Skip to main content

The Letter : การทวงถามถึงที่ทางของ "ผู้ชายที่หายไป" (และตายในที่สุด)

คอลัมน์/ชุมชน

The Letter เป็นเรื่องราวความรักของชายหนุ่มชื่อ "ต้น" กับหญิงสาวชื่อ "ดิว"









ต้นทำงานอยู่ท่ามกลางต้นไม้และขุนเขา ณ โครงการหลวง เชียงใหม่ ส่วนดิวเป็น web programmer อยู่ในกรุงเทพ ทั้งสองพบกัน เมื่อดิวไปงานศพคุณยายที่เชียงใหม่ และประทับใจกันและกัน ณ แรกพบ และเมื่อดิวสูญเสียเพื่อนรักซึ่งเป็นคนคนเดียวที่เธอสนิทด้วยในกรุงเทพ เธอจึงตัดสินใจย้ายไปอยู่เชียงใหม่ ที่บ้านซึ่งคุณยายทิ้งไว้ให้เป็นมรดก ที่นั่นเธอแต่งงานกับต้น แต่ไม่นาน ต้นก็พบว่าตนเองเป็นมะเร็ง และเสียชีวิตในที่สุด ระหว่างที่มีชีวิตอยู่ ต้นประทับใจจดหมายเก่าแก่ที่คนรักของคุณยายของดิวเขียนไว้ ทำให้ก่อนตาย ต้นเขียนจดหมายหลายฉบับ รวมทั้งอัดวิดีโอเทปตัวเองเพื่อพูดกับดิวไว้ และให้คน ๆ หนึ่งค่อย ๆ ทยอยส่งจดหมาย และสุดท้ายคือวิดีโอเทปให้ดิวหลังจากที่เขาตายไปแล้ว เพื่อที่จะบอกดิวว่า เขารักดิวมากเพียงใด เขาจะคอยเฝ้ามองดิว และเป็นกำลังใจเพื่อให้ดิวมีชีวิตอยู่ต่อไปแม้ว่าเขาจะจากไปแล้วก็ตาม

ในระหว่างที่มีชีวิตอยู่ด้วยกัน ต้นชวนดิวให้ต่างคนต่างเขียนจดหมายถึงกันและกัน แต่ดิวไม่เขียน เหตุผลก็คือเพราะว่าเธอและต้นอยู่ด้วยกันทุกวันอยู่แล้ว สิ่งที่น่าสนใจคือคำพูดของต้นที่ว่า "จดหมายทำให้เห็นถึงการมีตัวตน"... คำถามก็คือ เพราะเหตุใดต้นจึงอยากเขียนจดหมายเพื่อแสดงการมีตัวตนของเขา





วิกฤติความเป็นชาย (Crisis of Masculinity)
สถานการณ์โลกปัจจุบัน ทั้งในฝั่งเมืองและฝั่งชนบทได้ทำให้ "ความเป็นชาย" (masculinity) ในแบบดั้งเดิมที่ผู้ชายคือผู้เข้มแข็ง ผู้หาเลี้ยง ผู้ปกป้องคุ้มครอง ถูกสั่นคลอนเป็นอย่างยิ่ง ในฟากชนบท Frances Cleaver กล่าวไว้ในบทความชื่อ Men and Masculinities: New Directions in Gender and Development ตีพิมพ์ในหนังสือชื่อ Masculinities Matter: Men, Gender and Development ว่า การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคมส่งผลอย่างยิ่งต่อภาวะความเป็นชายทั้งในมิติสถานะและบทบาท


ตัวอย่างเช่น สภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทำให้ผู้ชายไม่สามารถทำหน้าที่หาเลี้ยงได้, โครงการพัฒนาจำนวนมากมุ่งเน้นที่กลุ่มผู้หญิง ทำให้ผู้หญิงมีบทบาทมากขึ้นในชุมชน ในบางกรณีผู้หญิงสามารถทำหน้าที่หัวหน้าครอบครัวและเป็นผู้หาเลี้ยง เป็นต้น เหล่านี้ล้วนทำให้ทั้งผู้หญิงและตัวผู้ชายเองตั้งคำถามถึงสิ่งที่เรียกว่าความเป็นชายภายใต้บริบทสังคมที่เป็นอยู่


ในฟากเมือง เกิดการปรากฏขึ้นของสิ่งที่เรียกว่า Metrosexual ซึ่งวุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ อธิบายไว้ในบทความชื่อ "ผ่าโลกผู้ชายเจ้าสำอาง" ตีพิมพ์ในนิตยสาร GM ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2547 ว่า "...คำว่า Metrosexual เป็นคำที่บัญญัติขึ้นโดย Mark Simpson นักหนังสือพิมพ์และคอลัมนิสต์ชาวอังกฤษ เพื่อใช้ เรียกผู้ชายประเภทหนึ่งที่นับวันจะยิ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทั่วโลก จนกลายเป็นกระแสที่เห็นได้ชัดเจนในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 และคาดว่านี่จะเป็นแนวโน้มของผู้ชายในอนาคต


ผู้ชายแบบ Metrosexual มีลักษณะพิเศษคือ อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ มีการศึกษาและฐานะดี ดูแลเอาใจใส่ตัวเองอย่างพิถีพิถัน สนใจเรื่องแฟชั่นและความสวยงาม มีวิถีชีวิตและรสนิยมเหมือนผู้หญิง แต่เขาเป็นผู้ชายทั้งแท่ง เขาไม่ได้เป็นเกย์... ผู้ชายแบบ Metrosexual มักจะทำงานอยู่ในแวดวงแฟชั่น โฆษณา สื่อมวลชน ดารา นักร้อง นักกีฬา เรื่อยไปจนถึงบาร์เทนเดอร์และพนักงานเสิร์ฟ..." (น. 152)


โดยที่ Simpson เองนั้นเห็นว่า จริง ๆ แล้วกระแส Metrosexual ไม่ได้เกิดขึ้นมาโดยธรรมชาติแต่อย่างใด หากแต่เป็นกระบวนการของลัทธิทุนนิยม (capitalism) และบริโภคนิยม (consumerism) ที่ต้องการเปลี่ยนผู้ชายแบบเดิมที่มีอัตราการ "บริโภค" ต่ำให้หันมาบริโภคมากขึ้น สิ่งหนึ่งที่จะทำให้ผู้ชายบริโภคมากขึ้นก็คือการ "ปั่นหัว" (manipulate) ผู้ชายว่า หน้าตาและผิวพรรณไม่ได้เป็นสิ่งสำคัญเฉพาะสำหรับผู้หญิงเท่านั้น แต่มันสำคัญสำหรับผู้ชายด้วย และการปั่นหัวครั้งนี้ก็ได้ทำให้ผู้ชายจำนวนมากหวั่นไหว และไม่มั่นใจกับภาพลักษณ์ที่ตัวเองเป็นอยู่


"...ลัทธิทุนนิยมและบริโภคนิยมได้หยิบยื่นกางเกงในสีชมพูให้กับผู้ชายแบบดั้งเดิมที่หยาบกระด้าง พวกเขาเพียงแค่ทำงานหนัก หาเงินมาให้ภรรยาเป็นผู้ใช้จ่าย ผู้ชายแบบนี้ใช้จ่ายเงินน้อยเกินไป จึงต้องถูกแทนที่ด้วยผู้ชายแบบใหม่ ผู้ชายที่กังวลเรื่องภาพลักษณ์ของตัวเอง ผู้ชายที่ไม่มีตัวตนที่มั่นคง ผู้ชายแบบนี้แหละคือแบบที่บรรดานักโฆษณาใฝ่ฝันถึง..." (น. 154)

สิ่งหนึ่งที่ยืนยัน "กระแส" Metrosexual ในสังคมไทยได้เป็นอย่างดี ก็คือการปรากฏตัวของผลิตภัณฑ์บำรุงผิว และสถานเสริมความงามสำหรับผู้ชายขึ้นเป็นจำนวนมาก


ปรากฏการณ์ทั้งในเมืองและในชนบทอันเป็นผลมาจากทั้งการขับเคลื่อนของระบบทุน และการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมเช่นที่ว่านี้ ได้ทำให้สิ่งที่เรียกว่า "ความเป็นชาย" (masculinity) และ "ความเป็นหญิง" (femininity) เหลื่อมซ้อนกันอยู่ ความเป็นชายแบบแข็งแกร่ง หาเลี้ยง ปกป้อง คุ้มครอง ดูแล จึงดูเลือน ๆ ในภาวการณ์ปัจจุบัน

ผู้ชายแบบต้น (ที่กำลังจะตาย)
ต้นอยู่กับธรรมชาติ ถึงแม้จะมีการศึกษาดี แต่ก็ไม่ได้พิถีพิถันกับร่างกายของตัวเองและไม่ได้สนใจแฟชั่น ต้นไม่สนใจว่าตัวเองจะดูดีหรือไม่ สิ่งที่ต้นสนใจคือการดูแลเอาใจใส่คนที่ต้นรัก ทำกับข้าวให้กิน ซักผ้าให้ใส่ ผู้ชายแบบต้นเป็นแบบที่เมื่อได้เจอกัน ดิวถึงกับพูดว่า "คุณไปอยู่ที่ไหนมา ทำไมเราถึงเพิ่งเจอกัน" ผู้ชายแบบต้นจึงไม่ใช่ผู้ชายแบบ "เลือนๆ"


แต่ต้นกำลังจะตายโดยที่ยังไม่อยากตาย ต้นจึงพยายามดำรงความเป็นตัวเขาไว้ผ่านทางจดหมาย และภาพเคลื่อนไหวในวิดีโอ... และเมื่อคำนึงถึงความจริงที่ว่า ต้นและภาพยนตร์เรื่องนี้ปรากฏตัวขึ้นมาในขณะที่ความเป็นชายกำลังอยู่ในภาพเลือนๆ คำพูดสุดท้ายที่ต้นพูดผ่านวิดีโอ ที่ว่า "...อย่าลืมผมนะ ผมสัญญาว่าเราจะต้องกลับมาพบกันอีก..."
จึงไม่ใช่เพียงความพยายามที่จะดำรงตัวตนของเขาไว้ในความทรงจำของดิวเท่านั้น หากต้นยังพยายามบอกกับโลกนี้ว่า "ผู้ชายแบบต้น" แบบที่ไม่ได้สนใจตัวเองมากไปกว่าการทำหน้าที่คุ้มครองดูแลคนรัก แบบที่ความเป็นชายไม่ได้เหลื่อมซ้อนกับความเป็นหญิง ยังคงมีตัวตนอยู่ และแม้วันนี้ตัวตนแบบนี้จะต้องตายไป แต่ "อย่าลืมผม" เพราะ "เราจะกลับมาพบกันอีก"...


ภาพยนตร์เรื่อง The Letter จึงทำหน้าที่ประหนึ่งคำประกาศของ "ผู้ชาย" ที่พยายามจะยื้อยุดสิ่งที่เรียกว่า "ความเป็นชาย" ไว้ไม่ให้หายไปจากโลกนี้ ขณะเดียวกันก็เฝ้ารอถึงวันที่จะกลับมามีบทบาทอีกครั้ง