Skip to main content

รัฐธรรมนูญใหม่คุ้มครอง "อัตลักษณ์ทางเพศ"

คอลัมน์/ชุมชน


เครือข่ายความหลากหลายทางเพศที่ช่วยกันผลักดันการคุ้มครองชาวสีรุ้งในรัฐธรรมนูญ
ภาพจาก
www.sapaan.org
 


ในที่สุดสภาร่างรัฐธรรมนูญได้เพิ่มการคุ้มครอง "อัตลักษณ์ทางเพศ" ลงไปในมาตรา 30 เมื่อวันที่ 29 มิถุนายนที่ผ่านมา ท่านที่ตามข่าวนี้คงได้รับทราบว่าสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (...) ได้อภิปรายประเด็นนี้อย่างเผ็ดร้อนไปแล้วครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน หลังจากที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเสนอให้มาตรา 30 เพิ่มการคุ้มครอง "บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ" ในวรรคที่ 2 ของมาตรา 30 (ดูรายละเอียดของมาตรานี้ได้ที่หมายเหตุด้านล่าง) ซึ่งคราวนั้นดูเหมือนว่าส... ส่วนใหญ่จะไม่เห็นด้วย แต่แล้วในการอภิปรายครั้งล่าสุดมีข้อเสนอให้เพิ่มคำว่า "อัตลักษณ์ทางเพศ" ในวรรคที่ 3 แทน ซึ่งประเด็นนี้สามารถผ่านสภาไปได้


ดังนั้นแล้วร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มาตราที่ 30 วรรคที่ 3 จะมีหน้าตาดังข้างล่างนี้


"การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุของความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อัตลักษณ์ทางเพศ ความพิการ อายุ สภาพทางกาย สุขภาพทางกาย สุขภาพทางจิต สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจ หรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมือง อันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ จะกระทำมิได้..."


หลาย ๆ คนยังงงไม่หายค่ะ ว่าผ่านมาได้ยังไงเพราะตอนแรกมีทีท่าอย่างมากว่าจะไม่ผ่านเสียแล้ว นึกว่าจะได้เพียงแค่บันทึกไว้ในเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ แต่บทจะผ่านขึ้นมาก็สามารถผ่านได้โดยไม่มีเสียงคัดค้าน คนทำงานผลักดันประเด็นนี้บางคนถึงกับร้องไห้ด้วยความดีใจ นับว่านี่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่การร่างรัฐธรรมมีการระบุให้คุ้มครองเพศที่นอกเหนือไปจากชายหญิง และเป็นประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งของวงการสีรุ้ง


นอกเหนือจากความงงระคนน้ำตาแล้ว เรื่องนี้ยังมีบางประเด็นที่น่าจะเป็นแง่คิดสำหรับชาวสายรุ้งและผู้ที่ทำงานสนับสนุนเรื่องความหลากหลายทางเพศ ซึ่งน่าจะนำมาพูดคุยกันมากขึ้นในอนาคต เผื่อไว้สำหรับการร่างรัฐธรรมนูญคราวหน้า (ที่หวังว่าจะเป็นประชาธิปไตยมากกว่านี้)


เรื่องที่เป็นประเด็นอภิปรายมาก ๆ ก็คือ เรื่องคำที่จะใช้เรียกอะไรต่าง ๆ นานาที่เราเป็นกัน หาคำยากจริง ๆ ค่ะ เอาแค่คำที่จะใช้แทนชาวสีรุ้งทั้งหลายในวรรคที่ 2 นั้นก็เป็นปัญหามาก เพราะคำที่เราใช้เรียกกันทั่ว ๆ ไป เช่น เกย์ ทอม ดี้ เลส หรือกะเทยนั้น ไม่เป็นทางการพอ และไม่มีคำ ๆ เดียวที่ครอบคลุมความหลากหลายได้หมด


คำว่า "บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ" ที่คณะกรรมการสิทธิ ฯ เสนอนั้นเครือข่ายผู้ทำงานด้านความหลากหลายทางเพศได้เริ่มนำมาใช้ตั้งแต่การดำเนินการแก้ไขใบสด. 43 เจ้าหน้าที่ทางฝ่ายรัฐที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสด. 43 ก็เริ่มคุ้นชินกับการใช้คำนี้ นับว่าเป็นคำทางการคำหนึ่งที่ได้รับความนิยม แม้ว่าคำนี้จะยาวสักหน่อย แต่ก็เป็นคำกว้าง ๆ ที่เปิดทางให้ครอบคลุมความแตกต่างทางเพศได้หลากหลาย ในข้อเสนอของคณะกรรมการสิทธิ ฯ ต่อสภาร่าง ฯ มีหมายเหตุให้คำนี้ครอบคลุมถึง บุคคลที่รักเพศเดียวกัน (Homosexuals หรือ gays และ lesbians), บุคคลที่มีสองเพศแต่กำเนิด (Hermaphrodites), บุคคลที่เป็นหญิงชายทางสังคมแตกต่างจากเพศสรีระที่กำเนิด (Transgendered people), และบุคคลที่ผ่าตัดแปลงเพศ (Transsexuals)


อย่างไรก็ตาม ส... บางท่านเห็นค้านว่าคำ ๆ นี้กว้างเกินไป ทำให้ไม่มีความชัดเจน และอาจตีความไปได้ว่าหมายรวมถึงการมั่วเซ็กซ์หรือมีเพศสัมพันธ์กับเด็ก ซึ่งนี่เป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้ส... ไม่ยอมรับคำนี้ในการอภิปรายครั้งแรก เป็นอันว่าคำนี้ก็ตกไป


ฝ่ายองค์กรอื่น ๆ ได้เสนอคำเรียกคุ้มครองความแตกต่างทางเพศ (ที่ไม่ใช่คำเรียกบุคคล) โดยเสนอให้ใส่ไว้ในวรรคที่ 3 เช่น แนวร่วมผู้หญิงเพื่อความก้าวหน้าและสันติภาพเสนอให้ใช้คำว่า "เพศสภาวะและเพศโดยเจตจำนง" ส่วนสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอให้ใช้คำว่า "เพศสภาพ"

คำเหล่านี้ก็มีปัญหาอีกเช่นกัน คำว่า "เพศสภาวะ" และ "เพศสภาพ" นั้น แปลมาจากคำว่า gender ในภาษาอังกฤษ แนวคิดเรื่อง gender แม้จะเป็นที่เข้าใจกันดีในหมู่นักวิชาการแล้ว แต่คนทั่วไปก็ยังไม่คุ้นชินนัก เพราะบ้านเราไม่มีแนวคิดเรื่องนี้ เราใช้เพียงแต่คำว่าเพศ


เครือข่ายความหลากหลายทางเพศเองเห็นว่าคำว่าเพศสภาพนั้นเข้าใจยาก คำว่าเพศสภาวะน่าจะสื่อได้มากกว่า คือหมายถึงสภาวะต่าง ๆ ที่ทำให้บุคคลกลายเป็นเพศนั้น ๆ อย่างไรก็ตามส... เห็นว่าทั้งสองคำนี้ยังไม่เป็นที่เข้าใจ ในการอภิปรายครั้งแรกคำ ๆ นี้เลยตกไปอีกเช่นกัน


ส่วนคำว่า "เพศโดยเจตจำนง" ที่แนวร่วมผู้หญิงฯ เสนอนั้นไม่ได้รับการพูดถึงในสภาร่าง ฯ แต่คำนี้น่าสนใจเพราะสามารถสื่อความหมายของคำว่า transgender ได้เป็นไทยดี และคนทั่วไปน่าจะเข้าใจได้ไม่ยาก


อีกคำคือคำว่า Sexual Orientation คำนี้ก็ไม่ได้ถูกพูดถึงในสภาร่าง ฯ เช่นกัน แต่เครือข่ายด้านสิทธิทางเพศพูดคุยกันเป็นการภายในว่าควรที่จะคิดหาคำภาษาไทยมาแทนคำนี้ เพราะเป็นคำทางการ ที่ใช้ทั้งในแง่กฎหมายและสิทธิมนุษยชน และเป็นที่ยอมรับกันในระดับนานาชาติ อย่างรัฐธรรมนูญของบางประเทศ เช่น ฟิจิ เอควาดอร์ แอฟริกาใต้ สวิตเซอร์แลนด์ สวีเดน และโปรตุเกส ก็ใช้คำนี้ โดยระบุว่าบุคคลจะถูกเลือกปฏิบัติบนพื้นฐานของ Sexual Orientation มิได้ ในภาษาไทยเรายังไม่มีคำแปลที่เป็นที่ยอมรับกันทั่วไป ในแวดวงวิชาการบางทีใช้คำแทนว่า "วิถีชีวิตทางเพศ" หรือ "รสนิยมทางเพศ" ซึ่งทั้งสองคำก็ยังไม่สามารถสื่อได้ชัด


ส่วนคำที่สภาร่าง ฯ เห็นชอบให้ใช้คือคำว่า "อัตลักษณ์ทางเพศ" คำนี้ได้รับการเสนอโดยอาจารย์จรัญ ภักดีธนากุล หนึ่งในกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ (...) อาจารย์เสนอคำนี้ขึ้นมาในการอภิปรายครั้งที่สอง ซึ่งดูเหมือนส... จะไม่มีปัญหากับการใช้คำนี้ ไม่มีท่านใดลุกขึ้นมาคัดค้าน ประเด็นนี้เลยผ่านไปโดยไม่ต้องมีการลงมติ คำนี้น่าจะแปลมาจากคำว่า Sexual identity เท่าที่ลองสอบถามเพื่อน ๆ ชาวสีรุ้งหลายคนก็เห็นด้วยที่จะใช้คำนี้ เพราะสามารถสื่อได้ชัดเจน เข้าใจง่าย และเปิดกว้างกับอัตลักษณ์ที่หลากหลาย


นี่แหละค่ะ แค่ประเด็นเรื่องคำที่จะใช้เรียกนั้นก็ซับซ้อนน่าดูแล้ว ในอนาคตอาจจะต้องมาพิจารณากันต่อว่า คำว่า "อัตลักษณ์ทางเพศ" นั้นยังมีจุดอ่อนที่ใดบ้างหรือไม่ เหมาะสมที่จะใช้เป็นคำทางการสำหรับการเคลื่อนไหวในอนาคตหรือไม่ และคำสำคัญอย่าง Sexual Orientation นั้นควรจะใช้คำแทนว่าอะไรที่จะสามารถสื่อสารกับคนวงกว้างได้ ส่วนคำใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นมาจากการร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ เช่นคำว่า เพศโดยเจตจำนงนั้น น่าจะได้รับการพิจารณาดูว่าจะสามารถนำมาใช้ต่อไปได้หรือไม่ คำเก่า ๆ อย่างเพศสภาพ เพศสภาวะ อาจจะต้องได้รับการปรับเปลี่ยนให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น รวมทั้งเราคงต้องเตรียมพร้อมสำหรับคำเรียกอัตลักษณ์ทางเพศใหม่ ๆ ที่จะแสดงตัวขึ้นมาอีก


ประเด็นถัดมาที่น่าจะนำมาคิดต่อก็คือ กฎหมายใดบ้างที่เราต้องการ เพราะแม้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะผ่านประชามติ แต่ไม่มีการออกกฎหมายลูกมารองรับ รัฐธรรมนูญก็จะคงเป็นแค่เศษกระดาษ และการเลือกปฏิบัติก็คงยังมีอยู่ดังเดิม กฎหมายที่น่าจะพิจารณาก็เช่น พระราชบัญญัติป้องกันการเลือกปฏิบัติ หรือกฎหมายแต่งงานหรือจดทะเบียน (โดยจะใช้ชื่อเรียกอะไรก็แล้วแต่) ระหว่างคนเพศเดียวกัน


ประเด็นที่ต่อเนื่องจากเรื่องกฎหมายก็คือ ทำอย่างไรคนจึงจะกล้าลุกขึ้นมาบอกว่าเราถูกเลือกปฏิบัติอย่างไรบ้าง เพราะจากการที่ได้คุยกับคุณฉันทลักษณ์ รักษาอยู่ หนึ่งในผู้ร่วมผลักดันประเด็นความหลากหลายทางเพศในรัฐธรรมนูญนี้ เธอให้ความเห็นว่าแรงผลักหนึ่งที่ช่วยให้ประเด็นนี้ผ่านสภาร่างรัฐธรรมนูญได้ก็คือ การที่เมื่อเร็ว ๆ นี้คุณศุทธิรัตน์ สิมศิริวงศ์ สาวประเภทสองคนหนึ่งออกมาให้สัมภาษณ์สื่อต่อกรณีที่เธอถูกกีดกันไม่ให้เข้าไปใช้บริการผับ คอนเซ็ปต์ ซีเอ็มสแควร์ ในโรงแรมโนโวเทล ซึ่งทางโรงแรมอ้างว่านี่เป็นนโยบายของผู้บริหารที่ห้ามสาวประเภทสองใช้บริการผับของโรงแรม คุณศุทธิรัตน์สามารถพูดถึงการถูกเลือกปฏิบัติได้อย่างชัดเจน ทำให้คนทั่วไปเห็นว่าสาวประเภทสองนั้นต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัติจริง ๆ ซึ่งอาจารย์เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง หนึ่งในส... ก็ได้ยกเรื่องของคุณศุทธิรัตน์ไปอภิปรายในสภาร่าง ฯ เพื่อให้เห็นเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการถูกเลือกปฏิบัติ และเป็นเหตุผลว่าทำไมรัฐธรรมนูญจึงต้องคุ้มครองอัตลักษณ์ทางเพศ


ตัวอย่างของคุณศุทธิรัตน์นี้ทำให้เห็นได้ชัดว่า การที่เราลุกขึ้นมาพูด ลุกขึ้นมาสื่อสารให้สังคมรับรู้ว่ามีความ


อยุติธรรมเกิดขึ้นกับพวกเราอย่างไรบ้าง สามารถส่งผลได้อย่างมาก ถ้าไม่มีหลาย ๆ เสียงจากพวกเรากันเองมาชี้ให้สังคมเห็นถึงความจำเป็นในการมีกฎหมายคุ้มครอง คงไม่มีใครมานั่งออกกฎหมายหรือแก้กฎหมายให้เราหรอกค่ะ


ส่วนประเด็นที่ว่าแล้วรัฐธรรมนูญที่คุ้มครองอัตลักษณ์ทางเพศฉบับนี้จะผ่านประชามติหรือไม่ ก็เป็นเรื่องที่คาดเดาลำบาก แม้ในหมู่ชาวสีรุ้งด้วยกันเอง บางคนก็ไม่ขอยุ่งเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้เลย เพราะการได้มาของอำนาจในการร่างไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง บางคนก็ขอล้มร่างนี้แน่นอน เพราะบางมาตรานั้นเป็นการถอยหลังเข้าคลองและไม่ได้ให้อำนาจกับประชาชนอย่างแท้จริง ส่วนบางคนก็คงไม่สนับสนุน เพราะใจยังรักคุณทักษิณ ขณะที่บางคนสนับสนุนคมช. และร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ความคิดเห็นนั้นมีหลากหลายกันไปค่ะ ที่สำคัญคือเราคงต้องเคารพและทำความเข้าใจกับความเห็นที่หลากหลาย แม้ว่าความเห็นนั้นจะขัดกับเราอย่างสุดขั้ว เหมือนกับที่เราพยายามเคลื่อนไหวให้สังคมเข้าใจและเคารพความแตกต่างทางเพศของพวกเรา


สุดท้ายนี้อยากจะขอขอบคุณเครือข่ายความหลากหลายทางเพศที่ทำงานกันอย่างเหน็ดเหนื่อยเพื่อผลักดันประเด็นนี้ ขอบคุณส... และก... ทุกท่านที่เห็นใจพวกเราชาวสีรุ้ง โดยเฉพาะขอขอบคุณอาจารย์เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง หัวเรือใหญ่ที่พยายามช่วยผลักดันอย่างเต็มที่ (อาจารย์มีวาทะเด็ดที่กล่าวกับสภาร่าง ฯ ว่า ถ้าพวกคุณไม่เห็นด้วยก็ไม่เป็นไรหรอก แต่ผมจะถือว่าพวกคุณ "ใจดำ")


และสุดท้ายจริง ๆ ขอจบด้วยอีกวาทะของ drag queen ชาวแอฟริกาใต้คนหนึ่ง ที่พูดถึงการที่แอฟริกาใต้ผ่านรัฐธรรมนูญที่คุ้มครองความแตกต่างทางเพศ


"ที่รัก มันไม่ได้มีความหมายห่าเหวหวานแหววอะไรเลย คุณก็ยังสามารถข่มขืนฉัน ปล้นฉัน แล้วจะให้ฉันทำยังไง โบกรัฐธรรมนูญใส่หน้าคุณหรือ ฉันมันก็เป็นอีควีนผิวดำคนหนึ่งที่ไม่มีใครสนใจ... แต่คุณรู้ไหม ตั้งแต่ฉันได้ยินเรื่องรัฐธรรมนูญนั่น ฉันรู้สึกเป็นอิสระข้างใน"

หมายเหตุ
-
รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 มาตราที่ 30
บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ สภาพทางกาย สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจ หรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญจะกระทำมิได้

มาตรการที่รัฐกำหนดขึ้นเพื่อขจัดอุปสรรคหรือส่งเสริมให้บุคคลสามารถใช้สิทธิและเสรีภาพได้เช่นเดียวกับบุคคลอื่น ย่อมไม่ถือเป็นการเลือกปฎิบัติโดยไม่เป็นธรรมตามวรรคสาม