Skip to main content

ไนท์บาซาร์

คอลัมน์/ชุมชน

เมื่อสิบกว่าปีก่อนนู้น ถ้าใครมาเที่ยวเชียงใหม่ "ไนท์บาซาร์" คือสถานที่แรกๆ ที่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ จะต้องแวะมา ด้วยชื่อเสียงในฐานะตลาดกลางคืนที่ก่อตั้งมานานหลายสิบปี และ การมีทุกสิ่งให้เลือกสรร ทั้งร้านอาหาร โรงแรม เกสต์เฮ้าส์ ร้านขายของที่ระลึก บริษัททัวร์ ฯลฯ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการท่องเที่ยว ต่างก็มากระจุกกันอยู่บริเวณนี้แทบทั้งหมด กระทั่งยาวไปเรื่อยจนถึงถนนช้างคลาน และถนนท่าแพ ทุกๆ เหตุผลในขณะนั้น ทำให้ ไนท์บาซาร์ คือศูนย์กลางการท่องเที่ยวของเมืองเชียงใหม่ ถนนสายเล็กๆ เส้นนี้ ดูดเงินจากนักท่องเที่ยวเข้าจังหวัดเข้าประเทศปีละนับพันล้านบาท จนกลายเป็นย่านเศรษฐกิจหลักของเมือง

ถ้าตอนนั้น "ข้าวสาร" คือที่แรกที่นักท่องเที่ยวจะต้องไปเมื่อมาถึงกรุงเทพ "ไนท์บาซาร์" ก็คือที่แรกที่นักท่องเที่ยวจะต้องไปเมื่อมาถึงเชียงใหม่


จำได้ว่า ผมมาเที่ยวเชียงใหม่เมื่อสิบกว่าปีก่อน ไม่รู้จะไปไหนก็ต้องมาเดินที่ไนท์บาซาร์ก่อน อาจจะแค่เดินดู ไม่ได้ซื้ออะไร ก็รู้สึกเพลิดเพลินดี มีของแปลกๆ ให้เลือกชมตั้งมากมาย สมัยก่อนแม้ว่าเชียงใหม่จะมีที่เที่ยวกลางคืนหลายแห่ง แต่ไม่มีที่ไหนที่มีแทบทุกอย่างเหมือนไนท์บาซาร์ ในขณะนั้น ที่เที่ยวในเชียงใหม่ ที่คนทั่วไปพอจะรู้จักก็มีแค่ กาดหลวง เซ็นทรัลกาดสวนแก้ว กับไนท์บาซาร์เท่านั้นล่ะครับ


กาดหลวงนั่นเป็นแหล่งของกิน ของฝาก และเสื้อผ้า ส่วนเซ็นทรัลกาดสวนแก้วนั้น ก็คือห้างติดแอร์ดังเช่นห้างอื่นในประเทศไทยนั่นเอง (วัฒนธรรมคนเที่ยวโดยทั่วไป ดูเหมือนว่า จะไปที่ไหนก็ขอไปเดินห้างที่นั่นไว้ก่อน) แต่ไนท์บาซาร์นั้น น่าจะถือได้ว่าเป็นสถานที่แบบที่ "ไม่ได้มีทั่วไป" ในจังหวัดอื่น หรือแม้แต่ในประเทศอื่น อาจเพราะสินค้าในไนท์บาซาร์ คือสินค้าพื้นเมือง, งานหัตถกรรม และงานศิลปะ แทบทุกประเภทในภาคเหนือ อาจกล่าวได้ว่า ไนท์บาซาร์เป็นที่แรกที่ใช้วัฒนธรรมเป็นจุดขายอย่างได้ผล ความน่าตื่นตาตื่นใจของไนท์บาซาร์สำหรับคนไปครั้งแรกนั้น แม้แต่คนไทยอย่างผม ก็ยังรู้สึกว่า ทุกสิ่งทุกอย่างมันแปลกตาน่าดูไปหมด


ทว่า เมื่อมีผลประโยชน์จำนวนมาก มีเม็ดเงินสะพัด ไนท์บาซาร์ก็มีเรื่องไม่ค่อยโสภาตามมา สินค้าหลายอย่างในไนท์บาซาร์มีการตั้งราคาแบบ "ให้ฝรั่งซื้อ" ซึ่งราคานี้แม้จะเป็นคนไทยซื้อก็ไม่มีการยกเว้น ของที่ขายในไนท์บาซาร์โดยเฉพาะเสื้อผ้า อาจจะหาได้แบบเดียวกันในกาดหลวงซึ่งปัจจุบันมีขายทั้งกลางวันและกลางคืน แต่ราคาที่ไนท์บาซาร์นั้นแพงกว่า คนที่รู้จะเดินดูที่ไนท์บาซาร์ แต่จะไปซื้อที่กาดหลวง เรื่องของชนเผ่าที่มาเร่ขายของแล้วตามตื้อนักท่องเที่ยว


จนฝรั่งเอาไปเขียนวิจารณ์ในแง่ลบตั้งมากมายนั้น ก็เกิดจากไนท์บาซาร์นี่ละครับ อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นข่าวเมื่อหลายปีก่อน คือเรื่องมาเฟียไนท์บาซาร์ ก็ทำเอาเสียชื่อไปพอสมควร


ผมอ่านข่าวหนังสือพิมพ์เดลินิวส์เรื่อง ‘ไนท์บาซาร์’วิกฤติหนัก ทัวริสต์เมิน-ปัญหารุม" ซึ่งมีเนื้อหาว่า ปัจจุบันร้านค้าจำนวนมากในไนท์บาซาร์ทยอยปิดตัวลงไป ที่ยังเปิดอยู่ก็มีบรรยากาศที่เงียบเหงาไม่คึกคัก ไม่มีนักท่องเที่ยวมาจับจ่ายกันมากอีกแล้ว ซึ่งผู้สื่อข่าวรายงานว่า สาเหตุมาจากผลกระทบจากปัญหาการเมือง, มลภาวะอากาศเป็นพิษและน้ำท่วม รวมไปถึงปัญหาอาชญากรรม ฉกชิงวิ่งราวที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในช่วงที่ผ่านมา


มองอีกมุมหนึ่ง ผมคิดว่า ไนท์บาซาร์ไม่ได้เพิ่งจะมาวิกฤติหรอกครับ แต่มันค่อยๆ เป็นมาอย่างช้าๆ ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ มีย่านการค้า ย่านท่องเที่ยวใหม่ๆ เกิดขึ้นทั่วเมืองเชียงใหม่ เป็นทางเลือกนอกเหนือไปจากไนท์บาซาร์ ไม่ว่าจะถนนคนเดินท่าแพ หรือ วัวลาย ซึ่งแม้ว่าจะเปิดแค่วันเสาร์-อาทิตย์ แต่ความหลากหลายของสินค้านั้นมากกว่ากันมากๆ ราคาถูกกว่ามากๆ ประกอบกับทุกวันนี้นักท่องเที่ยวเองก็สามารถหาข้อมูลเกี่ยวกับย่านการค้าต่างๆ ในเมืองเชียงใหม่ได้เอง ไม่ต้องง้อไกด์ทัวร์ ทั้งโรงแรมและเกวสเฮ้าท์ที่พักสำหรับนักท่องเที่ยวก็ขยายตัวเพิ่มขึ้นจนแทบจะมีอยู่ทุกถนนของเมืองเชียงใหม่ ไม่แปลกที่นักท่องเที่ยวจะมีทางเลือกอื่นนอกจากไนท์บาซาร์ ประจวบกับสถานการณ์การเศรษฐกิจการเมืองและสิ่งแวดล้อมที่ยังคาราคาซังอยู่ มันก็เลยทรุดไปกันใหญ่


เมื่อก่อนนี้ วันเสาร์อาทิตย์ ไนท์บาซาร์จะเงียบเหงาเพราะคนไปเดินท่าแพ-วัวลายกันหมด แต่ทุกวันนี้ แม้แต่วันธรรมดา ไนท์บาซาร์ก็ไม่ได้คึกคักอย่างที่เคยเป็น จะว่าไป มันก็คงเป็นอนิจจังนั่นละครับ มีเจริญได้ก็มีเสื่อมได้ โดยเฉพาะในโลกธุรกิจทุกวันนี้ หากไม่ปรับตัวสนองความต้องการผู้บริโภค ยังย่ำอยู่กับที่ ก็ไม่แคล้วจะถูกทิ้งในอยู่ท้ายขบวน ธุรกิจการท่องเที่ยวในเมืองเชียงใหม่นับวันก็ยิ่งแข่งขันกันมากขึ้นเรื่อยๆ นักลงทุนก็หลั่งไหลเข้ามาสู่เชียงใหม่ที่กำลังเติบโตแบบพรวดๆ ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ใครทุนหนา ปัญญาดี ก็สร้างกระแสได้มากกว่า ดึงดูดคน (และเงิน)ได้มากกว่า ใครปรับตัวไม่ทัน สายป่านไม่ยาวพอ ก็ต้องพับแผงกันไป


ไม่แน่ใจว่า จนถึงทุกวันนี้ ไนท์บาซาร์ ยังเป็นที่แรกที่นักท่องเที่ยวจะต้องมา เมื่อมาถึงเชียงใหม่อยู่อีกหรือไม่ เพราะถ้าไม่ใช่ ก็ควรจะถามกันให้ชัดเจนและต่อเนื่องว่าเพราะอะไร ไม่ใช่แค่ดูจากเหตุการณ์บ้านเมืองแล้วสรุปว่า เพราะเศรษฐกิจการเมือง สิ่งแวดล้อมเป็นพิษ หรือเพราะอาชญากรรมเยอะเท่านั้น บางทีก็ควรจะถามนักท่องเที่ยวเขาด้วยว่า ทำไม อะไร อย่างไร


แน่นอนครับ ปัญหาเศรษฐกิจการเมืองนั้นอยู่นอกเหนือความสามารถที่จะแก้ไขได้ หรือเรื่องสิ่งแวดล้อมก็ยังใหญ่โตเกินกว่าจะแก้ได้ในเวลาอันสั้น แต่เรื่องอาชญากรรม เรื่องสินค้าราคาแพง เรื่องความไม่หลากหลายของสินค้า เรื่องความไม่สะดวกต่างๆ ในไนท์บาซาร์ อะไรพวกนี้ มันแก้กันได้ไม่ใช่หรือ มันอาจจะไม่ง่าย แต่ก็อยู่ในขอบเขตที่เป็นไปได้ มากกว่าจะโทษสิ่งที่แก้ไม่ได้


โดยตัวของไนท์บาซาร์เองก็มีปัญหาที่ควรจะแก้ ในขณะที่นักท่องเที่ยวลดลง น่าจะเป็นจังหวะดีสำหรับการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง อาจไม่ใช่การลงทุนมโหฬาร แต่อาจเป็นการปรับภาพลักษณ์ ปรับการอำนวยความสะดวก ปรับหน้าตาท่าทางบุคลิกของ "ไนท์บาซาร์" เสียใหม่ให้พอสูสีกับย่านการค้าอื่นบ้าง อะไรที่มันดูเกะกะก็จัดก็ปรับเสียบ้าง อาจจะเข้าท่ากว่าสภาพร้านค้าเป็นแผงเต็มพรืดอย่างที่เป็นมาตลอดหลายสิบปี เข้าใจนะครับว่า ธุรกิจคือการทำกำไรสูงสุด แต่ความจริงที่พบเห็นได้ในทุกวันนี้ คือการทำกำไรสูงสุดโดยไม่มองปัจจัยอื่นเลยนั้น ก็มีความเสี่ยงที่จะพบกับความเสื่อมได้เช่นกัน


ความเสื่อมของธุรกิจนั้น บางทีสาเหตุสำคัญไม่ได้เกิดจากปัจจัยภายนอกหรอกครับ ปัจจัยภายในล้วนๆ เลยล่ะ