Skip to main content

รับประกันรักษาฟรีเมื่อเจ็บป่วย

คอลัมน์/ชุมชน

 

ประเทศไทยมีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมาตั้งแต่ปี พ.. 2544 ปีนี้เป็นปีที่ 6 ของระบบนี้ในสังคมไทย ซึ่งเป็นระบบรัฐสวัสดิการชนิดแรกชนิดเดียวที่ดำเนินการอย่างถูกต้อง มีกฎหมายรองรับ นั่นคือ พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ..2545 (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 119 ตอนที่ 116 17 .. 2545)

เดิมทีประชาชนทั่วไปรู้จักระบบนี้ในชื่อโครงการ 30 บาทแต่ปัจจุบันนี้ไม่ใช่โครงการอีกต่อไป แต่เป็นระบบรัฐสวัสดิการรักษาพยาบาลของรัฐที่จัดให้กับประชาชนทุกคนโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายที่จุดบริการคือ สถานีอนามัย โรงพยาบาล และการส่งต่อต่างๆ นั่นคือไม่ต้องจ่ายแม้เพียง 30 บาท ทำไมเป็นเช่นนี้ ก็เพราะว่ารัฐได้รับประกันเรื่องนี้ให้กับประชาชน รัฐได้จัดสรรงบประมาณแผ่นดินเพื่อจัดระบบรักษาพยาบาลนี้ให้กับประชาชนทุกคนอย่างทั่วถึง เท่าเทียม มีมาตรฐานและคุณภาพ ทั้งสำหรับคนจน คนชั้นกลาง คนรวย ทุกคนมีสิทธิได้รับบริการนี้เหมือนกัน ไม่ใช่เป็นระบบสำหรับคนจน เพียงแต่ว่าคนรวยจะมาใช้สิทธินี้เมื่อไรก็ได้ หรือไม่ต้องการใช้เพราะมีเงินมากพอจะไปจ่ายเองกับโรงพยาบาลก็ไม่มีใครว่าอะไร รัฐก็ไม่หวงห้าม เช่น ไปซื้อบริการจากโรงพยาบาลของรัฐก็ได้โดยรัฐไม่ได้สงวนไว้สำหรับระบบหลักประกันสุขภาพเพียงอย่างเดียว หรือมีปัญญาบินไปรักษาเมืองนอกก็ไม่มีใครว่าอะไรได้ ตราบใดที่ระบบเศรษฐกิจของไทยเปิดโอกาสให้คนรวยร่ำรวยได้ยิ่งขึ้น คนจนยิ่งจนลงเรื่อยๆ ช่องว่างระหว่างรายได้ของคนไทยจึงถ่างกว้างออกทุกที การมีระบบรัฐสวัสดิการเป็นการช่วยลดช่องว่างได้ เพราะไม่ต้องจนซ้ำซาก เป็นหนี้เรื้อรัง เพราะเอาเงินไปรักษาตนเองหรือคนในครอบครัวจนหมดเนื้อหมดตัว


แต่อย่างไรก็ดี ยังมีความเข้าใจผิดเรื่องระบบหลักประกันสุขภาพอยู่อีกหลายเรื่อง กล่าวคือ




  1. คิดว่าระบบนี้เป็นของคนจน ย่อมได้รับบริการที่ไม่มีคุณภาพ มาตรฐาน ซึ่งไม่จริง ดังกล่าวมาแล้วว่าระบบนี้สำหรับทุกคน และมีการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานอย่างดี แต่ก็ยังไม่ดีที่สุดเพราะบางโรงพยาบาลก็ยังไม่สนใจเรื่องคุณภาพมากกว่าเรื่องต้องการกำไร ซึ่งระบบหลักประกันสุขภาพต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพบริการ มากขึ้นจึงจะช่วยให้โรงพยาบาลให้บริการดีขึ้นได้



  2. คิดว่ายาที่ได้จากระบบนี้เป็นยาด้อยคุณภาพ ซึ่งไม่จริงเลย ทั้งนี้ ระบบหลักประกันสุขภาพคือระบบที่ใช้ยาตาม บัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่งจัดทำโดยผู้เชี่ยวชาญทุกสาขา มีการปรับปรุงรายการยาเป็นประจำ ที่สำคัญระบบหลักประกันสุขภาพยังทำหน้าที่เป็นผู้เจรจาต่อรองราคายากับบริษัทยาข้ามชาติต่างๆ ตลอดจนการดำเนินการประกาศใช้สิทธิตามสิทธิบัตรยา (CL : Compulsory Licensing) เพื่อให้มีการผลิตยา หรือนำเข้ายาราคาถูก สำหรับคนไทยทุกคน



  3. คิดว่าระบบนี้ด้อยกว่าระบบประกันสังคม ซึ่งหากติดตามข่าวมาโดยตลอดจะเห็นว่าระบบประกันสังคมพยายามปรับปรุงบริการของตนให้ดีขึ้นทัดเทียมกับระบบหลักประกันสุขภาพ เช่น เรื่องรักษาฟัน เดิมประกันสังคมให้คนละ 400 บาทต่อปี ใครจะไปถอน ไปอุด ไปขูดฟัน ใช้เงินไปกี่พันบาทก็ตาม ประกันสังคมให้เบิกได้แค่ 400 บาทเท่านั้น ซึ่งตรงข้ามกับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ให้ไปถอน อุด ขูดหินปูน ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทำให้ประกันสังคมปรับระบบตัวเองตาม นั่นคือให้ถอน อุด ขูดได้ เช่นกัน ให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น แสดงว่าทั้งสองระบบเป็นแรงหนุนเสริมกันและกันให้พัฒนาบริการดีขึ้นไปเรื่อยๆ ทั้งนี้ประกันสังคมให้รักษาไตวายเรื้อรังได้ แต่ระบบหลักประกันสุขภาพยังไม่ได้ ซึ่งมีแนวโน้มว่าคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กำลังเร่งดำเนินการเรื่องนี้อยู่ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อผู้ที่ต้องล้างไต ไปตลอดชีวิต


ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นระบบที่เราคนไทยสามารถไปใช้บริการได้ตามโรงพยาบาลที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ ขณะนี้ยังไม่เปิดให้เลือกสถานบริการโดยเสรี อย่างไรก็ตาม การไปใช้บริการย่อมได้รับบริการที่ดีหรือไม่ก็ได้ เช่น มีหมอไม่มากพอ พยาบาลไม่เพียงพอ ไม่ยอมส่งต่อเมื่อเกินความสามารถ ทำให้เกิดความเสียหายจากการรักษาได้ เหล่านี้ประชาชนสามารถร้องเรียนได้ ผ่านการโทรไปที่หมายเลข 1330 ตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงหากเกิดความเสียหายเช่น พิการจากการรักษา เสียชีวิต ก็สามารถทำเรื่องขอรับค่าช่วยเหลือเบื้องต้นได้ โดยติดต่อผ่าน 1330



ความเหมือน ความต่าง ของระบบหลักประกันสุขภาพแบบต่างๆ ต้องทำความเข้าใจกันก่อนค่ะว่าในประเทศไทยมีระบบหลักประกันสุขภาพอยู่ 4 ระบบใหญ่ๆ คือ (1) ระบบรักษาฟรีของข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ (2) ระบบรักษาพยาบาลของประกันสังคม (3) ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และ (4) ระบบซื้อประกันสุขภาพเอง


ระบบรักษาฟรีของข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจเป็นระบบเก่าแก่คู่กับสังคมไทย ใครเป็นข้าราชการก็ได้รับสิทธินี้ทันทีซึ่งเป็นสิทธิสำหรับตัวเองและญาติสายตรงคือ พ่อ แม่ สามี ภรรยา และลูกๆ เมื่อเจ็บป่วยไปรักษาที่ไหนก็ได้ หากเป็นลักษณะผู้ป่วยนอกก็จ่ายเงินไปก่อนแล้วนำใบเสร็จมาเบิกหน่วยงานต้นสังกัดทีหลัง แต่หากต้องนอนในโรงพยาบาลสามารถดำเนินการทำใบส่งตัวแล้วไม่ต้องจ่ายอะไรเลย รัฐโดยกรมบัญชีกลางกระทรวงการคลังจะเป็นผู้ตามจ่ายให้เอง ปัจจุบันมีข้าราชการและญาติสายตรงราว 6 ล้านคน แต่ละปีใช้เงินค่ารักษาพยาบาลมากกว่า 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงมากกับคนจำนวนน้อย ข้อจำกัดคือหากลูกอายุ 20 ปีบริบูรณ์ ไม่มีสิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาลได้


ระบบรักษาพยาบาลของประกันสังคม เป็นระบบสำหรับลูกจ้าง พนักงาน ในสถานประกอบการต่างๆ ที่อยู่ภายใต้กฎหมายประกันสังคม ซึ่งบังคับให้ทั้งลูกจ้าง และนายจ้าง ต้องจ่ายเงินสมทบจากเงินเดือนตนเองเข้ากองทุนประกันสังคมทุกเดือน หากตกงาน ไม่มีงานทำ ก็หมดสิทธิ นอกจากมีงานใหม่แล้วส่งเงินเข้ากองทุนฯ ต่อเนื่องได้ ระบบประกันสังคมเป็นระบบร่วมจ่าย จาก 3 ฝ่ายคือ ลูกจ้าง นายจ้าง และรัฐ ทั้งนี้ มีประกัน 7 อย่างให้คือ 1) รักษาพยาบาล 2) ค่าคลอดบุตร 3) ค่าช่วยเหลือรายเดือนให้บุตร 4) ประกันว่างงาน 5) บำนาญชราภาพ 6) ช่วยเหลือรายเดือนเมื่อทุพพลภาพที่ไม่ได้มีสาเหตุมาจากงาน 7) ค่าทำศพ ซึ่งต้องส่งเงินประกันสังคม มากกว่า 180 เดือนขึ้นไปจึงจะมีสิทธิบำนาญชราภาพ ค่าประกันว่างงาน ก็ต้องรีบแจ้งเมื่อออกจากงานซึ่งได้รับในรูปเงินบางส่วน และการฝึกอาชีพอื่นๆ และชดเชยให้ในระยะเวลาหนึ่งๆเท่านั้นไม่ใช่ตลอดไป ข้อจำกัดของระบบนี้คือ ให้สิทธิเฉพาะลูกจ้างคนเดียว ญาติสายตรงไม่ได้รับด้วย


ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตาม พ...หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ..2545 ดูแลประชากรราว 40 ล้านคนที่ไม่อยู่ในระบบข้าราชการและ ระบบประกันสังคม ระบบนี้ใช้เงินงบประมาณปีละกว่า 8 หมื่นล้านบาท ให้บริการรักษาพยาบาลฟรี ให้บริการส่งเสริมสุขภาพฟรี เช่น ตรวจสุขภาพประจำปี การได้รับบริการเยี่ยมบ้าน การให้ข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพ โดยประชาชนไม่ต้องจ่ายเงินใดใดอีกที่สถานบริการ และให้บริการทุกคนแม้คนที่ตกงานไม่ได้รับประกันสังคม ก็จะได้รับการคุ้มครองเรื่องหลักประกันสุขภาพนี้ทันที รวมทั้งลูกของข้าราชการที่อายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ระบบนี้เป็นระบบหลักประกันสุขภาพเพียงอย่างเดียวเช่นกันกับระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ต่างจากระบบประกันสังคมที่มีสวัสดิการอื่นๆ ด้วย ข้อจำกัดของระบบนี้คือ ยังไม่ครอบคลุ่มการล้างไตของผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง และยังไม่สามารถเลือกโรงพยาบาล หรือสถานีอนามัยเบื้องต้นได้เสรี เพราะประชาชนในชนบทไม่มีทางเลือกให้เลือกอยู่แล้ว ส่วนประชาชนในเขตเมือง แม้มีหลายโรงพยาบาลให้เลือกก็ถูกกรอบให้ใช้บริการใกล้บ้านมากกว่า


ระบบซื้อประกันสุขภาพเอง นั่นคือใช้เงินส่วนตัวซื้อเองตามที่บริษัทประกันเอกชนชวนเชิญให้ซื้อ ซึ่งต้องจ่ายเงินเบี้ยปีละหลายร้อย หลายพันบาท หรือมากกว่าหมื่นบาทก็มี แล้วแต่จะเลือกชุดสิทธิประโยชน์อะไร เช่น ค่าห้องพิเศษ ค่าหมอพิเศษ ก็ต้องจ่ายเบี้ยเพิ่ม หรือเป็นโรคค่าใช้จ่ายสูง เช่น หัวใจ มะเร็ง ก็ต้องเพิ่มเบี้ยซึ่งสูงมาก ระบบนี้ถือเป็นระบบประกันโดยสมัครใจ ข้อจำกัดคือ หากมีเงินส่งเบี้ยไปตลอดก็ไม่มีปัญหา แต่หากไม่สามารถส่งได้ต่อเนื่องจะทำให้เกิดการสูญเสียเงินไปจำนวนมากโดยไม่ได้รับประโยชน์ใดๆ


ระบบหลักประกันสุขภาพทั้งหมด สามารถให้บริการได้อย่างมีคุณภาพและมาตรฐาน เพียงแต่หลายครั้งกรณีจ่ายเงินสดหรือระบบข้าราชการที่ไม่มีการควบคุมค่าใช้จ่าย หมอจะจ่ายยานอกบัญชียาหลัก ซึ่งมักเป็นยาใหม่ๆ มีราคาแพง ทั้งเป็นยามีสิทธิบัตรหรือไม่มีก็ได้ ทำให้เกิดการใช้ยาเกินความจำเป็น มีผลต่อความรู้สึกของคนในระบบอื่นๆ ที่คิดว่าการใช้ยาในบัญชียาหลัก เป็นยาที่มีคุณภาพด้อยกว่าและหลายคนเลือกไม่ไปใช้โรงพยาบาลที่ระบุในบัตรหลักประกันสุขภาพของตนเอง เลือกไปใช้โรงพยาบาลที่ต้องจ่ายเงินเอง ทำให้ระบบยังไม่มีเสถียรภาพ เพราะมีความเหลื่อมล้ำในการปฏิบัติที่โรงพยาบาลกระทำกับคนที่มาจากระบบประกันสุขภาพที่ต่างกัน

สิ่งที่จะทำให้ดีขึ้นคือต้องประชาสัมพันธ์ให้คนไปใช้ระบบหลักประกันสุขภาพของตนให้มาก เจรจากับหมอมากขึ้น เพื่อกระตุ้นให้ระบบพัฒนาคุณภาพมากขึ้น และลดการบิดเบือนระบบ เพื่อปรับสู่สมดุลต่างๆ