Skip to main content

อนุรักษ์มรดกสีรุ้ง: ไม่ต้องง้อคมช. ไม่ต้องรอรัฐธรรมนูญ

คอลัมน์/ชุมชน

ช่วงนี้วงการเราคึกคักกันมากจริง ๆ ค่ะ โดยเฉพาะเรื่องการเสนอให้รัฐธรรมนูญมาตรา 30 คุ้มครองสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศ เรื่องนี้คนทำงาน (คือเครือข่ายความหลากหลายทางเพศทั้งหลาย) เองเห็นว่านี่เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะช่วยให้สังคมเข้าใจพวกเราและเกิดการยอมรับความหลากหลายของความเป็นมนุษย์ได้มากขึ้น

เรื่องรัฐธรรมนูญนี้คงจะนำมาเก็บตกอีกทีภายหลัง วันนี้ขอนำเสนออีกเรื่องที่สำคัญ และเราสามารถทำให้เกิดขึ้นเองได้ด้วยตัวของเรา โดยไม่ต้องรอรัฐธรรมนูญ นั่นก็คือเรื่องการอนุรักษ์มรดกสีรุ้ง


เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2550 ที่ผ่านมา มีการเปิดตัวโครงการอนุรักษ์มรดกสีรุ้งอย่างเป็นทางการ ด้วยความร่วมมือของหลากหลายองค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศและ รศ.ดร.ปีเตอร์ แจคสัน จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ผู้จัดงานหวังว่าการอนุรักษ์มรดกสีรุ้งนั้นจะนำไปสู่การถือกำเนิดขึ้นของ "ศูนย์ข้อมูลความหลากหลายทางเพศแห่งประเทศไทย" (Thai Queer Resources Centre) ซึ่งจะทำหน้าที่เก็บสื่อสีรุ้งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งพิมพ์ ภาพยนตร์ เพลง หนังสั้น หรือรายการโทรทัศน์ต่าง ๆ


เอ... บางคนอาจจะถามว่าจะต้องอนุรักษ์กันไปทำไม มันมีความสำคัญด้วยหรือ เรื่องนี้อาจารย์ปีเตอร์ได้ให้คำตอบไว้ในการกล่าวแนะนำโครงการว่า การบันทึกประวัติศาสตร์ของประเทศต่าง ๆ ในโลก มักจะมีแต่เรื่องราวของผู้ที่มีอำนาจ ประวัติศาสตร์ของคนกลุ่มน้อยต่าง ๆ มักจะถูกมองข้ามเสมอ คนรักเพศเดียวกันก็มักจะถูกมองข้ามเสมอเช่นกัน ไม่มีห้องสมุดหรือหอจดหมายเหตุที่ไหนที่จะมาเก็บข้อมูลของชาวสีรุ้ง เพราะบรรณารักษ์จะมองว่าเอกสารเหล่านี้ไม่มีความสำคัญ


แต่จริง ๆ แล้ว เราเป็นกลุ่มคนที่มีประวัติศาสตร์ และมีความสำคัญมากใน Popular Culture แล้วถ้าพวกเรากันเองไม่เป็นผู้ลุกขึ้นมาริเริ่มเก็บเอกสาร เก็บข้อมูลที่บอกเล่าเรื่องราวของเราไว้ มรดกที่มีค่าเหล่านี้จะสูญหายไปในไม่ช้าอย่างแน่นอน อาจารย์ปีเตอร์ยกตัวอย่างว่า ในประเทศที่มีศูนย์ข้อมูลสีรุ้ง เช่น สหรัฐ อังกฤษ และนิวซีแลนด์นั้น ชายรักชายและหญิงรักหญิงที่เป็นนักประวัติศาสตร์สมัครเล่นได้พยายามริเริ่มเก็บรักษาเอกสารประวัติศาสตร์ของตนไว้ แล้วหลังจากนั้นจึงค่อยส่งมอบให้หอสมุดหรือหอจดหมายเหตุแห่งชาติที่เห็นความสำคัญของข้อมูลเหล่านี้ ในบางประเทศเช่น ออสเตรเลีย จนถึงขณะนี้ก็ยังเป็นเอกชนที่เก็บข้อมูลสีรุ้งไว้


งานวันนั้นยังมีนักศึกษาและนักวิชาการไทยหลายท่านมาช่วยย้ำเตือนให้เราเห็นความสำคัญของการเก็บข้อมูลสีรุ้ง เพราะขณะนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ เมื่อนักศึกษาและนักวิชาการจะศึกษาเรื่องราวของเพศที่แตกต่างนั้น มักไม่สามารถค้นหาข้อมูลจากห้องสมุดได้ เพราะห้องสมุดบ้านเรายังไม่ได้ให้ความสำคัญ บางทีก็มองว่าเป็นสื่อลามกด้วยซ้ำไป ทำให้การศึกษาวิจัยเป็นไปได้ยาก


ส่วนไฮไลต์ของงานวันนั้นคือการนำคอลเลคชั่นหนังสือหายากมาอวดกัน มีคอลเลคชั่นมาจากหลากหลายองค์กรค่ะ เช่น บางกอกเรนโบว์ ฟ้าสีรุ้ง สะพาน สวิง องค์กรเหล่านี้ต้องสะสมข้อมูลไว้ใช้ทำงานกันอยู่แล้ว เพราะจะไปพึ่งพิงศูนย์ข้อมูลอื่น ๆ ก็คงยาก บางรายก็เป็นนักสะสมอิสระค่ะ ทำด้วยใจรัก อย่างอาจารย์ปีเตอร์เองก็มีคอลเลคชั่นหนังสือหายากมาแสดงด้วย เก็บภาพบางส่วนจากสไลด์ของอาจารย์มาฝากด้านล่างค่ะ




ภาพแรกเป็นหนังสือเรื่อง "เผยชีวิต ดาวกะเทยยอดกระหรี่" พิมพ์เมื่อประมาณปี 2497-2498 เป็นชีวประวัติของกะเทยคนหนึ่งที่เกิดและเติบโตในกรุงเทพเมื่อประมาณ 80 ปีก่อน น่าสนใจมากค่ะ แต่น่าเสียดายว่าอาจารย์มีเพียงภาพถ่ายของหนังสือที่มาจากแฟ้มของคุณอเนก นาวิกมูล และคุณอเนกเองก็มีแต่ภาพ ไม่มีหนังสือฉบับจริง แล้วก็จำไม่ได้แล้วว่าหนังสือเล่มนี้อยู่ที่ไหน อาจารย์ปีเตอร์ฝากไว้ว่า ถ้าใครมีหนังสือเล่มนี้ช่วยบอกด้วย



ภาพที่สองเป็นหนังสือชาวเกย์ ที่เขียนโดย ป. อินทรปาลิต เจ้าของเรื่องฮิต พล นิกร กิมหงวน เล่มนี้อาจารย์ปีเตอร์ซื้อเมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว



เล่มถัดไป คือชีวิตเศร้า ของอาโก๋ ปากน้ำ ซึ่งน่าจะรู้จักกันดีในหมู่เกย์ คอลัมน์ชีวิตเศร้าชาวเกย์ ของอาโก๋ในหนังสือแปลกนั้น เป็นสื่อยุคแรก ๆ ที่เริ่มมีเรื่องเกี่ยวกับเกย์ และทำให้แปลกกลายเป็นหนังสือที่ดังมาก เล่มนี้เป็นการนำเรื่องราวในคอลัมน์นั้นมาพิมพ์รวมเล่มค่ะ



เท่าที่เดินดูในงานเปิดตัวโครงการวันนั้น เห็นหนังสือเกย์เยอะแยะละลานตามาก แต่หนังสือของหญิงรักหญิงนี่สิคะหายากยิ่งนัก เห็นมีอยู่โต๊ะเดียวที่มีคอลเลคชั่นหนังสือหญิงรักหญิง เจ้าของก็ไม่ใช่ใครที่ไหน คุณฉันทลักษณ์ รักษาอยู่ จากกลุ่มสะพานนั่นเอง ส่วนใหญ่ก็เป็นหนังสือที่คุณฉันทลักษณ์หรือคุณเล็กเขียนหรือเป็นบรรณาธิการ แต่มีเล่มหนึ่งค่ะที่คุณเล็กเก็บสะสมเอาไว้ แล้วเป็นเล่มที่ทำเอาหญิงรักหญิงในงาน (ซึ่งดูๆ แล้วอายุเกินสามสิบกันทั้งนั้น) กรี๊ดกร๊าดกันยกใหญ่ ดูภาพด้านล่างนะคะ




เธอกับฉัน ฉบับราคา 15 บาท หน้าปกเป็น พี่ปุ๊ อัญชลี สมัยยังเป็นทอมจ๋าหน้าใสปิ๊ง ควงคู่มากับคุณนิตย์ ดูแล้วทำให้นึกถึงบรรยากาศยุคหนึ่งเดียวคนนี้ ที่เราเริ่มมีคำว่า ทอม-ดี้ เริ่มเห็นภาพผู้หญิงเท่ ๆ เดินจับมือกับผู้หญิงสาว ๆ ตามที่สาธารณะ ภาพต่อไปเป็นปกในของเธอกับฉันฉบับเดียวกันนี้ค่ะ



ภาพนี้คงทำให้สาว ๆ ยุคนั้นกรี๊ดกันสลบ แหมก็พี่ปุ๊นั่งกอดเอวสาวซะแนบแน่นขนาดนั้น ยุคที่อัญชลี จงคดีกิจและ บทเพลงหนึ่งเดียวคนนี้มีชื่อเสียงโด่งดัง นับได้ว่าเป็นประวัติศาสตร์ช่วงสำคัญช่วงหนึ่งของหญิงรักหญิงในเมืองไทยทีเดียว


เป็นตัวอย่างพอหอมปากหอมคอนะคะ ถ้าคุณผู้อ่านมีหนังสือหรือสื่ออื่น ๆ ที่เกี่ยวกับเพศที่หลากหลายแล้วไม่รู้จะเอาไปเก็บไว้ที่ไหนดี โครงการอนุรักษ์มรดกสีรุ้งยินดีรับบริจาคอย่างยิ่งค่ะ ตอนนี้โครงการจะเป็นผู้เก็บสื่อเหล่านี้ไว้เองก่อน แล้วในอนาคตจะติดต่อหาห้องสมุดที่สนใจจะเก็บเพื่อที่จะเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจเข้าไปค้นคว้าหาข้อมูล


ช่วยกันนะคะ อย่าปล่อยให้ประวัติศาสตร์ของเรากลายเป็นอดีตที่เลือนหายไปเรื่อย ๆ มาช่วยกันเก็บ ช่วยกันรักษาให้ประวัติศาสตร์ของเรามีชีวิตชีวา มีสีสันสดใสและหลากหลายดั่งสีรุ้ง


- - - - - - - - - -
สอบถามรายละเอียดและติดต่อเพื่อบริจาคสื่อสีรุ้งได้ที่ 081-824-9063 อีเมล์ thai_queer@yahoo.com หรือ www.tqrc.org