Skip to main content

พระในดวงใจชาวอาข่าแม่จันใต้

คอลัมน์/ชุมชน



หมู่บ้านบนดอยสูง 1,400 เมตรจากระดับน้ำทะเล ชาวอาข่าทั้งเด็กและผู้ใหญ่ในชุดประจำเผ่าเต็มยศ มอบพวงมาลัยดอกไม้ป่าต้อนรับกรรมการรางวัลลูกโลกสีเขียว ด้วยสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส แล้วพาเดินไปอาศรมพระบัณฑิตอาสาพัฒนาชาวเขา(ธรรมจาริก) ที่อยู่ภายใต้แมกไม้ใหญ่ของป่าชุมชนบ้านแม่จันใต้ ตำบลท่าก๊อ อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย



พระพยัพ ถิรจิตฺโต ได้ส่งผลงานรักษาป่าของชุมชนบ้านแม่จันใต้ ด้วยภูมิปัญญาและวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวอาข่า มายังรางวัลลูกโลกสีเขียว ดิฉันในนามกรรมการคัดเลือก และที่ปรึกษาคณะทำงานภูมิภาคภาคเหนือ ซึ่งดำเนินงานมาเป็นปีที่ 9 แล้ว ด้วยการสนับสนุนของบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) จึงได้ไปเยี่ยมเยือนพร้อมกับคุณณิชา จันทาพูน คณะทำงานสรรหา และ พ่อปรีชา ศิริ คณะทำงานกลั่นกรอง ซึ่งเป็นกรรมการสรรหาของจังหวัดเชียงราย โดยมีคุณผิน สมเมือง แห่งมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.)เป็นตากล้องและสารถีรถตู้


วันเสาร์ที่ 17 มิถุนายน 2550 ดิฉันและคณะเดินทางจากเชียงรายไปถึงวัดแม่ต๋ำจอดรถตู้ไว้ เปลี่ยนเป็นรถ 4 WD ที่ คุณสันติกุล ตัวแทนชาวอาข่าเป็นสารถีผู้ชำนาญเส้นทาง


รถไต่ขึ้นดอยสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ เส้นทางขโยกเขยกแบบทางลูกรัง บางช่วงเป็นโขดหิน ผ่านหมู่บ้านชาวลาหู่ อาข่า จีนยูนนาน ที่อยู่ค่อนข้างจะแน่นหนา ป่าบนภูเขาถูกถางเป็นที่ทำกิน เป็นดอยหัวโล้น ที่ต้องเร่งฟื้นฟูให้ป่าคืนสภาพเดิม


เกือบ 2 ชั่วโมงจึงถึงพื้นที่ที่เป็นป่าต้นน้ำ มีสภาพดี มีต้นไม้นานาชนิดปกคลุมภูเขา ทางเข้าหมู่บ้านสูงชันมาก แต่ก็หายเหนื่อย เมื่อเห็นหมู่บ้านที่ยังรักษาความบริสุทธิ์ เป็นเอกลักษณ์ของชาวอาข่าไว้ได้ เหมือนสมัย 20 ปีกว่าที่ผ่านมา


เมื่อขบวนชาวบ้านนำทางไปถึงอาศรมพระธรรมจาริก พระพยัพ ภิกษุผู้นำแสงสว่างแห่งพุทธธรรมไปสู่ชุมชนบ้านแม่จันใต้ ได้เมตตากล่าวแนะนำผู้อาวุโส ผู้นำชุมชน ผู้นำนักเรียน และขอให้ เด็กและเยาวชนต้อนรับแขกผู้มาเยือน


เยาวชนหญิงกล่าวเป็นภาษาไทยว่า "ชาวอาข่าบ้านแม่จันใต้ ภูมิใจที่มีแขกมาเยือนในวันนี้ ขอให้พรด้วยการสวดมนต์ทำนองสรภัญญะที่พระอาจารย์พยัพได้สอนพวกเรามาหลายปี"



เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ดิฉันได้เห็นเยาวชนชาวเขาทั้งหญิงชาย ราว 40 – 50 คน นั่งสวดมนต์ด้วยความสงบ ด้วยความศรัทธา ด้วยกระแสเสียงแจ่มใส ด้วยความซาบซึ้งในรสพระธรรม เป็นเวลาเกือบครึ่งชั่วโมง


ดิฉันนั่งฟังการสวดมนต์ด้วยความปลื้มปีติ พลางคิดในใจว่าอะไรหนอที่เป็นเหตุดึงดูดให้ชาวอาข่าบ้านแม่จันใต้ศรัทธาในพระอาจารย์พยัพตั้งแต่เด็กวัย 4 – 5 ขวบ จนถึงผู้เฒ่าวัย 70 – 80 ปี ทำอย่างไรจึงจะส่งเสริม สนับสนุนให้มีพระภิกษุ ที่มีคุณธรรม มีเมตตา ได้จาริกไปเผยแผ่พุทธธรรมในถิ่นทุรกันดารได้มากขึ้น ทำให้เด็ก เยาวชนมีธรรมะเป็นหลักยึดเหนี่ยวจิตใจ จนสื่อไปถึงผู้ใหญ่ที่เป็นพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ได้


เมื่อสวดมนต์จบแล้ว ผู้นำเยาวชนคนเดิมเชิญแขกชมการแสดงวิถีชีวิตของชาวอาข่า ประกอบเพลงของสมาคมอาข่า ได้เห็นว่าหญิงอาข่าได้ใช้เวลาอย่างคุ้มค่า ขณะเดินไปไร่เธอก็ปั่นฝ้ายด้วยเครื่องมือชิ้นเล็ก ๆ หรือปักผ้าไปด้วย อันเป็นภาพที่เห็นชินตา เมื่อครั้งที่ดิฉันทำหน้าที่เป็นครูแดงอยู่บนดอย ผู้แสดงมีสีหน้าเปี่ยมสุขเปี่ยมด้วยความภูมิใจในเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของตน ภูมิใจในรากเหง้าแห่งชาติพันธุ์ของตน อันควรเป็นแบบอย่างที่ควรปลูกฝังให้เกิดขึ้นแก่เยาวชนทุกชุมชนทั่วประเทศ


อาหารกลางวันถูกยกมาเมื่อเวลาบ่ายสองโมง คือ ต้มผักกาดดอยพันธุ์พื้นเมืองปลอดสารเคมี ต้มจืดมะระยัดไส้ กับน้ำพริกอาข่า ทุกคนกินกันอย่างเอร็ดอร่อย


ในอาศรมพระธรรมจาริกที่ชาวบ้านสร้างถวายพระอาจารย์พยัพ ไม่มีเครื่องปรุงแต่งทางวัตถุ มีเพียงพระพุทธรูป โต๊ะหมู่บูชาที่เรียบง่าย แต่ที่สำคัญที่สุดคือ มีพระอาจารย์พยัพ เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านทุกคน



พระอาจารย์พยัพพร้อมด้วยชาวอาข่าแม่จันใต้พาคณะกรรมการรางวัลลูกโลกสีเขียวเดินชมพื้นที่ป่าที่ชาวบ้านอนุรักษ์ไว้เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร ซึ่งชาวบ้านเล่าว่าชาวอาข่ามีป่าอนุรักษ์ตามประเพณีหลายประเภท คือ ป่าทางเข้าประตูหมู่บ้านด้านหน้า และด้านหลัง ป่าช้า ซึ่งศักดิ์สิทธิ์มากห้ามผู้ใดเข้าไปโดยเด็ดขาด (ยกเว้นเมื่อจะไปฝังศพ) ป่าต้นน้ำบริสุทธิ์ที่ใช้ในการทำพิธีกรรม ป่าบริเวณทำพิธีโล้ชิงช้า


ผืนป่าต้นน้ำที่ชาวบ้านดูแลมี 1,500 ไร่ ป่าพิธีกรรม 50 ไร่ และป่าปลูก 3,800 ไร่ ซึ่งทุกปีชาวบ้านจะทำแนวกันไฟป้องกันไฟป่า และจัดเวรยามป้องกันไฟไหม้ตลอดทั้งกลางวัน กลางคืน ระหว่างเดือนมกราคมถึงเมษายน หรือจนกว่าฝนจะตก


ช่วงฤดูฝนชาวบ้านต้องช่วยกันกำจัดวัชพืชในป่าที่ปลูกใหม่จนกว่าไม้จะใหญ่จนตั้งตัวได้ ทั้งยังกำหนดกฎกติกาการหาของป่า ให้เก็บหาแต่พอกิน เพื่อให้หน่อไม้ ผักป่า เห็ด ได้เจริญเติบโตงอกงามต่อไป


ชาวบ้านแม่จันใต้ไม่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว ไม่ใช้สารเคมี แต่ปลูกผลไม้เมืองหนาวผสมผสานกันหลายอย่าง โดยได้รับคำแนะนำจากโครงการหลวงที่อยู่ใกล้หมู่บ้าน ป่าต้นน้ำจึงถูกรักษาไว้ได้ เป็นหมู่บ้านที่ร่มรื่นสมบูรณ์ด้วยผืนป่าที่ล้อมรอบ


บ้านเรือนในหมู่บ้านมีทั้งกระท่อมแบบดั้งเดิม กับบ้านที่สร้างด้วยวัสดุถาวรซึ่งกลมกลืนกับสิ่งแวดล้อม เป็นวิถีชีวิตที่อาบรดด้วยพุทธธรรมและภูมิปัญญาที่สั่งสมมานับร้อยปีของชาวอาข่ารักษาจิตใจที่ใสบริสุทธิ์เหมือนโลกในฝันเอาไว้ให้ได้ ไม่ว่าโลกภายนอกจะเปลี่ยนไปเลวร้ายเพียงใด ชุมชนต้องพึ่งตนเองได้


ปัญหาข้าวไม่พอกิน ความยากจน คือสิ่งที่ท่านเห็นทุกวัน จนถอดใจขอย้ายพื้นที่ไปยังสำนักงานพระธรรมจาริกที่วัดสวนดอก แต่ผู้ใหญ่ขอให้อยู่จนครบ 6 เดือน แล้วค่อยตัดสินใจใหม่


การติดฝิ่นคือสาเหตุของปัญหา ทุกวันพระพยัพเห็นแต่ผู้หญิงทำงาน ผู้ชายนอนสูบฝิ่นอยู่บ้าน ผู้หญิงต้องไปทำงานรับจ้าง ได้เงินมาก็ซื้อฝิ่นให้ผัวสูบ แม้ลูกกับตัวเองจะไม่มีข้าวกิน ก็อดทนเอา เพราะตามประเพณี ผู้หญิงอาข่าต้องเชื่อฟังผัว



ช่วงประกาศสงครามกับยาเสพติด เป็นทั้งวิกฤติและโอกาสของชาวบ้านกับพระพยัพ เจ้าของรถ 4WD คันเดียวในหมู่บ้านถูกยิงตาย หลังจากเขาไปส่งท่านไปปฏิบัติธรรมที่เชียงใหม่ ต่อมาชาวบ้านหลายคนถูกจับ ท่านถูกมองด้วยความระแวงสงสัย แต่ท่านก็พิสูจน์ความบริสุทธิ์ใจกับชาวบ้านได้อย่างขาวสะอาด


คนติดฝิ่น 25 คน ตัดสินใจไปบำบัดที่ศูนย์บำบัดเชียงใหม่ โดยความช่วยเหลือของพระพยัพและหน่วยงานในพื้นที่ จนเกิดกติกาหมู่บ้านห้ามปลูกฝิ่น ห้ามสูบฝิ่น รวมพลังแก้จน ทำทุกอย่างเพื่อมุ่งสู่การพึ่งตนเอง


การทำกระทงประกวดในงานวันลอยกระทง ด้วยความสามัคคีของชาวบ้านด้วยการนำของพระพยัพ ทำกระทงรูปมังกรที่ใช้ใบขนุนทำเกล็ด ใช้วัสดุทั้งหมดจากธรรมชาติ ใช้แรงคนทั้งหมู่บ้านแบกกระทงเดินไปที่บ้านห้วยน้ำขุ่นทำให้ทุกคนตะลึงในความงามมหัศจรรย์จนได้รางวัลชนะเลิศ เป็นการเปิดตัวบ้านแม่จันใต้ จากหมู่บ้านที่ไม่เคยมีใครรู้จัก เป็นหมู่บ้านที่ประสบความสำเร็จในทุกมิติ ด้วยพลังแห่งธรรม


โครงการต่าง ๆ ผุดขึ้นมาจากการนำของพระพยัพจาก พ.. 2545 จนถึง ปัจจุบัน เช่น โครงการธรรมะภาษาไทยใต้แสงเทียน โครงการสวดมนต์ก่อนนอนสอนธรรมถวายพ่อผู้เป็นพลังของแผ่นดิน โครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ 12 สิงหามหาราชินี โครงการอุปสมบทชนเผ่า 9 รูป ถวายพ่อผู้เป็นพลังของแผ่นดิน ฯลฯ ล้วนนำความภูมิใจมาสู่ชาวอาข่าแม่จันใต้อย่างต่อเนื่อง


ดิฉันเคยได้ทราบเรื่องโครงการพระธรรมจาริกว่าได้เกิดขึ้นมานานแล้ว โดยความสนับสนุนของกรมประชาสงเคราะห์แต่เดิม ในขณะที่โครงการพระบัณฑิตอาสาพัฒนาชาวเขา (ธรรมจาริก) ภายใต้มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ วัดสวนดอก เพิ่งเกิดเมื่อพ.. 2543 โดยพระนักพัฒนารุ่นใหม่ที่ดิฉันเคารพศรัทธา ซึ่งมีพระธรรมโกศาจารย์ อธิการบดีมหาจุฬาฯ เป็นที่ปรึกษา พระมหาดร.บุญช่วย สิรินธโร รองอธิการบดี มหาจุฬาฯ เป็นประธานโครงการ


ขอให้โครงการดี ๆ เช่นนี้ เจริญงอกงามต่อไปดังตัวอย่างของพระพยัพแห่งบ้านแม่จันใต้ เพื่อแสงแห่งพุทธธรรมจะสว่างไสวทั่วดอย ทั่วแดนไทย