Skip to main content

ซารียา

คอลัมน์/ชุมชน

ด้วยเหตุผลของความแตกต่างทางสีผิวและชาติพันธุ์ ผู้คนจึงถูกแบ่งแยก

ซารียา เด็กสาวชาวมุสลิม วัย 20 ปี จากบ้านแม่สามแลบ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน เข้าคิวรอเลือกเสื้อผ้าจากกองที่ผู้คน (ใจบุญ) นำมาบริจาค


เธอเพิ่งมีลูกคนแรก
เธอ ต้องการผ้าห่มจากถุงบริจาคซึ่งยังไม่ได้เทออกมา


ซารียาเล่าว่า เธอ เคยเข้าไปทำงานในตัวเมืองเชียงใหม่ เป็นงานล้างจานในร้านอาหารแห่งหนึ่ง โดยได้ค่าจ้างวันละ 50 บาท เธอกลับมาอยู่ที่บ้าน (บ้านแม่สามแลบ) หลังจากที่เธอรู้ว่าเธอตั้งท้องลูกคนแรก


ส่วนสามีของเธอทำงานเป็นกรรมกรรับจ้างแบกของที่ท่าเรือบ้านแม่สามแลบ
ทั้งคู่ไม่มีบัตรสีรับรองสถานะ …


ถุงผ้าห่มยังไม่ถูกเทออกมารวมกับกองเสื้อผ้าบริจาค ซารียา จึงยังไม่เข้าไปเลือก ครอบครัวเล็กๆ ของเธอมีด้วยกัน 3 ชีวิต พ่อแม่และลูกกับผ้าห่ม 4 ผืน หากได้ผ้าห่มไปอีกผืนจะให้เจ้าตัวเล็กใช้สลับกับผืนเก่า


เธอหัวเราะ ก่อนจะบอกว่า ลูกของเธอมักจะฉี่ใส่ผ้าห่ม


ซารียาเกิดและโตที่บ้านแม่สามแลบ จนอายุ 20 ปี พ่อแม่ของเธอเป็นคนจากฝั่งพม่าที่นับถือศาสนาอิสลาม ซารียาไม่มีบัตรสีรับรองสถานะ เธอบอกว่า เธอคลอดลูกกับหมอพื้นบ้าน (หมอตำแย) ทั้งที่รู้สึกว่าไม่ปลอดภัย แต่ไม่รู้จะทำยังไง


ไม่มีบัตร ไม่เงิน .. พอที่จะไปคลอดลูกที่โรงพยาบาล


เสื้อผ้ากองโตกองอยู่บนพื้นสนามฟุตบอล ทั้งผู้ใหญ่และเด็กๆ ยื่นบัตรคิวเข้าไปเลือกเสื้อผ้าในอัตราหนึ่งชิ้นต่อหนึ่งคน มีคนพยายามเก็บไปสองชิ้นบ้าง ไม่ยื่นบัตรคิวบ้าง ซึ่งก็ยกประโยชน์ให้จำเลย หากอาสาสมัคร (นักศึกษานิติศาสตร์ มช.) มองไม่เห็น


ถึงกระนั้น ผ้าห่มก็ยังไม่ออกจากถุง


ซารียามองมันด้วยความหวัง ..



พี่สาวของซารียา อุ้มลูก รอคิวเลือกเสื้อผ้าจากกองเสื้อ
หลังจากที่ลูกน้อยในอ้อมกอดได้ลูกโป่งสวรรค์สีสรรสดใสมาไว้ในมือ



กองเสื้อผ้าบริจาคจากผู้ใจบุญถูกเทรวมกัน โดยมีนิสิตคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นผู้วางกติกา ล้อมวงแล้วเข้ามาเลือกเสื้อผ้าในอัตรา 1:1





ซารียาหญิงสาววัย 20 ปี ไม่มีบัตรรับรองสถานะ ทั้งที่ เธอ เกิดที่แผ่นดินไทย
เข้าคิวรอรับบัตรเพื่อจะได้มีสิทธิไปเลือกเสื้อผ้าจากผู้ใจบุญทั้งหลาย



ผู้คนเริ่มทยอยเดินทางกลับบ้าน หลังจากเข้าร่วมกิจกรรมงานวันเด็กไร้สัญชาติ (2550)
ต่างมีของบริจาคติดไม้ติดมือ ดูราวผู้อพยพยพลัดถิ่น



การสัญจรทางน้ำเป็นเรื่องปกติของคนในแถบถิ่นสาละวิน ซารียาเดินปะปนอยู่ในผู้คนเหล่านี้ เธอคงไม่สนใจรับรู้ถึงสถานะอันจำกัดในฐานะคนชายขอบ เหมือนกับคนอื่นๆ
สิ่งเดียวที่เธอและพวกเขาต้องการ คือ ผ้าห่มให้ลูกของเธอและอาหารสำหรับทำลายความหิว