Skip to main content

เราประหยัดกระดาษจากการใช้คอมพิวเตอร์ได้กว่า 15%. . . ถ้ารู้วิธี!

คอลัมน์/ชุมชน

คราวที่แล้ว ผมได้เล่าเรื่องการเปิดสอนวิชา "ชุมชนมหาวิทยาลัยสีเขียว (Greening the Campus)" โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้คนในชุมชนมหาวิทยาลัย ทั้งนักศึกษา คณาจารย์และบุคคลากร ได้หยิบเอาประเด็นสำคัญๆที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตในมหาวิทยาลัยของตนมาคุยกันแล้วช่วยกันลงมือปฏิบัติ และถ้าสามารถขับเคลื่อนขึ้นสู่ระดับนโยบายได้ก็ยิ่งดีใหญ่


แนวคิดของวิชานี้เชื่อว่า การเรียนรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมจะไม่มีประโยชน์ถ้าไม่ได้ลงมือปฏิบัติ ยิ่งเป็นคนในชุมชนมหาวิทยาลัยด้วยแล้ว ก็ยิ่งต้องทำเป็นตัวอย่างให้สังคมอื่นดู


บทความนี้ ผมขออนุญาตนำเอกสารที่ใช้เพื่อขอความร่วมมือและส่งเสริมการเรียนรู้ในชุมชนมหาวิทยาลัยมาให้แฟนๆประชาไทอ่านกันครับ


สำหรับประเด็นที่ว่า ประหยัดกระดาษได้ 15% นั้นต้องทำอย่างไร อยู่ในหัวข้อที่ 4 ท่านผู้อ่านที่มีเวลาน้อยโปรดข้ามไปอ่านได้เลยครับ อ้อ ถ้าเห็นว่าดีก็ช่วยกันเผยแพร่ด้วย


เอกสารที่ว่าเป็นดังต่อไปนี้ ครับ








โครงการเรียนรู้และค้นหาตัวอย่างที่ดี ในวิทยาเขตหาดใหญ่
โดยนักศึกษาวิชา "ชุมชนมหาวิทยาลัยสีเขียว" คณะวิทยาศาสตร์ ม..


๑. ความเป็นมา


จากการศึกษาของนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ที่ลงเรียนวิชา "ชุมชนมหาวิทยาลัยสีเขียว (greening the campus community)" เมื่อปี ๒๕๔๙ พบว่า เฉพาะส่วนราชการของคณะวิทยาศาสตร์เพียงแห่งเดียวมีการใช้กระดาษประมาณ ๑๑ ล้านแผ่นต่อปี คำถามที่ชวนให้คิดก็คือว่า ทั้งวิทยาเขตหาดใหญ่ซึ่งประกอบด้วย ๑๕ คณะ จะใช้กระดาษปีละกี่ล้านแผ่น และถ้ารวมกับส่วนที่นักศึกษาเกือบสองหมื่นคนต้องจัดหามาเองด้วย ก็ถือเป็นจำนวนกระดาษที่มากพอเกินกว่าที่เราจะละเลยได้ ไม่ว่าจะเป็น (๑)ปัญหาค่าใช้จ่าย (๒) ปัญหาโลกร้อนที่รุนแรงเพิ่มขึ้นมากกว่าที่เราคิดและ (๓) ปัญหาความเป็นสถาบันวิชาการที่ต้องเป็นผู้ชี้นำสังคมไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีด้วย


แม้ว่าแต่ละหน่วยงานของ ม.อ. ได้มีกลยุทธ์ในการใช้กระดาษให้มีประสิทธิภาพเป็นของตนเองอยู่แล้ว แต่อาจจะมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง ดังนั้นคณาจารย์ผู้สอนวิชานี้จึงได้มอบหมายให้นักศึกษาทำการสำรวจและค้นหาตัวอย่างที่ดีๆ จากทุกหน่วยงานของวิทยาเขตแห่งนี้ ซึ่งสอดคล้องกับข้อเสนอของสภามหาวิทยาลัยที่ว่า "สภามหาวิทยาลัยให้ความเห็นสนับสนุนการสร้างบัณฑิตทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียนเป็นเรื่องที่สำคัญมาก"


๒. ทำไมจึงเลือกศึกษาการประหยัดกระดาษ


การประหยัดกระดาษเป็นเรื่องที่แต่ละบุคคล หน่วยงาน และคณะต่างๆสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและนโยบายได้โดยง่ายและในทันที เมื่อเกิดความเข้าใจและสำนึกถึงความสำคัญของปัญหาแล้ว ต่างกับการประหยัดไฟฟ้า น้ำประปา ซึ่งต้องอาศัยอุปกรณ์พื้นฐาน เช่น มิเตอร์ไฟฟ้าที่ถูกต้อง หรือการเปลี่ยนโถส้วมแบบประหยัดน้ำ เป็นต้น


เราเชื่อว่า การพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นในเรื่องกระดาษของชาว ม.อ. จะนำไปสู่การมีส่วนร่วมต่อปัญหาอื่นๆในวิทยาเขตของชาว ม.อ. ทั้งมวลในโอกาสต่อไป


คณาจารย์ผู้สอนวิชานี้ จึงขอความกรุณาจากบุคคลากรและหน่วยงานได้โปรดให้ข้อมูลและคำแนะนำกับนักศึกษาด้วย จักเป็นพระคุณและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับอนาคตของชาติและเราทุกคน


๓. ข้อมูลเพิ่มเติม


รายงานหลายชิ้นกล่าวตรงกันว่า ในการผลิตกระดาษหนึ่งตัน หรือกระดาษขนาด A4 จำนวน ๕๐๐ ริม (๒๕๐,๐๐๐ แผ่น) ต้องใช้ต้นไม้ ๑๗ ต้น ในการนี้ต้อง


-ใช้พลังงานจำนวนมากตั้งแต่การตัด ชักลาก ขนย้าย จนถึงเป็นแผ่น
-ใช้น้ำกว่า ๒๐๐ ลูกบาศก์เมตร
-ใช้สารเคมีรวมทั้งโลหะหนักจำนวนมาก แล้วปล่อยแหล่งน้ำธรรมชาติ










ถ้าใช้กระดาษ ๑๑ ล้านแผ่นต่อปี เท่ากับมีการตัดต้นไม้ปีละประมาณ ๗๔๐ ต้น เราจะช่วยกันลดสัก ๑๐-๒๐% ได้อย่างไร? นี่คือโจทย์ของทุกคน
ในช่วง ๒๐ ปี (1984-2004) ในขณะที่ประชากรของโลกเพิ่มขึ้น ๓๐ % แต่การใช้กระดาษเพิ่มขึ้น ๓๐๐ %

๔. ตัวอย่างหนึ่งในการประหยัดกระดาษ


โดยการเลือกใช้เมนู ระยะห่างระหว่างบรรทัด ในโปรแกรม Microsoft Word ก็สามารถประหยัดกระดาษได้จำนวนไม่น้อย


ข้อความในกล่องซ้ายมือ พิมพ์ด้วย "ระยะห่างบรรทัด 1 บรรทัด" สามารถพิมพ์ได้ 10 บรรทัด (ดูรูปข้างล่างประกอบ)


ข้อความในกล่องขวามือ พิมพ์ด้วย "ระยะห่างบรรทัด ค่าแน่นอน ขนาด 20 พ." บนพื้นที่เท่ากัน ตัวอักษรเท่ากัน สามารถพิมพ์ได้ 12 บรรทัด หรือประหยัดได้ประมาณ 10-15%








หมายเหตุ
ท่านที่ใช้เมนูภาษาไทย เลือกไปที่ (1) รูปแบบ (2) ย่อหน้า และ (3) เลือกตามรูป
ท่านที่ใช้เมนูภาษาอังกฤษ เลือกไปที่ (1) paragraph (2) เลือก "Exactly" และ (3) "20 point"
หนังสือที่พิมพ์จากโรงพิมพ์ ส่วนมากก็มีระยะห่างบรรทัดเท่ากับในกล่องทางขวามือ
การสั่งพิมพ์เอกสารที่มีหลายหน้า หรือตำรา จะสามารถประหยัดกระดาษได้เกือบ 20%
ทำอย่างนี้เสมอ จะช่วยประหยัดทั้งเงินในกระเป๋า และช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้


คณาจารย์วิชาฯ, ก.ค.๒๕๕๐