Skip to main content

เดินไปสู่อิสรภาพ

คอลัมน์/ชุมชน



ช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ผมค่อนข้างจะหน่ายกับอะไรหลายๆ เรื่อง ทั้งที่เกิดขึ้นในชีวิตตัวเอง ทั้งในสังคมข่าวสารรอบข้างที่แสนจะปั่นป่วน เขียนหนังสือก็ไม่ค่อยจะออก "พี่ฝน-รวิวาร โฉมเฉลา" หนึ่งในผู้ที่ผมโทรไปบ่นให้ฟังเป็นประจำ ได้เมตตาฝากหนังสือมาให้ผมอ่านแก้เบื่อ 2 เล่ม หนึ่งในสองเล่มนั้นเป็นหนังสือเล่มหนา ซึ่งฮือฮามากเมื่อมีการเปิดตัว หนังสือเล่มนั้นคือ "เดินไปสู่อิสรภาพ" ของ อาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์


คาดว่าหลายท่านน่าจะทราบแล้วว่า หนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นจากประสบการณ์ของอาจารย์ประมวล หลังจากที่ลาออกจากการเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญาและศาสนา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็ได้เดินเท้าจากเชียงใหม่ กลับบ้านเกิดที่เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมีกฎว่า จะไม่ร้องขอความช่วยเหลือจากใคร หากเขาช่วยจะต้องไม่ให้เขาเดือดร้อนลำบากใจ ไม่พกเงินติดตัว ค่ำไหนนอนนั่น หลีกเลี่ยงการเดินไปหาคนรู้จักและหลีกเลี่ยงการเดินบนเส้นทางหลักหรือถนนใหญ่ให้มากที่สุด


ฟังดูแล้วก็เหลือเชื่อเหลือเกินว่า ด้วยเงื่อนไขเข้มงวดยิ่งกว่าพระธุดงค์เช่นนี้ อาจารย์จะสามารถกระทำตามความตั้งใจจนประสบความสำเร็จได้ ยิ่งไปกว่านั้น การเดินทางครั้งนี้ไม่เพียงแค่ประสบความสำเร็จในทางกายภาพคือการใช้ขาพาร่างกายไปให้ถึงจุดหมายคือเกาะสมุยเท่านั้น หากแต่ยังเป็นการเดินทางภายใน ที่อาจารย์ประมวลได้ค้นพบสิ่งที่ผมคงจะต้องขอใช้คำว่า "ความหมายของการมีชีวิตอยู่"


ผมเริ่มอ่านหนังสือเล่มนี้ตอนแปดโมงเช้า และไปจบเอาตอนประมาณหนึ่งทุ่ม แปลกใจตัวเองเหมือนกันว่า หนังสือขนาดห้าร้อยหน้าเล่มนี้ ทำไมจึงมีพลังดึงดูดให้อ่านได้แบบรวดเดียวจบ


อาจเพราะรู้สึกถึงความท้าทายในแง่ของการผจญภัย อาจเพราะภาษาที่ใช้ แม้จะเป็นงานเขียนของอาจารย์ผู้สอนวิชาปรัชญาและศาสนามาค่อนชีวิต แต่กลับบอกเล่าอย่างเรียบง่าย เห็นภาพชัดเจน ได้อารมณ์ราวกับเราได้ร่วมเดินทางไปด้วย อาจเพราะประสบการณ์ที่ถูกถ่ายทอดออกมา คือความลึกซึ้ง เปี่ยมด้วยคุณค่าของความเป็นมนุษย์ ในโลกปัจจุบันที่เราคิดว่า "น้ำใจ" ได้สาบสูญไปสิ้นแล้วหรือ อาจเพราะ แท้จริงแล้ว เราปรารถนาจะเดินทางเพื่อค้นหาความหมายและคุณค่าของชีวิตเช่นเดียวกับอาจารย์ประมวล ?


ในหลายๆ ตอนที่น่าประทับใจ มีอยู่ตอนหนึ่งที่ผมชอบมาก คือตอน "ความรักคือคำตอบ" ซึ่งอาจารย์ประมวลได้เดินมาถึง อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ ได้พบกับเจ้าของรีสอร์ทแห่งหนึ่งเชิญอาจารย์ไปเป็นแขก ครอบครัวของเจ้าของรีสอร์ท เมื่อทราบว่าอาจารย์ประมวลเคยสอนวิชาปรัชญา ก็ได้ถามอาจารย์ว่า ระบบปรัชญาใดดีที่สุดสำหรับการใช้เพื่อดำรงชีวิตอยู่ อาจารย์ประมวลตอบว่า ความสำคัญของปรัชญาอยู่ที่ตัวเรา ปรัชญาที่ผู้อื่นคิดไม่ได้มีความหมายอะไรมากนัก แต่ปรัชญาที่เราคิดยึดถือเป็นตัวของเราเองมีบทบาทและความหมายต่อตัวเรายิ่งนัก ทุกๆ คนจึงควรคิดและสร้างปรัชญาของตัวเองขึ้นมา


"...ผมอยากจะบอกเล่าประสบการณ์ส่วนตัวของผมให้คุณฟัง เมื่อผมออกจากบ้านมา ผมไม่มีปรัชญาหรือลัทธิความเชื่อใดๆ นำทาง ผมมีแต่ความรักอยู่ในหัวใจ ผมรักภรรยา รักศิษย์ รักเพื่อน ความรักในหัวใจทำให้ผมมีพลังในการก้าวเดิน และมีความสุขทุกย่างก้าว ความหมายของการก้าวเดินไม่ได้อยู่ที่ผมก้าวถึงเป้าหมายปลายทางเชิงกายภาพ แต่อยู่ที่การก้าวเดินซึ่งทำให้ใจผมและภรรยาผสานเป็นหนึ่งเดียวกัน มีความหมายร่วมกัน กับศิษย์ กับเพื่อน และคนอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน ผมใช้ร่างกายนี้เพื่อให้ดวงใจนับร้อยดวง ก้าวไปสู่ความหมายที่งดงาม และด้วยพลังแห่งความรักที่ผมมีต่อภรรยา ต่อศิษย์ ต่อเพื่อน ทำให้จิตใจของผมผ่องใสเบิกบานเต็มเปี่ยมไปด้วยความสุข แม้ว่าบางช่วงขณะ ผมจะรู้สึกเหน็ดเหนื่อยเหมือนจะสิ้นใจ บางขณะรู้สึกหิวกระหายเหมือนชีวิตกำลังจะจบสิ้นลง แต่ไม่ว่าจะเป็นเช่นไร ผมก็ยังมีความสุข ความสุขที่ได้ก้าวเดินไปด้วยความรักอย่างเต็มเปี่ยมในหัวใจ


ประสบการณ์ในครั้งนี้ ทำให้ผมได้ประจักษ์แจ้งความหมายแห่งรักที่ไม่สามารถเข้าใจได้ด้วยการคิดเอา แต่สามารถหยั่งรู้ได้ด้วยการใช้จิตสัมผัสรู้อารมณ์แห่งรักที่มีอยู่ภายในตัวเรา ความรักเป็นสภาวะที่ยิ่งใหญ่มหัศจรรย์ เป็นสภาวะศักดิ์สิทธิ์ เมื่อความรักนี้สถิตอยู่ในใจใครแล้ว บุคคลผู้นั้นจะเป็นบุคคลผู้ยิ่งใหญ่มหัศจรรย์ มีพลังที่จะอดทน รอคอย และกระทำสิ่งต่างๆ ได้ดั่งปาฏิหาริย์


หากยังสงสัยในความรักให้มองไปที่แม่ ผู้หญิงคนหนึ่งที่ดูเป็นคนธรรมดาๆ เมื่ออยู่ในสถานะทั่วๆ ไป แต่เมื่อผู้หญิงคนนั้นเป็นแม่ แม่ที่รักลูกอย่างสุดหัวใจ ผู้หญิงที่เป็นแม่นั้นไม่ใช่บุคคลธรรมดาๆ แต่เธอคือผู้ยิ่งใหญ่ที่เข้มแข็งอดทน มีพลังที่จะสามารถทำสิ่งต่างๆ ได้อย่างน่ามหัศจรรย์ดุจดั่งมีปาฏิหาริย์ ความรักทำให้ผู้หญิงธรรมดาๆ คนหนึ่งกลายเป็นผู้วิเศษที่แสนมหัศจรรย์


ไม่มีลัทธิปรัชญาใดที่ดีที่สุด หากแต่ปรัชญาระบบใดก็ได้ ที่เมื่อเรานำมาใคร่ครวญพิจารณาแล้วสามารถทำให้เรารักผู้อื่นได้ รักผู้อื่นเป็น ปรัชญานั้นแหละคือปรัชญาที่ดีสำหรับเรา การมีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ สิ่งมีค่าและงดงามที่สุดคือความรัก ความรักไม่ใช่ความปรารถนาที่จะครอบครองและได้จากผู้อื่น แต่ความรักคือความรู้สึกเป็นสุขที่ได้ทำให้คนที่เรารักมีความสุข..."


นอกจากเนื้อหาการเดินทางของอาจารย์ประมวลแล้ว ต้องกล่าวด้วยว่า ภาพประกอบจากฝีมือ "เทพศิริ สุขโสภา และ ชลธิชา สุจริตพินิจ" คือองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้การอ่านสนุก มีภาพประกอบสวยๆ ก็เหมือนจะได้กลิ่น ได้ยินเสียง ได้สัมผัสบรรยากาศตามไปด้วย


เกร็ดหนึ่ง ที่ได้จากการอ่านเรื่องราวการเดินทางของอาจารย์ประมวล ทำให้ผมรู้ว่า "การยิ้ม" นั้นเป็นการแสดงออกที่ทรงพลังขนาดไหน เพียงแค่ยิ้มให้กัน ความคลางแคลงใจก็ลดลงไป เมื่อไม่มีใครยิ้มให้ ก็ยิ้มให้ตัวเอง อะไรต่อมิอะไรที่มันขุ่นมัวก็ดูจะจางหายไป เมื่อผมยิ้ม ผมมองโลกด้วยความแจ่มใสมากขึ้น แม้ปัญหายังคงอยู่ แต่น้ำหนักมันก็ลดลงไปเยอะเลย


บนหนทางชีวิตที่เราแต่ละคนยังต้องเดิน ไม่ว่าจะยาวไกลหรือเหน็ดเหนื่อยแค่ไหน มิตรภาพ น้ำใจจากผู้คนรอบข้าง ความจริงใจของเราที่มีต่อคนอื่น และการรักษาสภาพกาย-ใจของเรา คือสิ่งสำคัญที่จะพยุงเราให้ก้าวต่อไปได้ ชีวิตของเราจึงมิได้ดำรงอยู่ด้วยตัวเราเท่านั้น หากแต่ต้องพึ่งพาอาศัยคนอื่น เราคือห่วงโซ่หนึ่งของเครือข่ายแห่งการรับและการให้ของโลกนี้


"เดินสู่อิสรภาพ" ได้บอกกับผมว่า พลังกาย พลังใจ สถิตย์อยู่ในใจผู้ไม่ยอมพ่ายแพ้แก่ตนเองแม้ว่าจะทุกข์ลำเค็ญเพียงใด แต่หากไม่พานพบความยากลำบาก ย่อมไม่รู้รสความสุขที่แท้จริง ความสุขที่แท้จริงนั้นก็คือการได้พบกับความงามและความหมายของชีวิต ที่ไม่อาจนึกคิดเอาเองได้ แต่ต้องใช้ตัวเองไปสัมผัสจึงจะประจักษ์แจ้ง ดังเช่น ตอนหนึ่งจากการสัมภาษณ์ ที่มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน หลังจากที่ได้กลับมาถึงเชียงใหม่แล้ว อาจารย์ประมวลกล่าวว่า


"...ผมอยากจะบอกว่าขอให้เราทุกคนที่อยู่ในวัยหนุ่มสาวได้รับรู้ว่ารสสุข ทุกข์ ผิดหวัง สมหวัง ร้องไห้นี้ เราจะไม่รู้ความหมายของความสุขเลยถ้าเราไม่ทุกข์แสนสาหัส ถ้าผมไม่หิวเหมือนกับขาดใจตาย ผมจะไม่รู้เลยว่าก๋วยเตี๋ยวที่พี่อัมพรให้วิเศษสักปานใด ผมหิวเหมือนจะขาดใจตาย ก๋วยเตี๋ยวชามนั้นจึงอร่อยจนไม่รู้จะบอกว่าอะไร ดังนั้นอย่ารังเกียจที่จะเผชิญกับความเจ็บปวด อย่ารังเกียจที่จะเผชิญกับความทุกข์ อย่ารังเกียจอย่ากลัวที่จะเผชิญกับความล้มเหลวความผิดหวัง…"


ขอพลังใจจงมีแด่ "นักเดินทาง" ทุกท่านครับ