Skip to main content

ลอยแพ

คอลัมน์/ชุมชน

ไม่นานมานี้ ผมได้เจอกับรุ่นพี่ที่ไปทำธุรกิจเกวสเฮาส์ที่จังหวัดกระบี่อยู่หลายปี ได้นั่งพูดคุยกันหลายเรื่อง ทั้งประสบการณ์ในการทำธุรกิจท่องเที่ยวกับชาวต่างชาติ ไปจนถึงสถานการณ์บ้านเมือง ถามถึงการท่องเที่ยวช่วงนี้ รุ่นพี่ส่ายหัว ถอนหายใจ บอกว่า ตั้งแต่เจอกฎใหม่ นักท่องเที่ยวอยู่เมืองไทยได้แค่ 3 เดือน แล้วต้องไปอยู่ที่อื่นอีก 3 เดือนถึงกลับเข้ามาประเทศไทยได้ ก็ทำเอาพวกที่ชอบอยู่นานหลายเดือนหายหน้ากันไป แถวกระบี่ฝรั่งบางตาไปเยอะ ส่วนหนึ่งก็เพราะประเทศของเขาประกาศเตือนว่า ประเทศไทยยังมีสถานการณ์ไม่น่าไว้วางใจ

ช่วงนี้ของปีที่แล้วก็ยังได้หลายหมื่น แต่พอมาปีนี้แทบจะไม่ได้เลย พี่ก็เลยตัดสินใจปิดไปสักพักดีกว่า แวะมาเที่ยวทางเหนือบ้าง เดือนตุลาค่อยว่ากันอีกที…"


ธุรกิจการท่องเที่ยวช่วงนี้ก็คงจะเป็นไปเหมือนกันเกือบทั้งประเทศ นักท่องเที่ยวน้อยลง รายได้น้อยลง แต่รายจ่ายยังเท่าเดิม รายใหญ่ยังไงก็อยู่ได้ แต่รายย่อยต้องพยายามประคองตัวกันสุดชีวิต ส่วนใหญ่ก็พูดกันว่า หลังเลือกตั้ง ถ้าสถานการณ์บ้านเมืองดีขึ้นมาแล้ว อะไรๆ มันก็คงจะดีขึ้นมาบ้าง ทุกคนหวังให้เป็นเช่นนั้น เพราะถ้ามันไม่ดีขึ้น อะไรๆ มันจะยิ่งฉุดกันแย่ลงไปอีก


ล่าสุด ก็ดูเหมือนว่า ค่าเงินบาทที่แข็งตัวขึ้นก็ส่งผลกระทบให้เห็นกันแล้ว เช้าวันที่ 11 ..ที่ผ่านมา พนักงานกว่า 5,000 คนของบริษัท ไทยศิลป์ อาคเนย์ อิมพอร์ตเอ็กซ์พอร์ต ที่อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ก็ต้อง ช็อค ไปตามๆ กัน เมื่อมาทำงานตอนเช้าแล้วพบกับป้ายปิดกิจการ ที่ประตูโรงงาน ที่ต้องเรียกว่า ช็อค เพราะการปิดกิจการครั้งนี้ พนักงานไม่รู้ล่วงหน้าเลย แม้แต่หัวหน้าฝ่ายผลิต ก็มารู้เอาพร้อมกับพนักงานคนอื่นๆ สาเหตุคือ ผลกระทบจากค่าเงินบาทแข็งตัว การส่งออกมีปัญหา ออร์เดอร์จากลูกค้าลดลง โรงงานไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไป


สิ่งที่เกิดขึ้นก็เป็นไปตามอีหรอบเดิม คือพนักงาน ไม่ได้รับค่าแรงในช่วงที่ได้ทำไปแล้ว ไม่ได้รับค่าชดเชย ไม่ได้รับคำอธิบายใดๆ และแน่นอนคือ คงจะไม่ได้พบหน้าเจ้าของโรงงานอีกนาน


ในอดีตที่ผ่านมา นับตั้งแต่ประเทศไทยพัฒนาไปตามแนวทางอุตสาหกรรม แม้จะผ่านมานานหลายสิบปี ดูเหมือนว่า ระบบการคุ้มครองสวัสดิการ-รายได้ หรือการชดเชยให้แก่ลูกจ้างในกรณีเช่นนี้ รวมไปถึงการเอาตัว นายทุน เจ้าของกิจการมาร่วมรับผิดชอบ จะยังคงไม่ได้รับการพัฒนาแก้ไขไปมากเท่าใดนัก พอปิดโรงงานที พนักงานก็ต้องมานั่งประท้วงกันที เจ้าของโรงงานหายไปไหน ไม่มีใครรู้ ไม่มีใครตามตัวได้ แม้แต่เจ้าหน้าที่ของรัฐ แม้แต่คนที่รับผิดชอบโดยตรงอย่างกระทรวงแรงงาน พนักงานที่ถูกลอยแพ แม้จะได้เงินช่วยเหลือบางส่วนจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน แต่สำหรับอนาคตของแต่ละคน ก็ต้องตัวใครตัวมัน ใครตั้งหลักได้เร็ว ก็โชคดี แต่ไม่ใช่ทุกคนที่ทำได้อย่างนั้น


ชีวิตการทำงานโรงงาน สำหรับหลายๆ คนคงเป็นสิ่งสุดท้ายที่จะเลือกทำ แต่หลายๆ คนก็ไม่มีทางเลือกที่ดีกว่านี้ การศึกษาไม่สูง ไม่มีที่ทำกิน รายได้จากการเกษตรไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ และอีกร้อยแปดเหตุผลที่ผลักดันคนต่างจังหวัดเข้าสู่โรงงาน แม้รายได้จะเพียงแค่เลี้ยงปากเลี้ยงท้อง เสี่ยงต่ออุบัติเหตุ สารเคมี อันตรายสารพัดอย่าง แต่ก็ดีกว่าไม่มีงานทำ ปัญหาก็คือ เมื่อวงจรชีวิตได้ไปผูกติดกับโรงงานเสียแล้ว การสูญเสียงานและรายได้ไป มันก็เท่ากับสูญเสียวิถีชีวิตเดิมไปด้วย คนเราทำงานอะไรนานหลายปี จู่ๆ จะให้เปลี่ยนไปทำอย่างอื่น มันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย โดยเฉพาะเมื่อถูกบังคับให้เปลี่ยนแบบนี้ด้วยแล้ว


ทำใจยากนะครับ ชีวิตคนเรามันเต็มไปด้วยคำถามและการดิ้นรนอยู่แล้ว พอมาเจอกับเหตุการณ์โดนลอยแพกันยกโรงงานอย่างนี้ มันก็ตั้งหลักกันลำบาก ทั้งเรื่องของค่าแรง ค่าชดเชยต่างๆ ที่ไม่รู้ว่าจะได้หรือไม่ได้ เมื่อไร และอย่างไร ทั้งเรื่องภาระของแต่ละคนที่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายภายในครอบครัว ทั้งอนาคต ที่ไม่รู้ว่าจะทำอะไรกันต่อดี จำนวนไม่น้อยที่ทำงานที่นี่มาหลายปี อายุมาก ไปสมัครงานที่อื่นก็ลำบาก


การลอยแพพนักงานของไทยศิลป์ฯ อาจเป็นการเริ่มต้นของสัญญาณบางอย่าง เพราะมีแนวโน้มว่า ยังมีอีกหลายโรงงานที่จะลอยแพพนักงานแบบเดียวกันนี้ จะเตรียมตัวเตรียมใจกันอย่างไร จะเตรียมรับสถานการณ์กันอย่างไร ดูจะเป็นคำถามที่เข้าท่ากว่า ภาครัฐจะเข้ามาช่วยเหลืออย่างไร


พูดกันมานานว่า อีกหน่อยการลงทุนจากต่างประเทศจะย้ายฐานการผลิตไปจีน ไปเวียดนาม ที่ค่าแรงถูกกว่ามาก ขณะที่ฝีมือก็พอๆ กัน ตอนนี้ก็คงจะได้เห็นกันแล้วว่า ระบบการค้าเสรีเริ่มส่งผลกระทบต่อสังคมไทยอย่างไรบ้าง การปิดโรงงานหนึ่งโรงงาน ภาพที่ปรากฎคือทำให้คนจำนวนครึ่งหมื่นตกงานทันที แต่ภาพที่ไม่ปรากฎคือ คนที่เกี่ยวข้องและต้องพึ่งพิงรายได้จากพวกเขาเหล่านั้น ซึ่งได้แก่ คนในครอบครัว และพ่อค้า แม่ค้า ที่อยู่ได้เพราะพนักงาน ก็ต้องพลอยได้รับผลกระทบไปด้วย รวมๆ แล้วก็คงไม่น้อยกว่า หมื่นคน หากต่อจากนี้ เริ่มมีโรงงานทยอยปิดตัวลงไปอีก คูณจำนวนพนักงานด้วย 2 หรือ 3 ก็จะได้จำนวนคนที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด


ประสบการณ์การทำงานโรงงานครั้งหนึ่งของผม รู้สึกแย่มากทุกครั้งที่มีพนักงานต้องถูกให้ออก เพราะปฏิบัติตามคำสั่งที่ผิดของผู้บริหารที่ไม่เคยยอมรับผิด แต่จะโยนความผิดให้ลูกน้อง แต่ละเดือนๆ จะมีคนต้องกลายเป็นแพะ สังเวยความผิดที่ตนไม่ได้ก่อ ถูกบังคับให้เซ็นใบลาออกโดยไม่ได้รับค่าชดเชย บางครั้งมีมากกว่า 1 คน ในขณะนั้น ผมเองแม้จะทำงานในระดับหัวหน้า แต่ก็ไม่ใช่ผู้บริหาร จึงอดคิดไม่ได้ว่า วันหนึ่งเราจะต้องมีชะตากรรมแบบนี้หรือเปล่า นั่นจึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผมตัดสินใจออกจากที่นั่น


ระบบโรงงานไม่ให้ทางเลือกกับพนักงานระดับล่างมากนัก กลไกของภาครัฐเอง ส่วนใหญ่ก็ไร้ความกระตือรือร้นที่จะจัดการกับปัญหา ต่อให้พนักงานเสียชีวิตจากอุบัติเหตุภายในโรงงาน การปิดข่าว หรือการทำให้ข่าวเงียบหายไปโดยเร็ว ก็ไม่ใช่เรื่องยาก การทำงานโรงงาน และการทำงานก่อสร้าง มีอัตราเสี่ยงต่อการเสียสุขภาพและเกิดอุบัติเหตุ สูงกว่าการทำงานในแบบอื่น ขณะที่ค่าตอบแทนและสวัสดิการต่างๆ น้อยกว่าที่ควรจะเป็นมาก ทั้งยังอีกห่างไกลกับคำว่า สมควร แต่นายจ้างหลายคนอาจจะเห็นว่าเหมาะสมแล้วสำหรับประเทศกำลังพัฒนาอย่างนี้


ที่น่าเศร้าคือวิธีคิดของผู้บริหารบ้านเมืองก็ไม่ต่างจากนายจ้างและนายทุนเท่าใดนัก ต้องการให้อุตสาหกรรมในประเทศพัฒนาไปมากๆ แต่ไม่สนใจที่จะทำให้คุณภาพชีวิตของแรงงานดีขึ้นเท่าที่ควร แม้จะรู้ว่ามันไร้สาระ แต่ผมก็ยังหวังลมๆ แล้งๆ เช่นเดียวกับรุ่นพี่ของผมว่า หลังเลือกตั้งผ่านพ้นไป อะไรๆ มันจะดีขึ้นมาบ้าง


ว่าแต่ว่า ก่อนที่อะไรๆ มันจะแย่ลงไปกว่านี้ เราจะได้เลือกตั้งกันหรือเปล่า ?