Skip to main content

บัวสีเทา : รวมกลุ่มเพื่อร่วมกุม (3)

คอลัมน์/ชุมชน

มีอะไรให้ทำมากมายในการรวมกลุ่ม
เออ... จะว่าไปก็ไม่ใช่ว่ารวมกลุ่มจะไปเที่ยวไปเตะ ตี ต่อย ไปพูดถ่อยๆ ไปเที่ยวเตร็ดเตร่ไปวันๆ คืนๆ ตามเธค ผับ ร้านเหล้านะครับ เพราะยังมีกิจกรรมอีกมากมายที่ทำร่วมในในกลุ่มเพื่อน

ประมาณเช่น เล่นเกม เต้นบีบอย (เบรคแดนส์) เที่ยวน้ำตก ดูหนัง แต่งเพลง ปั่นจักรยาน จัดคอนเสิร์ต แต่งตัวแข่งกัน แข่งรถมอเตอร์ไซค์ บางกลุ่มก็รวมกลุ่มไปจัดค่าย ทำกิจกรรมเพื่อส่วนรวมเช่น เก็บขยะแถวคูเมือง ปลูกต้นไม้ เป็นต้น


อย่างกลุ่ม "บ้านยอดรัก" ที่เป็นเพื่อนกัน แล้วมารวมกลุ่มทำกิจกรรมเรื่องเอดส์ เพศศึกษา ซึ่งตอนนี้ปิดตัวลงไปแล้ว เพราะสมาชิกกลุ่มแยกย้ายไปทำงาน แต่ตอนที่มีกลุ่มนั้น สมาชิกได้มารวมตัวกันที่บ้านแกนนำคนหนึ่งแล้วใช้เป็นศูนย์กลางที่สมาชิกจะเข้ามาเพื่อขอคำปรึกษา ขอถุงยางอนามัยหรือคนในกลุ่มบางคนที่อยู่รอบนอกตัวเมืองเชียงใหม่ก็สามารถมานอนค้างคืนที่บ้านได้


ทุกๆ ครั้งที่มีงานประเพณีสำคัญๆ เช่น ลอยกระทง หรือ วันวาเลนไทน์ สมาชิกกลุ่มจะพากันจัดกิจกรรมโดยการแจกถุงยางอนามัยในสถานที่ๆ จัดงาน โดยได้รับถุงยางอนามัยจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด


หรือจะว่าไปแล้ว การทำกิจกรรมของแต่ละกลุ่มย่อมมีความแตกต่างตามสภาพชุมชนและความเป็นอยู่ของแต่ละคน เช่น เมื่ออดีตหลายปีที่ผ่านมา มีกลุ่มหนุ่มสาวซึ่งเป็นการรวมตัวกันของเยาวชนชายหญิงในชุมชน มีการทำกิจกรรมโดยการรวมกลุ่มตามงานสำคัญๆ ในชุมชน มีกิจกรรมที่เป็นรูปธรรมเช่น การทำอาหารงานศพ การตกแต่งองค์ผ้าป่างานวัด เป็นต้น


ขณะที่ปัจจุบันถือได้ว่าความก้าวหน้าของสื่อเทคโนโลยี การพัฒนาสังคมภายใต้เงื่อนไขทางเศรษฐกิจตลอดจนการเติบโตของทุนนิยมได้สร้างความเปลี่ยนแปลงแก่สังคมอย่างมาก และยังส่งผลต่อความเป็นอยู่ของผู้คน ซึ่งต่างต้องเผชิญกับปัญหาที่หลากหลาย เช่น ความยากจน การประกอบอาชีพ อาชญากรรม การติดเชื้อเอดส์ ฯลฯ


รวมถึงคนหนุ่มสาวที่ต้องตกเป็นผลพวงของปัญหาต่างๆ เหล่านี้ จึงทำให้การรวมกลุ่มหนุ่มสาวที่มีมาแต่อดีต ต้องแปรสภาพการทำกิจกรรมที่แตกต่างออกไป บางกลุ่มรวมตัวรณรงค์เรื่องโรคเอดส์ ยาเสพติด ทำสื่อละครในชุมชน จัดค่ายพัฒนาแกนนำ จัดเวทีสาธารณะ และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งล้วนปรากฏว่า เยาวชนนั้นมีการรวมกลุ่มมาแต่อดีตจนถึงปัจจุบันและมีกิจกรรมที่หลากหลายมากขึ้นๆ


มีสมาชิกบ้านยอดรักเล่าให้ฟังว่า "ผมไม่เคยอยู่กลุ่มไหนมาก่อน แต่ได้รู้จักกับเพื่อนและได้ชวนมาอยู่ในกลุ่ม อยู่กับเพื่อนแล้วสนุกดี ได้เพื่อนกินและเที่ยวร่วมกัน กลุ่มของผมเป็นกลุ่มหนึ่งที่วัยรุ่นมารวมกลุ่มทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น เล่นเกม ไปเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ เช่น น้ำตก มีสมาชิกประมาณยี่สิบคนส่วนใหญ่อายุประมาณ มอสี่มอห้า สมาชิกทุกคนรู้จักกันหมด มีหญิง ชาย คละกัน เพื่อนในกลุ่มไม่เคยติดคุก ไม่เคยใช้ยาเสพติด บางคนใช้แล้วเลิก ส่วนการเข้ามาอยู่ในกลุ่มไม่ต้องมีคุณสมบัติอะไรขอแค่เป็นเพื่อนกันก็พอ กลุ่มของผมจะรวมตัวกันที่ร้านเกม คนส่วนใหญ่จะมองว่า รวมกันซ่องสุมใช้ยา ทั้งที่พวกเราไม่เคยสักครั้ง"


"รวมกลุ่มแล้วมันมีพื้นที่ทำอะไรได้มากมายนะพี่" น้องในกลุ่มย้ำ


ใช่แล้วครับ, การรวมกลุ่มและมีกิจกรรมให้ทำ ไม่ว่าจะเป็นการเล่นดนตรี การเล่นเกม การเที่ยว การแต่งตัว ฟังเพลง เต้นรำ งานเลี้ยง การจัดค่าย การประกอบอาชีพ ล้วนเป็นการแสดงตัวตนในสังคม และมีพื้นที่ของตนเอง พื้นที่ที่มีความเข้าใจ จริงใจ รักและเคารพกัน และรองรับความเป็นธรรมชาติ ความสร้างสรรค์ของคนหนุ่มคนสาว


แต่ทว่าพื้นที่ที่กลุ่มวัยรุ่นจะแสดงตัวตนออกมา มีไม่มาก อย่างในเมืองเชียงใหม่ ก็ไม่ค่อยมีสวนสาธารณะพอเพียง ไม่มีพื้นที่เล่นดนตรี สเกตบอร์ด ศูนย์ทำกิจกรรมต่างๆ แต่กลับมีพื้นที่เช่น ผับ เธค มากขึ้น ทำให้พื้นที่เหล่านี้เป็นพื้นที่ที่วัยรุ่นจะเข้าไปใช้บริการเพื่อแสดงตัวตน และแสวงหาสังคมของคนที่เข้าใจและยอมรับกัน


ผมจึงได้ข้อสรุปตรงนี้ว่า "การบ่งบอกหรือแสดงทางสัญลักษณ์ถึงการมีตัวตนในสังคมนั้น เป็นการบอกถึงความคิด ความเชื่อ และความคิดที่สร้างสรรค์ผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่น่าสนใจ หากแต่เรื่องราวต่างๆ นี้กลับถูกปิดกั้นไม่สนใจหรือยอมรับ ดังนั้นการแสดงตัวตนของกลุ่มเด็กแก๊งจึงเป็นการบอกสังคมว่า พวกเราเป็นส่วนหนึ่งของสังคมและอยู่ในฐานะพลเมืองคนหนึ่งที่มีสิทธิ ต้องการพื้นที่และโอกาสในการแสดงออก เช่นกันเหมือนอย่างคุณๆ นั้นแหละ"


พอไปเล่าให้คุณลุง คุณป้า ที่รู้จักฟัง โดยเฉพาะคนที่ทำงานด้านสังคม ที่ผมเคยไปช่วยงานก็จะเข้าใจอยู่บ้าง แต่กับราชการนี่สิครับ ยากมากที่จะเข้าใจว่า การมีพื้นที่ของวัยรุ่นนั้นมันสำคัญเพียงใด และพื้นที่ ที่ผู้ใหญ่ในสายราชการคิดว่าดีต่อเยาวชนก็คือ เต้นแอโรบิค เชียร์ลีดเดอร์ เป็นต้น แต่กลับไม่ค่อยสนับสนุนพื้นที่แบบอื่นๆ ให้กับเยาวชนเลย คิดแต่กิจกรรมอะไรที่ได้หน้า


พี่บัวเลยบอกว่า "แกไม่ต้องไปพูดอะไรทั้งนั้น ถึงยังไงผู้ใหญ่ในบ้านเมืองก็ไม่เข้าใจพวกเราหรอก เขาก็คิดว่าเราเป็นปัญหา เป็นเด็กแก๊ง ก่อความวุ่นวาย ไม่ใช่เด็กดีในสายตา ที่เชื่อฟัง ที่อยู่ในโอวาท พวกเรามันต้านเขาไง เขาเลยไม่สนใจ ไม่ใส่ใจ อย่าพูดให้เปลืองน้ำลายเลย"


"แต่มันจำเป็นที่ต้องบอกเขานะพี่ ไม่งั้นเขาก็ยังมองวัยรุ่นแบบเหมารวม มองว่าวัยรุ่นเป็นปัญหาอยู่อย่างนี้นะสิ" ผมโต้


"ถ้าแกอยากให้เขาเข้าใจนะ พี่ว่ายาก ขนาดเขาเคยเป็นวัยรุ่นมาก่อน เขายังไม่เคยจำว่าตัวเองเคยเป็นเด็ก เคยเที่ยว เคยกินเหล้ามาก่อน แล้วพอเขาเป็นผู้ใหญ่ขึ้น เขาก็ไม่เข้าใจเด็ก ไม่เข้าใจวัยรุ่น ถ้าเขาคิดว่ากินเหล้า เที่ยว เป็นปัญหา แสดงว่าเขาก็เป็นปัญหาเหมือนกัน เพราะไอ้กิน เที่ยว เตะต่อยกัน มันมีมาตั้งแต่สมัยพวกเขาทั้งนั้น"


"แล้วจะให้ทำยังไง"


"ก็ไม่ต้องทำอะไรหรอก แต่ค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป ที่เราเป็นอย่างนี้ มันเป็นช่วงชีวิต แกก็ยังเป็นวัยรุ่น ก็ต้องมีสังคม มีเพื่อน มีชีวิตแบบนี้บ้าง จะมัวแต่ทำงานไปแล้วลืมวัยไปมันจะเสียตอนโตนะ" พี่บัวเย้ยผม แล้วบอกอีกว่า "ถ้าเราทำกิจกรรมดีๆ แล้วผู้ใหญ่ไม่สนใจ ก็ไม่ต้องไปว่าเขา เพราะเราเป็นแค่เด็กแก๊ง ทำอะไร จะดีแค่ไหน เขาไม่รู้ เขาจะรู้แต่เรื่องที่เราทำไม่ดี"


ฟังพี่บัวพูดแล้ว ความคิดที่เกิดขึ้นก็มีหลายอย่าง แต่ไม่เป็นไร จะเปลี่ยนแปลงสังคมหรือเปลี่ยนปรับทัศนคติความคิดของคนก็ต้องค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป


วันที่คนทั่วไปยอมรับและเข้าใจวัยรุ่น ที่อยากเห็นอาจเกิดขึ้นในตอนที่เราตายไปแล้วก็ได้

โปรดตามติดอ่านตอนต่อไป