Skip to main content

ใต้ร่มไม้

คอลัมน์/ชุมชน

มีผู้คนมากมายพูดถึงการมีเวลา แต่กลับมีคนไม่มากนักที่สามารถมีเวลาอย่างแท้จริง ว่าอันที่จริงแล้ว เราต่างมีทฤษฎีที่ว่าด้วยการดำรงชีวิตมากมายนัก ถ้าหากเราสามารถปฏิบัติตามทฤษฎีต่างๆ เหล่านั้นได้ทั้งหมด จิตย่อมดีงามแน่นอน แม้จะเป็นความดีงามในวิถีปุถุชนก็ตามที แต่ถ้าเรามีภานาในชีวิตอยู่บ้างแล้วไซร้ นั่นคงเป็นทาง เป็นการถากถางทางไปสู่วิถีอริยะชนเป็นแน่ นั่นก็เป็นได้ แต่ทั้งหมดนั้นก็ยังเป็นเพียงหลักการเพราะจากความรู้สึกแล้ว ในบรรดาหลักที่ง่ายๆ ทั้งหลาย การมีเวลาถือเป็นหลักการหนึ่งที่จัดอยู่ในหมวดง่ายๆ (หรือเปล่า) และอย่างที่ว่า ผู้คนมากมายพูดถึงการมีเวลา แต่ก็กลับมีไม่กี่คนที่สามารถมีเวลา

เมื่อยามเดินทางในแถบถิ่นชนบท ทั้งใต้ เหนือ ตะวันออก จรดตะวันตก หลายครั้งที่เห็นภาพผู้เฒ่านั่งเอกเขนกอยู่ใต้ร่มไม้ เข้าใจว่า กว่าที่ผู้เฒ่าเหล่านั้นจะได้นั่งเอกเขนกอยู่ใต้ร่มไม้ ชีวิตของพวกเขาก็ผ่านเรื่องราว ผ่านความทุกข์ยากลำบากมามากมายนักแล้ว หรือนั่นก็อาจจะเป็นภาพที่อยู่นอกเหนือหลักการ การมีเวลา เพราะถ้าหากถามต่อไปอีกว่า พวกเขาเหล่านั้นนั่งอยู่อย่างเป็นสุขหรือไม่ ณ ใต้ร่มไม้นั้น จากการได้ยินฟังก็อาจมีไม่มากนักที่เป็นอยู่อย่างมีความสุข ส่วนหนึ่งอาจอยู่อย่างเปลี่ยวเหงา เพราะสภาพสังคมอันโดดเดี่ยวเกินไป แม้ในสังคมชนบท แต่ก็คงมีจำนวนไม่น้อยที่นั่งเอกเขนกอยู่ใต้ร่วมไม้ มองชีวิตอย่างเข้าใจ และเป็นสุข


คำถามต่อมาคือ เราจะสามารถนั่งเอกเขนกอยู่ใต้ร่มไม้แม้อยู่ในวัยหนุ่มสาวได้หรือไม่ นั่นหมายถึงการมีเวลาอย่างแท้จริง ด้วยความเข้าใจในชีวิต มิใช่นั่งอยู่ตรงนั้น นั่งอยู่อย่างนั้นเพราะไร้หนทาง แต่ด้วยการใช้ชีวิตที่เหมาะสม ไม่ทำงานมากเกินไป หาอยู่พอได้อยู่ แล้วก็หากินพอกิน ไม่สะสม ดูแลสุขภาพเพื่อจะได้ไม่ต้องหาเงินมากๆ ไว้รองรับความเจ็บป่วย นั่นหมายถึงการกิน และอยู่อย่างเหมาะสม สุขภาพกายและใจแข็งแรง ก็ลดความเจ็บป่วย เงินสำรองก็อาจจะไม่ต้องมากนักนั่นเอง แต่นั่นก็อยู่บนฐานของความเหมาะสมของแต่ละคนที่ไม่ได้เท่ากัน ต่างก็ว่ากันไปตามเงื่อนไขของตน


ทั้งหมดนั้น แม้ว่าการมีเวลาเป็นจุดเริ่มต้นของวิถีชีวิตอันเรียบง่าย ที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย (หรือเปล่า) แต่เราก็เข้าถึงได้ยากนัก ด้วยยุคสมัยของเรา สอนให้มนุษย์เสพติดงาน เสพติดคุณค่าของงาน ให้ค่าของชีวิตจากงาน เราจึงรู้สึกว่าเรามีค่าก็ต่อเมื่อเราทำงานหนัก เมื่อไหร่ที่เราทำงานน้อยลง เราก็จะรู้สึกว่าชีวิตช่างไร้ค่า ความข้อนี้สังคมบอกกับเรา แล้วที่น่ากลัวก็คือ เราเชื่อสังคมมากกว่าเชื่อตัวเราเอง


อย่างไรก็ตาม ในระหว่างการเดินทางผ่อนพักจากงานอันเหน็ดเหนื่อย ได้กลับมานั่งใต้ร่มไม้ ตามองเห็นแต่เพียงต้นไม้ใบหญ้า หูได้ยินเพียงเสียงนก แมลง และใบไม้ในสายลม จมูกได้กลิ่นดอกไม้ กลิ่นดิน ใบไม้ ต้นไม้ หัวใจก็ได้สัมผัสความสงบ เบาสบาย ผ่อนคลาย ทั้งหมดปราศจากสิ่งยั่วยุทางกามารมณ์ เมื่อนั้นเองในชั่วขณะที่เราได้มองเห็นความเรียบง่าย และสัมผัสการมีเวลาได้อย่างน่าชื่นชมยินดี นั่นอาจจะเป็นสภาวะที่นำเราเข้าสู่สัมผัสรับรู้ตัวตน แม้บางคราวมันจะเป็นช่วงเวลาที่ไม่นานนักก็ตาม.....