Skip to main content

สภาชุมชน

คอลัมน์/ชุมชน

หากชุมชนหมายถึงกลุ่มคนที่เชื่อมโยงกันในลักษณะที่แตกต่างหลากหลาย เช่น อยู่ในพื้นที่เดียวกัน มีชาติพันธุ์เดียวกัน มีวัฒนธรรมประเพณีร่วมกัน มีการดำเนินกิจกรรมร่วมกัน มีอาชีพเดียวกัน มีความเชื่อศาสนาเดียวกัน หรือมีลักษณะอายุ วัย เพศ ใกล้เคียงกัน เช่น ชมรมผู้สูงอายุ กลุ่มเยาวชน กลุ่มสตรี ทุกลักษณะดังกล่าวมาถือว่าเป็นชุมชน ก็แสดงให้เห็นว่ามีชุมชนที่หลากหลายนอกเหนือไปจากหมู่บ้าน ตำบล จังหวัดเดียวกัน

ดังนั้น เมื่อชุมชนเหล่านี้มีโอกาสมาร่วมชุมนุมกัน เพื่อพูดคุย แลกเปลี่ยน และพิจารณาเรื่องใดเรื่องหนึ่งร่วมกัน ย่อมจะมีความคิดเห็นที่แตกต่าง หลากหลาย ครอบคลุม และสะท้อนลักษณะของแต่ละชุมชนได้ อาจเรียกการชุมนุมเหล่านี้ว่าเป็น "สภา" คือเป็นสถานที่ประชุมร่วมกัน (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน http://rirs3.royin.go.th/new-search/word-search-all.asp ) โดยมีวัตถุประสงค์ร่วมกันในการกระทำการใดการหนึ่ง


หากชุมชนได้มีสภาชุมชน เพื่อประชุมพิจารณาเรื่องใดเรื่องหนึ่งของชุมชน สิ่งที่จำเป็นประการหนึ่งในการพิจารณาคือเรื่องสุขภาพ ทั้งนี้หมายรวมถึงสุขภาพที่ดี ทั้งกาย ใจ สังคม อารมณ์ และสติปัญญา

ทุกวันนี้ ปัญหาเรื่องสุขภาพเกิดขึ้นได้ทั้งกับเด็กทารกจนถึงผู้สูงอายุ เด็กเล็กหากไม่ได้รับการเลี้ยงดูด้วยอาหารที่เพียงพอ อุดมด้วยสารอาหาร ก็อาจทำให้การเจริญเติบโตของร่างกาย สมองมีปัญหา ขณะเดียวกันก็ต้องได้รับการสนับสนุน หนุนเสริม ด้านพัฒนาการทางอารมณ์ จิตใจ สติปัญญาไปพร้อมๆ กันด้วย นั่นหมายถึง ครอบครัว พ่อแม่ เครือญาติ ก็ต้องมีส่วนร่วมในการสร้างเสริมพัฒนาการให้กับเด็กๆ ในครอบครัวของตนเอง

ถามว่าพ่อแม่ในปัจจุบันได้รับการเตรียมตัวหรือสามารถเลี้ยงดูเด็กได้มากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะพ่อแม่ที่ฐานะยากจน และเด็กที่เป็นกำพร้า เหล่านี้ย่อมเป็นสถานการณ์ที่ "สภาชุมชน" ควรได้หยิบยกมาประชุมพิจารณา ปรึกษาหารือ และวางแผนดำเนินการร่วมกัน เช่นเดียวกันการพิจารณาสถานการณ์สุขภาพอื่นๆ ก็ต้องดำเนินควบคู่ไปด้วยเช่นกัน ดังนั้น การประชุมสภาชุมชน จึงไม่อาจเป็นการประชุมเพียงครั้งเดียวแล้วสามารถพูดคุย จัดการได้ทุกเรื่อง

การประชุม "สภาชุมชน" สามารถเกิดขึ้นได้หลายๆ ครั้งในแต่ละปี หรือเกิดขึ้นได้ตามการร้องขอขององค์กร กลุ่มคนในชุมชนนั้นๆ ได้ สภาชุมชน น่าจะเป็นสภาที่ไม่มีระเบียบ พิธีรีตองมากจนเกินไป ไม่มีโครงสร้างการบริหารจัดการที่ยุ่งยาก การดำเนินการประชุมก็เป็นไปอย่างอิสระ ทุกคนมีเสรีภาพที่จะพูด และได้รับการเคารพความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลาย และมีการตกลงร่วมกันในการจัดการปัญหา การวางแผนงานเพื่อพัฒนาชุมชนต่อไป


"สภาชุมชน" เป็นการมีส่วนร่วมของประชาชนทางตรงในการแสดงความเห็น แสดงความต้องการ และแสดงความรับผิดชอบต่อกัน ถามว่าองค์กรบริหารท้องถิ่นทำหน้าที่เป็นสภาชุมชน หรือไม่อย่างไร ตามแนวคิดสภาชุมชน หากการประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบล หรือจังหวัด สามารถทำให้ประชาชนในชุมชนทุกชุมชน มีส่วนร่วมแสดงความเห็นได้อย่างเสรี ไม่ยึดติดกรอบและทุกความเห็นได้รับการเคารพ ไม่ถูกกีดกัน ก็ถือว่าเป็นสภาชุมชน รวมถึงสมาชิกสภาชุมชนสามารถหยิบยกเรื่องราวใดๆ มานำเสนอและอภิปรายกันในสภาชุมชนเมื่อใดก็ได้ และการประชุมแต่ละครั้งก็ไม่จำกัดกรอบเวลา

หากองค์กรบริหารส่วนตำบล องค์กรบริหารส่วนจังหวัด สามารถดำเนินการได้ ก็ถือว่าเป็นการเสริมสร้างให้เกิดสภาชุมชน ซึ่งเป็นสภาที่นำเสนอสถานการณ์ ปัญหา การถกกันเพื่อแก้ปัญหา หรือการนำเสนอทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ให้กับผู้บริหารท้องถิ่น องค์กรของรัฐ องค์กรเอกชนที่เกี่ยวข้อง สำคัญว่าแนวคิดและวิธีปฏิบัติแบบสภาชุมชน จะเข้ากันได้กับระบบ ระเบียบ ประกาศ กฎเกณฑ์ ประเพณี ขององค์การบริหารส่วนตำบล องค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือรัฐสภาได้หรือไม่เท่านั้นเอง