Skip to main content

กำเนิดพญามังราย (2)*

คอลัมน์/ชุมชน


อยู่นานได้ 5 เดือน พญาเจืองสั่งให้ท้าวพญาทั้งหลายกลับไปยังบ้านเมืองของตน ไม่นานนัก นางอู่แก้ว ลูกพญาแกวตั้งครรภ์ ได้ 10 เดือน คลอดลูกชาย รูปโฉมงดงามนัก เจ้าพญาเจืองใส่ชื่อให้ว่า เจ้าผาเรืองแม่นคำขา เจ้าพญาเจืองอยู่ในเมืองพระกันได้ 3 ปีปลาย 9 เดือน ก็ให้พญาห้อเจ้าลุ่มฟ้าเพาภิมานแปลงลายจุ้มลายเจียให้แก่ตน แล้วเจ้าพญาเจืองแต้มลายจุ้มลายเจียมาให้แก่ลูกผู้ชื่อลาวเงินเรือง ให้เป็นพญาในเมืองยางเงิน เจ้าพญาเจืองพานางอมราเทวีกับบริวารทั้งมวลมาที่เมืองยางเงิน และให้ลูกสองคนคือ เจ้าเงินเรืองกับนางเอื้อยไฝผู้น้องอยู่กับนางอมราเทวี


ส่วนตัวเจ้าพญาเจืองกลับคืนไปเมืองแกวได้ 14 ปี มีลูกกับนางอู่แก้วอีกสองคน ผู้พี่ชื่อยี่คำห้าว ผู้น้องชื่อท้าวชุมแสง อยู่ไม่นานเท่าใด เจ้าพญาเจืองวางเมืองไว้แก่ท้าวผาเรืองผู้เป็นลูกอ้าย ส่วนลูกคนกลางยี่คำห้าวนั้น เจ้าพญาเจืองส่งไปเป็นพญาในเมืองล้านช้าง1 ส่วนลูกสุดท้องท้าวชุมแสงนั้น ส่งไปเป็นพญาในนันทบุรี หรือว่าเมืองน่าน2


เจ้าพญาเจืองคิดว่าตนมีเดชฤทธีมากนัก เหลือที่ทำไม่ได้อย่างเดียวคือบิน ท้าวบังเกิดมานะกล้าหาญว่า เมื่อได้เวนเมืองให้แก่ลูกคือจอมผาเรืองแม่นคำขาแล้ว จักเอารี้พลไปตีเอาเมืองแกวแมนตาทอกขอกฟ้าตายืน3 ฝ่ายพญาแมนตาทอกขอกฟ้าตายืน เอารี้พลจำนวนมากมาสร้างสะพานหินข้ามแม่น้ำใหญ่ออกมารบกับเจ้าพญาเจือง เมื่อนั้นพญาเจืองเห็นรี้พลแกวแมนมากนัก ขุนเจืองไม่เคยหนีข้าศึก จึงขี่ช้างแก้วตัวหาญท้าชนศึก แล้วแก้เสื้อส่งให้คนใช้เอาคืนมาให้แก่นางอมราเทวียังเมืองเชียงราวเงินยางไว้ดมกลิ่น กับให้บอกแก่ลูกคือเจ้าขุนเงินเรืองให้รู้


นางอมราเทวีรับเอาเสื้อเจ้าพญาเรืองผัวรักแห่งตนหอบไว้กับอก แล้วจึงบอกกล่าวเหตุลางแก่คนใช้ว่าตูเห็นลางดังนี้


"กระรอกเต้นตกกลายเป็นควายหลายตัววิ่งชนรั้ว ถ้วยใบงามเต้นตกกลายเป็นลิ่นแล่นลี้แคก้อนผา ชายคากลายเป็นต่อแตน ผึ้งซาบเข้าในหม้องทำรัง ฝนห่าหลวงตกไหลหลั่งบ่หยุดบ่ยั้งได้ยี่สิบวัน ภูดอยพังถล่ม ก้อนหินผากลายเป็นเงือก กวางฟานวิ่งผ่าบ้าน กบเขียดอานกันเข้าเมือง ปลิงดำตัวเท่าเรือออกเที่ยวเล่นกลิ้งเกลือกตามบก เสือโคร่งหกเข้าเวียงใหญ่ ไข่ใบเดียวมีลูก 2 ตัว"


บัดนี้สูมาบอกข่าวเหมือนลาง พญาเจ้าบ่เคยหนีศึก ขึ้นขี่ช้างแก้วตัวใหญ่ ฤาจะตกหล่มเสีย เรารอท่าฟังเมื่อเดือน 44 กูจักส้อมผีอารักษ์ใหญ่ให้ไปตามไต่รักษาพญาเจ้าผัวรักแห่งกู


ยามนั้นฝูงแกวแมนตาทอกเอารี้พลตั้งหน้าอยู่รอท่ารบ ขุนเจืองยกรี้พลเข้าทุบ ฝูงแกวเอารี้พลเข้ารุมล้อม ฆ่าพญาเจืองตายที่สะพานหิน รี้พลขุนเจืองเข้ากุมเอาซากศพพญาเจืองได้ แล้วเอาใส่ช้างแก้วกลับคืนมาเมืองเงินยางวันนั้น ขุนเจืองอายุ 39 ได้เป็นพญาปราบ 2 เมือง อยู่เมืองเงินยาง 24 ปี อยู่เมืองแกวพระกัน 17 ปี อายุ 77 ปี ไปสู่ปรโลก


ลูกขุนเจืองชื่อลาวเงินเรือง อายุ 33 ปี เป็นพญาแทนพ่อได้ 26 ปี อายุ 59 ปี ไปสู่ปรโลก ลูกพญาเงินเรืองชื่อลาวชืน อายุ 41 ปี เป็นพญาแทนพ่อได้ 21 ปี อายุได้ 62 ไปสู่ปรโลก ลูกลาวชืนชื่อลาวมิ่ง อายุ 25 ปี เป็นพญาแทนพ่อได้ 21 ปี อายุได้ 46 ไปสู่ปรโลก ลูกขุนมิ่งชื่อขุนเมิงอายุ 35 ปี เป็นพญาแทนพ่อได้ 25 ปี อายุได้ 60 ไปสู่ปรโลก


พญามังราย


ราชวงศ์ลาวเมิงมีลูกชายผู้หนึ่ง มีรูปโฉมอันงามนักชื่อ ลาวเม็ง เจ้าลาวเมิงผู้พ่อจึงมีบรรณาการไปขอเอาลูกสาวท้าวรุ่งแก่นชายผู้กินเมืองเชียงรุ่ง5 ชื่อนางอัวมิ่งจอมเมือง ผู้ทรงรูปโฉมโนมพรรณวรรณะอันงาม เพื่อจักเอามาเป็นปิยชายาแห่งเจ้าลาวเม็ง6 ท้าวรุ่งแก่นชายกมีความยินดี จึงเบิกบายชื่อลูกสาวแห่งตนว่า นางเทพคำขร่าย แล้วแต่งข้าวของ เงินคำ ข้าหญิงชาย ให้แก่ลูกตนมาเป็นเมียแห่งเจ้าลาวเม็ง เจ้าลาวเม็งอายุ 35 ปี เป็นพญาแทนพ่อ กระทำพิธียกนางท้าวเทพคำขร่ายเป็นอัครมเหสีเทวี เป็นใหญ่แก่นางทั้งหลาย 500 คน7


ไม่นานเท่าใด ในวันเดือน 8 เพ็ง ยามใกล้รุ่ง นางเทวีเห็นนิมิตในฝันว่าตนนอนอยู่เหนืออาสนา เห็นดาวประกายจากฟ้าลงมาเข้าปากนาง นางกินลงท้องชุ่มเย็นนัก นางสะดุ้งตื่น รุ่งเช้า นางไปไหว้พญาเล่าให้ฟังทุกประการ พญาให้หมอผู้รู้ทำนายนิมิตฝัน หมอทำนายว่าคำฝันอันนี้เป็นมงคลดีนัก นางเทวีจักทรงครรภ์ มีลูกชายผู้ประเสริฐ จักได้ปราบบ้านเมืองหนทักษิณทิศ ตราบต่อถึงสมุทรเป็นแดนหมื่น เมื่อนั้น นางพญายินดีให้รางวัลแก่หมอมากนัก นางพญารักษาครรภ์ได้ประมาณ 10 เดือน ก็ประสูติลูกชายผู้ประเสริฐเกิดมาด้วยสวัสดี ในปีเบิกเส็ด ตำนาน 1 ปี กัดไคล้ เดือนเจียง แรม 9 ค่ำ วันอาทิตย์ ยามพาดรุ่ง ฤกษ์กฏ 8 ตัว ชื่อ ปุสสยะสก ราชอนุรุทธคือสกราชได้ 601 ตัว8


เมื่อราชกุมารเกิดมาได้ 1 เดือน พญาลาวเม็งผู้พ่อ ก็ให้คนไปบอกท้าวรุ่งแก่นชายพ่อเมีย ให้รู้ว่าหลานเกิดมาแล้ว ท้าวรุ่งก็มาพร้อมบริวารมากมาย เจ้าพญาลาวเม็งเมื่อท้าวรุ่งแก่นชายมาถึงแล้ว ก็ป่าวประกาศเสนาอมาตย์มนตรีทั้งหลายกระทำพิธีมงคลสู่ข้าวทูลขวัญราชกุมารด้วยเครื่องหลอนเดือน9 เพื่อให้มีอายุยืนยาว พญาลาวเม็งและพญาท้าวรุ่งแก่นชายอันเป็นปู่ย่าตายายพร้อมกันใส่ชื่อราชบุตรว่าเจ้ามังราย10




*** ภาพอนุสาวรีย์พญามังราย จาก www.cru.in.th



1*สรุปถอดความจากหนังสือ "ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่" โดย อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว และ เดวิด เค วัยอาจ (David K. Wyatt) พิมพ์โดยสำนักพิมพ์ซิลค์เวิอร์มบุ๊คส์ 2543
คำอธิบายข้างล่างโดยอรุณรัตน์ (สนใจโปรดอ่านเพิ่มเติมในหนังสือของอรุณรัตน์)
ล้านช้าง หมายถึงประเทศลาว หรือ ศรีสัตตนาคนหุต ในอดีตมีเมืองหลวงพระบางเป็นเมืองหลวง

2 ตำนานนี้ระบุว่าขุนเจืองส่งราชบุตรไปปกครองเมืองน่าน แต่ พงศาวดารเมืองน่าน หรือ The Nan Chronicle โดย David K. Wyatt ไม่กล่าวถึงเรื่องขุนเจืองส่งราชบุตรไปปกครองเมืองน่านเลย


3 คำว่า "แมนตาทอกขอกฟ้าตายืน" นั้น ดร.ประเสิรฐ ณ นคร สันนิษฐานว่า "ตาทอก" แปลว่า ตาเดียว (ทอก= หนึ่ง เดียว) คำว่า "ขอกฟ้าตายืน" พงศาวดารโยนกแปลว่า ฝั่งทะเล ส่วนชาวแมนเป็นคนกลุ่มใด มีจริงหรือไม่ สันนิษฐานว่า อาจจะเป็นคนไทกลุ่มหนึ่งที่เรียกว่า "ไทแมน" อยู่ในเมือง Pu-erh ตอนใต้ของมณฑลยูนนาน หรือบางครั้งหมายถึงเมืองแมนในเขตไทดำ ที่อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนาม นอกจากนี้ เจ้าฉายเมือง ณ เชียงตุง กล่าวไว้ใน พงศาวดารไทใหญ่ ว่า เมืองแมนน่าจะตั้งอยู่ที่เมือง Tungyueh หรือ Tung Chung ในมณฑลยูนนาน ประเทศจีน ซึ่งห่างจากเมืองบามอ หรือ บ้านหม้อ ประเทศพม่าไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ ประมาณ 150 กิโลเมตร


4 เดือน 4 ในที่นี้ตรงกับตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ (Chronique de Xieng Mai) ฉบับที่แปลโดย (นายคาร์มิล) นอตอง (Camille de Notton) (อดีตกงสุลฝรั่งเศสประจำเมืองเชียงใหม่) ซึ่งกล่าวว่า เดือน 4 ในสมัยโบราณตรงกับเดือนธันวาคม-มกราคม ชาวไทลื้อที่อพยพมาอยู่เมืองน่านจะเลี้ยงผีเจ้าเมืองในเดือน 4 เดือน 6 และเดือน 8 เหนือ ส่วนชาวล้านนาจะเลี้ยงผีเมือง เดือน 8 หรือ เดือน 9 เหนือ


5ในหนังสือของนายหลี ฟูอี (Fu-i, Li) เรื่อง การศึกษาทบทวนการสืบสายโลหิตของชนเผ่าเชอหลี่ (Chûe li Hsuan-wei Shih Kûao Ting: A Revised Study of the Genealogy of Chûe li Pacification Chieftaincy. Chûe li. 1947) กล่าวถึงพระนามของกษัตริย์เมืองเชียงรุ่งว่า ท้าวรุ่งแก่นชายปกครองเมืองเชียงตุงระหว่าง พ.. 1777-1800 แต่ ทวี สว่างปัญญางกูร ผู้ปริวรรต ตำนานพื้นเมืองสิบสองพันนา ระบุว่าอยู่ระหว่าง พ.. 1767 – 1790 ส่วนท่าคว้างแซ้งและคณะ กล่าวในหนังสือ เชื้อเครือเจ้าแสนหวี ว่า ท้าวรุ่งแก่นชายปกครองปี พ.. 1768 มีพระขนิษฐาชื่อ โอมิ่งไข่ฟ้า เมื่อเจริญวัยขึ้นเปลี่ยนชื่อเป็น นางอกแอ่น เจ้าเมืองเชียงรายมาขอเป็นพระชายา เปลี่ยนชื่อเป็น นางคำกาย



อรุณรัตน์ ไม่ได้อธิบายถึงชนเผ่าเชอหลี่ (Chûe Li) แต่ จิตร ภูมิศักดิ์ อ้างถึง จดหมายเหตุจีนว่ากล่าวถึงประเทศเช่อหลี่ ว่าหมายถึง


อาณาจักรเชียงรุ้งในสิบสองปันนา ต่อมาเรียกว่า เชอหลี่ และยังคงเรียกเช่นนั้นมาจนบัดนี้ จิตร อธิบายว่า คำว่า เชอหลี่ มิใช่การถอดเสียงออกมาจาก เชียงรุ้ง คำว่า หลี่ นั้นคือ ลื้อ อันหมายถึงพวกไตลื้อ ซึ่งจีนเรียกว่า หลี่ มาแต่โบราณ ส่วนคำว่า เชอ นั้นคือ เชียง (จาก จิตร ภูมิศักดิ์ ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ ฉบับสมบูรณ์ สำนักพิมพ์สยาม บริษัทเคล็ดไทย 2544)


6 การแต่งงานชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างเมืองเงินยาง และเมืองเชียงรุ่ง


7 การกล่าวถึงการมีสนมจำนวนมากของผู้ปกครองแถบนี้ มีหลักฐานยืนยันจากเอกสารจีนคือ พระราชพงศาวดารราชวงศ์หยวนฉบับใหม่ บทที่ 149 และ พระราชพงศาวดารราชวงศ์หมิง บทที่ 315 เรียกเมืองเชียงราย เชียงแสน และเชียงใหม่ว่า "ปาไป่สีฟู" ซึ่งหมายถึงเมืองที่กษัตริย์มีชายา 800 คน


8 ตรงกับวันเสาร์ที่ 2 ตุลาคม พ.. 1781 ปีเบิกเส็ด ศักราช 600 ไม่ใช่ปีกดไกล้ ศักราช 601


9 พิธีสู่ข้าวทูลขวัญด้วยเครื่องหลอนเดือน เป็นพิธีสู่ขวัญทารกแรกเกิด จัดขึ้นในวันที่ทารกมีอายุครบหนึ่งเดือน ปัจจุบันยังพบเห็นพิธีนี้ ในเขตชนบทนอกเมืองเชียงใหม่ ซึ่งเรียกว่า "พิธีออกเดือนและหลอนเดือน" หลังมารดาคลอดบุตร จะพักรักษาตัวหนึ่งเดือน เรียกว่า "อยู่ไฟ" ล้านนาเรียกว่า "อยู่เดือน" และเมื่อครบเดือนแล้วจะเลิกอยู่ไฟ เรียกว่า "ออกเดือน" ในวันออกเดือนญาติผู้ใหญ่ในครอบครัวจะทำพิธีผูกข้อมือและตั้งชื่อเด็ก และมารดาก็จะอบสมุนไพร สระผม เริ่มดำเนินชีวิตตามปกติ



ส่วน "หลอนเดือน" นั้นเป็นความเชื่อเกี่ยวกับการอยู่ไฟ และการออกจากการอยู่ไฟของมารดา การหลอนเดือนคือ การที่เพื่อนบ้านหรือแขกมาเยี่ยมทารกในวันที่มารดากำลังจะออกจากการอยู่ไฟ แขกที่มาเยี่ยมโดยไม่ได้บอกล่วงหน้า หรือมิได้นัดหมาย (หลอน = มาเยี่ยมโดยไม่บอกล่วงหน้า) ชาวล้านนาเชื่อว่า เมื่อทารกคนนั้นเจริญเติบโตขึ้น เด็กจะมีอุปนิสัยเหมือนแขกคนนั้น ซึ่งถ้ามารดาไม่ชอบนิสัยของแขกคนนั้น ก็จะกลับเข้าไปอยู่ไฟต่ออีกสองสามวัน แล้วจึงออกจากการอยู่ไฟในวันหลัง เรียกการออกจากการอยู่ไฟนี้ว่า " หลอนเดือน" พิธีสู่ข้าวทูลขวัญด้วยเครื่องหลอนเดือน จึงหมายถึงพิธีสู่ขวัญทารกในวันครบเดือนด้วยเครื่องหลอนเดือน


10 น่าจะขนานพระนามว่า "มังรุ่ง" ไม่ใช่ "มังราย" วินัย พงศ์ศรีเพียร สันนิษฐานว่า พระนาม "มังราย" เป็นสมัญญานามที่เลียนแบบพุกาม คำว่า "มัง" เป็นคำมอญ/พม่าโบราณ หมายถึงกษัตริย์ ในสมัยพุกามของพม่า (.. 1587-1830) คำว่า "มัง" ได้เพิ่มคำเป็น "มังกรี" แปลว่า มหาราช (ดู วินัย พงศ์ศรีเพียร (บรรณาธิการ) ปาไป่สีฟู่-ปาไป่ต้าเตี้ยน: เชียงใหม่ในเอกสารประวัติศาสตร์จีนโบราณ รุ่งแสงการพิมพ์ 2539) ส่วนคำว่า "ราย" ในภาษาพม่า หมายถึงกล้าหาญ (ดู U Thaw Kaung และ Ni Ni Myint Sithu Gamani Thingyan’s Zimme Yazawin: A Brief Study Yangon: Today Printing 2003)