Skip to main content

พื้นที่อันตราย (ตอน 5 แก้ทุกข์)

คอลัมน์/ชุมชน

ขอโทษที่หายไปนาน (เหมือนกัน) ก็แบบว่าเป็นไข้ไปหลายวันตามประสาคนไม่ค่อยได้พักผ่อน (ว่าเข้าไปนั่น แหมทำยังกะเป็นดาราเชียว) ก็ไปแก้ ไปคัดค้าน พ...อีกหลายฉบับ ทั้งเข้าไปเป็นท่านผู้ทรงเกียรติในรัฐสภา และไปยืนตากแดดตากฝน รณรงค์คัดค้านกฎหมายบางฉบับที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค กับเพื่อนเครือข่ายผู้บริโภคอยู่แถวข้างทำเนียบรัฐบาลบ้าง ตามศูนย์การค้าสำคัญๆ บ้างก็หลายครั้ง (ไม่ได้ประท้วงนะแค่รณรงค์เอง)

พูดไปก็ยาว เอ้ามาว่ากันต่อเลยดีกว่า อยากจะเล่าถึงความอึดอัดใจในการประชุมจริงๆ เฮ้อ ก็ไอ้ที่เรามาคัดค้านเพราะเราต้องการให้เขาแก้ไขปัญหาที่เกิดจาก พ...ฉบับนี้ แต่ข้อกฎหมายที่กรมการประกันภัยขอแก้ เรื่องใหญ่อภิปรายกันหลายวันคือ ขอแก้แค่ให้ยกเลิกบทนิยามคำว่า "รถ" และมาตีความหมายคำว่ารถกันใหม่ ให้ยกเลิกบทนิยามคำว่า "เครื่องหมาย" สรุปคือยกเลิกสติ๊กเกอร์ประกันภัยไม่ต้องติดหน้ารถไง (สนุ๊ก..สนุก เฮ้อ..........)

เอ้า เราก็ต้องทนฟังเขาอภิปรายกันทั้งๆ ที่ในใจก็คิดว่า เรื่องเหล่านี้มันเป็นปัญหาแน่หรือ แล้วก็มีปรับเปลี่ยนคำพูดในกฎหมายอีกหลายรายการ คือแค่เอาคำมาเขียนให้ชัดขึ้น (เท่านี้ก็ถกเถียงได้หลายอาทิตย์) แล้วที่เถียงกันมากที่สุดคือ มาตรา 34 ที่เดิมเขียนไว้ว่า "สำนักงานกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย อาจจัดสรรเงินกองทุนไม่เกินร้อยละยี่สิบของดอกผลของกองทุนต่อปี เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารงาน และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ของสำนักงานกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย" ก็เสนอเข้ามาใหม่เป็น "สำนักงานกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยอาจจัดสรรดอกผลของกองทุน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารงานและค่าใช้จ่ายอื่นๆของสำนักงานกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย"

ที่เห็นชัดๆ คือข้อความแรกมีการกำหนดว่าการบริหารสามารถเอาดอกผลออกมาใช้ได้ไม่เกินร้อยละยี่สิบ แต่ข้อความใหม่สามารถใช้ได้เต็มที่ไม่มีข้อจำกัด เหตุผลประกอบคือ เพื่อให้การบริหารกองทุนมีความคล่องตัวมากขึ้น (ว่าเข้าไปนั่น) ถึงตรงนี้ผู้เขียนก็ถึงบางอ้อว่า อ๋อ ที่เขาเสนอแก้กฎหมายเข้ามาครั้งนี้ เขาแก้ความทุกข์ร้อนของกรมการประกันภัย ไม่ใช่ทุกข์ร้อนของชาวบ้านจริงๆ ก็ดูซิ เจ้าของเงินที่เป็นผู้จ่ายเงินทุกปีๆ กับมีคนมาวางระเบียบการจ่ายเงินไว้แคบมาก แต่การบริหารจัดการของกรมการประกันภัยกลับเสนอมาให้ใช้ได้แบบไม่มีข้อจำกัด (ข้อนี้ไม่อภิปรายไม่ได้แล้ว)

ที่สุดที่ประชุมก็กำหนดให้มีเพดานการนำดอกผลของกองทุนมาใช้ได้ไม่เกินร้อยละสามสิบ การเสนอครั้งนี้ไม่ใช่วงเงินเดิมที่กำหนดไว้ไม่พอใช้ (ปัจจุบันยังเหลือด้วยซ้ำ) แต่เพื่อให้การบริหารจัดการของกรมการประกันภัยในอนาคตสะดวกขึ้น แต่พอมาถึงคำนิยามความหมายของคำว่า "เสียหายเบื้องต้น" ผู้เขียนยกมือขออภิปราย เพราะไม่มีการกำหนดวงเงินไว้ในกฎหมาย โดยฝ่ายกรมการประกันภัยเห็นว่าไม่ควรกำหนดไว้ แต่ขอเขียนให้ออกประกาศกฎกระทรวง ผู้เขียนถามว่าหากเขียนให้เป็นอำนาจของรัฐมนตรีเจ้ากระทรวง ซึ่งมีแต่ตัวแทนภาครัฐ ประชาชนจะมั่นใจได้อย่างไรว่าการกำหนดนั้นจะเป็นธรรมต่อประชาชน เพราะกรมการประกันภัยเองยังเสนอขอเพิ่มวงเงินในการบริหารจัดการ แต่ประชาชนที่เป็นเจ้าของกองทุนตัวจริงกลับไม่ได้รับการเพิ่มวงเงินสินไหมที่เป็นธรรม

สรุปที่ประชุมยกมือโหวต ผู้เขียนก็แพ้ไม่เป็นท่า ชาวบ้านก็เงี้ยพูดไม่เข้าท่าจึงหาคนเห็นด้วยค่อนข้างยาก มีไม่กี่คนที่เห็นด้วย ในเมื่อเราสู้ไม่ได้ในที่ประชุมกรรมาธิการ ผู้เขียนก็ขอสงวนสิทธิไว้ (ไปสู้กันอีกทีในที่ประชุมสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ) เป็นคล้ายอย่างนี้ทุกมาตรา ยิ่งย้ำให้เห็นว่ารัฐสภาแห่งนี้เป็นพื้นที่อันตรายจริงๆ เพราะประชาชนเจ้าของประเทศผู้ที่มีหน้าที่รอรับระเบียบข้อบังคับโดยตรง ไม่ค่อยมีที่ยืนเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมได้เลย มีแต่ตัวแทนภาครัฐ และคนที่เรียกว่าตัวแทนของประชาชน ที่บางส่วนมีความคิดคับแคบ มองแต่มุมของตนเองมาเป็นผู้กำหนดตัวบทกฎหมายไปบังคับประชาชนให้ต้องทำตามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย

มันอันตรายจริงๆ นะท่านผู้อ่าน เพราะแต่ละภาคส่วนก็มีแต่ละมุมมอง คนมีเงินหนึ่งร้อย ไมมีวันรู้ว่าคนมีเงินบาทเดียว เขาเอาตัวรอดได้อย่างไร ฉันท์ใดก็ฉันท์นั้น คนที่คิดให้ก็คิดว่าสิ่งที่ตนทำดีที่สุดแล้วในมุมมองของตนเอง ประชาชนก็ต้องทนทุกข์ร้อนกันต่อไป

(
ตอนหน้าจบแล้วอย่าเพิ่งเบื่อนะ)