Skip to main content

ชีวิตที่หดสั้นลง

คอลัมน์/ชุมชน

ผมมีเพื่อนสนิทคนหนึ่ง เคยทำงานด้านบริการอาหาร-เครื่องดื่มอยู่นานหลายปี ก่อนจะลาออกมาทำธุรกิจของตัวเอง เพื่อนคนนี้ สมัยเรียนมันใช้ชีวิตอย่างเมามันไปหน่อย การเรียนเลยร่อแร่ๆ จบมาก็แบบฉิวเฉียดด้วยเวลาเกือบจะเต็มโควต้าที่เขาให้ แต่พอไปฝึกอบรมเป็นบาร์เทนเดอร์มันก็ไปโลดเลย อาจเป็นเพราะข้อได้เปรียบหลายๆ อย่าง ทั้งเรื่องภาษา โลกทัศน์ ความรู้พื้นฐานด้านแอลกอฮอล์ รวมไปถึงตัวมันเองที่มีความสามารถด้านการเอนเตอร์เทนคนอื่น เลยทำให้มันก้าวหน้าไปเร็ว เพียงแค่ไม่กี่ปี มันก็เติบโตจากตำแหน่งบาร์เทนเดอร์ไปเป็นผู้จัดการร้าน

การที่มันมาทำงานด้านนี้ (ซึ่งคนจบปริญญาตรีวิทยาศาสตร์บัณฑิตคงไม่มีใครคิดจะมาทำ) ทำให้มันได้รู้จักคนหลากหลายประเภท ได้รับประสบการณ์ที่กว้างขวาง ซึ่งผมเองก็พลอยได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างจากมันไปด้วย วันหนึ่ง เรานั่งคุยกันเรื่องพนักงานหลายคน ที่มันฝึกให้เป็นบาร์เทนเดอร์แทนมัน ก่อนที่มันจะลาออกไปทำงานที่อื่น พนักงานเหล่านี้ เป็นหนุ่มสาววัยยี่สิบต้นๆ ที่ไม่ได้เรียนสูงนัก ส่วนใหญ่คือ ม.3 หรือ ม.6 ซึ่งในทางวิชาชีพแล้วเป็นวุฒิที่ต่ำกว่า ปวช. และ ปวส. หลายคนอายุแค่ 21-22 แต่มีประสบการณ์การทำงานด้านบริการคนละหลายปี ที่น่าสนใจคือ เด็กเหล่านี้ ส่วนใหญ่ไม่ใช่ไม่สามารถเรียนต่อได้ แต่เป็นเพราะพวกเขาเลือกที่จะไม่เรียนต่อ ต่างหาก


เพื่อนผมมันเล่าว่า เด็กพวกนี้ หนึ่ง ไม่ใช่เด็กเรียน ไม่เห็นเหตุผลของการเรียนต่อ สอง ไม่ได้มาจากครอบครัวที่สนับสนุนให้เรียนสูงๆ หรือพูดอีกอย่างก็คือมาจากครอบครัวที่หาเช้ากินค่ำ และสาม มีพี่น้อง เพื่อนหรือคนรู้จักที่เลือกจะทำงานมากกว่าจะเรียนต่อ ก็ในเมื่อเด็กก็เรียนไม่เก่ง ครอบครัวก็ต้องดิ้นรน ประกอบกับเห็นเพื่อนฝูงคนรู้จักไปทำงาน มีโทรศัพท์มือถือใช้ มีเงินผ่อนรถมอเตอร์ไซค์ ดูแลตัวเองได้ เหตุผลทั้งหมดมันเป็นอย่างนี้ แล้วจะเรียนต่อไปทำไม


จำนวนเด็กที่ไม่เรียนต่อและมาหางานทำในภาคบริการ อยู่ตามร้านอาหารฟาสต์ฟู้ด ,ตามร้านสะดวกซื้อ ,ในห้างสรรพสินค้า ฯลฯ จะมีมากแค่ไหน ก็ลองคิดดูเล่นๆ ว่า ร้านเหล่านี้มันมีจำนวนเท่าไร ขณะที่ช่องว่างของสังคมห่างออกไปเรื่อยๆ ครอบครัวหาเช้ากินค่ำยิ่งยากจนลงไป และมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น เด็กๆ ในครอบครัวเหล่านั้น จะมีอนาคตที่สดใส เรียนต่อสูงๆ หรือ เรียนจบแค่ ม.3 – .6 แล้วรีบออกมาหางานทำ ทางไหนจะมีความเป็นไปได้มากกว่ากัน ?


เวลาเราไปเดินห้างหรือไปนั่งตามร้านฟาสต์ฟู้ด หรือเข้าไปในร้านสะดวกซื้อ เราจะพบเห็นหนุ่มสาวเหล่านี้ ทำงานกันคนละ 8-12 ชั่วโมงต่อวัน ด้วยค่าแรงประมาณวันละ 180-200 บาท ถ้าเป็นร้านที่ไม่วุ่นมาก ลูกค้าไม่เยอะมาก นั่นก็เป็นโชคดี แต่ถ้าไม่ใช่ ก็เรียกได้ว่าเหนื่อยกันทั้งวันและทุกวัน การเติบโตในสายงานอาชีพนี้ ถ้าไม่ใช่อยู่นาน ก็ต้องมีการฝึกฝนฝีมือ ทักษะ ความรู้ ความสามารถจนก้าวข้ามจากตำแหน่งเดิมขึ้นไปได้ แต่ก็น้อยเต็มทีที่จะมีใครอดทน ได้รับโอกาส หรือพยายามไปจนถึงจุดนั้นได้


มีแรงงานวัยรุ่นอีกประเภทหนึ่ง คือพวกที่ทำงานพาร์ทไทม์ระหว่างเรียน เมื่อก่อนนี้ ผมคิดว่าเด็กเหล่านี้น่าจะเป็นเด็กขยัน เพราะทั้งเรียนทั้งทำงานไปด้วย แต่แล้วก็พบว่า มันไม่เป็นอย่างที่คิดเสียทั้งหมด หลายคนมาทำงานนอกเวลาเรียนเพราะต้องการเงินไปเที่ยว ไปซื้อข้าวของฟุ่มเฟือยที่ขอจากทางบ้านไม่ได้ พวกนี้จะทำงานที่ไหนไม่ทน เปลี่ยนงานไปเรื่อยๆ จนกว่าจะได้ที่ที่สบายที่สุด การทำงานในแต่ละวันคืออยู่ไปให้หมดชั่วโมงทำงาน หลีกเลี่ยงงานหนัก และมักจะทิ้งความรับผิดชอบให้กับคนที่ทำงานประจำ


"เด็กทำงานพาร์ทไทม์หลายคนเป็นเด็กเที่ยว พวกนี้หางานสบาย เอาเงินไปใช้ฟุ่มเฟือย ถ้าข้าเป็นเจ้าของร้าน ข้าไม่จ้างไว้หรอก ถ้าเกิดต้องลาไปสอบ ไปเรียน ก็ลำบากคนที่ทำงานประจำต้องสละวันหยุดตัวเองมาอยู่แทน" เพื่อนคนเดิมให้เหตุผล ซึ่งแน่นอนอาจจะไม่ใช่ทุกคนที่เป็นอย่างนี้ แต่เท่าที่ผมเจอ ก็ยังไม่เห็นที่ขยันขันแข็งจริงๆ สักคน ที่ได้เห็นจากพฤติกรรมของบางคนก็เหมือนกับที่กล่าวมาแล้วคือ ไม่คิดจะเรียนรู้งาน เพราะไม่คิดจะอยู่ที่ไหนนาน ความรับผิดชอบต่ำ และมีความเห็นอกเห็นใจเพื่อนร่วมงานน้อยมาก

เปรียบเทียบกันแล้ว เด็กกลุ่มแรกที่ออกมาทำงานแทนที่จะเรียนต่อ แม้อนาคตทางการศึกษาของเขาไม่ยาวนัก แต่ก็น่านับถือในการตัดสินใจ ที่น่าเป็นห่วงคือชีวิตที่ต้องดิ้นรนตั้งแต่อายุยังน้อย วุฒิภาวะยังไม่หนักแน่นพอนั้น ง่ายที่จะซวนเซไปตามกระแสสังคม ขณะที่เด็กกลุ่มหลัง ที่เรียนไปด้วยทำงานไปด้วย ก็มีทั้งที่ต้องทำเพราะความจำเป็นของชีวิต และอยากทำเพราะความไม่จำเป็นของสิ่งฟุ่มเฟือย กระนั้นมันก็ยังไม่ใช่ชีวิตการทำงานจริงๆ ไม่ใช่การหาเลี้ยงตัวเองจริงๆ และมันก็ง่ายมาก ที่จะเห็นคุณค่าของเงินที่ได้มา น้อยกว่าแรงงานที่แลกไป


ความจริงที่ผู้ปกครองประเทศไม่อยากยอมรับคือ ในขณะที่เด็กที่เรียนจบระดับปริญญาตรีจำนวนไม่น้อยมีคุณภาพที่เรียกได้ว่า ต่ำกว่ามาตรฐาน เด็กจำนวนมากยิ่งกว่านั้น กลับไม่ปรารถนาจะเรียนต่อ จำนวนเด็กกลุ่มแรกเพิ่มขึ้นตามเหตุผลทางการตลาดที่ธุรกิจการศึกษาต้องการผลิตออกมาให้มากที่สุด ส่วนจำนวนเด็กกลุ่มหลังเพิ่มขึ้นตามกระแสทุนนิยมที่ทำให้คนจนลง และการขยายตัวของธุรกิจบริโภคนิยมที่รองรับแรงงานราคาถูก


ไม่รู้ผมมองโลกในแง่ร้ายเกินไปหรือเปล่า แต่คิดเล่นๆ ว่าอีก 10 ปีข้างหน้า เราจะมีประชากรแบบไหนมากกว่ากัน แบบที่จบปริญญาตรีแต่เหมือนไม่จบ กับที่ไม่ได้จบปริญญาตรี และไม่สนใจอะไรมากไปกว่าวันนี้กับวันพรุ่งนี้ แล้วก็ปล่อยให้พวกที่เรียนจบสูงๆ ปกครองสังคม สร้างเครือข่ายเกื้อกูลกันแต่พวกพ้องที่เท่าเทียมกัน ดูเผินๆ มันคงคล้ายๆ สังคมไทยที่เป็นมา แต่ผมรู้สึกว่ามันอาจจะแย่กว่านั้น เพราะคนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับสังคมน้อยลง


แนวโน้มของสังคมที่เชิดชูวัตถุและอำนาจ คงไม่มีที่ว่างให้คำว่า การศึกษาเพื่อชีวิต (ซึ่งต่อไปคำนี้ก็คงจะเชยเสียแล้ว) ไม่มีเวลาให้คิดถึงเรื่องที่ลึกซึ้ง อย่างความงามของชีวิต หรือสิ่งที่อยู่เหนือไปจากการดิ้นรนปากกัดตีนถีบ ระบบการศึกษากลายเป็นธุรกิจประเภทหนึ่ง ขายหน่วยกิตแลกใบปริญญา มุ่งผลิตแรงงานจบ "ตรี" มากกว่าจะเป็นปัญญาชน ดังนั้นแม้แต่เรื่องพื้นฐานของการศึกษาอย่าง การอ่าน ก็คงเป็นสิ่งสุดท้ายที่เยาวชนและผู้ใหญ่ในบ้านเมืองจะเห็นความสำคัญ


หลายปีที่ผ่านมา ผมคิดเสมอว่า คนแต่ละรุ่น มีความคิดและชีวิตที่แตกต่างกันมากขึ้นเรื่อยๆ ดูเหมือนว่า ห่างกันแค่ปีเดียวก็แทบจะคุยกันไม่รู้เรื่องเสียแล้ว ผมไม่รู้ว่าเด็กรุ่นยี่สิบต้นๆ ในพอศอนี้คิดอะไรกันอยู่ จะมองหาอนาคตที่พวกเขาต้องการแบบไหน จะมองเห็นหนทางหรือเปล่า จะคิดถึงคนอื่นๆ บ้างหรือไม่ จะเห็นคุณค่าของการให้บ้างหรือไม่ จะแยกแยะถูกผิดหรือสิ่งที่ควรไม่ควรได้มากแค่ไหน จะมีความฝันเกี่ยวกับการสร้างสรรค์บ้างหรือไม่ ฯลฯ ที่ทำได้แค่ตั้งคำถาม เพราะไม่รู้จะตอบยังไง


ไม่รู้คำถามพวกนี้ จะมีใครเคยถามตัวเองบ้างหรือไม่ เพราะผมเชื่อว่า คำถามในวัยหนุ่มสาว มันมักจะกลายเป็นไฟส่องหนทางในอนาคต กระทั่งเรียนจบและทำงานแล้วนั่นแหละ เราจึงจะได้ทบทวนว่า ชีวิตเราได้เดินไปตามทางที่เราเคยถามตัวเองไว้หรือไม่ การงานของเราก็คือชีวิตของเรา เพราะนอกจากเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง เลี้ยงตัวเอง เลี้ยงสมาชิกในครอบครัวแล้ว มันก็ยังหมายถึง ความก้าวหน้า สังคม หนทางเรียนรู้ หมายถึงอะไรอีกหลายๆ อย่างที่มากกว่าการอยู่ไปวันๆ


ขณะที่คนรุ่นใหม่จำนวนมากดิ้นรนเพื่อจะได้จะมีในทางวัตถุ ปล่อยตัวเองไหลไปตามกระแส สังคม แต่กลับไม่มีคำถามใดๆ เกี่ยวกับโลกและตัวเอง อีกทั้งโลกทัศน์ของพวกเขา อาจยากเกินกว่าเราจะเข้าใจได้แล้ว รวมทั้งสังคมเอง ก็ให้คุณค่ากับวัตถุ (รวมถึงใบปริญญา) มากกว่า ความรู้ ความเข้าใจ หรือไม่ก็บีบคั้นให้วัยรุ่นต้องรีบออกมาทำงานหาเงิน


ผมได้แต่สงสัยว่า นิยามคำว่า ชีวิต ในความคิดของพวกเขานั้น จะหดสั้นลงสักเพียงไหน ?