Skip to main content

ย่ำดินในไร่หมุนเวียน (1)

คอลัมน์/ชุมชน

ผมต้องกลับไปที่หมู่บ้านกองม่องทะ จ.กาญจนบุรี อีกครั้ง เพื่อถ่ายรูปพืชผักที่มีอยู่ในไร่หมุนเวียน ..ราวๆ กลางเดือนมิถุนายน ผมนัดเจอพี่วินัยที่ด่านตำรวจตระเวนชายแดน เชิงสะพานรันตี ก่อนนั่งซ้อนมอเตอร์ไซค์ของแกเข้าหมู่บ้าน

ฝนเพิ่งตกหนักได้ราวๆ
3 วัน หยุดๆ ตกๆ ตกพรำๆและตกหนักๆ บ้างเป็นบางครั้ง คราวนี้ผมเตรียมตัวมาอย่างดี ทั้งเสื้อฝนของคนและเสื้อฝนของกล้อง ไม่ใช่อะไรอื่นไกล มัน คือ ถุงพลาสติกขนาดใหญ่หรือถุงดำที่เราเอาไว้ใส่ขยะนั่นแหละ

สำหรับ คนกรุงเทพฯ ฤดูฝนมาพร้อมกับความแฉะ รถติดและความหวาดหวั่นว่าน้ำจะท่วมหรือเปล่า หากกับคนที่บ้านกองม่องทะ หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์ของเนื้อดินที่จะทำให้ข้าวออกเมล็ด งอกงามกลางขุนเขาสลับซับซ้อน

จากปากทางเข้า แม่น้ำรันตีเริ่มไหลเชี่ยวและเพิ่มปริมาณเกินกว่าการคาดคะเนเอาด้วยสายตาสำหรับคนนอกถิ่นอย่างผม รถมอเตอร์ไซค์ฮอนด้าดรีมรุ่นกลางเก่ากลางใหม่สีน้ำเงินอ่อนปุเรงๆ นำผมเรียบแม่น้ำเข้าหมู่บ้าน สองข้างทางเป็นสีเขียวของป่าเขาและไร่มันสำปะหลังที่พี่วินัยเคยบอกเอาไว้ว่าเป็นของคนจากข้างนอกที่เข้ามากว๊านซื้อเอาไว้..
ทำไร่มันสำปะหลังเพียงแค่เพื่อเก็งกำไรแล้วขายต่อ ..

เขาขายผืนดินแต่เราอยู่กับผืนดิน..เป็นประโยคที่ยังก้องอยู่ในความรู้สึกของผม

ขณะที่โลกของคนข้างนอกซับซ้อนและทวีความรวดเร็วขึ้นตามอัตราการเติบโตของเทคโนโลยีและกำลังแตกตัวออกไปสู่ชีวิตของคนทุกคน ไม่เว้นแม้แต่บ้านกองม่องทะ

จากโลกของคนกองม่องทะที่ไม่ซับซ้อน ตื่นเช้าก่อนไก่ขัน ล้างหน้า ต้มน้ำ ออกไปไร่ ตกบ่ายอาบน้ำในแม่น้ำรันตีหลังหมู่บ้าน ก่อนจะออกไปทอดแหหาปลากลับมาทำกินกันที่บ้านพร้อมหน้าพร้อมตาพ่อแม่และลูกๆ ..อย่างน้อย วันนี้ คนกองม่องทะรุ่นนี้ยังได้เห็นชีวิตอย่างที่มันเคยเป็น สมัยที่ปู่ย่าตาทวดยังหนุ่มสาวซึ่งไม่มีใครยืนยันได้ว่าการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคข้อมูลจะดีกว่าโลกที่ไม่ซับซ้อนของคนยุคก่อนได้อย่างไร

ถึงหมู่บ้าน พี่วินัยชวนผมลงเรือหาปลา แกเพิ่งซื้อเรือเครื่องลำยาว ซื้อต่อจากคนในสังขละบุรีแล้วแล่นเรือล่องแม่น้ำจากจากตัวอำเภอสังขละบุรีมาออกแม่น้ำรันตีแล้วจอดเรือเอาไว้ที่ท้ายหมู่บ้าน เอาไว้หาปลาและรับนักท่องเที่ยว แกเป็นไกด์ประเภท
Trekking ที่เชี่ยวชาญทั้งการเดินป่าและล่องเรือในลำน้ำรันตี ผมสัญญากับแกว่าจะกลับมาอีกราวปลายสิงหาคมเพื่อถ่ายรูปพิธีผูกข้อมือใหญ่ของกะเหรี่ยงทุ่งใหญ่นเรศวร

...



จากสะพานรันตีมองเห็นแม่น้ำรันตีหายเข้

าไปในขุนเขาซับซ้อน ผ่านหมู่บ้าน ผืนป่า เนินดินลูกแล้วลูกเล่า เมื่อไรที่ฝนตกจนน้ำโต (สำนวนกะเหรี่ยงกองม่องทะ) ตลิ่งสองข้างจะหายวับไปกับตา


บริเวณวัดกองม่องทะหน้าฝนแฉะชื้นเสียจน ตะไคร่น้ำ ผืนพรมของโลกธรรมชาติปกคลุมชวนลื่นไถลก้นจ้ำดิน


เมฆฝนอ้อยอิ่งขึ้นมาจากดงป่ารก ความงามอีกอย่างในฤดูฝน


กระท่อมในไร่ข้าวของชาวกะเหรี่ยง สำหรับมาเฝ้าเพื่อกันนกหนูและถางหญ้าเล็กๆน้อยๆ



บนเนินดินเต็มไปด้วยไร่ข้าว เดิมพื้นที่ตรงจุดนี้ คือ ไร่ซากที่คนกะเหรี่ยงจะหมุนเวียนมาทำนาในปีถัดไปโดยแต่ละครอบครัวจะมีพื้นที่ทำนาคนละ 3-4 ที่หมุนเวียนกันทำในแต่ละปีเพื่อให้ธรรมชาติคืนความสมบูรณ์ให้ผืนดิน



ท้องฟ้าหน้าฝนเหนือเนินข้าว บางทีก็เป็นสีฟ้าจัดเมื่อกระทบแสงแดด




ลมจัดหอบกระไอฝนให้ต้นข้าวโน้มตัวจรดผืนดิน อ่อนน้อมและงดงาม



คือ บึยฉิเบาะ สำหรับบูชาพระแม่โพสพ ลักษณะคล้ายปะรำ เป็นเมล็ดข้าวห่อดินอัดเอาไว้แล้วแขวนหรือเสียบบนแขนงไม้ไผ่ ถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยวจะต้องเก็บเกี่ยวข้าวรอบๆ นอกเข้าหาตัวปะรำโดยบริเวณปะรำจะมีไม้ไผ่กั้นแล้วปลูกข้าวเอาไว้เป็นแนว 9 ต้น พยายามถามพี่วินัยว่า "ทำไมต้อง 9 ต้น" แกบอกว่า "เอ อันนี้ไม่รู้นา ปู่ย่าตายายทำกันมานาน" อืม เรื่องบางเรื่องอาจจะไม่ต้องการเหตุผลนัก


เมล็ดข้าวอัดดิน เสียบหรือแขวนบนแขนงไผ่ในอาณาบริเวณบึยฉิเบาะ งอกงามเป็นต้นข้าวสีเขียวอ่อนๆ ผมแค่คาดเดาเอาว่าคงเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์แน่ๆ



คือ เคเหล่หรือตะกลู่ หรือบวบในภาษาพื้นถิ่นของคนพื้นราบนั่นเอง



คือ ถี่หมื้อ หรือแตงไทยลูกโต


คือ โพะเก่ะ เป็นผักชนิดหนึ่งคล้ายผักชีลาว มีกลิ่นฉุน



คือ วะกาโผล่วหรือใบกระเพรา(ผักชนิดหนึ่งที่หากเราคิดอะไรไม่ออกเราจะชอบสั่งในร้านอาหารตามสั่งเป็น กระเพราะหมูสับ กระเพราไก่ หากวันไหนมีตังค์หน่อยเอาไข่ดาวมาเพิ่มอีกลูกละกัน ^. ^)



คือ เอง
-เกลิ่ง หรือหอมเส้นผม เป็นต้นคล้ายหัวหอมแต่มีขนยาวที่หัวคล้ายกับเส้นผมของคน จิ้มน้ำพริก อร่อยไม่ยอมแบ่ง



พี่วินัยกับอาทูน จริงๆ แกตั้งใจให้ชื่อว่าอดุลย์ แต่อำเภอได้ยินเพี้ยนเป็นอาทูนจึงเรียกชื่อนี้มาตั้งแต่บัดนั้น



เหนือแม่น้ำ ท่ามกลางขุนเขา พี่วินัยหว่านแหให้ได้ชม



ปลาเกล็ดจากน้ำพักน้ำแรงของพี่วินัย นำมาต้มส้ม ตำพริก ใส่ผักที่เก็บจากไร่ แค่นี้ก็อิ่มไปหนึ่งมื้อ



ปิดท้ายตอนนี้กับลูกชายคนสุดท้องของพี่วินัย..หนูเท่ป่ะฮับ (;