Skip to main content

เพลงเตหน่ากู : ตอนกำเนิดสาย เตหน่ากู

คอลัมน์/ชุมชน

เตหน่า อะ ปลี เลอ จอชื่อ         เด เต่อ หมึ เด ซึ เด ซึ
สายเตหน่าทำจากจอชื่อ          ดีดแล้วต้องค่อยๆตั้งสายไปด้วย
(
ธา บทกวีคนปวาเก่อญอ)

บรรยากาศหมู่บ้านกลางไพรยิ่งดึก ยิ่งเงียบ มีเพียงเสียงลมพัดมาทักทายต้นไม้ ต้นหญ้า พอได้ยินเสียงสนทนากันตามประสาสายลมและแมกไม้ ขณะที่จิ้งหรีดเรไรต่างๆ เริ่มค่อยๆ ทยอยเก็บฉากการขับกล่อมบอกเล่าเรื่องราวชีวิตยามค่ำคืนบ้างแล้ว


แต่ภายในบ้านไม้ไผ่ หลังคาตองตึงทรงปวาเก่อญอหลังเดิม สองพ่อลูกยังส่งเสียงพูดคุยสลับเสียงหัวเราะดังกะหนุงกะหนิงในบ้านอยู่ข้างผ่าคว่าธิ ซึ่งเป็นครัวเตาไฟฟืนแบบปวาเก่อญอ แสงไฟริบริบจากเปลวฟืนทำหน้าที่ให้ความอบอุ่นและขับไล่ความมืดได้ในรัศมีรอบผ่าคว่าธิ เพียงพอที่สองคนนั่งมองหน้าสนทนากันได้


บนเลอชอโข่ ซึ่งเป็นหินสามเส้าถูกตั้งด้วยกาต้มน้ำ หนุ่มน้อยยื่นน้ำชาให้พ่อและหยิบถ้วยชาไม้ไผ่ที่ใส่ชาผสมเกลือหยิบขึ้นมาดื่ม เพื่อสกัดกั้นความง่วงนอนที่จะมาทำลายโสตประสาทในการสนทนาพูดคุยและเรียนรู้ รับรู้เรื่องราวเตหน่ากูในยามค่ำคืนโดยมีห้องครัว ผ่าคว่าธิบ้านหลังน้อยเป็นแหล่งเรียนรู้


"ฮูช.......ชช เด็กกำพร้านี่ไม่เบานะ เอาชนะเจ้าเมืองจนได้" ลูกชายดื่มชาและคุยกับพ่อ
"
ตามความคิดและวิถีของคนเชื่อว่า แม่หม้ายและเด็กกำพร้านั้นจะต้องปฏิบัติดีต่อเขา ใครรังแกแม่หม้ายและเด็กกำพร้าจะถูกสาปแช่งจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทำมาหากินไม่ขึ้น จำไว้ให้ดี" พ่อบอกและกล่าวย้ำเตือนลูกชายอีกครั้งเกี่ยวกับวิถีและความคิดของชนเผ่าที่ถือปฏิบัติกันมาแต่สมัยบรรพชน


"เออ! พ่อ แล้วนอกจากไม้แล้ว ส่วนอื่นของเตหน่ากูนั้น เมื่อก่อนเค้าใช้อะไรทำล่ะ?" ลูกชายซักพ่อต่อ
"
เอ้า! พ่อยังไม่เคยเล่าให้ฟังหรอกหรือ?" ผู้เป็นพ่อย้อนถามลูกชายผู้ใคร่รู้


ครั้นกาลอดีตที่ยังไม่มีการสังเคราะห์วัสดุแร่ต่างๆ มาประสมประเสกันอย่างมากมาย สมัยที่ยังไม่มีเหล็กเส้น ยังไม่มีแผ่นโลหะนั้น ส่วนประกอบของเตหน่ากูทั้งหมดล้วนทำมาจากทรัพยาธรรมชาติที่หาได้ง่ายในชีวิตประจำวัน


อะหน่าวี่ ลูกบิดหรือหูบิดของเตหน่ากูมักจะทำมาจากไม้ไผ่ที่แก่สามถึงสี่ปีขึ้นไปคัดเลือกเอาที่แข็งแน่นหรือแกนไม้เนื้อแข็ง


อะโข่เจ่อ ฝาปิดโพรงของท่อนไม้นั้นส่วนใหญ่ทำมาจากหนังสัตว์ เช่น หนังวัว หนังควาย หนังงู เป็นต้นแต่คนสมัยก่อนมีความเชื่อเกี่ยวกับการทำอะโข่เจ่อของเตหน่ากูที่เป็นเรื่องเล่าต่อๆ กันมาเหมือนกัน


หากทำอะโข่เจ่อของเตหน่ากูจากหนังสุนัขนั้นเสียงจะหาความไพเราะไม่มี เสียงจะกระด้างกระด้าน ชวนแสบแก้วหูของผู้ฟัง เล่นแล้วคนไม่ค่อยชอบฟัง โดยเฉพาะหนุ่มๆ เวลาไปจีบสาวอย่าเอาเตหน่ากูที่ทำอะโข่เจ่อ จากหนังสุนัขเด็ดขาด เพราะจีบสาวไม่ได้แน่นอน เสียงของมันไม่ต่างจากเสียงสุนัขเห่า


หากทำอะโข่เจ่อของเตหน่ากูจากหนังแพะ เวลามีคนฟังสองสามคนมันจะไม่ส่งเสียง แต่ถ้ามีคนมาฟังเยอะมันจะเปล่งเสียงออกมาดังมาก บางทีดังจนน่ารำคาญ เพราะฉะนั้นไม่เหมาะกับการนำเตหน่ากูไปเล่นจีบสาวเช่นกัน เพราะเวลาจีบสาวมีคนไม่กี่คน คือมี ผู้สาว แม่-พ่อและครอบครัวของผู้สาวไม่กี่คน มันจึงขี้เกียจส่งเสียง มันชอบคนส่งเสียงก็ต่อเมื่องมีคนจำนวนมากๆ


แต่หากทำจากหนังเก้งจะดีที่สุด มันจะมีเสียงที่สม่ำเสมอไม่ว่าคนมากหรือคนน้อย ไม่ว่ากลางวันหรือกลางคืน ยิ่งถ้าเป็นเก้งตัวเมียแล้วเสียงจะไพเราะกว่าปกติอีกเท่าตัว หนุ่มๆ สมัยก่อนจึงปรารถนาหนังเก้งตัวเมียยิ่งนัก แต่ก็มีข้อห้ามคนหนึ่งยิงเก้งตัวแม่เกินปีละสามตัว ถ้าเกินสามตัวมือจะเป็นหมัน ต่อไปล่าสัตว์ป่าจะไม่ได้กินอีกเด็ดขาด




แต่ต่อมาทำจากแผ่นสังกะสี ไม่ว่าจะเป็นปีบสังกะสีต่างๆหรือแผ่นเรียบสังกะสีทั่วไป
"
ทำไมต้องเปลี่ยนเป็นสังกะสี ไม่ใช้หนังสัตว์เหมือนอดีต?" ลูกชายอยากรู้เหตุผล
"
ที่เค้าเปลี่ยนเพราะ หนังสัตว์นั้นมันมีปฏิกิริยากับอุณหภูมิรอบข้าง ถ้าหนาวมันจะแข็งตัว ถ้าร้อนมันจะอ่อนตัว มันทำให้มีผลต่อการตั้งสาย สายมันจะเพี้ยนบ่อยและเร็ว ใช้โลหะทนต่ออุณหภูมิแน่นอนกว่า" ผู้เป็นพ่อไขข้อสงสัยของลูกชาย


อะปลี สายของเตหน่ากูเมื่อก่อนทำจากราก จอชื่อ ซึ่งเป็นพืชตระกุลเถาชนิดหนึ่งนำมาสานให้เป็นคล้ายเส้นเชือกแล้วไปขึงเป็นสายเตหน่ากู บางทีก็ใช้รากกล้วย บางครั้งก็เอาหวายมาเหลาเป็นเส้นเล็กๆ ซึ่งก็ใช้ได้เช่นกัน โดยก่อนเล่นต้องแช่น้ำไว้ประมาณครึ่งวันเพื่อเพิ่มความเหนียวนุ่ม


แต่ก็มีบ่อยครั้งที่ใช้เส้นเอ็นของสัตว์มาทำสายของเตหน่ากู เช่น เส้นเอ็นเก้ง เอ็นแพะ เอ็นวัว เอ็นควาย เป็นต้น การใช้เส้นเอ็นนั้นตามความรู้สึกของคนเล่นเตหน่ากูสมัยก่อนถือว่ามีขั้นตอนการนำมาที่ยุ่งยากกว่าอย่างอื่นและเวลาแช่น้ำแล้วส่งกลิ่นไม่ค่อยน่าหลงใหล


ต่อมาเริ่มมีการนำสายเบ็ดมาเป็นสายของเตหน่ากู เนื่องจากสายที่ทำมาจากวัสดุธรรมชาติเหล่านั้นใช้ได้ในเวลาจำกัดแล้วก็ขาดง่าย การตั้งสายตึงได้ไม่มาก


การนำสายเบ็ดมาทำสายเตหน่านั้นเสียงจะออกคล้ายๆ เสียงการเกากีตาร์คลาสสิค ฟังดูแล้วต่างจากสำเนียงเสียงเดิมของเตหน่ากูไป


จากนั้นก็มีการนำสายเบรกรถจักยานมาเป็นสายเตหน่ากู จึงรู้สึกสำเนียงเสียงของมันใกล้เคียงของเดิมหน่อย เสียงแปร่งอมเศร้านิดๆ ใช่ ใช่ เลย ปัจจุบันจึงมักจะเห็นสายของเตหน่ากูส่วนมากล้วนมาจากสายเบรกจักรยาน เคยมีคนนำสายกีตาร์มาใช้เล่นเตหน่ากู แต่ไม่เป็นที่นิยม


"เสียงจากสายกีตาร์มันใสไป มันเพราะไป เสียงของเตหน่ากูต้องเหน่อนิดๆ" ใครคนหนึ่งอธิบาย


สายเตหน่ากู มีตั้งแต่หกสายเป็นต้นขึ้นไป แต่ที่ปัจจุบันนิยมเล่นกันมีเจ็ดสาย แปดสายจนถึงสิบสองสาย แต่หากใครอยากเล่นมากกว่านั้นก็ได้


"แล้วตัวเตหน่ากู นิยมทำมาจากไม้อะไรครับ?" ผู้เป็นลูกชายถามพ่อ
"
คืนนี้จะได้เริ่มเล่นไหมเนี้ย!?" ผู้เป็นพ่อย้อนถาม แต่ลูกชายนั่งอมยิ้มแทนคำตอบ พร้อมรอคอยฟังเรื่องราวของเตหน่ากูจากผู้เป็นพ่อด้วยนัยน์ตาที่เปี่ยมด้วยความสุข


ตัวของเตหน่ากูสามารถทำจากไม้อะไรก็ได้ที่มีขนาดใหญ่พอเล่นได้ ต้องหาท่อนไม้ที่มีกิ่งโค้งงอเพื่อได้เตหน่ากูที่เป็นไม้ท่อนเดียวกัน แต่หากไม่มีก็สามารถนำไม้สองท่อนมาต่อกันได้


การทำเตหน่ากูนั้นคนปวาเก่อญอมีความเชื่ออยู่ว่า ถ้าอยากทำเตหน่ากูให้เสียงดี คนฟังแล้วชอบนั้น ต้องไปตัดไม้ในคืนเดือนเพ็ญ โดยมีเงื่อนไขว่าภายในหนึ่งปีห้ามโค่นไม้เพื่อทำเตหน่ากูเกินสามต้น ถ้าเกินสามต้น ต่อไปทำเตหน่ากูเสียงจะไม่ดีอีก


ไม้ที่คนเฒ่าคนแก่ปวาเก่อญอนิยมมาทำเป็นเตหน่ากูมากที่สุดคือ เก่อมาหรือไม้ซ้อ เพราะเป็นไม้ที่อยู่ในประเภทครึ่งเนื้อแข็งครึ่งเนื้ออ่อน ความทนทานบวกกับความนุ่มอ่อนที่ลงตัว ดั่งที่ปรากฏอยู่ในบทธาคนปวาเก่อญอ


เตหน่ากู แกวะ เลอ เก่อ มา               เตน่ากู จ้อ เลอ เก่อ มา
เด ปวา เก่อ หน่า หมึ กอ กา              เด บะ เก อะ หล่อ เลอ ญา


เตหน่ากู แกะจากไม้ซ้อ                   เตหน่ากู เจาะจากไม้ซ้อ
ดีดแล้วคนชอบฟังทุกคน                  ดีดแล้วชวนนึกถึงคืนวันอดีต


หลังจากนั้นสองพ่อลูกชวนกันเข้านอน โดยมีข้อตกลงร่วมกันว่าคำคืนวันพรุ่งนี้จะเริ่มต้นการเรียนรู้วิธีการเล่นเตหน่ากู