Skip to main content

"ชุมชนมหาวิทยาลัยสีเขียว": วิชาใหม่ของ ม.อ. เพื่อร่วมรับผิดชอบต่อปัญหาโลกร้อน

คอลัมน์/ชุมชน

ผมเขียนบทความชิ้นนี้เพื่อให้บุคคลทั่วไปได้อ่านและทำความเข้าใจไปพร้อมๆ กับนักศึกษาที่ลงทะเบียนเรียนวิชา "ชุมชนมหาวิทยาลัยสีเขียว" (Greening the Campus Community) ในคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หรือที่รู้จักกันในนาม ม..

โปรดอย่าคิดว่าผมเอาเปรียบท่านผู้อ่าน (โดยเขียนบทความชิ้นเดียวใช้ได้สองงาน) แต่ผมขอถือโอกาสนี้รายงานต่อผู้เสียภาษีทุกท่านว่า ในสภาวะที่โลกและชุมชนใกล้ตัวเรากำลังเผชิญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรงแบบไม่เคยปรากฏมาก่อนนั้นสถาบันการศึกษาที่ท่านทั้งหลายได้เสียภาษีไปให้ใช้นั้น กำลังทำอะไรกันอยู่


คณะวิทยาศาสตร์ได้คิดออกแบบวิชานี้มาตั้งแต่ ๖ ปีที่แล้ว แต่เพิ่งได้เปิดสอนจริงเมื่อปี ๒๕๔๘ เป็นครั้งแรก วิชานี้เป็นวิชาบังคับครับ แต่ละภาคการศึกษาจะมีนักศึกษาลงทะเบียนเรียนประมาณ ๓๕๐ ถึง ๔๕๐ คน


วัตถุประสงค์ ก็เพื่อสร้างจิตสำนึกในการบำรุงรักษาและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล ยั่งยืน โดยใช้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในวิทยาเขตเป็นโจทย์หรือเป็นห้องทดลอง


ถ้าจะกล่าวให้ลึกและชัดเจนกว่านี้ก็คือว่า เราอยากจะเห็นมหาวิทยาลัยที่ประกอบไปด้วยนักวิชาการหลากหลายสาขา รวมทั้งบุคคลากรด้านอื่นๆ และนักศึกษาจำนวนมากได้เป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงความคิดของสังคมเพื่อรับมือกับวิกฤติโลกร้อน


วิธีการศึกษาของวิชานี้ หลังจากคณาจารย์ได้บรรยายวัตถุประสงค์ตลอดจนหลักการในการตั้งโจทย์วิจัย การวิเคราะห์ข้อมูล การทำงานเป็นทีม ฯลฯ นักศึกษาจะต้องทำโครงการวิจัยตามประเด็นที่กลุ่มตนสนใจ โดยมีเนื้อหาในประเด็นสิ่งแวดล้อม การประหยัดพลังงาน ประหยัดน้ำ การจราจร คุณภาพโรงอาหาร การกำจัดของเสีย คุณภาพหอพัก ฯลฯ


ตลอดสี่ภาคการศึกษาที่ผ่านมา ถ้านับเป็นจำนวนโครงงานก็มีประมาณ ๑๕๐ โครงงาน


ถ้าถามว่าในจำนวนนี้มีผลงานใดบ้างที่ได้ถูกนำไปใช้ได้จริงตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ ผมเองในฐานะผู้ประสานงานวิชานี้ (มีอาจารย์ผู้ร่วมสอนประมาณ ๑๓ ท่าน) ก็ต้องขอเรียนตามตรงว่า "ยังไม่มีครับ"


ที่เป็นเช่นนี้เพราะสาเหตุหลายประการครับ เช่น () ยังขาดการสื่อสารในวงกว้างรายงานที่ทำแล้วยัง "อยู่บนหิ้ง" เหมือนกับสังคมวิชาการทั่วไปในสังคมไทย () ยังขาดการผลักดันขึ้นสู่ระดับนโยบายของมหาวิทยาลัย () คุณภาพงานของนักศึกษายังมีข้อบกพร่องหรือขาดการตรวจสอบความถูกต้องดีพอ () ยังมีปัญหาทางเทคนิค เช่น ฐานข้อมูลเดิม ให้หรือมิเตอร์ไฟฟ้าที่ถูกต้องให้เปรียบเทียบ


อย่างไรก็ตาม ถ้าหยิบข้อดีขึ้นมากล่าวกันบ้าง เราสามารถกล่าวได้ว่ามีการนำปัญหาหรือประเด็นสาธารณะใน ม.. มาพุดคุยกันมากขึ้น แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นที่จะเป็น "มวลวิกฤติ (critical mass)" ที่จะสามารถขับเคลื่อนไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้


ขอโอกาสและเวลาให้เราได้พัฒนาตนเองอีกสักระยะหนึ่งก่อนนะครับ


แต่เพื่อเป็นการยืนยันบนหลักการที่ได้กล่าวมาแล้ว ผมขอนำผลสำเร็จของมหาวิทยาลัยฮาร์วาด (Harvard University) ในสหรัฐอเมริกามาเล่าสู่กันฟัง


กลุ่มของมหาวิทยาลัยฮาร์วาดเรียกตนเองว่า Harvard Green Campus Initiative ซึ่งได้เริ่มต้นตั้งแต่ปี พ.. ๒๕๔๓ หรือเมื่อ ๗ ปีมาแล้ว


มหาวิทยาลัยได้ว่าจ้างบุคคลากรมาทำงานนี้เต็มเวลาถึง ๑๓ คนและนักศึกษานอกเวลาอีก ๑๗ คน ผมไม่คิดว่ามีการสอนกันเหมือนของ ม.. แต่เป็นการร่วมกิจกรรมกันทั้งมหาวิทยาลัย


จากเว็บไซต์ของกลุ่ม (http://www.greencampus.harvard.edu) บอกว่า จากการระดมความร่วมมือของทุกคนในมหาวิทยาลัย ทำให้คณะสาธารณะสุขเพียงคณะเดียวสามารถลดการใช้ไฟฟ้าลดลงถึง ๗% ในช่วงปี ๒๕๔๓ ถึง ๒๕๔๘ ในขณะที่มหาวิทยาลัยอื่นที่ไม่ได้ทำโครงการนี้มีการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นถึง ๔๐% ในเวลา ๑๐ ปี


ถ้าคิดเป็นพลังงานไฟฟ้าในคณะสาธารณสุข กว่า ๑ ล้านหน่วยในเวลา ๕ ปี ถ้าคิดเป็นราคาค่าไฟฟ้าในเมืองไทยก็เกือบ ๔ ล้านบาทใน ๕ ปี


ถ้าคิดเฉพาะในปีงบประมาณ ๒๕๔๙ เพียงปีเดียว Harvard Green Campus Initiative ใช้เงินลงทุนไป ๑.๑ ล้านเหรียญ แต่สามารถลดการใช้สอยลงได้ถึงกว่า ๓ ล้านเหรียญ


นอกจากนี้ยังสามารถลดก๊าซ คาร์บอนไดอ๊อกไซด์ที่เป็นต้นเหตุให้โลกร้อนได้ถึง ๔๐ ล้านปอนด์ เอาตัวเลขแค่นี้ก่อน อย่าเพิ่งคิดว่ามีนัยสำคัญหรือไม่


กลับมาที่วิทยาเขตหาดใหญ่ของ ม.. อีกครั้งครับ


ในแต่ละปีมีการใช้ไฟฟ้าประมาณ ๑๔๐ ล้านบาท ใช้น้ำประปาประมาณ ๑๕ ล้านบาท ค่าตัดหญ้าในสนาม ๖.๗ ล้านบาท


ถ้าเราสามารถลดการใช้ลงได้สัก ๑๐% ก็คิดเป็นเงินจำนวนไม่น้อย และมีส่วนร่วมในการลดปัญหาโลกร้อนได้อีกจำนวนหนึ่ง


ที่สำคัญกว่านี้ ถ้าเราสามารถผลิตนักศึกษาที่มีจิตสำนึกด้านนี้ได้เพิ่มขึ้นสักปีละ ๑๐๐-๒๐๐ คน ก็จะสามารถสร้างผลดีต่อสังคมและโลกได้อย่างเป็นทวีคูณครับ


ที่เล่ามาทั้งหมดนี้ ผมตั้งใจจะนำเสนอท่านผู้บริหาร ม.. ในโอกาสต่อไปครับ


สำหรับประเด็นหลักในปี ๒๕๕๐ นี้ จากการศึกษาเบื้องต้น โดยนักศึกษารุ่นที่แล้วพบว่า เฉพาะส่วนราชการของคณะวิทยาศาสตร์เพียงคณะเดียวมีการใช้กระดาษถึงปีละ ๑๑ ล้านแผ่น


คำถามก็คือว่า ถ้าเราจะลดลงมาที่ ๙ ล้านแผ่น เราควรจะทำอย่างไรกันบ้าง คณะหรือหน่วยงานใดมีตัวอย่างดีๆ (best practice) เราอยากจะค้นหา แลกเปลี่ยน เรียนรู้ กันทั้งวิทยาเขต


นอกจากนี้จะมีการศึกษาค้นคว้าในทุกมิติที่เกี่ยวข้องกับกระดาษ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาโลกร้อน ปัญหาการใช้ไฟฟ้า เศรษฐกิจ มลพิษ ปัญหาน้ำเสีย การฟอกขาว การนำกลับมาใช้ใหม่ ฯลฯ


เรื่องกระดาษเป็นเพียงสื่อให้คนในวิทยาเขตได้มีโอกาสเปิดเวทีพูดคุยกันเท่านั้น เป้าหมายสูงสุดคือการสร้างคนมาช่วยกันดูแลโลกที่เปราะบางเป็นอย่างยิ่งครับ.