Skip to main content

พิธีมัดมือของชาวปกาเกอญอ พิธีกรรมที่มากกว่าศรัทธาและความเชื่อ

คอลัมน์/ชุมชน

 

เมื่อได้ไปสัมผัส เรียนรู้วิถีชีวิตของชาวปกาเกอญอ (กะเหรี่ยง) ทุกคนล้วนมีความรู้สึกตรงกัน คือ ชื่นชมในจิตใจอันซื่อใสบริสุทธิ์ ความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย ความเคารพในธรรมชาติ ความมีวัฒนธรรมที่พึ่งพาอาศัยธรรมชาติและฤดูกาล


ความสัมพันธ์ระหว่างชาวปกาเกอญอกับธรรมชาติเป็นไปอย่างเกื้อกูล เป็นเหตุให้ผืนป่ารอบชุมชนและสายน้ำที่เกิดจากป่าต้นน้ำ แม้กระทั่ง ไร่นา เรือกสวน ล้วนอุดมไปด้วยความหลากหลายของพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ บางพื้นที่มีสัตว์ป่าที่หายาก เช่น นกเงือก เลียงผา สมเสร็จ กบภูเขา ซึ่งชาวปกาเกอญอรักษาภูมิปัญญาเหล่านี้ไว้ ด้วยความเชื่อที่สืบทอดให้รุ่นลูกหลานอย่างไม่ขาดสาย


พิธีกรรมสำหรับบุคคลและชุมชนเป็นเครื่องเชื่อมโยงจิตใจของชาวปกาเกอญอให้เป็นหนึ่งเดียวกัน และเชื่อมโยงให้ชีวิตเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติโดยไม่แยกส่วน


น้องแมว จันทราภา (นนทวาสี) จินดาทอง มีเรื่องเล่าจากอุ้มผางเรื่องพิธีมัดมือของชาวปกาเกอญอ เชิญผู้อ่านชื่นชมกับความศรัทธา ที่ท้าทายกระแสโลกาภิวัฒน์ได้เลยค่ะ


ดิฉันมีความรู้สึกสนิทสนมและผูกพันกับพี่น้องชนเผ่าปกาเกอญอ (กะเหรี่ยง) มาเมื่อครั้งยังเป็นนักศึกษา เพราะได้ร่วมกิจกรรมเป็นทีมงานของชมรมศึกษาพัฒนาชาวไทยภูเขา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตั้งแต่เข้าเรียนในชั้นปีที่ 1



ในครั้งนั้น พวกเราทีมงานได้ลงสำรวจพื้นที่ชาวเขาหลายแห่ง และตัดสินใจเลือกชุมชนปกาเกอญอบ้านนาเลย ตำบลป่าแป๋ อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นหมู่บ้านที่จะทำงานอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นชุมชนที่ไม่ไกลจากเมืองมากนัก และวิถีชีวิตของชาวบ้านยังไม่ค่อยเปลี่ยนแปลง กระนั้นพวกเราก็ยังต้องเดินทางโดยรถเมล์สายเชียงใหม่-ฝาง มาลงที่หน้าตลาดแม่มาลัย จากนั้นต่อรถคิวแม่มาลัย-ปาย ไปอีกประมาณ 30 กว่ากิโลเมตร เมื่อลงรถโดยสารก็เดินเท้าต่ออีก 12 กิโลเมตรจึงจะถึงหมู่บ้าน ด้วยวัยหนุ่มสาวที่ยังมีพลังงานเหลือเฟือ บางครั้งดิฉันและเพื่อน ๆ เดินทางจากเชียงใหม่ถึงนาเลยและกลับมาภายในวันเดียว


บ้านนาเลย เป็นชุมชนที่ไม่ใหญ่นัก มีจำนวนครัวเรือนประมาณ 30 หลังคา อาชีพของชาวบ้านโดยปกติจะทำนา เข้าป่าหาอาหาร มีบางครั้งจะออกมารับจ้างเก็บใบเมี่ยงในหมู่บ้านคนพื้นราบที่ไม่ไกลนัก การทำกิจกรรมนักศึกษา พวกเราใช้เวลาวันเสาร์-อาทิตย์ และช่วงปิดเทอม หลักการที่ทีมงานทุกคนเห็นพ้องกัน 2 ประการหลัก คือ หนึ่ง การจะตัดสินใจก่อสร้างหรือทำค่ายใหญ่ประจำปี เราจะต้องศึกษาชุมชนให้ถ่องแท้ก่อน จึงค่อยพัฒนาในภายหลัง และสอง ในการทำกิจกรรมกับชาวบ้าน พวกเราจะต้องหมั่นติดต่อและติดตาม ปฏิบัติตนให้เหมือนกับเป็นญาติพี่น้อง ดังนั้น สมาชิกชมรมชาวเขารุ่นเดียวกับดิฉัน จึงเข้าๆ ออกๆ จนเป็นเหมือนลูกหลานของชาวบ้าน แต่น่าเสียดายที่ตอนนั้นพวกเราศึกษาเน้นไปที่สังคมและเศรษฐกิจ จนละเลยเรื่องราวทางวัฒนธรรมปกาเกอญอของหมู่บ้านนาเลย




หลังสำเร็จการศึกษาและมีโอกาสทำงานกับพี่น้องชาวบ้านทั้งที่เป็นคนพื้นราบและคนชนเผ่า ดิฉันยังคงใช้หลักสองประการเหมือนกับตอนทำกิจกรรม จึงทำให้ดิฉันมีญาติกระจายอยู่ในหลายพื้นที่ เช่น พี่น้องแม่อายตอนทำงานคดีถูกจำหน่ายชื่อออกจากทะเบียนราษฎร พี่น้องเชียงของหลายหมู่บ้านในงานสถานะบุคคล แต่ความรู้สึกสนิทกับพี่น้องปกาเกอญอก็ยังคงมีมากกว่าชนเผ่าอื่น ๆ อย่างเช่นที่บ้านห้วยหินลาดใน ดิฉันเหมือนกับเป็นลูกหลานคนหนึ่ง


ตอนทำงานใกล้ชิดกับมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา ดิฉันมีความสนิทสนมเป็นอย่างมากกับคุณผิน สมเมือง เจ้าหน้าที่คนหนึ่งของมูลนิธิฯ ที่เป็นชาวปกาเกอญอ จนสามารถถือวิสาสะเรียกว่า "ลุงผิน" ทั้งที่อายุก็ไม่ได้อ่อนแก่กว่ากันมากนัก ดิฉันรู้สึกแปลกใจในหลาย ๆ ครั้งที่ลุงผินมักใช้ช่วงวันหยุดหรือลางาน กลับไปร่วมพิธีมัดมือที่บ้านห้วยสัก กิ่งอำเภอดอยหลวง จังหวัดเชียงราย ซึ่ง "มัดมือ" ในความหมายของคนล้านนาหมายถึง การแต่งงาน อยู่กินกันของหญิงชาย ดิฉันนึกในใจว่า ทำไมคนในหมู่บ้านนี้ถึงแต่งงานกันบ่อยเหลือเกิน


จนได้รับการอธิบายจากลุงผิน จึงเข้าใจว่า พิธีมัดมือที่แกเทียวไปนั้น บางทีก็เป็นพิธีสำหรับตัวเอง สำหรับคนในครอบครัว สำหรับญาติพี่น้อง และที่สำคัญคือพิธีมัดมือของคนทั้งหมู่บ้าน ซึ่งในช่วงประกอบพิธีกินเวลา 3 หรือ 7 วัน จะห้ามไม่ให้คนในออกคนนอกเข้า ดังนั้น ลุงผินต้องกลับบ้านก่อนวันทำพิธีหนึ่งวัน แม้ดิฉันจะสนใจกับพิธีดังกล่าว แต่ก็ไม่เคยขอติดตามลุงผินไปร่วมงานเลยสักครั้งเดียว


ต่อมาเมื่อดิฉันมีโอกาสรู้จักพ่อหลวงปรีชา ศิริ ผู้นำบ้านห้วยหินลาดใน ตำบลบ้านโป่ง อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย จนถึงขั้นขอสมัครเป็นลูกสาวคนหนึ่งของพ่อ และได้ร่วมงานกันในฐานะคณะทำงานภูมิภาคภาคเหนือ โครงการประกวดรางวัลลูกโลกสีเขียว ครั้งหนึ่งของการประชุมคณะทำงานฯ พ่อปรีชามาร่วมสายผิดปกติ พอมาถึงแกรีบกล่าวขอโทษขอโพยทุกคนยกใหญ่ พร้อมแจ้งเหตุผลของการมาสายว่า ในวันนั้นขณะกำลังเดินทางโดยเท้าออกจากหมู่บ้านเพราะเป็นช่วงฤดูฝน พ่อปรีชาพบต้นไม้ใหญ่หักโค่นลงมาขวางถนน จึงต้องเดินกลับไปที่หมู่บ้านเพื่อมัดมือ ก่อนเดินออกมาอีกครั้ง


ในสายตาของดิฉัน พ่อปรีชาถือเป็นปราชญ์คนสำคัญคนหนึ่งของชาวปกาเกอญอ เพราะพ่อเป็นบุคคลที่สัมผัสทั้งวัฒนธรรมดั้งเดิมของตนเองขณะที่ยังเยาว์วัย และมีโอกาสออกจากหมู่บ้านมาสัมผัสกับวัฒนธรรมเมืองเมื่อครั้งยังอยู่ในวัยฉกรรจ์ พ่อปรีชาจึงเป็นกำลังหลักในการพัฒนาหมู่บ้านให้สามารถดำรงอยู่ท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงจนถึงทุกวันนี้


ดิฉันมักจะขอความรู้จากพ่อปรีชาอยู่เสมอ ๆ ในเรื่องราวเกี่ยวกับพิธีมัดมือของชาวปกาเกอญอ พ่อปรีชาอธิบายว่า ตามความคิดความเชื่อของคนปกาเกอญอ ซึ่งเชื่อในสิ่งเหนือธรรมชาติ หรือที่อาจเรียกง่าย ๆ ว่า "ผี" ผีนั้นมีอยู่ทุกหนทุกแห่ง ทั้งผีเรือน ผีนา ผีป่า ผีน้ำ ผีไร่ ฯลฯ หากคนเราไปกระทำการใดไม่ถูกต้องหรือล่วงละเมิด จะถูกผีลงโทษ หากเราทำดี ผีก็จะอวยชัยให้พร การมัดมือของคนปกาเกอญอ เป็นการสร้างความมั่นคงในจิตใจ และเป็นเครื่องหมายเตือนสติให้ทุกคนตั้งมั่นอยู่ในคุณธรรมความดี พิธีมัดมือทำได้ทั้งในทางเยียวยา เช่น ยามเจ็บไข้ได้ป่วย การพลัดพรากจากกัน ต้องเดินทางที่อาจเผชิญกับอันตราย และในทางป้องกัน คือ อวยชัยให้พร ยินดีต้อนรับ ดังนั้นจึงเห็นว่า คนปกาเกอญอทำพิธีมัดมือบ่อย




การตัดสินใจโยกย้ายถิ่นฐานมาทำงานที่อำเภออุ้มผาง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะประชากรส่วนใหญ่ของที่นี่เป็นชาวปกาเกอญอ ดิฉันได้เริ่มงานโดยเลือกหมู่บ้านทีจอชี ตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก เป็นหมู่บ้านนำร่องและใช้วิธีการทำงานเหมือนเป็นญาติกับคนในชุมชนเช่นเดิม คราวนี้ไม่เฉพาะตัวดิฉันเอง แต่รวมทั้งลูกที่อยู่ในท้องและพ่อของลูกที่หอบหิ้วกันเข้า ๆ ออก ๆ บ้านทีจอชีจนคุ้นเคยเสมือนเป็นสมาชิกครอบครัวหนึ่งของชุมชน


ครั้งแรกที่ดิฉันมีโอกาสสัมผัสกับประสบการณ์มัดมือของชาวปกาเกอญอโดยตรง เมื่อฤดูฝนของสองปีก่อน ดิฉันได้พาเพื่อน ๆ จากกรุงเทพฯ เข้าหมู่บ้านทีจอชี ซึ่งก่อนจะถึงที่ตั้งบ้านเรือน ต้องข้ามลำห้วยใสสะอาดอันเป็นความหมายของชื่อ "ทีจอชี" ลำห้วยสายเล็ก ๆ ที่ไหลเอื่อยในยามแล้ง กลับเชี่ยวกรากเพราะฝนตกและน้ำป่าไหลบ่า สะพานข้ามลำห้วยมีเพียงไม้ไผ่สองลำผูกติดกัน กับราวจับทำด้วยไม้ไผ่ที่แสนจะง่อนแง่น ดิฉันข้ามสะพานต่อจากน้องที่เป็นล่าม ซึ่งข้ามไปรออยู่อีกฝั่ง ขณะเดินไปถึงครึ่งทาง ราวจับเกิดหลุดติดมือ แรงเหวี่ยงของมันหวดดิฉันตกลงไปในลำห้วย ยังดีที่เกาะไม้ไผ่ที่เป็นตัวสะพานเอาไว้ได้ กระแสน้ำได้กดให้ดิฉันจมลงไปสองถึงสามครั้ง ด้วยความที่ว่ายน้ำไม่เป็นดิฉันจึงตกใจจนทำอะไรไม่ถูก ชายหนุ่มของดิฉันกระโดดลงไปแล้วบอกให้ตั้งสติก่อนดันตัวขึ้นบนสะพานอีกครั้ง แล้วค่อย ๆ นั่งคืบไปบนสะพานจนข้ามฝั่งได้


ดิฉันในสภาพตัวเปียกโชกและมีอาการขวัญหนีดีฝ่อ อาศัยนั่งขดอยู่ข้างเตาไฟที่บ้านของลุงจอวาเอ ผู้นำตามธรรมชาติของหมู่บ้าน ลุงจอวาเอให้คนไปตามพ่อหมอผู้มีหน้าที่ทำพิธีประจำหมู่บ้านมาตรวจอาการของดิฉัน พ่อหมอบอกว่า ขวัญไม่อยู่กับตัว ต้องไปตามกลับมาจากข้างลำห้วย แล้วแกก็หาด้ายขาวขนาดยาวพอสมควรมาผูกติดกับปลายไม้แหลม เดินไปเรียกขวัญ พอกลับมาพ่อหมอว่าคาถาพร้อมกับนำด้ายที่ปลายไม้มาคล้องที่คอและผูกข้อมือเพื่อให้ขวัญกลับมาอยู่กับเนื้อกับตัวดิฉัน


พิธีมัดมือครั้งใหญ่ของบ้านทีจอชี คือ ส่วนหนึ่งของงานออบือซอโคะหรือกินข้าวใหม่ หลังฤดูกาลเก็บเกี่ยวเพื่อแสดงความกตัญญูต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ช่วยให้การผลิตในปีที่ผ่านมาลุล่วงไปด้วยดี รายละเอียดของงานดังกล่าว ดิฉันเคยเขียนไว้ในคอลัมน์เดียวกันนี้ ในสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ 54 ฉบับที่ 24 วันศุกร์ที่ 9 – พฤหัสบดีที่ 15 มีนาคม 2550 หน้า 71-72 พิธีมัดมือในครั้งนั้น ดิฉันเข้าร่วมในฐานะแขกที่มาเยือน ชาวบ้านส่วนใหญ่จึงพากันมามัดมือให้จนด้ายขาวเต็มข้อมือ เพราะเชื่อกันว่า เป็นการยินดีต้อนรับและทำให้กลายเป็นญาติสนิท ไปมาหาสู่กันต่อไปอีกนาน


ล่าสุดเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2550 ดิฉันพร้อมกับครอบครัวเดินทางเข้าหมู่บ้านทีจอชีอีกครั้ง คราวนี้เป็นการพาลูกชายวัย 7 เดือนเข้าไปร่วมเรียนรู้การทำงานกับพ่อแม่ เจ้าต้นหนาวก็ไม่ได้ทำให้ผิดหวัง โดยยินยอมให้ภรรยาของลุงจอวาเออุ้มเดินเที่ยวละแวกบ้าน ยอมให้คุณป้าอีกท่านอุ้มตอนที่พ่อแม่กินข้าว และทำท่าชอบพอกับจอเด ลูกชายคนที่สามของลุงจอวาเออีกด้วย แถมในวันนั้น พวกเราโชคดีมากที่บังเอิญเข้าไปในวันที่มีพิธีมัดมือครอบครัวเรณู บุตรสาวคนโตของลุงจอวาเอ เนื่องจากหมอผีประจำหมู่บ้าน ทำนายทายทักว่าต้องมัดมือเพื่อให้ครอบครัวอยู่เย็นเป็นสุข


ขณะที่พวกเราไปถึงเป็นช่วงกำลังจะเริ่มพิธี หมอผู้ทำพิธีจะว่าคาถาต่อหน้าเรณู สามีและลูกชาย ช่วงนั้นลุงจอวาเอและคนอื่น ๆ ในครอบครัวจะตระเตรียมอาหารและขนมสำหรับคนในหมู่บ้านที่ทยอยกันมาร่วมงาน ตอนที่รอหมอทำพิธีถือเป็นช่วงเวลาไถ่ถามสารทุกข์สุขดิบ แลกเปลี่ยนเรื่องราวที่เกิดขึ้นทั้งภายในและภายนอกหมู่บ้าน ดิฉันอาศัยเวลาช่วงนี้ฉายวีซีดีเรื่องไร่หมุนเวียนที่ได้รับความอนุเคราะห์จากชุมชนคนรักป่า จากนั้นมีการพูดถึงขอบเขตที่ทำกิน การเพาะปลูกในฤดูกาลนี้ รวมถึงแผนที่ทำงานร่วมกันต่อไป


หลังจากหมอทำพิธีมัดมือให้ทั้งครอบครัวของเรณู ก็ถึงคราวของผู้ช่วยหมอที่เป็นหญิงชราสองคน ตามด้วยลุงจอวาเอ ภรรยาและแม่ยาย แล้วจึงถึงคิวของคนอื่น ๆ ที่มารออยู่และทยอยกันมาเรื่อย ๆ การมัดมือครั้งนี้จึงเป็นเหมือนการรวมคนในหมู่บ้านให้มาทำกิจกรรมร่วมกัน พอแขกคนสุดท้ายมัดมือเสร็จ เป็นเวลาใกล้เที่ยงพอดี ทุกคนจึงร่วมรับประทานอาหารกลางวันกันที่บ้านลุงจอวาเอ อาหารมื้อพิเศษวันนี้เป็นสารพัดเมนูที่ทำจากเนื้อไก่ ส่วนขนมก็คือ มะโตปิ (ข้าวเหนียวตำคลุกงา)


การได้ร่วมพิธีมัดมือต่างวาระกันทั้งสามครั้ง เป็นบทพิสูจน์คำของพ่อปรีชาที่ว่า ชาวปกาเกอญอมัดมือในโอกาสของการเจ็บไข้ได้ป่วย การต้อนรับขับสู้ และการอวยชัยให้พร นอกเหนือจากนั้น ดิฉันยังประจักษ์ด้วยตนเองถึงพลังของความรัก ความสามัคคีและน้ำใจไมตรีที่เปี่ยมล้นอยู่ในจิตใจของพี่น้องชาวบ้าน สมดังคำที่ว่า "ปกาเกอญอ ข้าคือคน"