Skip to main content

ฤดูลม : เมื่อ "ลมนอก" มาเยือน

คอลัมน์/ชุมชน

ค่ำวันนั้นหลังสายฝนจาก "ลมนอก" โหมกระหน่ำ เราพูดคุยกันหลายประเด็น ทุกประเด็นล้วนแล้วแต่เป็นประเด็นเรื่องลุ่มทะเลสาบที่เราในฐานะลูกทะเลสาบควรรู้จักและพูดถึง ค่ำนั้นผมได้รับการต้อนรับอย่างดีจากนักเขียนใหญ่จริงๆ (ลูกพี่แห่กลุ่มนาคร) นามประมวล มณีโรจน์ (น้ำร้อน-น้ำชา-อาหารค่ำ-ที่หลับนอน-ความอบอุ่น-และเป็นกันเอง)

ในฐานะของ "คนใน" ประมวล มณีโรจน์ บุรุษผู้งดงามด้วยหัวใจที่ผมเองรักและนับถือเป็นครูมาโดยตลอดแม้จะไม่เคยเป็นศิษย์ร่ำเรียนในห้องเรียนมาก่อนก็ตาม เมื่อกองไฟเปลี่ยนน้ำในกาเป็นน้ำร้อนเพื่อกาแฟเมื้อค่ำเสร็จสรรพ ต่างคนพูดคุยกันอย่างเป็นกันเอง องค์ความรู้เกี่ยวกับลุ่มทะเลสาบถูกหยิบยกมาพูดต่อกันอย่างไม่ขาดสายในขณะที่วาทกรรมทะเลสาบก็ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน แต่ผมเองนั่นแหละที่พยายามพูถึงเรื่อง "ลม" เพื่อไขข้อข้องใจหลายประการเรื่อง "ลม" แห่งลุ่มทะเลสาบให้กระจ่างชัดเสียที


"เมื่อพูดถึง "ลมนอก" แล้ว โดยทั่วไปจะหมายถึงลมจากทิศตะวันออก ซึ่งมีชื่อเรียกเป็นภาษาถิ่นว่า "ลมนอก" (เป็นลมจากตะวันออกเฉียงใต้), "ลมกา" (ลมอุกา-ลมจากตะวันออกเฉียงใต้), "ลมออก" (ลมจากตะวันออก), และลมเภา (ลมตะเภา-ลมจากตะวันออกเฉียงเหนือ แต่บางกรณีในบางพื้นที่จะหมายรวมเอา "ลมหลาตัน" (ลมสลาตัน-ลมทางทิศใต้) "ลมหมาคอเน่า"หรือ "ลมตีน" (ตีน-ทิศเหนือ) และ "ลมว่าว" หรือ "ลมดาหรา"(ลมอุตรา)เข้าไปด้วย" ปรมวล มณีโรจน์พาทีด้วยใบหน้าเปื้อนรอยยิ้ม


ดังที่ผมเคยเล่ามาแล้วเมื่อวันก่อนว่าการมาของ "ลมนอก" นั้นนอกจากจะหมายถึงการเดินทางมาถึงของฤดูฝนแล้ว การมาถึงของ "ลมนอก" ยังมีนัยยะต่อกิจกรรมของ "คนรอบลุ่ม" อีกมากกรณี เด็กๆ อาจหวนถึงว่าวที่ลอยลมบนฟากฟ้าใกล้ฝูงเมฆในขณะที่คนอื่นๆ อาจนึกถึง "โยะ" (ลมพายุ) ที่จะมาพร้อม "ลมกา"(ลมอุกา) และ "ลมหลาตัน"(ลมสลาตัน) เหมือนกับที่ชาวประมงพื้นบ้านจะเตรียมตัวเตรียมใจกับการเปลี่ยนวิถีชีวิตในหน้าฝน เก็บตุนและถนอมอาหารสำหรับหน้าฝนอันยาวนานเนื่องมาจากการสร้างความชุ่มชื้นให้แก่พื้นดินและเติมเต็มรางธารไว้หล่อเลี้ยงสรรพสัตว์รวมทั้งมวลดอกไม้นานาให้อุดมหลังการพัดเตือนของ "ลมพรัด" นั่นแล้ว


ก่อนหน้านี้ผมรู้สึกห่างไกลทะเลสาบไปยาวนาน ทั้งๆ ที่แทบไม่เคยห่างหายไปจากทะเลสาบเลยด้วยซ้ำ


-๕ ปีก่อน "ลมพรัด" แห่งทะเลสาบหอบผมไปแสวงหาตัวเองถึงในเมืองหลวงตามวิถีของคนหนุ่มผู้ยังด้อยต่อโลกก่อนกลับมาเป็นลูกทะเลสาบอีกครั้งเมื่อต้น "ลมนอก"ของ ๒ ปี ที่ผ่าน


ในสายของ "ลมนอก" ใกล้กองไฟต้มชา "ครู"(ผมมักเรียก ประมวล มณีโรจน์ อย่างนั้นเสมอมา ก็นับตั้งแต่รู้จักมักคุ้นกันเมื่อราว ๑๐ ปีก่อนนั่นแหละ)ยังนั่งเล่านาฏกรรมของ "ลมนอก" อันทำการหอบผงทรายจากฟากตะวันออกมาทับถมยังฟากตะวันตกอย่างไม่รู้เหนื่อยหน่ายจนเป็นเหตุให้เกิดสันทรายเป็นแนวยาวตามหาดทรายต่างๆ ก่อนจะเปลี่ยนให้ "ลมพรัด" ทำหน้าที่พัดกวาดทรายกลับไปที่เดิมเมื่อฤดูกาลเปลี่ยนแปลง "ฤดูลม" ของทะเลที่นี่


ราตรีกาลล่วงเลยไปมากแล้วขณะที่ผมนอนฟังเสียงฝนโปรยสายอยู่พรำๆ บนเรือนพักที่ "ครู" ตระเตรียมไว้สำหรับผู้มาเยือน ผมนอนซุกอยู่ในถุงนอนสภาพกรำงานเพียงลำพัง


กระนั้นก็ตามทีในความเหงาที่ "ลมนอก" พัดพามาฝาก ผมก็ไม่ลืมที่จะหยิบเครื่องมือสื่อสารแห่งยุคสมัยกดโทรถึงหญิงสาวท่ามกลางความมืดและจินตภาพจากห้วงคนึงนั้น หรือบางทีหากไม่แสดงตัวคืนนี้ ผมอาจต้องเจอะเจอกับ "โยะลง" (พายุ) ในวันรุ่งขึ้นก็เป็นได้...เฮ้ย...ว่าไปนั่น


บนแผ่นดินเหนือทะเลสาบ-เกาะยอ-สงขลา



ประมวล มณีโรจน์ ต้มชาแบบโบราณเลี้ยงเราด้วยรอยยิ้ม



ครัวชาแบบ "ครูมวล" ที่ใครๆ มาเยือนแล้วต้องติดใจในฝีมือ



สถานที่ล้อมวงจิบชาใต้ถุนเรือนไม้หลังบ้าน ชายในภาพคือ ธีระ จันทิปะ นักวิชาการหนุ่ม



บรรยากาศใต้ถุนเรือนไม้ที่รับรองเรา



ชั้นบนนั่นแหละเป็นที่หลับนอนของผม