Skip to main content

เมื่อ "ลมพรัด" พัดกลิ่นข้าวใหม่ปลามัน

คอลัมน์/ชุมชน

วันที่ "พรัดหลวง" พัดมาถึงทะเลสาบ ปลายฟ้าเดือนหกครางครืน ชาวบ้านรอบลุ่มแบ่งช่วงเวลาและทิศทางของฤดูลมประจำถิ่นออกเป็น ๒ ช่วง ช่วงแรกเป็น "ฤดูลมพรัด" ที่พัดพรูมาทางตะวันตกของเดือนสี่เดือนห้าหรืออาจเรื่อยไปจนถึงเดือนเจ็ดเดือนแปดโน่น "ลมพรัด" จึงเป็น "ลมตก" ที่นำ "ฝนพรัด" มาฝากก่อนที่จะล่วงถึงฤดูของ "ลมนอก" ต่อไป


ในขณะที่ "ฤดูลมนอก" จะพัดมาทางตะวันออกเมื่อเดือนแปดเดือนเก้าล่วงมาแล้วติดต่อกันจนถึงเดือนสามเดือนสี่ของหน้าร้อน เพราะ "ลมนอก" พัดเอา "ฝนนอก" มาด้วย ความชุ่มชื่นหัวใจจึงโปรยหว่านเหนือทะเลสาบมอบความชุ่มฉ่ำไปทั่วจนถึงเดือนสิบสองที่น้ำนองเต็มตลิ่งแล้ว หรือแม้อาจมีบ้างที่ "ฝนนอก" พัดเพลินไปจนถึงเดือนอ้าย ก็ "ดูฝน" นั่นแหละ(ฤดูฝน) จึงโหมเอาจนสนุกสนานโดยทั่วกัน


วกกลับไปรับ "ลมพรัด" ที่พัดมาถึงทะเลสาบตั้งแต่ต้นปีกันอีกครั้ง "ครูมวล"(ประมวล มณีโรจน์) เล่าให้ฟังในคืนจิบชาว่า "ลมพรัด" ยังมีชื่อเรียกย่อยออกไปอีก ๓ ช่วง ช่วงแรกที่พัดจากตะวันตกเฉียงเหนือในช่วงเดือนสามเดือนสี่ขณะที่ชาวนาเก็บข้าวเสร็จสิ้นเรียก "ลมพรัดหลวง" ใน "ลมพรัดหลวง" แน่นอนว่ามันจะจูงมือ "ฝนพรัด" มาด้วย อาจเริ่มจากฝนแรกที่เรียกว่า "ฝนแช่ซัง"(ซังข้าว) ในช่วงเดือนสี่เดือนห้าก่อนจะตามมาด้วย "ฝนชะดอกม่วง" ซึ่งตกในช่วงเดือนห้าเดือนหกที่ที่มะม่วงพื้นบ้านกำลังผลิแย้มดอก


ช่วงสองที่พัดผ่านมาทางตะวันตกในปรายเดือนห้าถึงเดือนหกนั้นเรียก "ลมพรัดกลาง" และแน่นอนเหมือนกันที่ "ลมพรัดกลาง" จะจูงมือ "ฝนพรัด" หรือ "ฝนตก"(ฝนตะวันตก) มาเติมทะเลสาบนอกฤดู ฝนพวกนี้มักตกไม่นานและไม่หนักเท่า "ฝนดู"


ในช่วงนี้หนุ่มสาวจะมากไปด้วยรอยยิ้ม ดอกรักบานสะพรั่งชวนเก็บร้อยเป็นมาลัยคล้องคอบ่าวสาวในประเพณีสู่ขอเพื่อสร้างครอบครัวใหม่ของคู่รัก "ดูฝนหยาม" ของเดือนหกจึงไม่ใช่เป็นแค่ช่วงตอนที่ฝนเม็ดเล็กพรำฟ้า หากยังเป็น "ดูกินเหนียว" "ดูแต่งงาน" ผูกดองกันด้วย ฮา...


และช่วงที่สามเรียกว่า "ลมพรัดยา" ซึ่งจะเดินทางมาถึงในเดือนเจ็ดหรือเดือนแปดพัดจากตะวันตกเฉียงใต้ ช่วงก่อนฤดูพระเข้าพรรษานี้ลมจะพัดแรงขึ้นเรียก "ลมหัวษา" พัดไปเรื่อยจนอาจหมดเอาในวันปลายเดือนเก้าโน่น และการจากไปของ "ลมหัวษา" ซึ่งหมายถึงการบอกลาของ "ลมพรัด" นี่แหละที่เป็นสัญญาณบอกเหตุ "ฤดูฝนใหญ่" ของ "ลมนอก"แล้ว


วันนี้ในช่วงรอยต่อของ "ลมพรัด" สู่ "ลมนอก" ผ่านเดือนหกที่ฝนเม็ดเล็กพรมฟ้าของ "ดูกินเหนียว" ไปแล้ว ข้าวใหม่ในจานยังอร่อยคู่ปลามันในแกงและต้มของแม่ครัวมือใหม่แห่งลุ่มทะเลสาบ ขณะเดียวกันดอกรักในหัวใจผมเริ่มเหี่ยวลงเหมือนยังไม่ต้องฝนของลมใดมาตลอดฤดู

กระนั้นก็ตามทีเมื่อถึงวันที่เดือนแปดล่วงผ่านสู่เดือนเก้าของ "ลมนอก" ในวันที่หนุ่มสาวอีกมากคู่จะยิ้มใหญ่กันอีกครั้งไม่รู้เหมือนกันว่า "ดอกฝน" จะพรำ "ดอกรัก" บนเส้นทางของผมบ้างหรือเปล่า ฮา...


บนแผ่นดินเหนือทะเลสาบ-เกาะยอ-สงขลา
ป ร เ ม ศ ว ร์ ก า แ ก้ ว



ฝนเดือนหกพรำฟ้าแล้ว



ก่อนพรำฟ้าเหนือทะเลสาบมักเป็นเช่นนี้



ท้องฟ้าเดือนหกก่อนการก่อเกิดเหตุให้ดอกรักบาน



และนี่คือผลพวงของ "ลมพรัด" ฮา
....เพื่อนผมเอง