Skip to main content

ภาชนะ

คอลัมน์/ชุมชน

ในบรรดานิทานเซนสุดคลาสสิกที่อยู่ในใจผู้คนผู้สนใจเรื่องเซน คงมีเรื่อง น้ำชาล้นถ้วย อยู่ในความทรงจำหรืออยู่ในการรับรู้อันดับต้นๆ เป็นแน่

เรื่องราวที่พูดถึงขุนนางผู้ไปเยือนและสนทนาธรรมกับอาจารย์เซน ด้วยความที่ยังผยองลำพองในความรู้ของตน อาจารย์เซนเห็นความเป็นไปนั้น จึงรินชาจนล้นถ้วยและยังไม่ยอมหยุดริน ขุนนางจึงต้องบอกว่า ล้นแล้วครับอาจารย์ นั่นเองบทปริศนาธรรมอันคลาสสิกจึงเกิดขึ้น เมื่ออาจารย์เซนบอกว่า เช่นกันหากท่านมาด้วยความรู้ที่ล้นปรี่แล้วจะเติมอะไรลงไปได้อย่างไร

นี่ก็นับเป็นเรื่องเล่าที่กลายเป็นสัญลักษณ์ เมื่อเราพูดถึงคนที่ผยอง หยิ่ง เหลิงในความรู้ของตน ฟังใครไม่เป็น ว่าเป็นพวกน้ำชาล้นถ้วย

เช่นนั้นเองในวิถีแห่งการแสวงหาของมนุษย์ สิ่งสำคัญที่เราต้องเตรียมก็คือภาชนะสำหรับการบรรจุสิ่งซึ่งเราแสวงหานั้น มันอาจจะเป็นอะไรก็ได้ ความรู้ ความดี ความงาม และอะไรอื่นอีกมากมาย ใหญ่ เล็ก รวมหรือแยกย่อยก็ว่ากันไป ในความหมายที่อาจจะต่างจากถ้วยน้ำชาในนิทาน ร่างกายคือภาชนะที่สำคัญของเรา เหล่าจอมยุทธ์ทั้งหลายกล่าวว่า หากว่าภาชนะของเราบิ่น รั่วหรือแตก มันจะบรรจุสิ่งใดใดได้อย่างไรกัน ความหมายนี้ก็คือ ร่างกายที่ทรุดโทรมด้วยโรคภัยรุมเร้า จะรองรับความรู้ ความดี ความงาม หรือสิ่งใดๆ ได้อย่างไรกัน เช่นนั้นการดูแลภาชนะอยู่เสมอ ก็จะทำให้ภาชนะของเราแข็งแรงคงทน เพื่อการรองรับสิ่งดีงามทั้งปวง ว่าในแง่นี้ก็คือการดูแลสุขภาพนั่นเอง


เช่นนั้นแล้ว ภาชนะ (ร่างกาย) ที่แข็งแรง สะอาด จึงสามารถรองรับน้ำดื่มและอาหาร (ความรู้เพิ่มพูนสติปัญญา ความงาม) แล้วมันเกี่ยวอะไรกับน้ำชาล้นถ้วย ว่าในแง่นี้ในภาชนะที่รั่วแตกเมื่อใส่อะไรเข้าไปมันก็ไหลออกมาไม่สามารถเก็บได้ ไม่ว่าจะเติมลงไปเยอะเพียงใดมันก็จะไหลออกหมด แล้วสิ่งที่เติมลงไปนั้นมันก็ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ใดใดเลย เปรียบเทียบกับน้ำชาล้นถ้วย เมื่อรู้เท่าทันยังสามารถเทน้ำชาออกแล้วใช้ภาชนะรับชาใหม่ได้ แต่ภาชนะที่แตกรั่วนั้นกลับรับอะไรไม่ได้เลย ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตามที ร่างกายที่ทรุดโทรมก็ไม่อาจเป็นฐานความรู้ใหม่เพื่อการพัฒนา หรือได้ก็ไม่ดี หรือไม่ดีเท่าที่ควรได้


ส่วนหนึ่งที่สำคัญสำหรับการฝึกฝนก็คือการถ่ายเท เมื่อเราได้รับอาหารหลักแล้ว เราก็ดื่มกินอาหารนั้น แปรมันเป็นพลัง หลังจากนั้นภาชนะว่างเปล่า ชำระล้างทำความสะอาดเพื่อจะได้ภาชนะสำหรับรับอาหารใหม่ๆ ในเวลาต่อไป หากว่าเราไม่สามารถแปรเปลี่ยนอาหารในภาชนะให้เป็นพลังได้ อาหารนั้นก็จะถูกเก็บอยู่ในภาชนะ นานเข้าก็เน่าเสีย พร้อมกันนั้นก็ไม่สามารถเติมอาหารใหม่ลงไปได้

เช่นนั้นเอง การแปรเปลี่ยนของเก่าจึงเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่ง ในกระบวนการของร่างกาย หากไม่ถ่ายเทพลังที่มี ในกระบวนการฝึกฝน คือพลังเก่าไม่เคลื่อนไหว พลังใหม่จึงไม่อาจก่อเกิด