Skip to main content

บาเกียวมิดแลนด์ : เสน่ห์เมืองเหนือแดนตากาล็อค

จังหวัดบาเกียว เมืองท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงอีกแห่งหนึ่งในดินแดนภาคเหนือของเกาะลูซอน ประเทศฟิลิปปินส์ ที่มีอากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปี ทั้งเมืองแม้กระทั่งในโรงแรมชั้นนำ ไม่จำเป็นต้องใช้แอร์คอนดิชั่น อุณหภูมิเฉลี่ย 14 องศา ในบางช่วงที่อากาศหนาวเย็นต่ำกว่าอุณหภูมิเฉลี่ย บาเกียว จึงเป็นเมืองในหมอกเกือบตลอดทั้งวัน

เส้นทางไปบาเกียวไปได้สองเส้นทาง คือ ทางเครื่องบินและทางรถยนต์ แต่ถ้าชื่นชอบธรรมชาติพร้อมกับลุ้นระทึกกับเส้นทางที่สร้างความหวาดเสียวได้ตลอดเส้นทาง ก็ควรเลือกไปทางรถยนต์ รถประจำทางประเภทแอร์คอนดิชั่นราคา 500 บาท (ราคาเมื่อปี พ.. 2547) โดยเริ่มต้นจากเมืองหลวงมะนิลา หากไปทางเครื่องบินสนนราคาตั๋วไปกลับประมาณ 6,000 บาท บาเกียวเป็นเมืองที่ตั้งอยู่บนพื้นที่สูงสุดของฟิลิปปินส์ ตลอดเส้นทางรถยนต์จะผ่านหุบเหวลึกเป็นระยะ เรียกว่ารถยนต์ไต่ระดับสูงขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึงจุดสูงสุดอันเป็นที่ตั้งของจังหวัด




เมื่อครั้งที่ฟิลิปปินส์ตกเป็นเมืองขึ้นของสหรัฐอเมริกา ประมาณ 43 ปี เมืองบาเกียวเป็นเมืองหนึ่งที่สหรัฐอเมริกายึดเป็นเมืองสำคัญของภาคเหนือในเกาะลูซอน และสหรัฐอเมริกาออกแบบเมืองและสร้างแผนผังของเมืองเพื่อรองรับประชากรเพียงแค่ 30,000 คน แต่มนต์เสน่ห์ของบาเกียวดึงดูดให้ผู้คนหลั่งไหลเข้ามาสู่ดินแดนสวรรค์ ปัจจุบันประชากรหนาแน่นจำนวนเกือบ 3 ล้านคน ระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานเช่น ถนน น้ำประปา ไฟฟ้าจึงเป็นเรื่องที่น่ากังวลที่สุดสำหรับเมืองบาเกียว โดยเฉพาะเรื่องน้ำประปา ค่อนข้างขาดแคลน ทางนายกเทศมนตรีของเมืองบาเกียวออกกฎเกณฑ์แบ่งโซนการเปิดปิดน้ำประปา เพื่อให้มีน้ำใช้กันทั่วหน้า โซนไหนน้ำประปาไหลสะดวก อีกโซนหนึ่งต้องเสียสละเพราะเป็นช่วงที่น้ำประปาไม่ไหล แต่ด้วยปัญหาที่ชาวบ้านรับทราบกันทั่วหน้า การกักเก็บน้ำสลับวันจึงมีเกือบทุกบ้าน


ด้วยความที่อากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปี สามารถปลูกพืช ผัก ผลไม้เมืองหนาวได้งดงาม ผลไม้และพืชผักเมืองหนาวที่บาเกียวจึงมีชื่อเสียงทั่วประเทศฟิลิปปินส์และต่อนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะสตอเบอรี่เป็นผลไม้ขึ้นชื่ออันดับหนึ่งของบาเกียว ของที่ระลึกที่ควรเก็บมาฝากเพื่อนจากบาเกียวคือ สตอเบอรี่สด หวาน นอกจากนั้นยังมีผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากสตอเบอรี่อีกหลากหลายคือ ไวน์ สตอเบอรี่กระป๋อง ฯลฯ นอกจากพืชเมืองหนาวส่งออกแล้ว อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเมืองบาเกียวยังติดอันดับต้นๆ ในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นักท่องเที่ยวแถบเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน นิยมไปใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นเป็นเดือน บางคนไปเรียนภาษาอังกฤษที่นั่นด้วย ส่วนนักท่องเที่ยวตะวันตกมีจำนวนมากไม่แพ้กัน



เมืองในหมอก ประชากรหนาแน่น ปลูกที่อยู่อาศัยกันแน่นภูเขา ทิวทัศน์สวยงาม


บาเกียวเป็นเมืองที่มีส่วนผสมผสานทางวัฒนธรรมมากเมืองหนึ่งในฟิลิปปินส์ วัฒนธรรมการกินเป็นแบบตะวันตกผสมผสานระหว่างสเปนิชและอเมริกัน อาหารพื้นเมืองดั้งเดิมไม่ค่อยมีให้เห็นมากนัก อาหารประเภทย่าง อบ นม เนยจึงมีเห็นทั่วไปในบาเกียว วัฒนธรรมดั้งเดิมที่เห็นกลับเป็นวัฒนธรรมของชนชาวเขาที่อาศัยอยู่บนพื้นที่สูงถัดไปอีก การแต่งกายของชาวเขาที่นำสินค้าประเภทผัก ผลไม้มาขายในเมืองยังคงเหมือนเดิม ซึ่งมีส่วนคล้ายชาวเขาในเมืองเหนือของไทย เสื้อผ้าเย็บปักถักร้อยด้วยมือ ลวดลายสีสันสดใส เพื่อนนักข่าวท้องถิ่นบอกว่า ที่อยู่อาศัยของพวกเขายังคงรักษาสภาพวัฒนธรรมการปลูกบ้านเรือนแบบดั้งเดิมไว้ และปลูกพืชไร่ และทำนาแบบขั้นบันได ผู้เขียนเสียดายที่ไม่ได้ไปเยือนเพราะเวลาในการทำงานจำกัด หากไปต้องใช้เวลาในการเดินทางและท่องเที่ยวอีกเกือบสัปดาห์


บาเกียวเป็นเมืองเศรษฐกิจสำคัญ มีอุตสาหกรรมเหมืองแร่รายใหญ่ตั้งอยู่ที่นั่น ผู้สื่อข่าวท้องถิ่นของหนังสือพิมพ์บาเกียวบอกว่า เป็นตัวการในการทำลายสิ่งแวดล้อมอันสำคัญ คนท้องถิ่นไม่ได้รับผลประโยชน์จากเหมืองแร่ แต่ผลกระทบทั้งทางตรงและอ้อมกลับมากมายมหาศาล เจ้าของเป็นผู้มีอิทธิพลทางการเมืองและเศรษฐกิจระดับประเทศ พื้นที่แถบเหมืองแร่เป็นที่ต้องห้ามของคนนอก ที่ฟิลิปปินส์ได้ชื่อว่า นักข่าวเสียชีวิตจากการปฏิบัติงานมากที่สุดในแถบเอเชีย จึงไม่แปลกที่เพื่อนผู้สื่อข่าวท้องถิ่นปฏิเสธที่จะพาผู้เขียนไปดูพื้นที่ เพราะเกรงจะเกิดอันตรายแก่ผู้มาเยือน แต่ไม่ได้หมายความว่า พวกเขาจะนิ่งดูดายเมื่อเหมืองแร่ก่อผลกระทบในด้านลบกับสังคมและสิ่งแวดล้อม การที่สังคมสื่อของฟิลิปปินส์มีเสรีภาพสูงสุด การเปิดเผยข้อมูล ข้อเท็จจริงของผู้มีอิทธิพลจึงควบคู่ไปกับการเสี่ยงชีวิตของผู้สื่อข่าวไปด้วย พวกเขาไม่ยินยอมให้สถาบันใดๆ มาลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของพวกเขาอย่างเด็ดขาด เนื่องจากบทเรียนความเจ็บปวดจากประวัติศาสตร์ยุคมืดของเสรีภาพที่กินเวลาเกือบ 20 ปี ในช่วงอดีตประธานาธิบดีมาร์กอส ทำให้พวกเขายอมเสียชีพดีกว่าเสียอิสรภาพทางด้านการแสดงออกทางความคิด


เพราะเศรษฐกิจเข้าขั้นดี อุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์สามารถดำรงอยู่ได้ด้วย ที่บาเกียวมีหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นประเภทรายสัปดาห์ถึง 12 ฉบับ ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นนายทุนในพื้นที่ และมีนายทุนต่างพื้นที่เป็นนายทุนที่ร่วมกันระหว่างนายทุนจากจังหวัดเซบูและมะนิลาลงทุนทำหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ขึ้นประจำบาเกียวและภาคเหนือ เมื่อประมาณปี พ.. 2543 เพราะเห็นช่องทางในการเติบโตของสื่อสิ่งพิมพ์ที่นี่


แต่บาเกียวเป็นเมืองที่สหรัฐอเมริกาตั้งถิ่นฐานเมื่อครั้งที่ครอบครองฟิลิปปินส์ ร่องรอยการเติบโตของสื่อสิ่งพิมพ์ของที่นี่มีมายาวนาน ชาวตะวันตกผลิตหนังสือพิมพ์อ่านกันเอง นอกเหนือจากส่งมาจากเมืองหลวง บาเกียวจึงมีกำเนิดหนังสือพิมพ์มานานเท่าๆ กับที่เมืองมะนิลามีสื่อสิ่งพิมพ์ หนังสือพิมพ์เก่าแก่ของบาเกียว ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.. 1957 (.. 2500) ชื่อว่า บาเกียว มิดแลนด์ คูเรียเคอร์ (the Baguio Midland Courier) บาเกียวดินแดนมหัศจรรย์ภายในหุบเขา นั่นคือ คำอธิบายเรื่องการตั้งชื่อหนังสือพิมพ์ของเจ้าของหนังสือพิมพ์รุ่นสาม คริสโตเฟอร์ ฮามาดา เด็กหนุ่มวัยยี่สิบต้นๆ ลูกเสี้ยวผสมระหว่างสเปน จีน คนพื้นเมืองและญี่ปุ่น คือ ย่าเป็นลูกครึ่งสเปนิชกับคนพื้นเมือง ปู่เป็นคนญี่ปุ่น พ่อจึงเป็นลูกครึ่งญี่ปุ่น ฟากตากับยายมีบรรพบุรุษผสมกันระหว่างสเปนิช จีน และคนพื้นเมือง



สำนักงานของหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ บาเกียว มิดแลนด์ คูเรียเคอร์


ปู่และพ่อเป็นผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ และเป็นหนังสือพิมพ์แบบธุรกิจครอบครัวยืนยงมาจนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 50 ปีมาแล้ว รุ่นคริสโตเฟอร์เป็นรุ่นสาม เขาจบการศึกษาด้านกราฟฟิค มีเดีย มหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ บาเกียว หลังจากจบก็เข้ามารับงานด้านสื่อของครอบครัวเต็มตัว


ครอบครัวฮามาดา เรียกได้ว่าเป็นครอบครัวที่ชื่อเสียงของเมืองบาเกียว ประชาชนทั่วไปไม่มีใครไม่รู้จักตระกูล ฮามาดา นอกจากทำธุรกิจด้านสื่อสิ่งพิมพ์แล้ว ยังมีธุรกิจด้านการเกษตรทั้งเป็นเจ้าของไร่และโรงงานส่งออกผลไม้นานาชนิด แต่ครอบครัวฮามาดายังคงเป็นที่ชื่นชอบของคนบาเกียว เพราะยังคงภาพพจน์ของการเป็นนักหนังสือพิมพ์ที่มีคุณธรรม หนังสือพิมพ์ บาเกียว มิดแลนด์ คูเรียเคอร์ จึงเป็นที่ภาคภูมิใจและเป็นหน้าเป็นตาของคนบาเกียว


ปู่และพ่อของเขาก่อตั้งหนังสือพิมพ์เพื่อสนองความเป็นท้องถิ่นหรือภูมิภาค เพื่อให้หนังสือพิมพ์เป็นเสียงสะท้อนดินแดนของผู้คนแห่งภูเขา ดินแดนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหมู่เกาะฟิลิปปินส์ มีวัฒนธรรมที่แตกต่างจากผู้คนที่อยู่ทางตอนใต้ ในยุคหนึ่งบางส่วนของคนภูเขาหรือ Cordillera เป็นส่วนหนึ่งของพรรคคอมมิวนิสต์ที่ต่อสู้กับอำนาจรัฐ และในยุคนั้นหนังสือพิมพ์บาเกียวก็เป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมให้กับสังคม


หนังสือพิมพ์เกิดขึ้นภายใต้ปรัชญา Fair, Fearless, Friendly and Free
Fair –
คำถามที่ว่ามีชีวิตอยู่เพื่ออะไร ถ้าไม่อยู่เพื่อสร้างหรือต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมให้กับสังคม เป็น F แรกที่ผู้ก่อสร้างหนังสือพิมพ์บาเกียวตระหนัก
Fearless –
กล้าหาญ หนังสือพิมพ์ควรมีความกล้าหาญในการเปิดเผยสิ่งที่ผิด ความกล้าหาญเป็นบ่อเกิดของคุณธรรม ควรกล้าที่จะโต้แย้งในสังคมแห่งประชาธิปไตย ทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็นโต้แย้งได้อย่างเสรี คนทำหนังสือพิมพ์ควรกล้าเดินอยู่ในท่ามกลางความมืดมิดเพื่อค้นหาแสงสว่างให้กับสังคม
Friendly –
หนังสือพิมพ์บาเกียวอยู่บนความชื่นชมยินดีของมิตรภาพพร้อมด้วยความกล้าหาญ
Free –
เสรีภาพทางด้านความคิดและการแสดงความคิดเห็นเป็นอุดมการณ์ของบาเกียว ไม่มีการปิดข่าว แม้ถูกคุกคาม



ข่าวเกาะติดและเจาะลึกปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมท้องถิ่นของบาเกียว มิดแลนด์ คูเรียเคอร์


ทั้งสี่ F เป็นปรัชญาเบื้องต้นที่ประชาชนชาวบาเกียวคุ้นเคยกับหนังสือพิมพ์บาเกียว หนังสือพิมพ์บาเกียว จึงครองใจคนบาเกียวมาจนถึงทุกวันนี้ หนังสือพิมพ์บาเกียวมีโครงสร้างองค์กรแบบมืออาชีพ มีสมาชิกร่วมชะตากรรม 20 คน แบ่งเป็นฝ่ายกองบรรณาธิการ ฝ่ายสมาชิกและการตลาด ฝ่ายศิลปกรรม ฝ่ายสายส่ง ฝ่ายโรงพิมพ์ และฝ่ายบริหาร ยอดการจำหน่ายอาทิตย์ละ 22,000 ฉบับ กระจายไปทั่วจังหวัดในแถบตอนเหนือของเกาะลูซอน มีสมาชิกประจำ 2,000 ฉบับ ในจำนวนนี้รวมสมาชิกในเมืองหลวงมะนิลาเกือบ 1,000 ฉบับ


บาเกียว มิดแลนด์ คูเรียเคอร์ นำเสนอข่าวท้องถิ่นที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคเหนือของเกาะลูซอนเป็นส่วนใหญ่ ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ อีก 20 เปอร์เซ็นต์เป็นข่าวต่างประเทศ ข่าวภูมิภาคอื่นๆ ในประเทศฟิลิปปินส์เช่น แถบหมู่เกาะวิซายา และหมู่เกาะมินดาเนา รวมทั้งข่าวที่เกิดขึ้นในส่วนกลาง-มะนิลา เป็นต้น


หนังสือพิมพ์บาเกียว มิดแลนด์ คูเรียเคอร์ ไม่เพียงแต่เป็นที่กล่าวขานและเชิดหน้าชูตาในวงสังคมท้องถิ่นภาคเหนือเท่านั้น แม้แต่คนแวดวงสื่อในศูนย์กลาง-เมืองหลวงมะนิลายังภาคภูมิใจในความเป็นสื่อของหนังสือพิมพ์บาเกียวฯ ที่เป็นสัญลักษณ์ของภูมิปัญญาและแวดวงปัญญาชนของสังคมนั้นๆ เช่นกัน


บาเกียว มิดแลนด์ฯ เป็นสื่อที่ทำข่าวสะท้อนปัญหาสังคม เป็นที่ฝึกงานของนักศึกษา-นักกิจกรรมในรั้วมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาของภูมิภาค เป็นความฝันของพวกเขาที่จะก้าวเข้ามาเป็นคนทำงานในสังคมที่เป็นจริง

บาเกียว มิดแลนด์ฯ จึงเป็นสถาบันการศึกษานอกระบบที่มีคุณภาพแห่งหนึ่งในฟิลิปปินส์อีกด้วย ซึ่งไม่ง่ายนักที่สังคมหนึ่งๆ จะสร้างสื่อที่มีคุณภาพได้ยั่งยืนเช่นนี้

....
สื่อทำหน้าที่ของสื่ออย่างมืออาชีพ ส่วนสังคมกำกับสื่อในแง่มุมของคุณภาพ และผลสะท้อนต่อสังคม