Skip to main content

โดม วุฒิชัย กับริมรั้วหัวใจ และคาบโลกย์คาบธรรม

 


ผมไม่ได้พบกับโดม วุฒิชัย มานานนับสิบปี
เพราะเขาหายเงียบไปจากแวดวงวรรณกรรมไปนาน คาดคิดว่าเขาคงจะวางมือจากการทำงานเขียนไปเป็นอื่น เหมือนคนเขียนหนังสือรุ่นราวคราวเดียวกันกับเขา เช่นแก้ว ลายทอง เตือนจิต นวตรังค์ สมพงษ์ ทวี ชีวี ชีวา ฯลฯ แต่ 2-3 ปีที่ผ่านมา ผมไปพลิก ๆ ดูหนังสือ" ขวัญเรือน" ซึ่งเป็นนิตยสารสุภาพสตรีรายปักษ์ ที่เก่าแก่และขายดีของเมืองไทย


ผมก็พบชื่อของเขาและภาพถ่ายเล็ก ๆ บนหัวคอลัมน์ที่ชื่อว่า "ริมรั้วหัวใจ" ผมก็นึกดีใจขึ้นมาที่เขายังไม่พลัดหายไปจากเส้นทางสายนี้ เพราะ โดม วุฒิชัย เป็นคนที่เขียนหนังสือออกมาได้งดงามและมีชีวิตชีวามากคนหนึ่ง จากนั้นผมก็คอยติดตามอ่านงานในคอลัมน์นี้ของเขาเป็นพัก ๆ


และจากการรับรู้ความเป็นไปในชีวิตของเขา โดยนัยยะจากงานเขียนในคอลัมน์นี้และจากคนที่รู้จักกัน เขาทำให้ผมรู้สึกงุนงงและแปลกใจมาก ๆ ที่เขาได้เปลี่ยนแปลงตัวเองจากผู้ชายที่ชอบดื่ม ชอบเที่ยวกลางคืน ช่างพูดช่างเจรจาและค่อนข้างเจ้าชู้ กลับกลายไปเป็นคนที่สนใจธรรมะธรรมโมไปได้อย่างไร 


แต่เขาก็ทำให้ผมหายข้องใจ
เมื่อเขาเดินทางมาร่วมแสดงมุติตาจิตวันครบรอบวันเกิดของ คุณ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ และร่วมแสดงความยินดีกับคุณสุรชัย จันทิมาธร ที่ได้รับรางวัลศรีบูรพา เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2549 ที่บ้านสวนทูนอินของ รงค์ วงษ์สวรรค์ ในช่วงที่เขายืดเวลาอยู่เชียงใหม่ต่อเกือบสองอาทิตย์


วันแรกที่เรานัดพบกันเป็นการส่วนตัวที่ร้านสายหมอกกับดอกไม้ เขาทำให้ผมรู้สึกว้าเหว่อย่างบอกไม่ถูก เพราะนอกจากโค้กกระป๋องในอุ้งมือ เขาไม่ยอมแตะต้องอะไรเลย ไม่ว่าจะเป็นเหล้า เบียร์ บุหรี่ หรือแม้กระทั่งคุณวิมายาสาวสวยที่มานั่งร่วมโต๊ะ ก็แทบจะไม่ได้รับการเหลียวแล…ที่น่าเศร้าที่สุดก็คือ ในขณะที่เรากำลังเดินเข้าไปสู่ประตูแห่งความรื่นรมย์ของราตรี เหมือนอย่างที่กวีนิรนามขี้เหงาคนหนึ่ง ชอบรําพึงรำพันยามเมามายเอาไว้ว่า


ยิ่งดึกและยิ่งดื่มยิ่งสดใส
เหมือนหัวใจจะพบรักในแก้วเหล้า
และยิ่งดื่มและยิ่งดื่มยิ่งมึนเมา
เหมือนใจเหงา…จะมีใครสักคนหนึ่ง


เขากลับสั่งเหล้าเหมือนประชดเพิ่มให้ผมอีกแบนหนึ่ง ก่อนจะขอตัวรีบกลับไปพักผ่อนที่ห้องพักให้เช่า ถึงแม้ผมจะรู้สึกว้าเหว่และผิดหวัง กับความเคยชินกับ "ตัวตนเก่า ๆ" ของเขาที่เคยเป็น แต่ผมก็ต้องยอมรับและควรยินดีกับความเปลี่ยนแปลงของชีวิตที่ดีขึ้นของมิใช่หรือ!


ต่อมา – เมื่อเขาเดินทางกลับกรุงเทพฯ
ได้ประมาณสักเดือนเศษๆ เขาก็ส่งหนังสือเล่มหนึ่งมาให้ผม เป็นงานรวมเล่มจากคอลัมน์ที่เขาเขียนในขวัญเรือนชื่อ "ริมรั้วหัวใจ" ชื่อเดียวกับคอลัมน์


ผมนั่ง ๆ นอน ๆ อ่านหนังสือเล่มนี้อย่างละเอียด จนมองเห็นภาพรวมทางความคิดทั้งหมดของเขา แล้วนำไปเทียบกับตัวตนใหม่ของเขาในปัจจุบัน และพยายามมองดูเขาในแง่ร้าย จากตัวตนในอดีตของเขาทับซ้อนลงไป พยายามอย่างไร ๆ ก็ไม่อาจไม่บอกว่า ระหว่างตัวตนของคนเขียนกับผลงาน มิได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และไม่อาจไม่บอกว่า –หนังสือเล่มนี้ไม่มีอะไร…





จากนั้นมาไม่กี่อาทิตย์
เขาก็ส่งหนังสือทางไปรษณีย์ จากบ้านเพิงพเยียมาถึงกระท่อมทุ่งเสี้ยวให้ผมอีกเล่มหนึ่งชื่อ "คาบโลกย์คาบธรรม" หนังสือเล่มนี้ ผมเคยทราบกิตติศัพท์มาก่อนว่า เป็นหนังสือที่ได้รับรางวัล Seven book awads ประเภทสารคดีเกี่ยวกับศาสนาและปรัชญาเมื่อปี 2547 แต่ที่เขาส่งมาให้ผมเป็นฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 เพิ่งออกมาจากโรงพิมพ์อย่างสดๆ ร้อนๆ


ผมอ่านหนังสือเล่มนี้รอบแรกแบบผ่าน ๆ หลายเรื่อง และอ่านอย่างจริงจังบางเรื่องที่สามารถดึงดูดให้ใจให้ผมอ่านโดยไม่ต้องใช้ความพยายาม มีอยู่เรื่องหนึ่งที่สะดุดใจผม และความรู้สึกข้างในบอกกับตัวเองว่า ชอบเรื่องนี้มากที่สุดในบรรดาเรื่องที่ผมไม่ต้องใช้ความพยายามในการอ่าน นั่นคือเรื่องชีวิตคู่-คู่ชีวิต


ที่เขาเขียนถึงเหตุการณ์ในวันที่เขาพยายามพาภรรยากับลูกสาวไปดูหนังเรื่อง แฮรี่พอตเตอร์ ที่หลังจากดูหนังจบแล้ว เขาก็สรุปกับตัวเองว่า "หนังเรื่องนี้ดูก็ได้ไม่ดูก็ได้ ไม่ถึงกับเสียดายแต่เมื่อแอบเห็นลูกสาวดูหนังเรื่องนี้อย่างมีความสุข คนเป็นพ่อก็เลยมีความสุขไปด้วย" แต่เมื่อพากันออกจากโรงภาพยนตร์ เขาก็เกือบทำให้บรรยากาศของความสุขระหว่างคนในครอบครัวพังทะลายลง เมื่อภรรยาของเขาบอกว่าจะพาลูกสาวไปกินไอศกรีมยี่ห้อหนึ่งที่มีเฟรนไชส์ทั่วเมือง เขาก็เกิดขัดเคืองใจขึ้นมา เพราะเขาไม่ชอบไอศกรีมราคาค่อนข้างแพงยี่ห้อนี้ และไม่อยากพาลูกสาวมานั่งที่ร้านนี้ เพราะเป็นร้านที่มีคนมาแย่งกันนั่งเพราะความดังของยี่ห้อ แต่ภรรยากลับบอกว่า ได้รับปากกับลูกไว้แล้วว่าหลังจากดูหนังจบจะพามานั่งร้านนี้ตั้งแต่ออกจากบ้าน และพูดกับเขาว่า "นานทีปีหน จะมานั่งสักสองสามครั้ง ไม่ได้พาลูกมานั่งบ่อยๆ สักหน่อย แล้วเวลาเธอสั่งเบียร์ ทำไมเธอถึงสั่งแต่ไฮเนเก้น ทำไมไม่สั่งเบียร์ช้างล่ะ "


เขาจึงได้สตินึกละอายใจที่แสดงความไม่พอใจออกมา จึงเดินออกไประงับสติอารมณ์นอกร้าน ก่อนจะกลับเข้ามาด้วยอารมณ์ที่สงบและยอมรับความไม่เข้าท่าของตน


จากมุมมองของผมที่อ่านเรื่องนี้แล้ว
ทำให้ผมเกิดความคิดต่อยอดขึ้นมาได้ ผมคิดว่าคนเราจะทำอะไรที่ไหนตามความพอใจหรือไม่พอใจของตัวเอง ย่อมได้ทั้งนั้น ถ้าหากมีตัวเราคนเดียว ไม่มีคนอื่นเขามาร่วมเกี่ยวข้องด้วย แต่ถ้ามีคนที่สองหรือสาม ไม่ว่าจะเป็นลูกเมียหรือใครๆ การตัดสินใจจะต้องมีการแชร์ความคิดกันและเลือกเอาเสียงส่วนใหญ่ ที่เห็นพ้องต้องกัน


เพราะคนที่เอาแต่ความคิดของตัวเองเป็นใหญ่ ตามขบวนการของอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิดที่ติดยึดอยู่กับ ตัวกู ของกู และเพื่อตัวกูเท่านั้น จึงจะเป็นเรื่องที่ถูกต้อง คือความเห็นแก่ตัวรูปแบบหนึ่ง ซึ่งเรื่องของความเห็นแก่ตัวนี้ ก็คือเรื่องเดียวของมนุษย์ที่ท่านพุทธทาสได้หยิบยกขึ้นมาพูดซ้ำแล้วซ้ำอีก ตั้งแต่สมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ตราบจนกระทั่งล่วงลับดับขันธ์


ขอบคุณ โดม วุฒิชัย ที่หยิบเอาเรื่องที่หนักหนาสาหัสและยากที่จะปฏิบัติขัดเกลาของมนุษย์ มาแสดงให้เห็นเป็นรูปธรรมที่เข้าใจได้ง่าย และดีใจที่เขาก้าวออกมาทำงานที่มีคุณค่าทั้งต่อตนเองต่อครอบครัวและสังคม โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาคำว่า "ยิ่งใหญ่" "โด่งดัง" หรือแม้กระทั่งตราประทับรางวัลใดๆ มาติดหน้าปกหนังสือให้รกรุงรังก็ได้


เพราะงานเขียนที่ดีงาม
ย่อมมีคุณค่าอยู่ในตัวเองอยู่แล้วมิใช่หรือ...


17 กรกฎาคม 2550
กระท่อมทุ่งเสี้ยว เชียงใหม่