้เท่านั้น


"สมพงษ์ คงทอง" เพื่อนร่วมทางลูกทะเลแห่งทะเลสาบ-บางแก้ว พัทลุง รับอาสา "สวน" (ตรวจดูปลาที่ติด "กัด"(อวน)โดยไม่ได้เก็บ "กัด" (อวน) ขึ้นมาแบบวิธีไล่สวนทางขึ้นไป)

"
วีระยุทธ สีใส" เพื่อนร่วมทางอีกคนลูกทะเลสาบแห่งเกาะยอทำหน้าที่ส่องไฟเมื่อความมืดดำของท้องฟ้ามาเยือน ส่วนตัวผมรับหน้าที่ "วิดน้ำ" (ตัดน้ำ) ที่รั่วออกจากเรือขณะที่เจ้าของเรือซึ่งเป็นชาวประมงตัวจริงคอยแนะนำการฝึกงานของเราอยู่ห่างๆ


กลางทะเลในขณะที่ฟ้ามืดดำเหนือทะเลแต้มเพียงไฟตะเกียงจากไซดักกุ้งและแสงดาวจางๆ เราได้ปลาพอสำหรับมื้อค่ำและอีกมื้อเช้า วิถีคนริมทะเลสาบก็เป็นไปเยี่ยงนี้มานมนานจนคนรุ่นเรามาสานต่อในวันนี้


"ลมนอก" ยังพัดพาปลายฝนพลัดหลงจากภูเขาอีกฝั่งมาด้วย วิถีแห่งทะเลสาบที่นี่มี "ฤดูลม" เป็นตัวกำหนดการเปลี่ยนแปลงวิถีคนริมทะเลสาบ "ฤดูลม" ต่างๆ จึงเป็นสัญญาณเตือนและบอกเหตุอันเกิดและจะเกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นๆ


เราบ่ายหัวเรือกลับท่ามความมืดและไฟฉายส่องทาง ในลำเรือพูดกันถึง "แกงส้มปลาท้องเชี่ยว" "ต้มส้มปลาท้องเชี่ยว" "ปลาท้องเชี่ยวทอดขมิ้น" "ผักเหนาะ" (ผักจิ้ม) และ "น้ำชุบ" (น้ำพริก) ซึ่งเป็นเมนูขึ้นชื่อเมื่อต้องพูดถึง "ปลาท้องเชี่ยว" แห่งทะเลสาบ


วันนี้ที่ริมทะเลสาบ "ลมนอก" ยังพัดอยู่แต่ที่บางกอกและปลายด้ามขวานนั้นผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าลมอะไรมันกระพือพัดเหมือน "โยะลง" (เกิดพายุ) เอาอย่างนั้นหรือบางทีอาทิตย์หน้าผมอาจจะมานั่งเล่าถึง "ฤดูลม" ให้ฟังกันอีกก็เป็นได้




บนแผ่นดินเหนือทะเลสาบ-เกาะยอ-สงขลา
๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๐
ป ร เ ม ศ ว ร์ ก า แ ก้ ว



ปลาท้องเชี่ยวแห่งทะเลสาบ



พี่บุญเลิศและบ่าวในวันออกเลเหมือนกับเรา



เราในวันออกเล ยกมือคือวีระยุทธ เสื้อขาวเป็นสมพงษ์ ส่วนใส่หมวกนั้นเป็นผู้เขียนเอง



ไซนั่ง ไซดักกุ้งภูมิปัญญาชาวบ้าน



ท้องฟ้าใกล้ค่ำมองจากในเรือของเรา