Skip to main content

แก้วตาหวานใจ : ใครผู้ชายใครผู้หญิง

คอลัมน์/ชุมชน



































































































ถึงผู้อ่านที่รัก

 

คุณผู้อ่านที่รักขา สังเกตเหมือนดิฉันไหมว่าสมัยนี้ทำไมละครมันจบเร๊วเร็ว ออกอากาศไม่กี่เดือนก็อวสานซะแล้ว เพราะดิฉันจำได้ว่าตอนดิฉันยังเด็ก ๆ (ซึ่งตอนนี้ก็ยังเด็กอยู่นะคะ) ละครเรื่องหนึ่งกว่าจะจบใช้เวลานานเป็นครึ่งปีเลยก็มี แต่ก็อาจจะเป็นกำไรของคนดูก็ได้นะคะที่ภายในหนึ่งปีได้ดูละครเยอะเรื่องขึ้น และสมัยนี้ถึงแม้ละครเรื่องหนึ่งๆ จะสั้นไม่กี่เดือนแต่เขาก็มีวิธีการทำให้มันยาวได้นะคะ ถ้าเกิดว่าละครเรื่องไหน เรตติ้งกระฉูดขึ้นมา ผู้ชมอย่างเราก็จะได้ดูการแสดงที่เพิ่มเข้ามาในละคร โดยอาจจะเป็นมิวสิควิดีโอสักเพลง ที่ไม่พระเอกก็นางเอกสักคนหนึ่ง หรืออาจจะพร้อม ๆ กันคิดถึงเรื่องราวในอดีต แล้วภาพละครตั้งแต่ตอนแรกจนถึงปัจจุบันก็จะแล่นเข้ามาในจอ พร้อมเพลงเพราะ ๆ อีกหนึ่งเพลง หรือไม่เราก็อาจจะได้ดูการแสดงที่ไม่เคยถูกเขียนไว้ในบทประพันธ์อีกสักตอนสองตอนเป็นอย่างต่ำ ไม่รู้ว่าจะถือเป็นกำไรหรือขาดทุนดี

 














ที่ดิฉันบ่นก็ไม่ใช่อะไรหรอกค่ะคุณผู้อ่านที่รักขา ก็เพราะละครที่ดิฉันกำลังจะเขียนถึงก็เข้าอีหรอบเดียวกับที่ดิฉันบ่นไป คือดิฉันได้ดูทั้งมิวสิควีดีโอ และการแสดงนอกเหนือบทประพันธ์ ละครเรื่องอะไรน่ะหรือคะ ก็เรื่อง " แก้วตาหวานใจ " ไงคะ ละครเรื่องนี้ (ก่อนจะยืด) สนุกมาก ๆ เลยนะคะ ออกอากาศทางช่องเจ็ดสีทีวีเพื่อคุณ

 

แก้วตาหวานใจเป็นบทประพันธ์ของนักเขียนหน้าใหม่ไฟแรง ใช้นามปากกาว่า ช่างปั้นเรื่อง นำแสดงโดย ภานุ สุวรรณโณ และอารยา เอ ฮาร์เก็ต แก้วตาหวานใจเป็นละครแนวคอมเมดี้ น่ารักกุ๊กกิ๊ก และสาเหตุที่ดิฉันติดตามดูละครเรื่องนี้นอกจาก






เนื้อเรื่องสนุกอย่างที่เขาว่าแล้ว ตัวชูโรงที่เป็นเด็กหญิงมดตะนอยก็สามารถเรียกคะแนนความน่ารักแบบเด็ก ๆ จากคนดูได้มากโข และที่สำคัญที่สุด พระรองหล่อมากค่ะ อุ๊บส์ เอาเป็นว่าก่อนที่ดิฉันจะพาคุณผู้อ่านนอกเรื่องไปพูดถึงแต่ผู้ชาย (หล่อๆ) ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ดิฉันดูละคร ดิฉันขอเล่าเรื่องย่อให้คุณผู้อ่านที่รักได้ทราบดีกว่า คงจะได้สาระกว่ากันเยอะ
 

หวันยิหวา หรือไข่หวาน ( อารยา เอ ฮาร์เก็ต ) เธอเป็นสาวเท่ เพิ่งเรียนจบวิศวกรรมศาสตร์มาจากสหรัฐอเมริกา เป็นลูกสาวของดาวเรือง (ดวงดาว จารุจินดา ) เจ้าแม่รถทัวร์สายอีสานผู้ร่ำรวย ไข่หวานต้องการไปเรียนต่อปริญญาโท แต่ไม่ต้องการรบกวนเงินของผู้เป็นแม่ เธอจึงรับคำท้าของผู้เป็นแม่เข้าประกวดซุปเปอร์โมเดลสยาม เพื่อพิสูจน์ว่าเธอเป็นผู้หญิงจริง ๆ และถ้าได้ตำแหน่ง ดาวเรืองจะเป็นผู้ออกทุนไปเรียนต่อให้เธอทั้งหมด พร้อมกันนั้นเธอก็รับอาสาจะไปตามหาพี่สะใภ้กับหลานของพี่ชายเธอ มุรธา (นิพิธ ฮันเก้ ) หรือหมึก ที่เพิ่งรู้ว่าแฟนของตัวเองตั้งแต่อยู่มหาวิทยาลัยท้อง และมีลูกด้วยกัน

 

ไข่หวานเดินทางไปกรุงเทพฯ และไปขออาศัยกับญาติของอณิมา (วิจิตรา ตรียะกุล) เพื่อนสนิทของเธอ ชื่อ ลุงช้าง (ภาณุ สุวรรณโณ) ซึ่งไข่หวานเข้าใจว่าลุงช้างเป็นเกย์สูงอายุที่อาศัยอยู่กับหลาน ขณะที่ลุงช้างก็เข้าใจว่าไข่หวานเป็นยายแก่ ๆ บ้านนอกที่มาตามหาญาติ

 

แต่เมื่อทั้งสองพบกัน จึงรู้ว่าสิ่งที่ต่างฝ่ายรู้มาไม่จริง แต่ไข่หวานก็ยังคงนึกว่าลุงช้างเป็นเกย์อยู่เช่นเดิม ไข่หวานใช้ชีวิตที่บ้านของลุงช้าง และสนิทสนมกับหลานสาวลุงช้างคือ มดตะนอย ( ด.ญ.ณัฐนิชา อุตวัฒน์) อย่างมาก จนเสมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน และความใกล้ชิดสนิทสนมภายในบ้านหลังนี้ก็ก่อให้เกิดความรักขึ้นระหว่างลุงช้างและไข่หวานอย่างเงียบ ๆ แต่ไข่หวานก็ยังคงเชื่อว่าลุงช้างเป็นเกย์อยู่เช่นเดิม

 

ระหว่างที่ไข่หวานใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงเทพฯ นั้น ก็เกิดเรื่องยุ่ง ๆ มากมาย ระหว่างนั้นไข่หวานก็ต้องเข้าประกวดซุปเปอร์โมเดลสยามด้วย และตามหาร่องรอยของผู้เป็นหลานและพี่สะใภ้ โดยที่ไม่รู้เลยว่าที่จริงแล้วลุงช้างเป็นพี่ชายของอนุช (บัณฑิตา ฐานวิเศษ ) แฟนสาวของพี่ชาย และมดตะนอยก็คือหลานสาวที่กำลังตามหานั่นเอง

 

และแล้วไข่หวานก็ได้เบาะแส ได้พบกับสริดา (จารุศิริ คชหิรัญ ) เพื่อนสนิทของอนุช แต่สริดาก็ไม่ยอมบอกอะไรเลย ทางด้านมุรธาก็กำลังจะถูกจับแต่งงาน จึงตัดสินใจบอกความจริงกับดาวเรือง งานแต่งงานจึงยกเลิกไป และมุรธาก็เข้ามากรุงเทพ ฯ ปลอมตัวเป็นป้ามุก เข้ามาอยู่ที่บ้านกับไข่หวาน ลุงช้าง และมดตะนอย และเมื่อถึงวันตัดสินการประกวดซุปเปอร์โมเดลสยาม ไข่หวานก็ได้รับรางวัลชนะเลิศ และทุกสิ่งทุกอย่างได้ถูกเปิดเผยในวันนั้นว่า แท้จริงแล้วคนที่เธอตามหาอยู่ในบ้านหลังนั้นนั่นเอง เมื่อลุงช้างรู้ความจริงจึงโกรธไข่หวาน และไม่ยอมรับฟังเหตุผลใด ๆ ทั้งสิ้น พร้อมกันนั้น มุรธาก็ได้พามดตะนอยหนีไปอยู่ที่อุบล ฯ

 

ไข่หวานและลุงช้างจึงเดินทางไปอุบลฯ พร้อมกัน อนุชเมื่อทราบเรื่องก็บินมาจากอเมริกา และตามไปสมทบที่อุบลฯ เช่นกัน ลุงช้างและอนุชได้เจอกับพ่อที่ทิ้งตนไปแต่งงานใหม่ ทำให้ทั้งสองเกลียดพ่อตั้งแต่เด็ก แต่ในที่สุดก็เข้าใจกัน อนุชไม่ยอมรับการขอโทษและขอคืนดีจากมุรธา ต่างฝ่ายต่างอ้างความเป็นพ่อและแม่และสิทธิในตัวของมดตะนอย จนได้ข้อสรุปว่าให้มดตะนอยอยู่กับลุงช้างเช่นเดิม มุรธาพยายามทำให้อนุชยกโทษให้ โดยมีมดตะนอยเป็นสื่อกลาง จนอนุชเริ่มมีความรู้สึกที่ดี และทั้งสองก็หันมาร่วมกันสร้างครอบครัวที่สมบูรณ์ให้แก่มดตะนอย ส่วนลุงช้างก็เริ่มที่จะปล่อยวางภาระการเลี้ยงดูหลานสาวให้เป็นหน้าที่ของพ่อแม่ที่แท้จริง และเริ่มสร้างความสัมพันธ์ของตนเองกับไข่หวานหญิงสาวที่ตนเองรักอย่างมีความสุข

 

นี่เป็นเนื้อเรื่องย่อ ๆ ก่อนที่จะมีการยืดนะคะ ส่วนที่ยืดนั้นดิฉันขอไม่เขียนถึงก็แล้วกัน เพราะมันไม่สนุกเท่าไหร่ ทีแรกดิฉันกะว่าจะไม่ดูละครเรื่องนี้หรอกค่ะ เพราะเป็นละครในแนวที่ดิฉันไม่ชอบสักเท่าไหร่ แต่พอได้ดูสักตอนสองตอนก็เห็นว่าละครเรื่องนี้มีประเด็นที่น่าสนใจมากทีเดียว ไม่ควรจะพลาดด้วยประการฉะนี้ เอาเป็นว่ามาอ่านกันต่อดีกว่าค่ะ ว่าละครแนวเบาสมองอย่างแก้วตาหวานใจ แฝงไปด้วยเรื่องหนัก ๆ อย่างที่ดิฉันถนัดอย่างไรบ้าง

 

ละครเรื่องนี้มีความน่าสนใจตรงที่การวางบทบาทของตัวพระเอกและนางเอกทั้งสองคนที่ดูเหมือนจะเป็น การสลับบทบาทกันในการแสดงความเป็นผู้หญิงและผู้ชายโดยธรรมชาติ ไม่ใช่การสลับร่างโดยเกิดอุบัติเหตุ หรือสิ่งที่เหนือธรรมชาติเหมือนอย่างในเรื่องอื่น ๆ แต่นี่คือบุคลิกจริง ๆ ของทั้งตัวพระเอกและนางเอก

 

เริ่มกันที่ตัวนางเอก หวันยิหวาหรือไข่หวานเธอเป็นนางเอกที่ถูกสร้างให้เป็นหญิงสาวสวย น่ารัก แต่เธอเป็นผู้หญิงที่มีบุคลิกออกจะห้าว ๆ โลดโผนเหมือนเด็กผู้ชาย เธอแต่งตัวด้วยกางเกงยีนส์ เสื้อยืด รองเท้าผ้าใบ จบการศึกษาวิศวกรรมศาสตร์จากอเมริกา นอกจากท่าทางการแต่งตัวของเธอที่ดู " ไม่เป็นผู้หญิง " ตามภาพของผู้หญิงทั่วไปแล้ว เธอยังเป็นผู้หญิงที่ไม่สามารถทำงานผู้หญิงได้ คืองานบ้านงานเรือน การทำกับข้าว จนถึงกับสร้างให้เธอมีบุคลิกส่วนตัว ที่ถือว่านี่คือความเป็นไข่หวาน คือเธอไม่สามารถล้างจานได้ ล้างจานเมื่อไหร่ต้องทำจานแตกทุกที แต่เธอสามารถทำงานที่ถือเป็นงานของผู้ชายได้ ไม่ว่าจะเป็นซ่อมรถ เปลี่ยนน้ำมันเครื่อง เปลี่ยนยางรถยนต์ ขับรถทัวร์ ซ่อมปั๊มน้ำ เปลี่ยนหลอดไฟ ฯลฯ

 

ซึ่งกลับกันกับภาพของพระเอกโดยสิ้นเชิง ลุงช้างถูกสร้างให้เป็นผู้ชายที่ " ไม่มีความเป็นผู้ชาย " เลยสักกะนิด และได้ยัดภาพความเป็นผู้หญิงเข้าไปในบทบาทของพระเอกในทุก ๆ สิ่งที่พระเอกเป็น (ยกเว้นความหล่อที่ดิฉันยังเห็นว่าหล่อแบบผู้ชายอยู่นะคะ ) ไม่ว่าจะเป็นหน้าที่การงานของลุงช้างที่เป็นนักเขียนบทละครโทรทัศน์ที่เรามีภาพในจินตนาการว่านี่คืออาชีพของผู้หญิง และเป็นอาชีพที่ทำงานอยู่กับบ้าน นอกจากนี้พระเอกยังต้องเลี้ยงหลาน ซึ่งถือเป็นการแสดงบทบาทความเป็น " แม่ " และยังแสดงบทบาทความเป็นผู้หญิงอีกประการ คือการเป็นแม่บ้านแม่เรือน ทำกับข้าว ทำงานบ้าน บุคลิกท่าทางอ่อนโยน ไม่แข็งกระด้าง ไม่ดูเข้มแข็ง " มาดแมน " เหมือนผู้ชายทั่วไป และที่สำคัญลุงช้างก็ทำงานของผู้ชายไม่ได้อย่างที่ไข่หวานทำ เช่น การซ่อมรถ เป็นต้น

 

ภาพของนางเอกอย่างไข่หวานในละครเรื่องแก้วตาหวานใจนี้ เป็นนางเอกที่ถูกเขียนขึ้นให้มีความเป็นผู้ชายและปฏิเสธภาพของนางเอกที่เป็นผู้ญิ๊งผู้หญิง ไม่ว่าจะเป็นการแต่งกาย การศึกษาที่เธอเรียนวิศวกรรมศาสตร์ที่ผู้หญิงน้อยคนนักที่จะเรียนในสาขาวิชานี้ เพราะเราถือว่าวิศวกรเป็นอาชีพของผู้ชาย ไข่หวานเธอไม่สามารถทำงานของผู้หญิงคืองานบ้านงานครัวทั้งหลายได้เลย แต่เธอกลับมีความสามารถในงานของผู้ชายทั้งหลายคืองานที่เกี่ยวกับเครื่องยนต์ เครื่องกล

 

นางเอกอย่างไข่หวานจึงเป็นนางเอกที่เหมือนกับว่าจะลุกขึ้นมาปฏิเสธภาพความเป็นผู้หญิงตามที่สังคมกำหนด แต่กระนั้นผู้ประพันธ์ก็ไม่ได้ใจร้ายใจดำ หรือเชยจนถึงขนาดกับให้นางเอกพูดจา " ฮะฮะ " อย่างที่เห็นกันในละครเรื่องอื่น ๆ ที่นางเอกจะมีลักษณะ " ทอมบอย " ใส่เสื้อผ้าผู้ช้ายผู้ชายที่พยายามปกปิดนมต้มที่เป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกความเป็นผู้หญิง และที่สำคัญนางเอกอย่างไข่หวานก็สามารถก้าวเข้าไปแสดงความเป็นผู้หญิงในรูปแบบที่ผู้หญิง (สวย ๆ ) ทั่วไปเขามักทำกัน คือการประกวดความสวยความงาม

 

แรก ๆ ดิฉันเห็นว่าจะเจอนางเอกที่ " หลุด " ออกจากความเป็นผู้หญิงและนางเอกแบบเก่า ๆ เข้าแล้ว แต่ที่ไหนได้ ดิฉันก็ต้องอกหักเช่นเดิม เนื่องด้วยประเด็นของละครที่เหมือนจะก้าวหน้า (แต่อาจจะเป็นก้าวหน้าลงคลอง ) กลับเชยสนิท (ซึ่งดิฉันจะกล่าวถึงต่อไป) นางเอกไข่หวานของเรา (หรือผู้ประพันธ์) กลับมาตกม้าตาย เพราะการที่เธอเข้าประกวดซุปเปอร์โมเดลครั้งนี้กลับไม่ใช่แรงจูงใจของเธอเองที่อยากจะเข้าประกวด กลับกลายเป็นเหตุผลที่ว่า เธอเข้าประกวดเพราะรับคำท้าของนายแม่ดาวเรืองที่ต้องการจะให้เธอแสดงว่าเธอเป็นผู้หญิง และเธอไม่อยากจะไปเข้าคอร์สเรียนรำไทย หัดหมอบคลาน ตามที่แม่ของเธอวางเงื่อนไขไว้ ดิฉันดูทีแรกก็ขำเป็นบ้าไปเลย

 

ในขณะที่ละครเรื่องนี้พยายามจะบอกว่าผู้หญิงแสดงบทบาทแบบผู้ชายก็ได้ แต่การให้เหตุผลของการแสดงความเป็นผู้หญิงโดยการประกวดความสวยความงามนี้ ดิฉันว่าไม่เข้าท่าและเชยที่สุด และสุดท้ายมันก็ไม่ได้หนีจากกรอบของสังคมที่พยายามจะกำหนดภาพ บทบาทการแสดงความเป็นผู้หญิงผู้ชายในสังคมเลยแม้แต่นิดเดียว มิหนำซ้ำกลับเป็นการนำผู้หญิงไปผูกติดกับการเป็นผู้หญิงตามสภาพทางชีววิทยา เพราะการประกวดแบบนี้เป็นการประกวดที่ต้อง " โชว์ " ความเป็นผู้หญิงไม่ใช่หรือคะ และสิ่งที่ดิฉันคิดว่าละครเรื่องนี้กำลังจะบอกอีกอย่างก็คือ การแสดงความเป็นผู้หญิงที่โมเดิ้นในสมัยนี้คือการปฏิเสธการรำไทย หัดหมอบคลาน หรือการเป็นกุลสตรีอย่างสาวชาววัง พูดให้ง่ายเข้าคือการเป็นผู้หญิงที่ดี ที่เก่ง และผู้หญิงไทยไม่ได้มีแค่แบบแม่พลอยในสี่แผ่นดินไงคะ เหมือนกับที่ไข่หวานปฏิเสธแม่ของเธอ แต่การแสดงการเป็นผู้หญิงแบบที่ไข่หวานทำมันก็ไม่ได้หนีไปจากวาทกรรมเดิม ๆ แม้แต่น้อยเลย

 

ดิฉันว่า ถ้าอยากจะบอกว่าถึงฉันแก่นแก้วแสนซน แต่ฉันก็เป็นผู้หญิงนะ ก็ไป " เอา " ผู้ชายให้ดูเลยเป็นไงคะ จะได้เหมือนเป็นการสลับบทบาทกับผู้ชายอย่างหน้ามือเป็นหลังมือจริง ๆ เพราะผู้ชายจะแสดงความแมนที่เป็นแมนเต็มร้อยจริง ๆ ดิฉันก็ได้ยินเป็นเสมือนตำนานลูกผู้ชายมาว่าจะต้องมีพิธี " ขึ้นครู " กันไม่ใช่หรือคะ ? เอ๊ะ หรือว่าดิฉันเข้าใจผิดไปเอง

 

สำหรับพระเอกของเรา ลุงช้าง ภาพของพระเอกอย่างลุงช้างก็ถูกสร้างให้เป็นภาพที่ปฏิเสธความเป็นผู้ชายและความเป็นพระเอ๊กพระเอกอย่างที่ละครไทยเป็นเกือบทุกเรื่อง พระเอกอย่างลุงช้างถูกยัดภาพความเป็นผู้หญิง ความเป็นแม่บ้านแม่เรือน จนถึงกับถูกกล่าวหาว่าเป็น " เกย์ " ถ้าจะว่าด้วยเรื่องการเป็นเกย์แล้ว ละครเรื่องนี้เหมือนกับพยายามจะหยิบยกคำกล่าวหาของสังคมที่ว่าผู้ชายเนี้ยบ เป็นแม่บ้านแม่เรือน แสดงบทบาทของความเป็นผู้หญิงแทนบทบาทของความเป็นผู้ชายอย่างที่ควรจะเป็นตามการคาดหวังของสังคม และที่สำคัญคือยังไม่แต่งงาน ให้ถูกกล่าวหาว่าเป็นเกย์ ด้วยเพียงเพราะเขาไม่เล่นตามบทบาทผู้ชายอย่างที่ผู้ชายทั่ว ๆ ไปเป็นนั้น

 

แต่แทนที่ละครจะก้าว (หน้า ) ไปอธิบาย และพยายามทำให้ผู้ชายที่เล่นบทบาทเหล่านี้พ้นคำครหาจากสังคม ละครเรื่องนี้กลับให้คำตอบหรือทางออกเหมือนกับที่สังคมและผู้ชายส่วนใหญ่ทำกันคือ " หาเมีย " นั่นเอง ดิฉันจึงไม่แปลกใจเลยที่ได้ยินข่าวเรื่องเกย์แต่งงานกับผู้หญิง เพื่อต้องการดำรงอยู่ในสังคมอย่างปกติสุข แต่ในกรณีนี้อาจเป็นได้ว่าเพราะลุงช้างเป็นพระเอกกระมัง ถ้าพระเอกไม่รักกับนางเอกก็คงไม่ใช่ละครไทย และนี่แหละค่ะเป็นประเด็นใหญ่ที่ทำให้ละครเรื่องนี้เชยเป็นที่สุด

 

ในขณะที่ดูอย่างเผิน ๆ ละครเรื่องแก้วตาหวานใจ และ ผู้ประพันธ์พยามยามที่จะเสนอประเด็นเรื่องเพศที่ดูเหมือนจะก้าวหน้า คือพยายามทำให้เห็นว่าบทบาทความเป็นผู้ชาย และผู้หญิงนั้นสามารถเล่นบทบาทที่ตรงกันข้ามกับเพศที่เป็นทางชีวภาพได้ โดยการให้พระเอกกับนางเอกเล่นบทบาทตรงข้ามกับเพศที่ตัวเองเป็น นำเสนอผ่านบุคลิก ท่าทาง หน้าที่การงาน บทบาทในชีวิตประจำวัน การนึกคิด และล้อเลียนขบกัด ขนบความเป็นพระเอกนางเอกในละครเก่า ๆ ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นในตอนที่พระเอกฝันหวานว่า นางเอกอุ้มตัวเองไปนอนบนเตียง และก้มลงจูบ ทั้ง ๆ ที่การคิดฝันแบบนี้จะเป็นการคิดฝันของเพศหญิงซะมากกว่า และในส่วนนางเอก เมื่อเธอตกน้ำ หรือถูกโจรจับไป เธอก็สามารถช่วยตนเองให้รอดได้ โดยที่ไม่ต้องรอการช่วยเหลือจากพระเอกเหมือนในละครทั่วไปที่เราเห็น (ซึ่งเราคงต้องมองข้ามความเก่งจนเวอร์ไปก่อนนะคะ ) การนำเสนอประเด็นเช่นนี้จึงดูเหมือนว่าจะเป็นการปฏิวัติเรื่องเพศ และหนีออกจากกรอบที่สังคมให้ความคาดหมายในการเล่นบทบาททางเพศของความเป็นผู้หญิงผู้ชายเอาไว้

 

แต่ความที่ดูเหมือนก้าวหน้านี้กลับเชย และหลงยุคอย่างน่าใจหาย เพราะละครเรื่องนี้ยังติดกับความเป็นขั้วของเพศที่มีแต่ผู้หญิงกับผู้ชายอย่างเน่าสนิท การสลับบทบาทของผู้หญิงและผู้ชายในเรื่องจึงเป็นแค่การไปล้อเล่น ไปหยอกเย้าบทบาททางเพศที่สังคมเป็นผู้กำหนด แต่ละครเรื่องนี้ก็ไม่ได้ให้ความกระจ่างชัด หรือทำให้ประเด็นทางเพศชัดเจน แหลมคมขึ้นมาแต่อย่างใด มิหนำซ้ำยังเผลอไปเล่นตามกติกาและกฎเกณฑ์ของสังคมอยู่เช่นเดิม ทั้ง ๆ ที่อุตส่าห์พยายามจะปูพื้นเรื่องให้หลุดออกจากกรอบของสังคมที่วางไว้ แล้วสุดท้ายประเด็นที่ตั้งใจจะนำเสนอก็หายไป เมื่อบทบาททางเพศที่สลับกันเล่นก็ต้องกลับมาอยู่แค่ขั้วหญิงชายและเข้าสู่ที่เดิม คือความเป็นผัวเมียตามตอนจบของเรื่อง

 

และที่น่าตลกไปมากกว่านั้นประเด็นเรื่องผู้หญิงที่สามารถลุกขึ้นมาทำทุกสิ่งทุกอย่างที่ผู้ชายทำได้ เหมือนกับนางเอกของเรื่องที่เล่นบทบาทของผู้ชายในการทำสิ่งที่ผู้ชายทำได้เป็นอย่างดี กลับเป็นเหมือนประเด็นเฟมินิสต์หลงยุค ที่เคยใช้ต่อสู้ไปเมื่อสามสิบสี่สิบปีก่อน ในขณะที่ปัจจุบันประเด็นเรื่องผู้หญิงเขาไปไกลจนถึงไหนต่อไหนแล้ว ผู้หญิงได้ลุกขึ้นมาให้คุณค่าในสิ่งที่ผู้หญิงทำในแบบผู้หญิง แทนที่จะเป็นการพิสูจน์ความเท่าเทียมของผู้หญิงกับผู้ชายแค่ว่าผู้หญิงก็สามารถทำในแบบที่ทำผู้ชายได้ ซึ่งดิฉันว่ามันตลก โง่ง่า และหลงยุค พอ ๆ กับการที่จะมาพูดว่าให้ผู้ชายท้องแทนผู้หญิงในสมัยนี้อย่างนั้นแหละ น่าเสียดายที่ละครเรื่องแก้วตาหวานใจก็พาเราหลงยุคลงคลองไปซะอย่างนั้น

 

คุณผู้อ่านที่รักขา ดิฉันไม่รู้ว่าต้องรอไปอีกนานแค่ไหน กว่าจะได้เจอละครที่ถูกอกถูกใจ ดิฉันคงไม่กล้าคาดหวังอะไรได้มากมายหรอกค่ะ เพราะถึงจะเป็นละครที่สร้างจากนิยายของนักเขียนหน้าใหม่ แต่ประเด็นมันก็ไม่ได้ใหม่เลยซักกะนิด เอ๊ะ ! หรือว่าดิฉันต้องลงมือเขียนนิยายเองซะแล้ว แต่ดิฉันก็ไม่แน่ใจอีกนั่นแหละค่ะว่านิยายที่ดิฉันเขียน เขาจะเอาไปสร้างเป็นละครได้เร็ว พอ ๆ กับนิยายของดวงตะวันหรือเปล่า หรือคิดใหม่อีกทีเขียนนิยายแบบนี้ก็ดีเหมือนกันนะคะ เพราะเอามาสร้างเป็นละครได้ง่าย เน่า และรวดเร็วดี