Skip to main content

แสงธรรมจากวิปัสสนาสถาน

คอลัมน์/ชุมชน

แสงไฟวิบวับจากหิ่งห้อยตัวน้อยเหมือนดวงดาวบินได้ แต่งแต้มสวนในวิปัสสนาสถานท่ามกลางความมืด ฟ้าแลบแปลบปลาบ ตามด้วยเสียงฟ้าร้อง และเสียงฟ้าผ่าดังสนั่น สักครู่แสงไฟฟ้าก็ดับลง พร้อมกับสายฝนที่กระหน่ำอย่างหนัก คือบรรยากาศของคืนวันที่ 29 พฤษภาคม 2550 ที่ดิฉันได้เข้าปฏิบัติธรรมโดยความเมตตาของคุณแม่ชีสัมฤทธิ์ ตรีสันเทียะ

เมื่อฝนเบาบางลง คุณแม่ชีสัมฤทธิ์ กรุณาเดินมาที่กุฏิที่ดิฉันปฏิบัติธรรม พร้อมกับนำไฟฉายกระบอกน้อยมาให้ใช้ ดิฉันขึ้นกรรมฐานกับท่าน ท่านบอกให้อธิษฐานจิต ดิฉันจึงอธิษฐานขอให้สายฝนชำระกิเลสออกจากใจ ขอให้ดิฉันได้เจริญสติ รู้เท่าทันกิเลส ได้รู้แจ้งในไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คลายจากความยึดมั่นในตัวตน ได้ทำหน้าที่เพื่อประโยชน์สุขของสังคม ได้ทะนุบำรุงพระศาสนา ได้กตัญญูต่อแผ่นดิน ต่อพระเจ้าอยู่หัว ต่อผู้มีพระคุณ เทพไท้เทวดา เพื่อนมนุษย์และสรรพสัตว์ทั้งหลาย ให้อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข


คุณแม่ชีสัมฤทธิ์ ให้ดิฉันเริ่มวันแรกด้วยการเดินจงกรมระยะที่หนึ่ง และนั่งสมาธิอย่างละ 30 นาที เจริญสติในอิริยาบถย่อย ดูกาย ดูจิตอย่างต่อเนื่อง ด้วยจิตที่เป็นกลาง เป็นธรรมชาติ


คืนแรกดิฉันเดินจงกรม นั่งสมาธิ 3 บัลลังก์ต่อเนื่อง เข้านอนราวเที่ยงคืน ด้วยความอ่อนเพลียจากภารกิจอันหนักหน่วงในรอบเดือนกว่าที่ผ่านมา


เช้าวันรุ่งขึ้นดิฉันตื่นนอนเกือบ 7 โมง คุณแม่ชีเมตตานำอาหารเช้ามาให้ คือข้าวต้มใบเตยสีเขียวอ่อน กลิ่นหอมชื่นใจ กินกับใบปอผัด และปลาอินทรีเค็มทอด ที่กัลยาณมิตรจากกรุงเทพฯ ฝากมาถวายแม่ชี


การปฏิบัติในวันที่สอง วันที่ 30 พฤษภาคม 2550 ซึ่งเป็นวันสำคัญวันหนึ่งของประวัติศาสตร์การเมืองไทย  ช่วงเช้าจิตยังฟุ้งด้วยความห่วงใยว่าผลการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นอย่างไร ทั้งความเครียดจากงาน จากปัญหาที่พบ ช่วงบ่ายถึงเย็น จิตค่อยสงบผ่อนคลายมากขึ้น มีสติว่องไว มั่นคงมากขึ้น เมื่อส่งอารมณ์ตรวจสอบสภาวธรรมตอนหัวค่ำ คุณแม่ชีจึงให้เดินจงกรม ระยะที่ 4 ซึ่งเป็นการเดินที่สะดวก เป็นธรรมชาติ ละเอียดมากขึ้น คือ ยกส้นหนอ ยกหนอ ย่างหนอ เหยียบหนอ และเพิ่มเวลาเป็นเดินจงกรม นั่งสมาธิ อย่างละ 40 นาที


5 คืน 4 วัน ของการปฏิบัติธรรม ดิฉันได้ชำระใจ ชำระกาย ด้วยธรรมของพระพุทธองค์ ด้วยวัตรปฏิบัติที่เปี่ยมด้วยเมตตาของคุณแม่ชีสัมฤทธิ์ ตรีสันเทียะ และจากสภาพธรรมชาติที่ร่มรื่นสงบสุขในวิปัสสนาสถาน


ต้นไม้ทั้งหลายกำลังเขียวชอุ่ม ด้วยได้ฝนต้นฤดู มองไปทางไหนก็เจริญตา เจริญใจ มะม่วงยังมีลูกอยู่ ทั้งมะม่วง 3 ฤดู มะม่วงพวง มะม่วงลิ้นงูเห่า ลูกยาวใหญ่ มะม่วงโชคอนันต์ ชมพู่ออกลูกเต็มต้น ร่วงลงสู่พื้นดิน มะเฟืองกำลังออกดอกเล็ก ๆ สีแดง เป็นช่อ และเริ่มติดลูกสีเขียว


ยามเช้าดอกสายหยุดส่งกลิ่นหอมจรุงใจ เวลานั่งสมาธิ ช่วงท้องพองเพราะหายใจเข้ายาวจะได้กลิ่นหอมเต็มปอด สติตามรู้ว่าจิตชอบหนอ พอใจหนอ



ช่วงกลางวันคุณแม่ชีสัมฤทธิ์เมตตานำอาหารมาให้ มีมะม่วงปอกหั่นเป็นชิ้น ประดับด้วยดอกพุดลา (ดอกพุดชั้นเดียวที่ใช้ร้อยมาลัย) สลับกับดอกพุดซ้อนและดอกกล้วยไม้ช้างเผือก ดอกเล็กจิ๋วที่อยู่ในพวงยาวห้อยย้อยสีขาวสลับชมพูม่วง เห็นแล้วปลื้มปิติ มีกำลังใจที่จะเจริญสติอย่างต่อเนื่อง



น้ำพริกกะปิใส่มะม่วงสับ กินกับผักสดในสวนซึ่งท่านปลูกไว้ มีกินได้ตลอดปี มีแค่ข้าวกับเกลือก็อยู่ได้ ถ้าจะตำน้ำพริกก็ไปเก็บเม็ดพริกชนิดต่าง ๆ จากต้น เช่น พริกกะเหรี่ยงมีเม็ดสีเขียว เหลือง แดง ส้ม ดอกพริกสีเขียวมี 6 กลีบดูน่ารัก พริกขี้หนู เม็ดเล็กเผ็ดจัด


ผักสวนครัวมีหลายชนิด ได้แก่ ใบชะพลู ใบบัวบก ใบยอ ยอดมะกอก โหระพา ยอดมะตูม ใบมันปู ยอดลุกใต้ใบ ใบคาวตอง ใบแปะตำปึง ยอดชะอม มะเขือพวา มะเขือเทศพื้นเมือง มะเขือยาว มะเขือเปาะ ยอดตำลึง ยอดมะม่วง กะเพรา เล็บครุฑ มะระขี้นก กระชาย ตะไคร้ มะกรูด มะนาว ฯลฯ


กล้วยน้ำว้า กล้วยหักมุก กล้วยหอม มีเต็มสวน กอกล้วยช่วยทำให้อากาศเย็นชุ่มชื้น แม่ชีท่านใช้ประโยชน์จากต้นกล้วยอย่างคุ้มค่า ทั้งใบตองเขียวสด ใบตองแก่สีเหลืองที่สวยแปลกตา นำมารองในภาชนะใส่อาหาร กาบของต้นกล้วยเอามาทำเชือก กาบปีกล้วย เอามาใช้เป็นภาชนะใส่ดอกไม้สายหยุด พิกุล ดูสวยอย่างเรียบง่าย มีรสนิยมเป็นธรรมชาติ


ต้นเตยกอใหญ่ปลูกอยู่ใต้ต้นกล้วย มะม่วง ชมพู่ ใบสีเขียวจัด กลิ่นหอม ใบและรากมีสรรพคุณบำรุงหัวใจ แม่ชีท่านเอาใบเตยมาปั่น กรองเอาน้ำ ใส่ข้าวสวย ข้าวต้ม ทำให้ข้าวมีสีเขียวอ่อน สวย กลิ่นหอมชื่นใจ


คุณแม่ชีสัมฤทธิ์เล่าว่า ปีนี้ต้นมะม่วงทุกชนิดที่ท่านปลูกไว้ในสวนเล็ก ๆ 40-50 ต้น ออกลูกดกกว่าทุกปี ทั้ง อกร่อง โชคอนันต์ น้ำดอกไม้ เขียวเสวย กะล่อน พิมเสน แรด มะม่วงพวง ทองปลายแขน(ลูกใหญ่น้ำหนักเกือบกิโล) ท่านใช้วิธีเสียบเมล็ดลงดินใต้ต้นกล้วย โดยตัดเปิดปลายที่หัวและท้ายของเมล็ดเพื่อให้แตกยอด แทงรากได้สะดวก


ไม่ว่าแม่ชีไปอยู่ที่ไหนท่านจะปลูกต้นไม้ให้ที่นั่น เมื่อท่านไปสอนธรรมะให้ชาวกะเหรี่ยงที่บนดอยท่านก็ปลูกกล้วย ปลูกพืชผักต่างๆไว้รอบกุฏิ พยายามศึกษาเรียนรู้จากการสังเกต ว่าต้นไม้แต่ละชนิดมีธรรมชาติอย่างไร ทำให้ชาวกะเหรี่ยงเริ่มปลูกผักสวนครัวไว้ใกล้บ้านเพื่อให้เก็บกินสะดวก



มะกรูดที่ปลูกไว้ท่านใช้น้ำและผิวมะกรูดล้างมือ ล้างถ้วยจาน ทำให้ภาชนะสะอาด สดใส แวววาว น้ำมะกรูดเอามาปรุงอาหาร ใส่น้ำพริก อร่อยไม่แพ้น้ำมะนาว น้ำมะกรูดกับน้ำมันในผิวมะกรูดทำให้เส้นผมแข็งแรงนุ่มหนา น้ำมันที่ผิวมะกรูดใช้ทามือทาผิวก็ทำให้ผิวชุ่มชื่น เสียดายที่คนไทยมองข้ามของดีใกล้ตัว เคยใช้มะกรูดสระผม ก็กลับพากันเสียเงินซื้อแชมพูมาใช้ ทำให้เกิดขยะจากขวดใส่แชมพูเพิ่มขึ้นอีก


ความประหยัด ใช้ของทุกอย่างอย่างคุ้มค่า ลดรายจ่าย ปลูกพืชทุกอย่างที่กินได้ไว้รอบบ้าน มีระเบียบวินัย สะอาด คือสิ่งที่คุณแม่ชีสัมฤทธิ์ เป็นแบบอย่างที่ดีเลิศของศิษย์ ท่านสอนศิษย์ว่า "ถ้าทุกคนไม่เริ่มที่ตนเอง ไม่พึ่งตนเอง ต้องให้เปลี่ยนนายกอีก 10 คน ประชาชนก็จะไม่หายยากจน นักบวชต้องทำให้ได้ ต้องอยู่อย่างคนจนที่พึ่งตนเองได้ ไม่คอยแต่ขอ"     กล่องกระดาษ กล่องนม กล่องไปรษณีย์ เชือกพลาสติก เชือกผูกของ ลวด ฯลฯ ที่ใช้แล้วท่านม้วนพับเก็บใส่กระป๋องไว้อย่างเป็นระเบียบ กระดาษปฏิทิน กระดาษสลากปิดสินค้า ท่านเก็บด้านที่ว่างเอาไว้ใช้เขียนข้อความ กระดาษหนังสือ ท่านตัดพับเก็บไว้ใช้ห่อของ ใช้เช็ดกระจก เช็ดของจนเปื่อยยุ่ยแล้วจึงทิ้งคืนสู่ดินให้เป็นปุ๋ย


เศษอาหาร เศษผักผลไม้ ท่านเอามาหมักเป็นปุ๋ยบำรุงดิน ทุกสิ่งทุกอย่างนำมาใช้ซ้ำจนคุ้มไม่ส่งไปเป็นขยะเป็นภาระของเทศบาลน้ำดื่มท่านรองน้ำฝนจากชายคา เอามาต้มทิ้งไว้ให้เย็น เก็บไว้ดื่ม ไม่ต้องซื้อน้ำดื่มใสขวดมาอย่างที่ทำกันทั่วไป


ดอกไม้ที่ปลูกท่านจะเลือกชนิดที่มีกลิ่นหอม ได้แก่ สายหยุด นมแมว เขี้ยวกระแต โมก สารภี เข็มมาเลเซีย พุดลา พุดซ้อน กล้วยไม้ เช่น เอื้องผึ้ง เอื้องตาควาย ช้างเผือก



ต้นไม้ใหญ่ท่านปล่อยให้สูงเพื่อเป็นที่อยู่ของนก และเพื่อใช้พื้นล่างปลูกไม้พุ่มเล็ก เช่นพริก กะเพรา หรือพืชผักอื่น เป็นสวนหลายระดับตั้งแต่พืชติดพื้น คือ ใบบัวบก จนถึงไม้สูงใหญ่อย่างต้นไทร


คุณแม่ชีสอนให้เจริญสติ ดูอาการของกายและจิตอย่างต่อเนื่อง รู้แล้วว่าปล่อยวาง ช่วยให้เกิดปัญญาเห็นความทุกข์ทางกาย เช่น ความเจ็บปวด มึน ง่วง ซึม ร้อน หนาว คัน แสบ ความทุกข์ทางใจ เช่น ความเศร้าหมอง หดหู่ เหม่อ ลอย ฟุ้ง ท้อ แท้ กลัว เครียด กังวล หงุดหงิด โกรธ เสียใจ ไม่สบายใจ ไม่พอใจ เห็นความแปรเปลี่ยน ไม่เที่ยง เช่น อาการที่เกิดขึ้นที่ขา จะเปลี่ยนจากปวดน้อยเป็นปวดมาก จากจุดนี้เป็นจุดอื่น เห็นความไม่มีตัวตน บังคับควบคุมให้เป็นดั่งใจไม่ได้ ทำให้เกิดความเบื่อหน่าย รู้ว่ากายนี้ จิตนี้ ไม่ใช่ของเรา เป็นเพียงธาตุสมมุติ ที่ประกอบขึ้นจากกรรมที่ทำไว้ ทำให้เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏฏสงสาร



หน้าที่ของมนุษย์คือการใช้ทุกเวลานาทีทำความเพียรเผากิเลส ใช้ชีวิตด้วยสติ ด้วยปัญญา ด้วยจิตอันบริสุทธิ์ ปลอดจาก โลภะ โทสะ โมหะ ทำประโยชน์ตนและประโยชน์ต่อสรรพสัตว์ทั้งหลาย เจริญมรณานุสติ เตรียมตัวรับความตายอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก


ศิษย์ที่มาปฏิบัติของคุณแม่ชีสัมฤทธิ์จะถูกปลูกฝังให้ มีระเบียบ ประณีต เตรียมตัวพร้อมทุกขณะ เช่น การเดินทาง ท่านสอนให้เก็บบัตรประชาชน เอกสารสำคัญ เงิน ยาไว้กับตัว โดยเจาะกระเป๋าที่เสื้อสำหรับเก็บของสำคัญเหล่านี้


การจัดเสื้อผ้าลงกระเป๋าเดินทาง ท่านจัดแยกเป็นหมวดหมู่ เช่น เสื้อ ผ้าซิ่น ชุดชั้นใน ถุงเท้า แยกใส่ถุงพลาสติกที่รูดปิดปากได้ ทำให้รู้ว่านำสิ่งใดไปบ้าง ไม่มีการลืมหรือสูญหาย เพราะทุกขั้นตอนทำด้วยสติ


ช่วงที่เดินจงกรมดิฉันมองไปนอกหน้าต่าง เห็นงูตัวยาวเกือบเมตรเลื้อยอยู่บนรั้ว มองเพลินลืมตามรู้อาการของจิต เมื่อส่งอารมณ์ตอนค่ำจึงกราบเรียนถามท่านด้วยความสงสัยว่า ควรจะ "กำหนด"อย่างไร ท่านชี้แนะว่า ขณะที่ตามองเห็น จิตรู้สึกอย่างไรให้กำหนดอย่างนั้น เช่น กลัว พอใจ ไม่พอใจ เพลิน เหม่อ ดิฉันจึงได้สติว่า การรับรู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วจิตปรุงแต่งอย่างไร สติต้องตามรู้ให้ทันปัจจุบันขณะ


คุณแม่ชีสัมฤทธิ์ ทุ่มเทดูแลศิษย์ที่มาปฏิบัติธรรมอย่างใกล้ชิด ตั้งแต่ตื่นนอนจนปิดไฟเข้านอน ท่านดูแลทุกอย่าง ทั้งอาหาร เครื่องดื่ม การเจ็บป่วย ความเป็นอยู่ทุกอย่าง และมีภาวะธรรมที่เกิดขึ้น ท่านชี้ทางสว่าง ให้กำลังใจ ปลอบใจไม่ให้ท้อ เพราะกิเลสมีฤทธิ์เดชมาก ฉลาดมาก ผู้ปฏิบัติมักถูกกิเลสหลอกล่อในรูปแบบต่างๆ เช่น ให้คิดถึงบ้าน ให้ห่วงงาน ให้เจ็บป่วย จนต้องละทิ้งการปฏิบัติธรรมเสียกลางคัน หากไม่เจริญอินทรีย์ 5 ให้แก่กล้า ทั้ง ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ก็จะแพ้กิเลส


คุณแม่ชีสัมฤทธิ์สอนศิษย์ให้วางใจให้ถูกต้อง ไม่ปฏิบัติธรรมเพื่อเอาไว้ไปโอ้อวดกัน ไม่ยึดติดใน ลาภ ยศ สักการะ แต่ปฏิบัติเพื่อให้พ้นจากกิเลส ตามหลักธรรมของพระพุทธองค์อย่างแท้จริง ท่านจึงเลือกสอนศิษย์เพียงจำนวนน้อย แต่ให้เขาถึงธรรมอย่างแท้จริง


สิบกว่าปีที่ดิฉันได้มาเป็นศิษย์ของคุณแม่ชีสัมฤทธิ์  ตรีสันเทียะ (โดยศาสตราจารย์กิตติคุณอำไพ  สุจริตกุล เมตตาแนะนำให้มาเป็นศิษย์ของท่าน) ดิฉันมั่นใจยิ่งขึ้นว่าได้เดินมาถูกทางแล้ว แม้ดิฉันเพิ่งปฏิบัติได้แค่ขั้นอนุบาล แต่ก็เห็นผลว่าจิตที่ถูกฝึกแล้วมีคุณอย่างไร


ขอเชิญชวนให้ชาวไทยหันมาใส่ใจศึกษาและปฏิบัติธรรมกันอย่างจริงใจ เริ่มที่ฝึกจิตของตนเอง ดังปณิธานของท่านพุทธทาสที่สอนว่า "จงเป็นอยู่อย่างต่ำ (อยู่อย่างเรียบง่าย ประหยัด) มุ่งกระทำอย่างสูง (มุ่งพัฒนาจิตใจให้พ้นจากกิเลส)" เพื่อปัญญาและสันติสุขจะเกิดขึ้นแก่ตน ครอบครัว ประเทศชาติ และโลกทั้งมวลอย่างแท้จริง


* หมายเหตุ  ภาพประกอบโดย มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา