Skip to main content

ปากน้ำเหืองกับเรื่องเล่าของพ่อเฒ่าคนหาปลา

คอลัมน์/ชุมชน

บ้านท่าดีหมี ตำบลปากตม (ตรงข้างแขวงไชยบุรี และแขวงเวียงจัน)

เป็นจุดแรกที่แม่น้ำโขงเป็นเส้นแบ่งพรมแดนไทย-ลาว ในภาคอีสาน เมื่อบรรจบกับน้ำเหือง มีจำนวนเรือหาปลาประมาณ ๒๐ ลำ บ้านท่าดีหมีตั้งอยู่ตรงกันข้ามกับบ้านเวินคำ แขวงไชยบุรี ซึ่งมีลำน้ำเหืองเป็นเส้นแบ่งพรมแดน ส่วนอีกด้านหนึ่งตั้งอยู่ตรงกันข้ามกับบ้านดอนวาดมีแม่น้ำโขงเป็นเส้นแบ่งพรมแดน บ้านท่าดีหมีห่างจากอำเภอเชียงคานประมาณ ๒๐ กว่ากิโลเมตร ส่วนมากชาวบ้านประกอบอาชีพเกษตรกรรม และลงหาปลาในแม่น้ำเหืองและแม่น้ำโขงหลังจากว่างเว้นจาการทำการเกษตร ในบางวันที่หาปลาได้มาก็ขาย แต่บางวันที่หาปลาได้น้อยก็นำกลับไปบริโภคในครัวเรือน

พ่อหล้า โพธิ์ไทร อายุ ๗๐ ปี ไทบ้าน บ้านท่าดีหมี ตำบลปากตม อำเภอเชียงคาน เล่าให้ฟังว่า "บ้านท่าดีหมีเป็นจุดที่แม่น้ำเหืองไหลลงสู่แม่น้ำโขง แม่น้ำเหืองเป็นแม่น้ำ ที่กั้นพรมแดนไทย-ลาว แล้วไหลบรรจบกับแม่น้ำโขงที่บ้านท่าดีหมีนี้ ไทบ้านเรียกว้า ปากน้ำเหือง"

แม่น้ำเหืองมีต้นกำเนิดจากเทือกเขาในเขตสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เป็นแนวเส้นกั้นเขตแดนอำเภอนาแห้ว อำเภอด่านซ้าย อำเภอภูเรือ และอำเภอท่าลี่ จังหวัดเลยกับเมืองบ่อแตน และเมืองแก่นท้าว ของประเทศลาวแล้วไหลลงสู่บ้านท่าดีหมี อำเภอเชียงคาน


แม่น้ำเหืองไหลอยู่ในประเทศไทยมีความยาว ๕๐ กิโลเมตร และไหลในประทศลาวอีก ๑๑๐ กิโลเมตร


การใช้ประโยชน์จากแม่น้ำเหืองของไทบ้านส่วนใหญ่ใช้ในการอุปโภคบริโภค และมีการปลูกพืชผักริมน้ำไว้บริโภคและขายอีกด้วย


พ่อหล้า โพธิ์ชัย อายุ ๗๐ ปีคนหาปลาบ้านท่าดีหมีเล่าให้ฟังว่า หาปลามาตั้งแต่เป็นเด็ก เคยเห็นคนหาปลาจับปลาเลิมน้ำหนักเป็นแสนได้ (ประมาณ ๑๐๐ กว่ากิโลกรัม) อาชีพหลักก็ทำการเกษตร แต่ตอนนี้ทำไม่ไหวก็มาหาปลาขาย รายได้บางส่วนจึงมาจากการหาปลาเป็นหลัก ช่วงที่ได้ปลาเยอะคือเดือนเมษายน เพราะช่วงนี้ปลาจะขึ้นมามาก แต่ ๓ ปีมานี้หาปลาไม่ค่อยได้เพราะน้ำขึ้นๆ ลงๆ ๓ วันขึ้น ๔ วันลง ก็เลยหาปลาไม่ค่อยได้ สมัยก่อนที่ลาวจะเปลี่ยนแปลงการปกครองก็เคยเข้าไปหาปลาในประเทศลาว แต่พอมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองก็ไปหาปลาไม่ได้ ดอนทรายที่เป็นอยู่ทางฝั่งลาวนั้นก็เกิดขึ้นมาใหม่แต่ก่อนไม่มี น้ำมันเปลี่ยนทิศทางดอนก็เลยเกิด ส่วนมากชาวบ้านก็จะใส่ดาง (มอง-ตาข่าย) เอาไว้ ถ้าใส่ไว้ตอนเย็นตอนเช้าก็จะมายาม (มาเก็บกู้เพื่อดูว่ามีปลาติดหรือเปล่า) อย่างพ่อก็ใส่จั่น (ไซลั่น) ไว้หลายอัน สมัยก่อนชาวบ้านเขาจับปลาเลิมเขาก็ใช้เบ็ดน้ำเต้า แต่ตอนี้ไม่มีคนใช้แล้ว ปลาเลิมมันไม่ค่อยมีเหมือนเมื่อก่อน น้ำเหืองช่วงเดือนนี้มันจะแห้ง แต่ไหลเร็ว ตนหาปลาบางคนก็ใส่ ฟดกุ้งเอาไว้ในน้ำ เป็นคืนพอพรุ่งนี้ก็ค่อนมายามเอา ปลาช่วงนี้ลดลงกว่าเมื่อก่อนเยอะ


อย่างไกทางภาคเหนือ คนทางนี้เรียกไครหรือเทา มีบางคนที่กินอยู่ถ้ามันยังไม่แก่คือยังเส้นไม่ยาวเรียกเทาพอมันเส้นยาวก็เรียกไคร คนหาปลาบางคนก็ไหลดาง บางคนก็ใส่เบ็ด บางคนก็ใส่ดางค้างคืนเอาไว้ คนบ้านท่าดีหมีก็หาอยู่หากินทั้งสองงน้ำคือทั้งน้ำเหืองแล้วก็น้ำโขง


เมื่อถามถึงการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขง พ่อหล้า โพธิ์ไทรกล่าวว่า "ไทบ้านทั้งคนไทยเฮาและพี่น้องชาวลาวอาศัยบริเวณปากน้ำเหืองนี้ในการหาปลาเป็นส่วนใหญ่ เพราะเป็นบริเวณที่ปลาชอบอยู่ เป็นช่วงที่น้ำเหืองไหลมาบรรจบกับแม่น้ำโขง จึงเป็นแหล่งหาอยู่หากินของปลาหลากหลายชนิด ที่ไทบ้านใช้หาปลามาหลายชั่วอายุคนแล้ว โดยใช้มอง ไซลั่น กะตั้ม เบ็ด ในการหาปลามาโดยตลอด เมื่อก่อนปลาเยอะมากอยากินปลาก็ตั้งหม้อน้ำไว้รอ แล้วลงมากู้เครื่องมือหาปลาที่ใส่ไว้ก็มีกับข้าวกินกันสบาย แม่น้ำโขงเริ่มขึ้นลงผิดปกติมา ๒-๓ ปีมานี้ จะขึ้นอยู่ ๓-๕ วัน แล้วก็ลงไปอีก ๓-๕ วัน เป็นอย่างนี้ตลอด ต่างจากเมื่อก่อนที่น้ำขึ้นลงตามฤดูกาล เมื่อถึงฤดูน้ำมากน้ำก็จะขึ้นเรื่อยๆ เมื่อถึงฤดูน้ำลดน้ำก็จะลดลงไปเรื่อยๆ จนถึงจุดที่น้ำอยู่ทุกปีไม่ขึ้นมาอย่างเช่นทุกวันนี้"


ปากน้ำเหืองนี้มีเรือหาปลาอยู่ประมาณ ๒๐ ลำ จากเมื่อก่อนที่มีกันแทบทุกหลังคาเรือน


ผาแบ่นผานี้แบ่นเหมือนโดนมีดถาง


บ้านผาแบ่น ตำบลบุโฮม อำเภอเชียงคาน เป็นอีกหมู่บ้านหนึ่งที่ตั้งอยู่ริมน้ำโขง บริเวณริมน้ำโขงช่วงหน้าแล้งไทบ้านมีการปลูกพืชผักไว้เป็นอาหารและปลูกถั่วดำไว้ขายอีกด้วย ถัดจากพื้นที่ทำการเกษตรของไทบ้านก็จะเป็นที่จอดเรือหาปลา ที่มีเรืออยู่ประมาณ ๔๐-๕๐ ลำ ที่เจ้าของสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันออกไปยามเครื่องมือหาหลาของตนในช่วงเช้าตรู่และยามแดร่มลมตกของช่วงเย็น


เมื่อได้สอบถามข้อมูลเรื่องการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขงไทบ้านผาแบ่นหลายคนได้ให้ข้อมูลดังนี้ พ่อเจียง ยามา อายุ ๕๙ ปี ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านเล่าว่า "เมื่อก่อนน้ำขึ้นลงตามฤดูกาลของธรรมชาติ แต่เดี๋ยวนี้ อยากขึ้นก็ขึ้นอยู่ ๓-๕ วัน ลงอยู่ ๓-๕ วันไม่เกินนี้ รับรู้ข่าวสารมาจากวิทยุบ้าน โทรทัศน์บ้างว่าทางจีนเขาสร้างเขื่อนไว้หลายเขื่อนเก็บน้ำไว้ปล่อยยามหน้าแล้งเวลาเรือใหญ่ขนสินค้ามาแล้วแล่นไม่ได้จีนก็จะปล่อยน้ำจากเขื่อนให้น้ำมากช่วยให้เรือแล่นได้ เมื่อเรือไม่เดินก็ปิดน้ำไว้ทำให้น้ำลด ปลาอยู่ไม่ได้น้ำขึ้นลงผิดปกติ ทำให้ปลาหายหมด เมื่อก่อนวันหนี่งเอาปลาเข้าบ้านเกือบไม่ไหว เดี๋ยวนี้หาได้บ้างไม่ได้บาง เมื่อก่อนมีปลาบึก เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้วมีแต่ปลาเลิมใหญ่สุด ๗๐-๘๐ กิโลกรัม และหายากขึ้น พ่อลงทั้งเช้าและเย็นยังหาไม่ค่อยได้ ปลาที่หาได้ส่วนใหญ่ในช่วงหน้าแล้งนี้จะเป็นปลาปาก บางวันได้ตัวขนาด ๒ กิโลบางวันก็ได้ขนาด ๓-๔ กิโล และยังมีปลาหว่าสะอี ปลาหมากโมง และปลาอีตู๋หรือปลาเพี้ย ขนาดตัวละประมาณ ๘-๙ กิโลกรัม ขายกิโลกรัมละ ๘๐ บาท ใช้มองตา ๑๖ เซนติเมตร บางวันโชคดีหน่อยก็จะได้ปลาโจกขนาด ๑๐ กิโลขึ้นไป ขายกิโลละ ๑๐๐ บาท วันหนึ่งเฉลี่ยมีรายได้จาการหาปลาวันละ ๑,๐๐๐ กว่าบาท"


พ่อสี ไชยจันทร์ อายุ ๕๙ ปี ไทบ้านผาแบ่นเช่นเดียวกันเล่าให้ฟังว่า "เมื่อก่อนไทบ้านมีเรือทุกหลังคาเรือน หาปลากันทุกบ้าน ๒-๓ ปี ผ่านมาน้ำโขงเปลี่ยนไป มีการขึ้นลงที่ผิดจากเมื่อก่อน ที่ถึงเวลาขึ้นก็จะขึ้นตลอดถึงเวลาลงก็จะลดลงเรื่อยๆ จนถึงระดับที่เคยเป็นทุกปี เดี๋ยวนี้ขึ้นๆ ลงๆ ไม่เป็นเวลา ปลาหาได้ยากมากขึ้นเดี๋ยวนี้คนในหมู่บ้าน ๓ ส่วนหาปลาเสีย ๑ ส่วน นอกนั้นก็หันไปทำสวนผลไม้มีมะม่วง มะขาม เงาะ ทุเรียน ปลูกปะปนกันไป และเลี้ยงวัวกันบ้าง ส่วนพ่อ กลางวันเลี้ยงวัว กางมองทิ้งไว้เช้าเย็นก็มายามดูว่าปลาติดมองหรือไม่ ปลาที่ติดมองจะเป็นปลาเพี้ย ขายกิโลกรัมละ ๑๐๐ บาท ปลาปาก ปลาแกง ก็กิโลกรัมละ ๑๐๐ บาท ช่วงไหนได้ปลามากราคาก็จะลดลงเหลือกิโลกรัมละ ๗๐-๘๐ บาท ขายให้กับคนในหมู่บ้านเดี๋ยวกันและหมู่บ้านใกล้เคียง ช่วงนี้ปลาบ่หลาย น้ำขึ้นๆ ลงๆ ถ้าเขา (หมายถึงจีน) ปล่อยน้ำเขื่อนน้ำก็มาก ไม่ปล่อยก็น้อย รู้มาจากข่าวในวิทยุบ้าง โทรทัศน์บ้าง เป็นสาเหตุทำให้หาปลาได้น้อยลง เมื่อเทียบกับ ๕-๑๐ ปีก่อน ที่อยากกินปลาก็ตั้งหม้อรอไว้ไปหาก็ได้ปลามากิน"


"บ้านผาแบ่นเมื่อก่อนมีการไหลเบ็ดน้ำเต้าไปตามน้ำ ซื้อหนังหมามากิโลละ ๑๐๐ บาท นำมาหมักประมาณ ๓ วัน ให้มีกลิ่นเหม็น ซึ่งปกติเนื้อหมาจะมีกลิ่นแรงอยู่แล้ว ใช้เป็นเหยื่อล่อปลาเลิม ซึ่งเป็นปลาที่ชอบกินของเน่าเหม็น กินของสกปรก ผิดกับปลาบึกที่เป็นปลาที่ชอบกินแต่ของสะอาด เช่น ไคหิน สาหร่าย เมื่อปลาเลิมได้กลิ่นเน่าเหม็นก็จะมาติดเบ็ดน้ำเต้าที่ไหลไว้ เมื่อ ๒ ปีที่แล้วได้ปลาเลิม ตัวขนาด ๗๐ กว่ากิโล ขายกิโลกรัมละ ๑๑๐ บาท ได้เงินเหมือนขายควาย หากได้ปลาก็จะโทรหาคนรับซื้อเขามาซื้อถึงบ้านเอาไปขายให้คนกรุงเทพ แล้วไปบอกว่าปลาบึก เขาก็ซื้อกันกิโลหลายร้อยบาท เพราะเขาแยกไม่ออกว่าปลาบึกหรือปลาเลิม ไทบ้านอย่างเราๆ จะรู้ว่าอันไหนปลาบึกอันไหนปลาเลิม เพราะดูออกว่าปลาบึกจะหัวเล็กแหลม ตัวยาวไม่มีเขี้ยว ส่วนปลาเลิมจะหัวใหญ่ ตัวสั้นกว่าและมีเขี้ยว เดี๋ยวนี้น้ำ ๓-๔ วันขึ้น ๓-๔ วันลง จีนสร้างเขื่อนเขาปล่อยน้ำมาน้ำก็เยอะ เขาปิดน้ำก็ลง หาปลาไม่ค่อยได้ เดือน ๕ (เมษายน) หาปลาได้มาหน่อยเพราะเป็นช่วงปลาขึ้น" นี้คืออีกเสียงหนึ่งของไทบ้านผาแบ่นชื่อพ่อวิญญู ไชยจันทร์ อายุ ๕๗ ปี


ถัดจากบ้านผาแบ่นลงไปทางใต้ของแม่น้ำโขงอีก ๕ กิโลเมตร เป็นบ้านบุโฮม ตำบลบุโฮม อำเภอเชียงคาน เช่นเดียวกัน วิถีการดำเนินชีวิตคงไม่ต่างจากบ้านผาแบ่น เมื่อเดินไปตามทางเดินริมน้ำโขง ก็พบกับศาลาพักร้อนตั้งอยู่ริมน้ำโขงมีทางเดินเท้าทอดสู่แม่น้ำโขง


สองผู้เฒ่าแห่งบ้านบุฮมนั่งฟังวิทยุทรานซิสเตอร์อยู่ในศาลา เมื่อเห็นคนแปลกหน้าผู้มาเยือนเดนเข้าไปหา สองผู้เฒ่าทอดสายตาที่เต็มไปด้วยความฉงนและเต็มไปด้วยคำถาม เมื่อผู้มาเยือนส่งยิ้มให้พร้อมกับขออนุญาตเข้าไปนั่งในศาลา สองผู้เฒ่าจึงเชื้อเชิญพร้อมส่งยิ้มตอบรับ


เราใช้เวลาไม่นานในการสร้างความคุ้ยเคยกับผู้เฒ่าทั้งสอง แล้วจึงเริ่มสอบถามเรื่องราวที่เกี่ยวกับแม่น้ำโขง พ่อบุญหนัก มามี พ่อใหญ่วัย ๗๐ ปี เล่าด้วยความภาคภูมิใจว่า "พ่อหาปลาตั้งแต่วัยรุ่น เมื่อก่อนลงไปน้ำโขงเอามือคลำจับปลาได้เลย ปลาจะอยู่ตารมซอกหินผา เป็นปลาแข้ ไทบ้านหาปลากันเป็นทุกคน ปลาเยอะมากขายกิโลละ ๕ บาท ๑๐ บาท ตื่นมาก็ออกไปหาปลา ทำให้แข็งแรงไม่ค่อยเจ็บไข้ได้ป่วย" ซึ่งเมื่อเราพินิจพิจารณาดูลักษณะของพ่อใหญ่แล้วก็จริงอย่างที่พูด ที่ท่าทางของพ่อใหญ่ทั้งสองแม้วัยจะล่วงเลยถึง ๗๐ ปีแล้วท่าทางยังคงแข็งแรงทะมัดทะแมงอยู่ เมื่อเรากล่าวชมผู้เฒ่าทั้งสองจึงส่งยิ้มให้อย่างภาคภูมิใจ


พ่อสวน ทองสุข อายุ ๗๐ ปี เล่าเสริมต่อว่า "เมื่อก่อนไทบ้านมีเรือกันทุกหลังคา หาปลาทุกวัน และวางเครื่องมือหาปลาไว้ตลอดทั้งมอง ไซ เบ็ด จะหยุดหาก็ต่อเมื่อน้ำเต็มฝั่ง แต่ก่อนน้ำขึ้นก็จะขึ้นตลอดตามฤดูกาลน้ำหลาก เมื่อถึงฤดูน้ำลงก็จะลดลงเรื่อยๆ จนมีคำกล่าวที่ติดปากไทบ้านว่า เดือน ๕ น้ำย่านท่า เดือน ๖ เดือน ๗ น้ำเต็มท่า เฮ็ดอยู่เฮ็ดกินบ่ได้อดได้อยาก"


พ่อบุญหนักได้โอกาสจึงเล่าต่อว่า "ตอนพ่อสองคนอายุ ๑๑ ปี น้ำท่วมหมู่บ้านหมด สูงเท่าหัวเข่าจนถึงต้นขา และมาท่วมอีกทีตอนพ่ออายุ ๒๔ ปี ไทบ้านก็หาอยู่หากินกันตามปกติ เพราะมีกุ้ง หอย ปู ปลาให้จับกินกันมิได้ขาด และเมื่อตอนพ่ออายุ ๘-๙ ปี คนในหมู่บ้านเคยได้ปลาบึกตัวยาวประมาณ ๒ วากว่า ตัวใหญ่โอบไม่รอบ แบ่งกันกินทั้งหมู่บ้าน ไม่มีการขาย ปลาบึกจะอยู่ตามคกตะมิ้ง ซึ่งเป็นคกที่อยู่ในลำน้ำโขงใกล้ๆ หมู่บ้าน คกตะมิ้งลึก ๑๒ วา น้ำลึกมากปลาบึกตัวใหญ่จึงอยู่ได้ และเมื่อ ๑๐ กว่าปีก่อนพ่อก็ได้ปลาเลิมหนัก ๒๕ กิโล เดี๋ยวนี้หาปลาขายกัน ปลาหายากมากขึ้น คนจะเข้ามาซื้อถึงบ้านไม่ทันได้แบ่งกันกินเหมือนเมื่อก่อน ตอนนี้มีเรือหาปลาอยู่ ๔๕ ลำ เป็นเรือติดเครื่อง ซึ่งใช้เรือติดเครื่องแบบนี้มาประมาณ ๔๐ ปีมาแล้ว เพราะราคาปลาสูงขึ้นทำให้มีการแข่งขันกันหาปลามากขึ้นจึงเอาเรือไปติดเครื่องจะได้หาปลาได้มากขึ้นเพราะปลาก็เริ่มลดลงเรื่อยๆ"


ส่วนการอพยพย้ายถิ่นของปลานั้นพ่อสวน เล่าว่า "ในเดือน ๓-(กุมภาพันธ์-มีนาคม) ปลาน้อยจะขึ้นมาก เช่น ปลาบอก ปลาหมากโมง ปลามาง ส่วนเดือน๖-(พฤษภาคม-มิถุนายน) ปลาใหญ่ขึ้นเช่น ปลาแข้ ปลาส่วย ปลาหางแดง ปลาบอก ปลามางจะมีไข่ในท้องช่วงเดือน ๗-(มิถุนายน-กรกฎาคม) เดือน ๖ เดือน ๗ น้ำเริ่มขึ้นไทบ้านก็จะเริ่มกางมองทิ้งไว้ แล้วไปยามเช้า-เย็น หากันไปเรื่อยๆ จนถึงเดือน ๙ เดือน ๑๐ น้ำเต็มฝั่งก็จะหยุดหา แล้วเมื่อย่างเข้าสู่เดือน ๑๑ น้ำก็จะเริ่มลดลง หรือขึ้นอยู่กับฝนด้วย ก็จะเริ่มลงไปกางมองกันอีก แต่ก่อนหากินตามธรรมชาติกันไป เดี๋ยวนี้ความเจริญเข้ามา การเฮ็ดอยู่เฮ็ดกินก็เปลี่ยนไป หาปลาลำบากขึ้น ปลาหายากขึ้นทำให้ราคมปลาสูงขึ้นตามไปด้วย"


เมื่อถามถึงสภาพทั่วไปและความแตกต่างของแม่น้ำโขงระหว่างอดีตกับปัจจุบันนั้นพ่อใหญ่ทั้งสองตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า "น้ำโขงเมื่อก่อนกับเดี๋ยวนี้ต่างกันมาก เมื่อก่อนเมื่อถึงเดือน ๖ เดือน ๗ ก็จะรู้แล้วว่าถึงเวลาน้ำขึ้นแล้ว และเมื่อถึงเดือน ๔ เดือน ๕ น้ำก็ย่านท่า (น้ำลด) -๓ ปี ผ่านมานี้ จีนกั้นเขื่อน น้ำขึ้นลงผิดปกติ ขึ้น ๓-๕ วัน ลง ๓-๕ วันไม่เกินนี้ จีนลากเรือใหญ่ก็ปล่อยน้ำมาเพื่อไม่ให้เรือเกยตื้น เรือไม่แล่นก็ปิดเขื่อนน้ำก็แห้ง"


ส่วนพิธีกรรมการหาปลาของไทบ้านแถบนี้พ่อบุญหนักกล่าวว่า "พิธีกรรมของคนหาปลาที่นี่จะใช้ไก่ เหล้า ยาสูบ ดอกไม้ธูปเทียน เลี้ยงเจ้าของคก วัง เลี้ยงของใครของมันใครหาที่ตรงไหนก็จะเลี้ยงที่ตรงนั้น ไม่เหมือนกับทางเชียงของที่ไทบ้านเลี้ยงรวมกันจัดงานเป็นประเพณี"


เครื่องมือหาปลาของไทบ้านแถบนี้ส่วนใหญ่จะเป็นมอง แห สะดุ้ง เบ็ดและด่างกุ้ง ที่ใช้วางดักไว้แล้วไปยามหรือไปดูช่วงเช้าและเย็น เมื่อเครื่องมือหาปลามีเศษซากใบไม้ สาหร่ายติดมากก็จะเอาขึ้นมาทำความสะอาดแล้วนำไปวางไว้เช่นเดิม ส่วนเวลากลางวันไทบ้านจะใช้เวลาทำงานในสวนมะม่วง มะขาม เงาะ ทุเรียน ที่ปลูกผสมกันไป และสวนกล้วยไข่ หอม กระเทียม


ในความสัมพันธ์ของคนสองฝั่งโขงนั้นพ่อบุญหนัก เล่าว่า "บรรพบุรุษของบ้านบุฮม มาจากเมืองลาว มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่ามีสามพี่น้อง ชื่อท้าวบุฮม ท้าวบุญฮวง และท้าวบุญเฮียว จากเมืองพวน ของลาว พากันข้ามโขงมาตามจับนกแอแล แต่จับไม่ได้จึงไม่กล้ากลับเมือง เพราะกลัวเจ้าเมืองที่ส่งให้มาจับจำลงโทษ จึงตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้แหล่งน้ำแห่งหนึ่ง ชื่อน้ำสวย เป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขงอีกสายหนึ่ง และได้สร้างครอบครัวกับหญิงไทยมีลูกหลานเพิ่มขึ้น จึงแยกเมืองกันอยู่สามเมือง ตามชื่อของท้าวทั้งสาม เมืองบุฮวงและเมืองบุเฮียวอยู่ใกล้แม่น้ำสวย ส่วนเมืองบุฮมอยู่ใกล้กับปากน้ำสวยที่ไหลลงแม่น้ำโขงทำให้มีความอุดมสมบูรณ์กว่าทั้งสองเมือง ดังนั้นเจ้าเมืองบุฮวงและเมืองบุเฮียวจึงพาไทบ้านมาอยู่ร่วมกันที่เมืองบุฮม ซึ่งก็คือบ้านบุฮมในปัจจุบัน ส่วนเมืองบุฮวงและเมืองบุเฮียวไทบ้านยังพบหลักฐานเป็นซากโบสถ์อยู่ในพื้นที่ไร่ของไทบ้านในปัจจุบัน ซึ่งทำให้ไทบ้านเชื่อว่าเรื่องเล่าดังกล่าวเป็นเรื่องจริง ไทบ้านจึงเรียกตัวเองว่า "ไทบุฮม" ที่มีการใช้ภาษาบางคำเหมือนกับไทบ้านฝั่งลาวและมีการไปมาหาสู่กับมาโดยตลอดระหว่างไทบ้านบุฮมกับไทบ้านนาเพียงและบ้านนาฟ้าของประเทศลาว จนมีคำพูดติดปากไทบ้านว่า " กินเหล้าบ้านเฮา กินลาบบ้านเขา" ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสนิทสนมความสัมพันธ์อันดีของพี่น้องไทบ้านทั้งสองฝั่ง ที่ได้เฮ็ดอยู่เฮ็ดกินร่วมกันมาโดยตลอดและมีคนหนุ่มสาวทั้งสองฝั่งแต่งงานสร้างครอบครัวร่วมกันก็หลายคู่"


จากคำบอกเล่าของไทบ้านริมฝั่งโขงทั้งสามหมู่บ้านดังกล่าวข้างต้นที่มีวิถีชีวิตพึ่งพาแม่น้ำสายสำคัญสายนี้มาช้านาน และเฝ้าดูการเปลี่ยนแปลงของสายน้ำแห่งนี้มาโดยตลอด ซึ่งไทบ้านแถบนี้มีการรับรู้ข่าวสารจากสื่อได้ดี จากการได้พูดคุยกับไทบ้านนั้นได้มีการรับข่าวสารจากสื่อวิทยุและสื่อโทรทัศน์ ซึ่งไทบ้านก็ได้แต่เพียงรับทราบข่าวสารเท่านั้น มิได้มีปฏิกิริยาตอบโต้สิ่งที่ทำให้สายน้ำที่เป็นอู่ข้าวอู่น้ำของไทบ้านเปลี่ยนแปลงไป เมื่อสอบถามถึงความรู้สึกที่มีต่อเรื่องนี้นั้นไทบ้านให้ความเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่า

"
เขาสร้างเขื่อนในพื้นที่บ้านเมืองเขา เราเข้าไปยุ่งไม่ได้ เราคนท้ายน้ำได้แต่ปรับตัวให้เข้ากับความเป็นอยู่ เมื่อน้ำแห้งลงมากก็มีการลงไปปลูกพืชผักริมน้ำโขง ปลาหายากขึ้นก็วางเครื่องมือทิ้งไว้ แล้วไปทำอย่างอื่น ทำสวนบ้าง เลี้ยงวัวบ้าน เช้าเย็นก็ลงไปดูครั้งหนึ่ง โชคดีก็ได้ปลามากินมาขาย โชคไม่ดีก็วางทิ้งไว้ต่อไป ทำเช่นนี้ก็พออยู่ได้ไม่ถึงขั้นขัดสน รู้สึกเสียดายสภาพของแม่น้ำโขงของเมื่อก่อนที่มีปลามากมาย อยากกินเมื่อไหร่ก็ลงไปจับมากิน ปลามีมากจนจับด้วยมือเปล่าได้ เดี๋ยวนี้ปลาหายากขึ้น แต่ก็ต้องยอมรับสภาพที่เป็นอยู่เพราะไม่รู้ว่าจะแก้ไขอย่างไรเหมือนกัน"


จากคำบอกเล่านี้ทำให้ก่อเกิดคำถามขึ้นว่าเมื่อปัญหาเกิดขึ้นกับสายน้ำนานาชาติที่มีการใช้ประโยชน์ร่วมกันเช่นนี้ ประเทศที่ใช้ประโยชน์จากสายน้ำนี้ได้มีข้อตกลงร่วมกันหรือไม่ เมื่อเกิดปัญหาเช่นนี้ขึ้นมา หรือขึ้นอยู่กับความได้เปรียบเสียเปรียบของผู้คนหรือประเทศที่อาศัยอยู่ทางต้นน้ำก็ได้เปรียบจากการใช้ประโยชน์จากสายน้ำมากกว่าคนที่อยู่ท้ายน้ำเช่นนั้นหรือ?