Skip to main content

ทางรักสีรุ้ง

คอลัมน์/ชุมชน



























































































































ถึงผู้อ่านที่รัก

 

กราบขออภัยก่อนเลยนะคะคุณผู้อ่านที่รักขา เห็นชื่อเรื่องแล้วคุณผู้อ่านที่รักทั้งหลายอาจจะคิดว่า เอ๊ะ นี่มันละครช่องไหนกัน เล่นปีไหน เดือนไหนเหรอ ทำไมชื่อมันไม่คุ้นเลยสักกะนิด ก็เพราะมันไม่ใช่ละครน่ะสิคะ มันเป็นหนังแผ่น (หรือหนังวีซีดีตามภาษชาวบ้านอย่างดิฉัน) ที่ดิฉันต้องขอนอกคอนเซ็บต์สักเล็กน้อย ดิฉันก็ขอกราบขอโทษคุณผู้อ่านที่รักไว้ก่อนนะคะ แต่ดิฉันก็อดไม่ได้ เดี๋ยวตกเทรนด์ ( trend ) ก็เพราะว่าตอนนี้คอลัมน์ของประชาไท มีแต่เรื่องแนว sex (uality ) and gender เต็มไปหมด นับไปนับมาก็มากกว่าห้าคอลัมน์แล้วมั๊งคะ ดิฉันก็เลยงงว่าที่นี่มันเป็นเว็บเกี่ยวกับอะไรกันแน่ ทำไมเรื่องพวกนี้ฮิตกันเหลือเกิน (นี่ไม่นับรวมประเด็นในเว็บบอร์ดด้วยนะคะเนี่ย ) มีทั้งเรื่องผู้หญิง เรื่องเกย์ เรื่องหญิงรักหญิง (ดิฉันใช้คำนี้ได้ใช่ไหมคะ เดี๋ยวจะหาว่าดิฉันใช้คำไม่สุภาพ )

 

ดิฉันก็เป็นพวกกลัวตกกระแสเป็นที่สุด ก็เลยต้องหยิบเรื่องอะไรที่มันเกี่ยวข้องขึ้นมาเขียนสักหน่อย แต่คุณผู้อ่านที่รักทั้งหลายก็อย่าคาดหวังอะไรมากนะคะกับคอลัมน์ของดิฉัน ดิฉันก็ลูกแม่ค้าธรรมดา ๆ เขียนหนังสือก็ไม่แตก ทั้งภาษาพูดภาษาเขียนปนกันเละตุ้มเป๊ะไปหมด ประเด็น ก็ไม่เป็น " วิชาการ" สักเท่าไหร่ ไม่มีหนังสือฝรั่งหรือบรรณานุกรมมาอ้างอิงซะด้วยสิ ไม่สามารถตั้งประเด็นที่เฉียบแหลมได้สักเท่าไหร่ ยังไง ๆ ก็ให้อภัยดิฉันด้วยนะคะ เห็นแก่ผู้หญิงสวย ๆ คนนี้สักคนก็แล้วกัน

 






หนังแผ่นที่ดิฉันจะเขียนถึงก็ไม่ใช่น้องแนทนะคะ โปรดอย่าเข้าใจผิด ถึงแม้ตอนนี้จะฮิตเหลือเกินก็ตามที เรื่องน้องแนทน่ะ เอาไว้เม้าท์เล่น ๆ ดีกว่าว่า อุ๊ยตายนี่เหรอเด็ก 19 อุ๊ยนี่เหรอไม่เต็มใจถ่าย อุ๊ยพอดีกว่าค่ะ เดี๋ยวจะนอกเรื่องไปใหญ่ หนังแผ่นเรื่องที่ดิฉันจะชวนให้คุณผู้อ่านที่รักมาดูกันวันนี้ก็คือเรื่อง "







ทางรักสีรุ้ง" ค่ะ ซึ่งเป็นหนังของบริษัท ฟิล์มตะวันออก บทภาพยนตร์โดย home sweet home และกำกับการแสงโดย ยุทธนา ขุนคงเสถียร
 

ก่อนที่จะเข้าไปสำรวจเรื่องราวของหนังเรื่องนี้ ดิฉันขอตั้งข้อสังเกตเล็กน้อยเกี่ยวการปรากฏตัวของหนังแผ่นนอกกระแสเรื่องนี้เสียก่อนว่า การสร้างหนังเรื่องนี้ท่ามกลางกระแสฮิตหนังแนวอีโรติก (?) นั้น ผู้สร้างคงคิดเตรียมตัวเตรียมใจกับการที่หนังเรื่องนี้อาจจะ " ขายไม่ได้" ไว้แล้ว แต่น่าจะคิดได้ว่าบางทีผู้สร้างอาจจะไม่ได้คิดเพื่อที่จะขายให้ได้อย่างเดียว บางทีการปรากฏตัวของหนังเรื่องนี้อาจจะเป็นเหมือนการพยายามที่จะแหวกออกจากกรงของหนังแผ่นตามกระแสที่จะให้คนดูมีทางเลือก (แต่อาจจะไม่เลือก) มากขึ้น และเมื่อเราดูที่เนื้อหา ประเด็นของหนัง รวมทั้งนักแสดงที่มาสวมบทบาทในหนังเรื่องนี้แล้ว คงน่าจะเดาความคิดของผู้สร้างได้ว่าประเด็นเรื่องการขายให้ได้คงไม่ใช่ประเด็นหลัก แต่จุดสำคัญคงอยู่ที่เรื่องราวที่อยากจะนำเสนอเสียมากกว่า

 

ทางรักสีรุ้งเริ่มเรื่องที่ ดีเจวิเวียนหรือหวานในชื่อจริง (เชอรี่ ผุงประเสริฐ) นักจัดรายการวิทยุ " ชั่วโมงแห่งความรัก" เธอเป็นหญิงสาวที่ยอมรับว่าตัวเองเป็น " ทอม" และจัดรายการที่เป็นการตอบปัญหาเรื่องความรัก แต่ปรากฏว่าในระยะหลัง ๆ คนฟังที่โทรมามักจะถามปัญหาเรื่องความรักของพวกรักร่วมเพศเป็นส่วนมาก จนเป็นเหตุให้รายการถูกเลื่อนไปจัดในตอนดึก

 

อุ๋ย (สินิทรา บุญยศักดิ์ ) แฟนเก่าของหวานสมัยเรียนมหาวิทยาลัย แต่เธอไม่แน่ใจในตัวเธอเองว่าชอบผู้หญิงหรือผู้ชายกันแน่ เธอไปมีแฟนเป็นผู้ชาย แต่ก็มีปัญหาจนถึงกับแยกทางกัน เพราะเธอมีความรู้สึกว่าไม่อยากให้แฟนของเธอถูกเนื้อต้องตัว จนเป็นเหตุให้แฟนของเธอไปมีแฟนใหม่ อุ๋ยได้เจอกับหวานอีกครั้งในการอัดสปอตโฆษณา เธอพยายามหนีความรู้สึกของเธอเอง โดยปฏิเสธหวานว่าที่ผ่านมาเป็นเพราะเธอยังเด็กเกินไปที่จะรู้จักตัวเอง แต่ในที่สุดเธอก็ค้นพบว่าเธอรักหวาน แล้วเธอก็ยอมรับในความรู้สึกของตัวเอง แล้วกลับมารักกับหวานอีกครั้ง

 

แมน (ต่อ นันทวัฒน์) เด็กหนุ่มที่สับสนในตัวเองว่าแท้จริงแล้วตัวเองเป็นเกย์หรือไม่ จนเมื่อเขาได้พบกับบี๋ (บดินทร์ ดุ๊ก) เกย์รุ่นใหญ่ที่เป็นที่รู้จักในวงการแฟชั่นที่เพิ่งเลิกรากับแฟนหนุ่มของตัวเอง แมนเริ่มมีความรู้สึกชอบบี๋อยู่ลึก ๆ จนในที่สุดก็ยอมเปิดเผยความรู้สึกตัวเองต่อบี๋ จนเป็นเหตุให้ที่บ้านทราบ พ่อของแมนเป็นทหารและรับไม่ได้กับการที่ลูกชายของตนเองมาเป็นเกย์ จึงขังแมนไว้ในบ้านไม่ยอมให้ออกไปไหน จนในที่สุดแมนก็ตัดสินใจหนีออกจากบ้าน แต่สุดท้ายก็พบว่าแท้จริงแล้วบี๋ไม่ได้ชอบตัวเอง จึงอกหัก แล้วชีวิตของแมนก็เดินไปตามเส้นทางของชีวิตที่ตนเองเป็นคนเลือกต่อไป

 

ตลอดทั้งเรื่อง ทางรักสีรุ้ง เราจะได้ดูความเป็นไปของการค้นหาตัวเองและเรื่องราวความรักของคนทั้งสี่คนที่ได้ชื่อว่าเป็นพวก " รักเพศเดียวกัน" คือ หวาน อุ๋ย แมน บี๋ โดยที่หนังเรื่องนี้ได้พยายามสอดแทรกประเด็นความคิด ความต้องการ ของผู้คนเหล่านี้ที่ต้องการจะบอกกับสังคม และพยายามที่จะทำความเข้าใจกับพวกรักต่างเพศ ในประเด็นเรื่องความรักของคนที่รักเพศเดียวกัน โดยผ่านทั้งรายการวิทยุ " ชั่วโมงแห่งความรัก" ที่หวานเป็นดีเจที่คอยเสนอความคิดเห็นตามประเด็นปัญหาต่าง ๆ ที่ผู้ฟังเป็นคนโทรมาขอคำปรึกษา และการพูดคุยโต้เถียงกันระหว่างอุ๋ย กับหวานเป็นหลัก ความน่าสนใจอีกอย่างหนึ่งของเรื่องนี้คือบทบาทของตัวละครแต่ละคนในเรื่องที่สะท้อนประเด็นหรือสิ่งที่อยากบอกเล่าออกมา

 

หวาน ดีเจรายการวิทยุ " ชั่วโมงแห่งความรัก" หวานเป็นตัวแสดงแทนคนที่รักเพศเดียวกันที่ผ่านกระบวนการการยอมรับในตัวเอง และเข้าใจในความเป็นคนรักเพศเดียวกัน เธอเป็นเสมือนกับตัวแทนของคนเหล่านี้ที่พยายามออกมาอธิบายทำความเข้าใจแก่สังคม และคนที่ถือว่าเป็นคนปรกติที่มีความรักกับคนต่างเพศ และในขณะเดียวกันเธอก็เป็นเหมือนกับศิราณีที่พยายามจะช่วยผู้คนที่เป็นคนรักเพศเดียวกันเช่นเธอให้ค้นหา และยอมรับในตัวเอง เธอพยายามย้ำถึงประเด็นการค้นหา และถามใจตัวเองให้แน่ว่าแท้จริงแล้วตัวตนของตัวเองเป็นแบบไหน เหมือนอย่างที่เธอตอบคำถามในรายการวิทยุ และตั้งคำถามกับอุ๋ยแฟนเก่าของเธอ และพยายามทำให้ความเป็นคนรักเพศเดียวกันเป็นความปรกติโดยอาศัยความรักเป็นเหตุผลในการสนับสนุน

 

และนอกจากนี้เธอยังตอบโต้ประเด็นเรื่องที่สังคมมักจะโยนบาปอย่างง่าย ๆ ว่า การพูดถึงหรือนำเสนอเรื่องราวหรือบุคคลที่เป็นกลุ่มผู้รักเพศเดียวกันตามสื่อต่าง ๆ เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม เพราะอาจจะเกิดการลอกเลียนแบบ หรือเหมือนเป็นการเสี้ยมสอนให้คนมาเป็นรักร่วมเพศ ในกรณีที่เขาอาจจะยังไม่แน่ใจ (ซึ่งไม่รู้ว่าคนที่คิดคำถามนี้ขึ้นมาโง่หรือบ้ากันแน่ ? ) โดยที่เธอได้อธิบายถึงเรื่องดังกล่าวว่า การจะเป็นหรือไม่เป็นคนรักเพศเดียวกันนั้น ถ้าคนมันจะไม่เป็น บอกให้ตายอย่างไรก็ไม่เป็น แต่ถ้าคนที่เป็นอยู่แล้ว ไม่ต้องมีใครแนะใครสอน สุดท้ายเขาก็ต้องแสดงตัวออกมาเพื่อที่จะบอกกับพวกปรกติ (ที่ความคิดไม่ปรกติ ) ทั้งหลายที่ตั้งคำถามนี้ขึ้นมาว่า การเป็นเกย์ เป็นทอม เป็นตุ๊ด เป็นดี้ ฯลฯ นั้นไม่ใช่เพียงแค่นั่งอยู่หน้าโทรทัศน์ แล้วเห็นว่ามีคนเขาเป็นกันแล้วก็อยากจะเป็นตาม แต่เพราะมันเป็นอยู่แล้วโดยสายเลือด (อุปมาอุปไมยนะคะ ไม่ใช่หมายความว่าเป็นเพราะพ่อแม่เป็น) เพราะถ้าไม่เป็นอย่างนั้นพวกรักเพศเดียวกันก็คงเปลี่ยนมาเป็นรักต่างเพศกันหมด เพราะเห็นพวกรักต่างเพศออกมาเสนอตัวที่จอโทรทัศน์อยู่ทุกเมื่อเชื่อวันอยู่แล้ว จริงไหม?

 

สิ่งที่หวานได้พยายามบอกกล่าวในเรื่องนี้แก่คนดู ก็เป็นเสมือนกับความจริงที่คนรักเพศเดียวกันอยากจะบอก ทำความเข้าใจ แก่ผู้คนในสังคม แต่ในขณะที่อยากจะทำความเข้าใจกับพวกรักเพศเดียวกัน ที่ถือเป็นหญิงชายปรกติในสังคม เธอกลับ " พลาด" การทำความเข้าใจคนเหล่านี้ไปอย่างน่าเสียดาย ดังที่เธอให้ความคิดเห็นในรายการวิทยุในตอนแรกของเรื่องที่ผู้หญิงคนหนึ่งโทรมาปรึกษาว่าเธอไม่แน่ใจในตัวแฟนหนุ่มของเธอ เขาและเธอคบกันมานานแต่แฟนหนุ่มของเธอไม่เคยมีอะไรกับเธอซักที หวานให้ความคิดเห็นไปว่า ผู้หญิงอยากเสียความบริสุทธิ์เร็วนัก มันจะเรียกว่าความรักจริงๆ หรือ ?

 

ความคิดเห็นของหวานต่อข้อสงสัยของผู้หญิงคนหนึ่ง กลับเป็นความคิดเห็นที่ตื้นเขิน และหยิบยืมทัศนคติในระบบสังคมชายเป็นใหญ่มาใช้ ที่ยังนำประเด็นเรื่องความรักมาผูกไว้กับความเป็นผู้หญิงดี และความเป็นคนดี ทั้ง ๆ ที่ระบบความคิดแบบเดียวกันนี้เป็นสิ่งที่คนรักเพศเดียวกันกำลังต่อต้าน และประเด็นเรื่องเพศสัมพันธ์ก็เป็นประเด็นหลักที่กลุ่มคนรักเพศเดียวกันยังหนีไม่พ้น แต่เธอไม่ยอมมองเรื่องนี้ย้อนกับมาที่ตัวเองเพื่อที่จะอธิบายตัวตนของกลุ่มคนอย่างเธอให้หนีออกจากวาทกรรมแห่งความเป็น (ผู้หญิง) คนดีที่ยังกดกลุ่มคนรักเพศเดียวกันในความผิดบาปของพฤติกรรมทางเพศ ทั้ง ๆ ที่ตัวเธอเองก็ยังใช้วาทกรรมความรักเพื่อปกป้องตัวเองและการทำความเข้าใจกับคนอีกขั้วหนึ่ง แต่เธอเองกับเป็นคนที่ไม่เข้าใจมันซะเอง และมิหนำซ้ำยังใช้ประเด็นนี้มาด่าผู้หญิง (ปรกติ) โดยที่ไม่รู้สึกรู้สาว่ามันย้อนเข้าสู่ตัวเธอเองด้วยทั้งหมด

 

ไม่เพียงแค่นั้น ตัวละครอย่างหวานที่ดูเหมือนว่าจะเป็นคนที่เข้าใจในความเป็นคนรักเพศเดียวกันดีที่สุดในเรื่อง และสามารถหนีพ้นเข้ามาสู่ความเป็นตัวเองได้แล้ว และกำลังต่อสู้เพื่อระบบความคิดที่ถูกควรให้กับกลุ่มคนรักเพศเดียวกัน กลับกลายเป็นคนที่ยัง " คิดไม่ตก" กับความเป็นตัวเองไป ในตอนที่เธอพูดออกอากาศว่า " ทุกวันนี้เราก็เห็นว่ามีคนเป็น เกย์ เลสเบี้ยน ถูกปิดกั้นจากสังคม จริง ๆ แล้วเราเลือกเป็นกันได้เหรอ เรามีทางเลือกเหรอ? เราเลือกที่จะหลบซ่อน หลอกตัวเอง สุดท้ายเราก็เป็นคนที่ต้องการความรักเหมือนคนทั่วไป"

 

คำพูดของหวานข้างต้นอ่านแล้วดูเหมือนว่าน่าเห็นใจ และเธอก็พูดถูก แต่ถ้าพิจารณาให้ดีแล้วจะเห็นว่าเธอเป็นคนที่ยังไม่สามารถยอมรับในความเป็นคนรักเพศเดียวกันได้ และรู้สึกผิดบาปในใจอย่างลึก ๆ เลยไปถึงความไม่ภาคภูมิใจและไม่อยากจะเป็นในสิ่งที่เธอเป็น โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องการเลือกเป็นที่เธอบอกว่าเธอไม่มีทางเลือก

 

การเป็นทอมของเธอจึงเหมือนกับความผิดที่เธอเลือกเป็นผู้หญิงไม่ได้ เพราะถ้าเธอเลือกเป็นได้เธอคงไม่เป็นทอม แทนที่เธอจะมองตัวตนของเธอเองเป็นสิ่งที่เธอเป็นอยู่แล้ว หรือเลือกที่จะเป็นอยู่แล้ว ความคิดของเธอความเป็นผู้หญิงผู้ชายจึงเป็นความคิดที่ถูกกดทับด้วยเพศสรีระ ความเป็นผู้หญิงผู้ชายตามความหมายของสังคม โดยที่แท้จริงแล้วเธอนั่นแหละที่ไม่เข้าใจอะไรเลยกับสิ่งที่เธอเป็น แต่เที่ยวหลอกตัวเองโดยการไปสอนคนอื่นให้เข้าใจ

 

ตัวละครอีกตัวที่เหมือนกับเป็นทางผ่านของคำถามทุกข้อของสังคม เพื่อให้หวานเป็นคนตอบ และเป็นตัวละครที่น่าสนใจ ในเรื่องการพยายามค้นหาในสิ่งที่ตัวเองเป็น คือ อุ๋ย

 

อุ๋ย เป็นอดีตแฟนของหวานตั้งแต่สมัยมหาวิทยาลัย แต่เธอเริ่มไม่แน่ใจในการเป็นคนรักเพศเดียวกันของตัวเอง จึงเลิกรา แล้วมีแฟนเป็นผู้ชายในที่สุด หนังเรื่องนี้ได้วางเรื่องราวการหาตัวตนของผู้หญิงอย่างอุ๋ยไว้อย่างน่าสนใจ โดยทำให้เราได้เห็นว่าเธอเคยเป็นแฟนกับผู้หญิงมาก่อน แล้วไปมีแฟนเป็นผู้ชาย แล้วเธอก็เริ่มสับสน พยายามหนี (ใจ) ตัวเอง จนในที่สุดเธอก็ค้นพบว่าเธอรักผู้หญิงด้วยกันคือหวาน

 

แต่ประเด็นในการที่เธอได้ค้นพบว่าเธอรักผู้หญิงด้วยกันนั้น หนังเรื่องนี้ได้ใช้ความรู้สึกของอุ๋ยที่มีต่อผู้ชายไว้ว่า เธอคิดว่าผู้ชายทั่วไปไม่เข้าใจผู้หญิง ผู้ชายส่วนมากเอาตัวเองเป็นจุดศูนย์กลาง ไม่พยายามเข้าใจความรู้สึกของผู้หญิง บางทีที่เธอมีความรู้สึกดีกับแฟนของเธอ และเขาพยายามที่จะมีอะไรกับเธอ แต่เธอก็ไม่อยากจะให้เขาถูกเนื้อต้องตัว

 

คำอธิบายความรู้สึกของอุ๋ยต่อผู้ชาย (แฟนของเธอ) เป็นเหมือนเหตุที่นำเธอค้นพบตัวตนของตัวเองในที่สุด แต่น่าเสียดายที่ด้วยคำอธิบายชุดนี้กลับทำให้กระบวนการการหาตัวตนของคนรักเพศเดียวกันอย่างอุ๋ยกับดูไม่ลุ่มลึก และดูว่างเปล่าไม่หนักแน่นในความเป็นคนรักเพศเดียวกัน ที่สังคมเรียกตัวเธอว่า " ดี้" เนื่องจากว่าคำอธิบายดังกล่าวเป็นเหมือนกับว่าที่เธอกลับมารักผู้หญิงด้วยกัน เพราะเธอเกลียดผู้ชาย ผู้ชายเป็นเพศที่เห็นแก่ตัว ไม่เข้าใจผู้หญิง รู้สึกต่อต้านที่จะมีอะไรกับผู้ชาย โดยที่ละครได้ทำให้เราเห็นว่าแฟนของเธอนั้น เป็นผู้ชายที่สำมะเลเทเมา ไม่เอาไหน บ้าบอล หลีหญิง ไม่มีความเป็นสุภาพบุรุษ คือไม่น่าที่จะรักเอาเสียเลย

 

แล้วเธอก็เลยใช้คำอธิบายต่อแฟนของเธอเป็นเหตุหลักในการคิดได้ว่าแท้จริงแล้วเธอรักผู้หญิงด้วยกัน ดูเหมือนกับว่าที่เธอเป็นดี้เพราะผู้ชายเป็นสิ่งที่ไม่น่ารัก และไม่สามารถทำให้เธอรักได้ ไม่ใช่ว่าที่เธอเป็นเช่นนั้นเพราะตัวเธอที่เป็นอยู่แล้ว และรักที่เป็นเช่นนั้น โดยเฉพาะการสร้างตัวละครแฟนของเธอขึ้นมาในลักษณะดังกล่าว ยังทำให้เราสามารถคิดกลับกันได้อีกว่า ถ้าเธอเจอผู้ชายที่ดี เอาอกเอาใจ น่ารัก เป็นสุภาพบุรุษเพียงพอ บางทีเธออาจจะไม่รู้สึกต่อต้านผู้ชาย และอาจจะเป็นพวกรักต่างเพศต่อไปก็เป็นได้ ในขณะที่หนังเรื่องนี้พยายามที่จะสื่อสารในประเด็นเรื่องการค้นหาตัวตนของตัวเองสำหรับคนรักเพศเดียวกัน แต่หนังกลับทำให้ประเด็นนี้ในเรื่องให้อ่อนด้อยเป็นที่สุด

 

ตัวละครหลักของเรื่องที่มีความสำคัญมากอีกคน เหมือนกับเป็นภาพเดียวกันกับอุ๋ยในภาคที่เป็นเพศชาย คือ แมน แมนเป็นเด็กหนุ่มหน้าตาดีคนหนึ่ง ที่เข้ามาเดินแบบงานการกุศลให้สมาคมแม่บ้านสามเหล่าทัพ เพราะครอบครัวของแมนนั้น พ่อซึ่งเป็นหัวหน้าครอบครัวนั้นมีอาชีพเป็นทหาร แมนเป็นอีกคนหนึ่งที่สับสนในตัวเองว่าตนเองเป็นเกย์หรือไม่ จนถึงขั้นกลัวที่จะเป็นเกย์ แต่เมื่อแมนได้พบกับบี๋ หนุ่มใหญ่ในวงการแฟชั่น แล้วความรู้สึกชอบผู้ชายของแมนก็ก่อตัวขึ้นอย่างเงียบ ๆ จนในที่สุดแมนก็ยอมรับในตัวเองและเปิดเผยความรู้สึกที่ตนเองมีกับบี๋ แต่ต้องผิดหวังเพราะบี๋เพียงแค่คิดว่าแมนเป็นคนรักเก่าของตัวเอง แล้วเหตุการณ์ครั้งนี้ก็ทำให้ชีวิตของแมนพลิกผัน มีปัญหากับผู้เป็นพ่อ จนแมนตัดสินใจหนีออกจากบ้านแล้วเดินตามเส้นทางของชีวิตการเป็นเกย์ของตัวเองอย่างเต็มตัว

 

แมนก็เหมือนกับอุ๋ย คือพยายามที่จะค้นหาตัวตนของตัวเอง เพื่อที่จะยอมรับมันในที่สุด แต่ในกรณีของแมนเป็นการต่อสู้กับความรู้สึกของตัวเอง ด้วยตัวเอง ความรู้สึกที่เกิดรักเพศเดียวกัน หนังเรื่องนี้เกือบจะทำให้เรื่องราวการค้นหาตัวเองของเกย์อย่างแมนสมบูรณ์ แต่สุดท้ายกับพังลงอย่างไม่เหลือดี ด้วยการอธิบายความเป็นเกย์ของแมนกับหลักจิตวิทยา คือการเลี้ยงดูที่เข้มงวดจากพ่อที่เป็นทหาร การชอบแต่งตัวเป็นผู้หญิงในสมัยเด็ก ๆ ซึ่งเหมือนกับพล็อตเรื่องเดิม ๆ ที่ได้ยินได้ฟังมาไม่รู้กี่ร้อยกี่พันหน

 

จริงอยู่ที่ " เรื่องเล่า" ในแบบฉบับนี้มีความเป็นจริงที่สามารถอ้างถึงได้ และเกิดขึ้นจริงในสังคม แต่การสร้างหรือสถาปนาความจริงของการเป็นเกย์ที่อิงหลักจิตวิทยาคือการเลี้ยงดูในสมัยเด็ก หรือสภาวะแวดล้อมปัจจัยภายนอกต่าง ๆ นานามาสนับสนุนความเป็นเกย์ กลับเป็นการทำให้การเป็นเกย์นั้นไม่ได้ขึ้นอยู่ที่ระดับปัจเจกของคน คือเจตจำจงเสรีที่จะเป็นในแบบของตัวเอง แต่กลับโยนให้เป็นเรื่อง " ความผิดปรกติ" ของการเลี้ยงดู ของปัจจัยที่สามารถควบคุมไม่ให้มันเกิดได้

 

การกระทำเช่นนี้จึงเป็นการผูก " ความเป็นเพศที่ผิดปรกติ" ไว้กับเกย์ จนทำให้ไม่สามารถหนีออกจากเรื่องเล่าที่ซ้ำ ๆ ซาก ๆ เหล่านี้ออกไปได้ การเป็นเกย์ของคน ๆ หนึ่งจึงถูกทำให้เป็นเรื่องที่พ่อแม่ต้องหันกลับมาคิดว่าเลี้ยงลูก " ผิดแบบ" อย่างไร เลยเถิดไปจนถึงการควบคุมระบบความเป็นหญิงความเป็นชายในวัยเด็ก เพื่อที่ป้องกันปัญหาลูกจะเป็น " คนผิดเพศ" เมื่อโตขึ้น ในขณะที่เกย์เองพยายามที่หนีออกจากวาทกรรมเรื่องการเป็นคนผิดเพศ หรือเพศที่ไม่ปรกติ เพื่อที่จะประกาศตัวเองหรือความเป็นเกย์ว่า เป็นแค่เพียงอีกประเภทหนึ่งของเพศ แต่หนังเรื่องนี้กลับทำให้ภาพของความเป็นเกย์ถอยเข้าสู่ระบบความคิดสองเพศ และเพศที่ปรกติเข้าไปมากกว่าเดิม ซึ่งสวนทางกับสิ่งที่ตัวหนังและความตั้งใจในประเด็นที่ต้องการและพยายามจะสื่ออย่างรุนแรง

 

ตัวละครสุดท้ายที่ไม่พูดถึงคงไม่ได้ คือ บี๋ บี๋เป็นเกย์รุ่นใหญ่ที่เปิดเผยตัวเองต่อสังคมมานาน และเพิ่งเลิกรากับแฟนหนุ่มได้ไม่นาน ตัวละครอย่างบี๋ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นภาพแสดงแทนความเป็นเกย์ในเรื่องอื่น ๆ ที่หลุดพ้นจากการหาตัวตนของตัวเองมาแล้ว เหมือนที่บี๋ได้พูดไว้ถึงเหตุผลที่ทำไมตัวเองจึงกล้าเปิดเผยว่าตัวเองเป็นเกย์ว่า " เพราะถ้าตัดสินใจที่จะเป็นเกย์ จะต้องเตรียมตัวยอมรับในเรื่องยุ่งยากที่จะเข้ามาในชีวิต" บี๋จึงเป็นเหมือนตัวอย่างเกย์รุ่นใหญ่ที่ฉายภาพความเป็นเกย์ให้เราได้ดู ดังเช่นในเรื่องของความรัก และตัวละครอย่างบี๋ก็ถูกสร้างเพื่อให้เป็นแบบอย่าง หรือสุภาษิตสอนเกย์ โดยเฉพาะในเรื่องความสัมพันธ์เรื่องเพศ

 

ดังที่บี๋ได้พูดไว้ว่า " อกหักก็เหมือนกับด่านแรกของการเป็นเกย์ และจะเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่เราก็จะไม่ทำให้ชีวิตเละเทะ " เราจึงเห็นในเรื่องว่าถึงแม้แมนจะมีความรู้สึกชอบบี๋ แต่บี๋ยังรักอยู่กับแฟนเก่า จึงไม่สามารถจะมามีความสัมพันธ์กับแมนได้ ภาพแสดงความเป็นเกย์อย่างบี๋จึงเสมือนกับถูกสวมไว้ด้วยระบบความคิดเรื่องผัวเดียวเมียเดียวตามแบบสถาบันครอบครัวของหญิงชายโดยความตั้งใจ เพื่อที่จะฉายภาพเกย์ที่ดี ไม่มั่ว รักเดียวใจเดียว ภักดีต่อระบบผัวเดียวเมียเดียว เพื่อปกป้องความเสียหายของเกย์จากเรื่อง การมั่วเซ็กส์ แล้วนำวาทกรรมเรื่องความรักอย่างระบบหญิงชายมาใช้แทน โดยที่ไม่ยอมอธิบายถึงความเป็นเกย์ในความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในสังคมอย่างแจ้งชัด และแสดงความเป็นตัวเองออกมาโดยไม่ผ่านระบบความคิดอย่างหญิงชายที่ความเป็นคนรักเพศเดียวกันต้องการหลุดพ้นจากวาทกรรมของพวกดังกล่าว

 

ประเด็นหลักของหนังแผ่นเรื่องทางรักสีรุ้ง คงจะเป็นสองเรื่องใหญ่ ๆ คือ การหาตัวตนของคนรักเพศเดียวกัน และความพยายามที่จะสื่อสารถึงความเป็นเพศที่ปรกติต่อผู้คนในสังคม ในประเด็นแรกนั้นจากที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้นคงพอที่จะมองได้ว่า หนังเรื่องนี้ได้ทำหน้าที่ของมันอย่างสมบูรณ์หรือไม่ ส่วนในประเด็นที่สองนั้น หนังเรื่องนี้ได้หลบเลี่ยงการปะทะทางความคิดเรื่องความเป็นเพศกับขั้วหญิงชายโดยสิ้นเชิง แต่ได้นำเสนอออกมาในรูปแบบที่นุ่มนวล เชิงขอร้อง ขอความเห็นใจ โดยใช้เรื่อง " ความรัก" มาเป็นตัวอธิบายทุกสิ่งทุกอย่างของความเป็นเพศ และใช้ความรักในการนำตัวเองขึ้นมาให้มีสถานะทางสังคมเท่าเทียมกับระบบหญิงชายทั่วไป และใช้ความรัก " พาสเจอร์ไรซ์" เรื่องเพศของตนเองออกไปจนหมดสิ้น

 

ประเด็นการต่อสู้กับระบบสองเพศที่กดขี่คนเหล่านี้จึงหนีหาย และล้มเหลวอย่างน่าเสียดาย ความพยายามที่จะทำความเข้าใจในเรื่องของความเป็นเพศของผู้คนเหล่านี้ ก็ไม่ได้ก้าวหน้าไปไหน และมิหนำซ้ำยังถอยหลังลงคลองเสียด้วยในบางประเด็น ตัวตนของตนเองที่พยายามจะนำเสนอก็ถูกสวมความเป็นเพศของระบบหญิงชายเข้าไปโดยที่ไม่รู้ว่าตั้งใจหรือไม่ เหมือนในประเด็นหลักของเรื่อง ที่ยกความรักขึ้นมากลบทุกสิ่งทุกอย่าง จนละเลยความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในสังคม และตัวตนที่แท้จริงของตัวเองที่ต้องอธิบายเพื่อต่อสู้กับวาทกรรมระบบหญิงชายที่ต้องการพับผู้คนเหล่านี้ไว้ในมุมหนึ่งของโลก

 

ความรักไม่ใช่เรื่องผิด ไม่ว่าจะเป็นใคร เพศไหนอย่างไร แต่หนทางความรักสีรุ้งในหนังเรื่องนี้ไม่ใช่สิ่งที่จะช่วยแก้ต่างให้กับตัวเองได้เลยแม้แต่นิดเดียว ดีไม่ดีมันอาจจะเป็นเพียงแค่หนังรักเรื่องหนึ่งที่เผอิญพระเอกนางเอกไม่ใช่คู่หญิงชายเท่านั้น หรือว่าแท้จริงแล้วนี่คือเท่านั้นที่ต้องการจะบอก ซึ่งก็อาจจะน่าเสียดายไปนิดถ้าทั้งหมดมันเป็นแค่นั้นจริง ๆ