Skip to main content

บัวสีเทา : รวมกลุ่มเพื่อร่วมกุม (1)

คอลัมน์/ชุมชน

กลุ่มวัยรุ่นในอดีต

พี่เหน่ง เป็นนักเลงเก่า แต่พวกเราชอบเรียกแกว่า "จิ๊กโก๋บ้านนอก" เนื่องเพราะพี่เหน่งเป็นรุ่นพี่ หรือจริงๆ น่าจะบอกว่าเป็นลุงก็ว่าได้ ก็คิดดูสิครับ อายุเกือบ 40 แต่แกยังเที่ยว ดื่ม เล่น เหมือนสมัยหนุ่มอยู่เลย

รถช๊อปเปอร์คันโตสีดำ – เป็นเพื่อนคู่ใจ ชายวัย 40 กว่าๆ ผู้นี้ เสื้อยืด กางเกงยีนลีวายตัวเก่า ที่ขาดที่หัวเข่าทั้งสองด้าน คือ เครื่องแบบประจำตัวของพี่เหน่ง

ผมพบพี่เหน่ง โดยบังเอิญ จากการไปนั่งดื่มที่ร้านเหล้าข้างทาง ระหว่างทางตัวเมืองเชียงใหม่กับอำเภอแม่ริม พี่เหน่งเป็นคนแม่ริม แถมใครๆ ก็ต้องเกรงอกเกรงใจ เพราะพี่เหน่งเป็นที่รู้จักของคนในชุมชน แกเปิดอู่รถยนต์ มีลูกน้องเยอะ ฉะนั้นอย่าแปลกใจที่ไม่มีใครมาหาเรื่องพี่เหน่งเลย


พี่เหน่งเล่าให้ฟังว่า เมื่อก่อนตอนที่แกยังเป็นหนุ่มน้อยวัย20กว่าๆ มี "กลุ่มนักเลง" ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของหนุ่มสาวในหมู่บ้านตามคณะศรัทธาวัดต่างๆ ร่วมกันทำกิจกรรมตามงานประเพณี งานบุญ งานศพ และงานสำคัญต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชน


"สิบปีที่ผ่านมาดูเหมือนว่าการรวมกลุ่มของหนุ่มสาวเพื่อดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในชุมชนกลับมีน้อยลงทุกที"


อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่า ปัจจุบันแม้จะไม่มีกลุ่มนักเลง แต่ก็ยังเกิดการรวมตัวของหนุ่มสาวในลักษณะใหม่ ๆ คือ การรวมกลุ่มทำกิจกรรม ทำค่าย จัดอบรม ผลิตสื่อ เพื่อรณรงค์สร้างความเข้าใจในเรื่องราวต่างๆ ในชุมชนตามประเด็นเฉพาะ อาทิ ประเด็นการป้องกันเอดส์ ยาเสพติด พิทักษ์สิทธิเด็ก ต้านการค้ามนุษย์ สืบสานวัฒนธรรมภูมิปัญญา ฯลฯ


"กลุ่มนักเลง" อาจมีความแตกต่างจากการรวมกลุ่มแบบกลุ่มหนุ่มสาวไม่มากนัก เพราะกิจกรรมโดยส่วนใหญ่ของกลุ่มนักเลงก็เป็นกิจกรรมที่เป็นไปตามวิถีชีวิตในขณะนั้น การดื่ม เที่ยว ชกต่อย ก็มีเกิดขึ้นตามปกติ ซึ่งแม้ไม่ใช่นักเลงก็เกิดขึ้นได้


แต่น่าแปลกที่ การปรากฏตัวของความรุนแรงที่นักเลงในปัจจุบันที่แสดงออกมานั้น สังคมมักมีคำถามต่างๆ ว่าทำไมเด็กวัยรุ่นเป็นเช่นนี้ ซึ่งเหตุผลโดยมากที่ได้ยิน เช่น ครอบครัวไม่อบอุ่น มีปัญหา อยากรู้ อยากลอง เป็นต้น


"พ่อแม่พี่ก็มีเงิน พี่เองก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรกับพ่อแม่นะโว้ย ตอนเรียนเห็นพี่ดุๆ อย่างนี้ พี่จบตั้งพายัพนะโว้ย แถมเรียนเก่งกว่าเพื่อนบางคนที่ทำตัวดีๆ อ่านหนังสือหนาๆ เสียอีก ที่พี่เป็นแบบนี้ พี่ว่ามันเป็นวัยมากกว่า" พี่เหน่งอธิบาย


"แล้วทำไมตอนนี้พี่ยังกิน ดื่ม เที่ยวอยู่หละครับ" ผมสงสัย เพราะเห็นพี่เหน่งยังเป็นอยู่เหมือนเดิม
พี่เหน่งสวนมาทันที "แหม...อายุเป็นเพียงตัวเลข พี่ยังเป็นหนุ่มอยู่ ยังเป็นมีใจวัยรุ่นอยู่โว้ย"


พร้อมบอกอีกว่า "เดี๋ยวนี้ เค้าไม่เรียกว่านักเลงแล้ว คนเค้าจะเรียกว่าเด็กแก๊ง แต่พี่ไม่ชอบ ไม่ชอบให้ใครมาเรียกรุ่นเด็กๆ ว่าเด็กแก๊ง พี่ว่าเรียกนักเลง หรือ จิ๊กโก๋ ยังดูเท่กว่าอีก แต่ก็อย่างว่าเดี๋ยวนี้ยุคสมัยมันเปลี่ยนไปอะไรก็เปลี่ยนไปได้"


จะเรียกอะไรก็ไม่สำคัญเท่ากับกิน ดื่ม เที่ยว อย่างรู้ตัวและรับผิดชอบตัวเองให้ได้ก็พอ – พี่เหน่งย้ำ


นักเลงรุ่นเก๋าเล่าเรื่องในอดีต


เย็นวันหนึ่ง, ผมหยิบกระดาษข้อเขียนเรื่องเด็กแก๊งในอดีตมาให้พี่เหน่งอ่าน ก่อนอ่าน พี่เหน่ง เล่าให้ฟังว่า เมื่อหลายสิบปีที่ผ่านมา การรวมกลุ่มแบบแก๊ง แต่เดิมในเชียงใหม่มีการรวมกลุ่มอยู่ เช่น จิ๊กโก๋ช้างม่อย หรือ กลุ่มบ้านนั้น บ้านนี้ มีการรวมกลุ่มแบบหนุ่มสาว และมีบ้างที่ทะเลาะชกต่อย และมีวิวาทะต่อกัน ไม่ได้มีความแตกต่างจากการรวมกลุ่มของวัยรุ่นสมัยนี้มากนั้น เพราะกิจกรรมบางอย่างมีความคล้ายคลึงกัน บางกลุ่มแข่งรถ เที่ยวกลางคืน จัดคอนเสิร์ต ดูหนัง ฟังเพลง ฯลฯ อาจเป็นข้อบ่งชี้สำคัญ ว่าการรวมกลุ่มแบบแก๊ง แบบกลุ่มเพื่อนฝูง นั้น มีการรวมกลุ่มมาแต่อดีตเช่นกัน


ดังประโยคที่มีในข้อเขียนไว้ "ไม่ว่าจะเป็นวัยรุ่นในสมัยไหน ล้วนเคยมีคนเคยผ่านสมรภูมิการต่อสู้ทางด้านจิตใจในความห้าวและการเรียกร้องความเห็นใจมากันทุกคน มิใช่เพียงแค่วัยรุ่นในยุคนี้"


นักเขียนเขียนเรื่องแก๊งในอดีตอย่างน่าสนใจว่า "นับถอยหลังไปในช่วงปี 2528 วัยรุ่นในเมืองเชียงใหม่เริ่มมีการรวมกลุ่มกันเป็นแก๊งกันมาแล้ว วัยรุ่นส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มเด็กนักเรียนที่จบชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นจากโรงเรียนตามอำเภอรอบนอก จากต่างจังหวัดและเดินทางเข้ามาเรียนในต่อสถานศึกษาในตัวเมือง ท่ามกลางความแปลกใหม่ ทำให้พวกเขาเรียนรู้และปรับตัวกับเพื่อนฝูงที่เป็นคนในเขตเมือง หลังจากนั้น จึงได้เริ่มรวมตัวกันเป็นกลุ่มขึ้นมา หรือเรียกว่า "กลุ่มแก๊ง"


"การแบ่งกลุ่มแก๊งของวัยรุ่นยุคนั้นจะแบ่งกลุ่มกันตามโรงเรียนและวิทยาลัยกันแต่ละสถาบันอาจมีบ้างบางกลุ่มที่มีความสัมพันธ์ข้ามโรงเรียน เนื่องจากเป็นเพื่อนกันมาก่อน และที่สำคัญพวกเขาจะยึดพื้นที่ควบคุมกันในแต่ละเขต โดยมากจะยึดพื้นที่ใกล้ๆ หอพักและสถานศึกษาของตนเอง


"ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของสังคมใหม่ที่เริ่มถาโถมเข้ามาในเมืองใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นกระแสการบริโภคและเทคโนโลยีที่โหมเข้ามาช่วงนั้น สถานบันเทิงเริ่มผุดขึ้นมารองรับกลุ่มวัยรุ่นกันเหมือนดอกเห็ด ชั้นใต้ถุนใต้ดินของโรงแรมถูกปรับทำเป็นลานดิสโก้เธคและลานสเก็ต พวกเขาจะไปแสวงหาความบันเทิงกันที่นั่นตั้งแต่ 2 ทุ่มจนถึงรุ่งเช้า"


เมื่ออ่านข้อความเหล่านี้ พี่เหน่งก็แสดงความคิดเห็นเสริมว่า "วัยรุ่นกับการทะเลาะวิวาทเป็นเรื่องที่แยกกันไม่ออกหรอก ถ้าเกิดความไม่พอใจกัน มองหน้ากัน เหยียบเท้ากัน มันก็เป็นเหตุให้เตะต่อยกันทั้งในร้านเหล้า หรือบางครั้งขี่รถมอเตอร์ไซค์ตามกันมาทันตรงไหน ก็ต่อยกันตรงนั้น พี่จะพบที่คูเมืองบ่อยที่สุด แกไปแถวนั้นก็ระวังด้วย"


นอกจากนี้ในข้อเขียนยังระบุอีกว่า "แก๊งวัยรุ่น" เกิดขึ้นกันกว่า 20 กลุ่มในช่วงนั้นเป็นการรวมตัวกันเพื่อปกป้องสมาชิกในกลุ่ม โดยเน้นความสัมพันธ์กันในระหว่างเพื่อน ให้ความช่วยเหลือ แม้กระทั่งเรื่องที่พักอาศัย อาหารการกิน ผู้ใดมีฐานะทางบ้านดี ก็จะนำเงินมาจุนเจือซื้ออาหารมาแบ่งกัน รวมถึงการร่วมกันต่อสู้ป้องกันพื้นที่อาณาจักรของกลุ่มตนเอง


ส่วน "แก๊งซามูไร" เริ่มมีขึ้นในช่วงไม่กี่ปีนี้เอง เมื่อสังคมขาดการเอาใจใส่ดูแลอย่างเข้าใจ มีการตรวจจับและใช้ความรุนแรงเข้าจัดการกับกลุ่มแก๊ง ในความห้าวของวัยรุ่นจึงทำให้พวกเขาพยายามทำทุกอย่างเพื่อแสดงให้ทุกคนเห็นและรับรู้ว่าเขามีตัวตนอยู่ในสังคม อยู่เหนือการควบคุม เข้าตำรายิ่งว่าเหมือนยิ่งยุ


ในข้อเขียนนี้ยังเสนอแนะด้วยว่า "ปัญหาเรื่องเด็กแก๊ง ไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นเรื่องที่สำคัญ ที่สังคมเราไม่ได้ให้ความสำคัญมาตั้งแต่ต้น สังคมเห็นปรากฏการณ์ แต่ไม่ได้ทำความเข้าใจรากเหง้าปัญหาอย่างลึกซึ้งว่าปัญหาแก๊งเกี่ยวข้องกับปัญหาสังคม เป็นปัญหาที่ใกล้ตัวที่ทุกคนทุกฝ่าย ทุกองค์กรจะต้องหันมาทบทวนและร่วมกันแก้ไขด้วยมุมมองที่เป็นมิติแห่งความเข้าใจกันใหม่"


เมื่อผมกับพี่เหน่งอ่านข้อเขียนจนจบ นักเลงเก๋าผู้นี้ก็บอกสั้นๆ ว่า "ดีจังที่อ่านแล้วมันตรงอย่างที่พี่เคยเป็นเลย แต่เสียอย่างเดียวไม่รู้มีคนได้อ่านกี่คน ถ้าใครได้อ่านก็คงจะเข้าใจว่าแก๊งๆ นักเลงๆ น่ะมันมีมานานแล้ว มันเป็นชีวิต มันเป็นวิถีของวัยรุ่นที่จะต้องผ่านเรื่องแบบนี้ พวกแก่ๆ แล้วอย่าลืม"


ผมพยักหน้า แล้วหยิบข้อเขียนชิ้นนี้ใส่กระเป๋า คิดในใจว่าจะถ่ายสำเนามาให้พี่เหน่งเก็บไว้