Skip to main content

๙๕ ปี แห่งชีวิต ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ (๒)

คอลัมน์/ชุมชน


"เป็นการเดินทางไกลครั้งแรกในชีวิต ไม่อาจคาดการณ์ว่าเมื่อใดจึงจะกลับมาอยู่พร้อมหน้าพร้อมตาคุณพ่อคุณแม่และลูกเล็กทั้ง ๒ คน…หัวใจข้าพเจ้าแทบสลายด้วยความเป็นห่วงลูก…"


พูนศุข พนมยงค์
คราวถูกเนรเทศปี ๒๔๗๖


หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองไม่นาน มรสุมการเมืองลูกแรกก็โถมเข้าใส่ครอบครัวพนมยงค์


รัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) ซึ่งเกิดขึ้นจากการประนีประนอมระหว่างคณะราษฎรกับกษัตริย์หลังการอภิวัฒน์ ได้ถือโอกาสที่ปรีดีทำตามนโยบายคณะราษฎรที่จะ "บำรุงความสุขสมบูรณ์" ด้านการประกอบอาชีพของประชาชน โดยร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติกล่าวหาว่าปรีดีเป็นคอมมิวนิสต์ !

โดยชี้ว่าเนื้อหาของร่างดังกล่าวส่อลักษณะการดำเนินเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม ทั้งที่ถ้าลงลึกในรายละเอียด เค้าโครงการเศรษฐกิจนี้ มิได้มีเจตนายึดทรัพย์คนรวยไปให้คนจน เพียงแต่กำหนดให้รัฐบาลประกอบเศรษฐกิจแบบสหกรณ์ ให้มีพระราชบัญญัติว่าด้วยการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร และให้มีพระราชบัญญัติว่าด้วยการประกอบเศรษฐกิจ ถ้าแปลเป็นภาษาสมัยนี้คือให้มีมาตรการทางภาษีที่เป็นธรรม มีการปฏิรูปที่ดิน ให้ตั้งระบบประกันสังคมหรือระบบรัฐสวัสดิการขึ้นเช่นที่รัฐบาลไทยปัจจุบันกำลังพยายามทำโครงการประกันสังคมและประกันสุขภาพให้กับประชาชนนั่นเอง


โดยก่อนเข้าสู่กระบวนการประกาศใช้ ปรีดีได้นำเสนอร่างต่อนายกรัฐมนตรีจนได้รับความเห็นชอบ ก่อนจะนำทูลถวายต่อรัชกาลที่ ๗ เพื่อขอพระราชวินิจฉัย ซึ่งก็ทรงเห็นชอบเช่นกัน


ทรงตรัสกับนายปรีดีว่า "ฉันก็เป็นโซชะลิสต์" (Socialist-สังคมนิยม)


แต่เมื่อเริ่มเดินตามกระบวนการ ปรากฏว่าคณะอนุกรรมการพิจารณาเค้าโครงฯ ส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วย จากนั้นเรื่องก็เข้าสู่คณะรัฐมนตรีจนมีการกล่าวหาว่าเค้าโครงการเศรษฐกิจนี้มีลักษณะคอมมิวนิสต์


เพื่อเป็นการพิสูจน์ตนเอง ปรีดีลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี ตัดสินใจจะนำเค้าโครงการเศรษฐกิจเสนอสู่สาธารณะโดยตั้งใจจะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.. เพื่อผลักดันนโยบายตามวิถีทางประชาธิปไตยที่เพิ่งเปิดกว้างขึ้นหลังการอภิวัฒน์


แต่รัฐบาลพระยามโนปกรณ์ไม่ยอมทำตามระบบ กลับนำความขึ้นกราบบังคมทูลรัชกาลที่ ๗ ให้ออกพระราชกฤษฎีกาปิดสภาผู้แทนราษฎร งดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา ออกพระราชบัญญัติว่าด้วยคอมมิวนิสต์ พ..๒๔๗๖ เพื่อเล่นงานปรีดีและเตรียมจัดการคณะราษฎร อันถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีการ "ฉีกรัฐธรรมนูญ" โดยใช้ "พระราชกฤษฎีกา" ซึ่งในทางนิติศาสตร์ถือว่าเป็นกฎหมายที่มีศักดิ์ต่ำกว่ารัฐธรรมนูญ ทั้งยังเป็นการเปิดศักราชการใช้ข้อหาคอมมิวนิสต์ทำลายศัตรูทางการเมืองของสังคมไทยซึ่งจะยืนยงต่อไปอีกหลายทศวรรษ


ทั้งนี้รัชกาลที่ ๗ ยังทรงออกสมุดปกขาวตอบโต้เค้าโครงเศรษฐกิจของนายปรีดีอีกด้วย


นักประวัติศาสตร์สมัยหลังได้วิเคราะห์ว่า เพราะฝ่ายนิยมกษัตริย์ทราบดีว่าปรีดีมีบทบาทสำคัญในคณะราษฎรจนได้รับการยอมรับว่าเป็น "มันสมอง" ของคณะ ดังนั้นวิถีที่จะจัดการคณะราษฎรดีที่สุดคือทำลายมันสมอง ซึ่งจะส่งผลให้กลุ่มล่มสลายไปโดยปริยาย


เพราะคนไร้สมองก็เท่ากับหมดประสิทธิภาพ
รัฐบาลพระยามโนฯ บีบให้ปรีดีไปดู "การเศรษฐกิจในต่างประเทศ"
…
แต่ภาษาชาวบ้านก็รู้กันว่า นี่คือการ "เนรเทศ"
ซึ่งส่งผลกระทบถึงท่านผู้หญิงพูนศุขอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


ดูประวัติของท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ถึงตอนนี้ ผมต้องตกตะลึงว่าเศษซากจากการกลั่นแกล้งครั้งนั้นยังหลงเหลือมาจนถึงยุคปัจจุบัน ด้วยเค้าโครงการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของปรีดีหรือ "สมุดปกเหลือง" ได้ถูกบรรจุอยู่ในวิชาสังคมศึกษาระดับมัธยมปลายโดยบิดเบือนอย่างรุนแรงว่าเป็นร่างที่มีลักษณะเป็นคอมมิวนิสต์ !


ถ้าเด็กไทยคนไหนขยันค้นคว้าหาความรู้จนทราบความจริงแล้วฝืนตอบว่าไม่ใช่ ก็ได้ ๐ คะแนนไม่ต่างกับโจทย์ที่ว่าใครทำป่าไม้เสียหายมากที่สุด ซึ่งคำตอบที่จะทำให้ได้คะแนนย่อมหนีไม่พ้น "ชาวเขาที่ทำไร่เลื่อนลอย" ทั้งที่ความจริงคนเมืองคือสาเหตุสำคัญที่ทำให้ต้องดึงทรัพยากรออกจากป่ามาสู่เมือง


แน่นอนว่านี่เป็นอีกหนึ่งกระบวนการ "ล้างสมอง" เด็กไม่ให้เรียนรู้สิ่งที่ถูกต้องซึ่งจะก่อปัญหาในอนาคตไม่รู้จักจบสิ้นในแง่การศึกษาประวัติศาสตร์ที่เป็นจริง


ในที่สุด วันที่ ๑๒ เมษายน ๒๔๗๖ เรือเดินสมุทรสัญชาติญี่ปุ่นชื่อ ฮากูซานมารู ก็นำท่านผู้หญิงพูนศุขและปรีดี พนมยงค์ออกเดินทางไปฝรั่งเศสแบบไม่มีกำหนดกลับโดยมีประชาชนและเพื่อนในคณะราษฎรตามไปส่งที่ท่าเรือจำนวนมาก ซึ่งถึงแม้จะได้รับกำลังใจมากเพียงใด ครานั้นจิตสำนึกการเป็นแม่ก็สร้างความกังวลใจให้ผู้หญิงในวัยเพียง ๒๑ ปีอย่างรุนแรง


"เป็นการเดินทางไกลครั้งแรกในชีวิต ไม่อาจคาดการณ์ว่าเมื่อใดจึงจะกลับมาอยู่พร้อมหน้าพร้อมตาคุณพ่อคุณแม่และลูกเล็กทั้ง ๒ คน…หัวใจข้าพเจ้าแทบสลายด้วยความเป็นห่วงลูก…"


จากนั้น สองสามีภรรยาก็ใช้ชีวิตในปารีส อาศัยอยู่ในอพาร์ทเมนต์เล็กๆ เป็นเวลาถึง ๕ เดือนเต็ม


จนเดือนมิถุนายน ๒๔๗๖ สถานการณ์ที่เมืองไทยก็เปลี่ยนแปลง เมื่อพระยาพหลพลพยุหเสนาหัวหน้าคณะราษฎรทำการรัฐประหารรัฐบาลพระยามโนปกรณ์ ฯ ในความหมายของ "อภิวัฒน์" (ก้าวไปข้างหน้า) โดยยึดอำนาจแล้วเปิดประชุมรัฐสภา นำระบอบประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญกลับสู่สยาม


สองสามีภรรยาจึงได้กลับบ้านพร้อมลูกคนที่สามในครรภ์ จากนั้นก็มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนจนสรุปได้ว่าปรีดีมิได้เป็นคอมมิวนิสต์


และแล้ว - - มรสุมลูกแรกก็ผ่านพ้นไป
แต่ทว่า นี่ไม่ใช่มรสุมลูกสุดท้าย



"นายปรีดีรวบรวมผู้รักชาติซึ่งมีความเห็นตรงกันจัดตั้งการต่อสู้ผู้รุกรานทุกรูปแบบ เพื่อปกป้องเอกราชอธิปไตยของชาติ และได้ส่งคณะผู้แทนไปติดต่อกับสัมพันธมิตรและคนไทยในต่างประเทศ ส่วนภายในประเทศได้กำลังจากผู้แทนราษฎร ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ในขณะเริ่มแรกไม่ได้ตั้งชื่อขบวนการ แต่เมื่อติดต่อกับสัมพันธมิตรได้ใช้ชื่อว่า ‘ขบวนการเสรีไทย’ "


พูนศุข พนมยงค์
ในชีวิตของข้าพเจ้าในยามสงครามและสันติภาพ


เมื่อกลับจากฝรั่งเศส ปรีดีได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีหลายกระทรวงในรัฐบาลพระยาพหลพลหยุหเสนาสืบจนถึงรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงมหาดไทย กระทรวงต่างประเทศ กระทรวงการคลัง โดยวางระบบต่างๆ ให้สยามก้าวเข้าสู่การบริหารรัฐแบบสมัยใหม่ เช่น ก่อตั้งธนาคารกลาง (ต่อมาคือธนาคารแห่งประเทศไทย) สำหรับกำกับการเงินของชาติ เดินทางไปเยือนต่างประเทศเพื่อแก้ไขสนธิสัญญาต่างๆ ซึ่งสยามเสียเปรียบมาตั้งแต่สมัยสมบูรณาสิทธิราชย์ ก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองเพื่อเตรียมพร้อมประชาชนสำหรับระบอบใหม่ ฯลฯ


ซึ่งระหว่างปรีดีทำงานหามรุ่งหามค่ำนั้นเอง พูนศุข พนมยงค์ วัยไม่ถึง ๓๐ ปี ก็ทำหน้าที่ภรรยาอย่างเข้มแข็งโดยไม่เคยคิดเปิดประตูหลังบ้านให้คนที่อยากได้ยศตำแหน่งมาวิ่งเต้นเหมือนนักการเมืองหรือนักการทหารที่ก้าวเข้ามาปกครองประเทศในสมัยนี้แต่อย่างใด


"นายปรีดีได้มอบเงินเดือนทั้งหมดให้ข้าพเจ้าเช่นเดียวกับเมื่อก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อต้องการสิ่งใดก็ให้ข้าพเจ้าจัดหาให้ บางเดือนเมื่อรับ (เงินเดือน) แล้วลืมทิ้งไว้ที่โต๊ะทำงาน จนเจ้าหน้าที่ต้องนำมาให้ที่บ้าน ต่อมาจึงสั่งเลขานุการให้นำมามอบแก่ข้าพเจ้าโดยตรง…เมื่อรับตำแหน่งผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองก็มีเงินประจำตำแหน่งซึ่งไม่เคยเบิกมาใช้ แต่จัดให้เป็นเงินสวัสดิการของมหาวิทยาลัยเพื่อช่วยเหลือนักศึกษาที่ขาดแคลน ฯลฯ"


ในปี ๒๔๘๒ ท่านผู้หญิงพูนศุขได้รับพระราชทานตำแหน่งท่านผู้หญิงจากรัชกาลที่ ๘ ด้วยอายุเพียง ๒๘ ปี


จนมรสุมลูกที่สองโถมเข้าใส่ครอบครัวพนมยงค์ เมื่อสงครามซึ่งอุบัติในทวีปยุโรปขยายขอบเขตมาถึงเมืองไทยในนามสงครามมหาเอเชียบูรพา ซึ่งถึงแม้ว่าก่อนหน้าปรีดีได้พยายามทำให้ไทยมีสถานะเป็นกลางและเรียกร้องสันติภาพโดยสร้างภาพยนตร์เรื่อง "พระเจ้าช้างเผือก" (The King of the White Elephant) โดยหยิบยกประวัติศาสตร์สงครามในอดีตมาดำเนินเรื่องโดยมีแก่นว่า "ชัยชนะแห่งสันติภาพนั้น มิได้มีชื่อเสียงบรรลือนามน้อยไปกว่าชัยชนะแห่งสงครามแต่อย่างใด"


ซึ่งถือเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่พูดภาษาอังกฤษในฟิล์ม และนำออกฉายในเมืองสำคัญๆ ของโลก เช่น นิวยอร์ก สิงคโปร์ พร้อมกันเมื่อวันที่ ๔ เมษายน ๒๔๘๔ ก่อนสงครามระเบิดขึ้นเพียง ๘ เดือน ซึ่งภายหลังองค์การยูเนสโกจัดให้ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็น ๑ ใน ๑๐๐ ภาพยนตร์คุณภาพของโลก


แน่นอนว่า ท่านผู้หญิงพูนศุขมีส่วนอย่างสำคัญในภาพยนตร์เรื่องนี้ โดยท่านๆได้เล่าไว้ใน ชีวิตของข้าพเจ้าในยามสงครามและสันติภาพ ว่า "ข้าพเจ้ามีหน้าที่ดูแลกองถ่ายทำภาพยนตร์ ช่วยท่านขุนชำนาญฯ (หลุย อินทุโสภณ) แต่งหน้าให้กับนักแสดงฝ่ายหญิง ทุกคนสนุกสนานกับการทำภาพยนตร์"


ขณะที่ส่วนอื่นเป็นการ "ลงแขก" จากบรรดาลูกศิษย์ของปรีดีที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองรวมถึงมิตรสหายที่ทุ่มเททรัพยากรต่างๆ เข้ามาช่วยเหลือ และร่วมเป็นตัวแสดงอย่างคึกคัก จนถือได้ว่าพระเจ้าช้างเผือกเป็นภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นได้โดยใช้พลัง "ศรัทธา" ดึงดูดคนเข้ามาช่วยได้จำนวนมากที่สุดของประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ของไทย ซึ่งถ้าเทียบกับภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์บางเรื่องยุคปัจจุบันที่มีแก่นเรื่องคล้ายกันแต่มีจุดมุ่งหมายชาตินิยม ซึ่งสร้างโดยใช้อำนาจพิเศษสั่งให้ทหารทั้งกองพันช่วยในการถ่ายทำจนเสร็จแล้วขายของที่เกี่ยวข้องกับภาพยนตร์โกยเงินเข้ากระเป๋าในนามความรักชาติอย่างสบายอารมณ์ก็เรียกได้ว่าต่างกันลิบลับ

น่าเสียดายว่า พระเจ้าช้างเผือก ส่งเสียงได้เบาอย่างยิ่งในโลกที่ตึงเครียดขึ้น จนในที่สุดญี่ปุ่นก็โจมตีไทยในคืนวันที่ ๗ ต่อรุ่งเช้าวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ โดยจู่โจมมาจากด้านตะวันออกทั้งทางบกและทางทะเลในเวลากลางดึก

ท่านผู้หญิงพูนศุขบันทึกเหตุการณ์ที่ท่านประสบในคืนนั้นว่า "เวลาประมาณสองยาม มีโทรศัพท์จากวังสวนกุหลาบ เชิญนายปรีดีไปประชุมคณะรัฐมนตรี ในช่วงที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีไม่อยู่ในพระนคร ไปราชการต่างจังหวัด…การประชุมคืนนั้น คณะรัฐมนตรีมีความเห็นเป็นสองฝ่าย คือ ฝ่ายหนึ่งไม่สู้ญี่ปุ่น กับอีกฝ่ายหนึ่งคือนายปรีดี ต้องการสู้เพื่อเอกราชและอธิปไตย และอ้างถึง พ...กำหนดหน้าที่คนไทยในเวลารบว่า หากประเทศไทยถูกรุกรานจากศัตรูภายนอก ราษฎรไทยจะต้องทำการต่อสู้จนถึงที่สุด เมื่อกองทัพญี่ปุ่นขึ้นตามจุดต่างๆ ในประเทศไทย ทหาร ตำรวจ และประชาชนได้ทำการต่อสู้อย่างเข้มแข็ง แต่เมื่อนายกรัฐมนตรีกลับถึงที่ประชุมในตอนเช้า ได้สั่งให้ผู้ที่ต่อสู้วางอาวุธ อ้างว่าราษฎรได้ล้มตายไปเป็นอันมาก และมีมติให้ทหารญี่ปุ่นเดินทัพผ่านประเทศไทย"


เที่ยงวันที่ ๘ ธันวาคม ท่านผู้หญิงพบว่านายปรีดีกลับถึงบ้านด้วยสภาพอิดโรย ที่สำคัญคือ ท่านได้รับรู้ว่า "นายปรีดีรู้สึกเสียใจที่คณะรัฐมนตรีกลับคำจากมติเดิม ยอมจำนนต่อทหารญี่ปุ่น อนุญาตให้ยกทัพผ่านแดนประเทศไทย"


เย็นวันนั้นขบวนการเสรีไทยจึงถือกำเนิดขึ้นหลังมี ส.. กลุ่มหนึ่งมาพบนายปรีดีถึงที่บ้านโดยทั้งหมดตกลงใจจัดตั้งขบวนการใต้ดินเพื่อต่อต้านญี่ปุ่น ซึ่งนั่นก็ทำให้ท่านผู้หญิงได้ร่วมกับขบวนการดังกล่าวในฐานะผู้ปฏิบัติงานเสรีไทยคนหนึ่งและในฐานะผู้ใกล้ชิด "รู้ธ" (รหัสเรียกนายปรีดี พนมยงค์) หัวหน้าขบวนการกู้ชาติ


ต่อมา ปรีดีถูกปลดออกจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เนื่องจากญี่ปุ่นไม่ชอบใจที่จะมีรัฐมนตรีซึ่งไม่ใช้ฝ่ายตนมีตำแหน่งในรัฐบาลไทย แต่สภาผู้แทนราษฎรก็ได้แต่งตั้งนายปรีดีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในหลวงรัชกาลที่ ๘ ซึ่งก็ช่วยให้นายปรีดีทำงานได้สะดวกขึ้น และที่ทำเนียบท่าช้าง ซึ่งรัฐบาลจัดให้เป็นบ้านพักประจำตำแหน่งนั้น ท่านผู้หญิงก็ได้ร่วมเคลื่อนไหวกับขบวนการกู้ชาติอย่างใกล้ชิด


"ช่วยทำทุกอย่าง ช่วยนายปรีดีฟังข่าว ติดตามสถานการณ์ต่างระเทศจากวิทยุ อันที่จริงตอนนั้นทางการห้ามฟังวิทยุสัมพันธมิตร ต้องมีใบอนุญาตถึงฟังได้…บางครั้งข้าพเจ้าก็ช่วยเขียนรหัสด้วยลายมือโดยไม่ใช้พิมพ์ดีด …อำนวยความสะดวกแก่เสรีไทยที่เข้ามาปรึกษางานกับนายปรีดี ศาลาริมน้ำที่ทำเนียบท่าช้างเป็นเสมือนสถานที่ทำงานของบรรดาเสรีไทย"


ขณะที่สงครามดำเนินไป ท่านผู้หญิงก็มีส่วนช่วยเหลือขบวนการเสรีไทยอย่างมาก โดยเฉพาะในคราวที่ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เสรีไทยสายอังกฤษกระโดดร่มลงมาที่จังหวัดชัยนาทแล้วถูกตำรวจจับมาขังไว้ที่กรุงเทพฯ


"หลวงอดุลเดชจรัส อธิบดีกรมตำรวจขณะนั้น ก็เป็นเสรีไทยด้วยเช่นกัน ได้เปิดโอกาสให้คุณป๋วยทำหน้าที่พนักงานวิทยุติดต่อกับฝ่ายสัมพันธมิตรภายใต้การควบคุมของตำรวจไทย แต่ในขั้นต้นสัมพันธมิตรต้องการตรวจสอบว่าคุณป๋วยมิได้ถูกญี่ปุ่นบังคับให้ส่งข่าว จึงโทรเลขถามที่อยู่ที่สก็อตแลนด์ของแอนดรูว์ กิลคริสต์ อดีตนักการทูตอังกฤษประจำประเทศไทย สำหรับนายปรีดีแล้วเหมือนงมเข็มในมหาสมุทร ถามใครก็ไม่มีใครทราบ นายปรีดีร้อนใจมาก ในที่สุดเอ่ยปากถามข้าพเจ้า"


ซึ่งท่านผู้หญิงก็ตอบได้อย่างไม่ลังเลว่าให้ถามกับคุณหญิงจีรี ธิดาใน ม.. สกลวรรณากร วรวรรณ เพราะท่านจำได้ว่าในงานราตรีสโมสรของนักการทูตสมัยก่อนสงคราม เห็นนักการทูตคนนี้คุ้นกับคุณหญิงจีรีดี ในที่สุดก็ได้คำตอบซึ่งทำให้เสรีไทยติดต่อกับกองกำลัง ๑๓๖ ของฝ่ายสัมพันธมิตรได้สำเร็จ


เมื่อสงครามยุติในวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๔๘๘ นายปรีดีได้ออก "ประกาศสันติภาพ" ในนามผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ อันส่งผลให้เอกราชสมบูรณ์กลับคืนมาโดยฝ่ายสัมพันธมิตรถือว่าขบวนการเสรีไทยได้แสดงถึงเจตจำนงของชาวไทยที่ไม่ต้องการจะอยู่ใต้อาณัติญี่ปุ่นผ่านวีรกรรมต่างๆ


กองทัพไทยจึงไม่ถูกยุบเลิก และบรรดาขุนศึกศักดินาทั้งหลายก็รอดพ้นจากการเป็นอาชญากรสงครามจนหมดสิ้นในภายหลัง


ถึงวันนี้ ผมจึงมักบอกฝรั่งที่มาถามว่าสมัยสงครามประเทศยูพ้นสถานะผู้แพ้ได้อย่างไรในเมื่อเข้าร่วมฝ่ายอักษะทั้งยังส่งกองทหารโจมตีรัฐฉานของพม่า


ผมจึงสามารถตอบได้โดยไม่ลังเลใจว่านั่นเป็นผลจาก "ขบวนการเสรีไทย" ซึ่งต่อต้านญี่ปุ่นและทำตามเจตจำนงของชาวไทยที่หลายคนต้องการสู้ผู้รุกรานโดยไม่เสียดายชีวิตแต่กลับถูกรัฐบาลจอมพล ป. ย่ำยีจิตใจ นอกจากประกาศให้ยุติการป้องกันแผ่นดินตนเองเสียดื้อๆ แล้วยังให้ญี่ปุ่นเดินทัพผ่านหลังโฆษณาชวนเชื่อมาก่อนสงครามว่าให้ใช้แม้กระทั่งหมามุ่ยรบกับผู้รุกรานถ้าหากไม่มีอาวุธ แถมต่อมายังเข้าร่วมอย่างเต็มตัวโดยส่งทหารไปโจมตีดินแดนของพม่าซึ่งเวลานั้นอยู่ในครอบครองของอังกฤษด้วย


ปี ๒๔๘๘ มหาพายุสงครามโลกพัดผ่านไป - - ปรีดีก้าวสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและจัดให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่เป็นประชาธิปไตยมากที่สุดฉบับหนึ่งในประวัติศาสตร์ชาติไทยคือ รัฐธรรมนูญปี ๒๔๘๙ ซึ่งกำหนดให้วุฒิสภามาจากการเลือกตั้ง ข้าราชการไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมือง เปิดกว้างให้พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยมาต่อสู้ในเวทีรัฐสภาโดยส่งคนลงสมัครรับเลือกตั้งได้อย่างเสรี


ก่อนที่ต่อมาทุกอย่างเริ่มเลวร้าย เมื่อเกิดคดีสวรรคตรัชกาลที่ ๘ หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ไม่นาน ปรีดีพบมรสุมทางการเมืองจากฝ่ายตรงข้ามคือกลุ่มของ จอมพล ป. และบรรดาขุนศึกศักดินาที่ต้องการกลับมามีอำนาจอีกครั้งอย่างหนักหน่วง โดยกลุ่มอำนาจนี้ซึ่งตกจากเก้าอี้ไปในช่วงสงคราม ได้ใช้คนพรรคประชาธิปัตย์ไปตะโกนในโรงภาพยนตร์ว่า "ปรีดีฆ่าในหลวง" จนเกิดความแคลงใจในหมู่ประชาชน ซึ่งทำให้ในที่สุดนายปรีดีลาออกเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ โดยระหว่างนั้นได้ตอบรับคำเชิญไปเยือนของประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรที่เคนร่วมรบกันมาในสมัยสงคราม ซึ่งหลังจากกลับมา ท่านผู้หญิงก็ได้บันทึกว่า


"บ้านเมืองเราก็เกิดเหตุการณ์ทางการเมืองสำคัญๆ หลายเรื่อง ชีวิตในยามสงครามของนายปรีดีและข้าพเจ้าก็ได้สิ้นสุดลง จากนั้นก็ได้เริมชีวิตอันผันผวนในต่างแดน"



พระเจ้าช้างเผือกภาพยนตร์โดยปรีดี พนมยงค์



คอนเซปต์ของภาพยนตร์เรื่องนี้ที่ไม่ได้ต้องการให้เราทะเลาะกับเพื่อนบ้าน
แต่ต้องการให้เราตระหนักว่าสงครามเป็นเรื่องของผู้ปกครองสมัยโบราณ และสันติภาพ



"ไม่มีสุขอื่นใดเสมอด้วยสันติภาพ"



ปรีดี พนมยงค์ ขณะควบคุมการผลิตภาพยนตร์ร่วมกับมิตรและลูกศิษย์



วังท่าช้าง ศูนย์บัญชาการของเสรีไทย



ขณะปรึกษางานเสรีไทยที่บ้านท่าช้าง ท่านผุ้หญิงอยู่เคียงข้างรูธด้วยเสมอ



กุหลาย สายประดิษฐ์ หนึ่งในเสรีไทยที่เดินสวนสนามหลังสงครามสงบ