Skip to main content

ตม : เทศน์มหาชาติของครูเล็ก

คอลัมน์/ชุมชน

























ถึงผู้อ่านที่รัก

 

เป็นอย่างไรบ้างคะคุณผู้อ่านที่รักทุกคน สุขสบายดีไหม ? ดิฉันก็เพิ่งจะได้หายใจหายคอจากการสอบอันแสนยาวนานที่ผ่านมา ที่แสนจะทุกข์ทรมานทั้งกายและใจและสมองเป็นหนักหนา แต่ก็ใช่ว่าช่วงสอบจะไม่มีอะไรดีเลยนะคะ ในทางกลับกันดิฉันอยากให้ช่วงสอบมันยาวนานออกไป ยาวไปถึงปีหน้าได้ก็ยิ่งดี

 

คุณผู้อ่านที่รักคงจะสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นกับดิฉัน ก็เพราะว่าช่วงสอบนี่แหละค่ะ ที่ดิฉันจำเป็นต้องแต่งตัวสวย ๆ ไปมหาวิทยาลัยทุกวัน ต้องดูดี สะดุดตา และเฉิดฉาย ถึงแม้ว่าจะต้องเหนื่อยกับการอ่านหนังสือ แต่ดิฉันก็ไม่ยอมให้ตัวเองโทรมไปกับมันเด็ดขาด ก็เพราะว่าช่วงนี้ใคร ๆ ก็ตามที่ไม่ได้เข้าเรียนก็มักจะมาเรียน มาอ่านหนังสือที่ห้องสมุด หนุ่ม ๆ หล่อๆ มากหน้าหลายตาที่ดิฉันไม่เคยเห็นหน้าก็จะเดินกันขวักไขว่ไปหมด ดิฉันก็พลอยหันซ้ายแลขวา มองหน้าหันหลังไปด้วย ไม่มีสมาธิอ่านหนังสือเลย ถ้าเกิดว่าสอบตกขึ้นมาไม่รู้จะเป็นการโชคดีอีกรึเปล่า เพราะถึงแม้จะต้องสอบใหม่ก็เท่ากับว่าต้องอ่านหนังสือใหม่ แต่ก็ต้องเจอผู้ชายใหม่ ๆ ด้วย เป็นเหมือนกันไหมคะ คุณผู้อ่านที่รักขา

 

แต่แม่ดิฉันสิคะไม่คิดอย่างนั้นด้วย บ่นอยู่ได้ทุกวี่ทุกวัน หาว่าดิฉันเป็นลูกเนรคุณ เอาการอ่านหนังสือสอบมาอ้างไม่ช่วยงานบ้าน และก็เลยเถิดไปตั้งแต่ดิฉันเกิดจนโต แล้วแกก็บ่นต่อว่าแกทุกข์ยากขนาดไหนที่ต้องเลี้ยงดิฉันมาจนโตถึงขนาดนี้ ทำไมดิฉันไม่สำนึกบุญคุณแกบ้างสักนิด แล้วยังสำทับต่อไปอีกว่าวันข้างหน้าถ้าดิฉันมีลูกเป็นของตัวเองแล้วจะรู้สึกว่าแม่ต้องเหนื่อยยากลำบากขนาดไหน โอย ดิฉันนั่งฟังแม่ของดิฉันเทศน์ทุกวันใจนึงก็อยากจะเถียงว่า หนูก็ไม่ได้ขอให้แม่ทำให้หนูเกิดมานี่คะ แม่ (กับพ่อ) อยากให้หนูเกิดมาเองแล้วจะมานั่งบ่นทำไม แต่ก็กลัวว่าตะหลิวที่อยู่ในมือแกจะบินมาถึงหัวของดิฉัน

 














พูดถึงเรื่องคุณความดีของแม่แล้ว ตอนนี้ก็มีละครเรื่องหนึ่ง ซึ่งเพิ่งจะลาจอไปไม่กี่วันมานี้ คือเรื่อง " ตม " ซึ่งถือเป็นละครเชิดชูคุณมารดาต้อนรับวันแม่เลยเชียวแหละ ละครเรื่องตมเป็นการกลับมาเล่นละครอีกครั้งของคุณ ภัทราวดี มีชูธน ซึ่งเธอลงทุนลงแรงกำกับเอง เขียนบทโทรทัศน์เองอีกด้วย ตม เป็นบทประพันธ์ของดินสอดำ/ประกายน้ำใส/กุลธิดา ออกอากาศทางไทยทีวีสีช่องสาม ซึ่งก่อนเรื่องนี้จะลงจอ ก็โหมประโคมข่าวกันอย่างกะจะมีงานวัดเลยทีเดียว แม้กระทั่งการถ่ายรูปประกอบละครที่มือช่างภาพฝีมือระดับโลก (?) มาถ่ายให้ ซึ่งดิฉันดูแล้วก็ไม่เห็นมันจะพิเศษหรือวิเศษตรงไหน แล้วก็ไม่สามารถจะรับประกันความสนุกสนานของละครได้เลยสักกะนิด เพราะเรื่องอย่างนี้มันไม่ " เซ้นต์ " กับชาวบ้านที่ดูละครอย่างดิฉันกับอีกหลาย ๆ คน เอาเป็นว่าเรามาอ่านเรื่องราวย่อ ๆ ดีกว่าค่ะคุณผู้อ่านที่รักขาว่า เรื่องตมที่เขาว่าดี๊ดีนี้มีเรื่องราวเป็นอย่างไร

 

ตมเป็นเรื่องของผู้หญิงวัย 61 ปี ที่ชื่อ คุณใหญ่ มีลูกชายสามคนคือ พิจักษ์ (นภัสกร มิตรเอม ) ลูกชายคนโต อายุ 35 ปี พิพัฒน์ (ธนากร โปษยานนท์) ลูกชายคนกลาง อายุ 32 ปี และเบิ้ม (สราวุฒิ มาตรทอง) ลูกชายคนเล็ก อายุ 25 ปี คุณใหญ่เธอเลิกกับสามี เพราะสามีเธอนอกใจไปมีผู้หญิงอื่น (บ้านดิฉันเรียกว่ามีชู้) เธอจึงพาลูกชายคนเล็กคือเบิ้ม มาทำมาหากินที่ราชบุรี ด้วยการขายพืชผักผลไม้ และทำสวนอาหาร เธอทำงานด้วยความอุตสาหะ ขยันขันแข็ง เพื่อที่จะหาเงินมาเลี้ยงลูก จนทำให้ไม่มีเวลาเลี้ยงดูลูกเลย เบิ้มจึงถูกคุณใหญ่ทิ้งให้ยายม้อยชาวบ้านข้างเคียง ซึ่งติดเหล้าเป็นผู้ดูแล










" ภาพจาก www.bangkokcity.com"
 

จากการที่เบิ้มถูกเลี้ยงดูโดยยายม้อยที่ติดเหล้า ทำให้เบิ้มซึมซับพฤติกรรมบางอย่างมาโดยไม่รู้ตัว ประกอบกับที่คุณใหญ่ไม่มีเวลาอบรมเลี้ยงดู เบิ้มจึงเป็นคนก้าวร้าว กลายเป็นเด็กมีปัญหา เขารู้สึกว่าตัวเองต่ำต้อยไม่มีค่า เหมือนพี่ ๆ ของเขา จนสุดท้ายอ้นก็ลงเอยด้วยการติดยาเสพติด จนทำให้คุณใหญ่ต้องเดือดร้อนเสียเงินเสียทอง และคุณใหญ่ก็พยายามทำทุกอย่างเพื่อช่วยเหลือเบิ้มให้กลับมาเป็นปรกติให้ได้ จนสุดท้าย เบิ้มก็พยายามที่เลิกยาเสพติด และก็เลิกได้ในที่สุด แล้วเขาก็พยายามพิสูจน์ตัวเองด้วยการเข้ามาทำงานต่อจากพี่ชายของเขา ถึงแม้จะโดนดูถูกเหยียดหยาม เขาก็พยายามอดทน เขากลับไปติดยาเสพติดอีกครั้ง แต่สุดท้ายเมื่อเขาเห็นสภาพของเพื่อนที่ติดยาเสพติดจนไม่เป็นผู้เป็นคน เขาจึงตัดสินใจเลิกมันอย่างเด็ดขาดในที่สุด


ส่วนพิจักษ์ เติบโตในช่วงที่พ่อและแม่ยังไม่ร่ำรวยมากนัก เขาจึงเป็นคนที่มีความรับผิดชอบ พิจักษ์ ถูกส่งไปเรียนที่เมืองนอก ทำให้เขาเรียนรู้ในการใช้ชีวิตและช่วยเหลือตัวเอง พิจักษ์เป็นคนบ้างาน ทำงานหนักจนล้มป่วยลง เขาชอบพออยู่กับอภิญญา (มยุริน ผ่องผุดพันธ์) เลขาคนใหม่ของเขา เพราะเธอเป็นคนเก่ง และฉลาด ช่วยเหลือดูแลเขาอย่างดี แต่ต่อมาเขาก็พบว่าเขาป่วยเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร เขาจึงเริ่มตีตัวออกห่าง และส่งอภิญญาให้ไปช่วยงานพิพัฒน์ และไม่ยอมบอกใครว่าเขาป่วยเป็นมะเร็ง จนในสุดท้ายเขาก็ตัดสินใจบอกแม่ คุณใหญ่สอนให้เขาใช้ชีวิตช่วงสุดท้ายเพื่อให้เป็นประโยชน์แก่คนอื่นมากที่สุด ไม่ให้ทุกข์กับความตายที่จะเกิดขึ้น เขาก็ปฏิบัติตามได้เป็นอย่างดี และมีอภิญญาคอยดูแลจนช่วงสุดท้ายของชีวิต


พิพัฒน์นั้นเติบโตขึ้นมาในขณะที่พ่อแม่มีฐานะ แต่กำลังไม่ลงรอยกัน พิพัฒน์ถูกเลี้ยงโดยพี่เลี้ยงที่ตามใจเขาทุกอย่าง ทำให้เขาเป็นคนที่เอาแต่ใจตัวเอง ทำอะไรก็ไม่เป็น และเป็นพวกวัตถุนิยม เขามีภรรยาชื่อเจนนี่ (รินลณี ศรีเพ็ญ) และลูกชายอีกหนึ่งคน พิพัฒน์กำลังประสบในการทำธุรกิจ เพราะเป็นคนที่เชื่อคนง่าย จนถูกหลอก เขาทะเลาะกับภรรยาเป็นประจำ ทั้งสองคนมัวแต่สนใจเรื่องของตัวเองจนไม่สนใจลูก ทำให้ลูกกลายเป็นคนก้าวร้าว คุณใหญ่จึงเข้ามาช่วยเหลือ และพยายามเตือนสติเจนนี่ให้ทำหน้าที่ภรรยาที่ดี เข้าใจสามีและดูแลลูก จนทำให้เจนนี่มีศรัทธาในตัวพิพัฒน์อีกครั้ง และคุณใหญ่จำนองบ้านเพื่อช่วยเหลือพิพัฒน์ และด้วยความช่วยเหลือของอภิญญาที่พิจักษ์ส่งมาช่วย พิพัฒน์จึงสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ และหาเงินมาคืนให้แก่คุณใหญ่ได้ในที่สุด


เมื่อทุกอย่างลงตัวดีแล้ว คุณใหญ่ได้กลับมามาอยู่บ้านที่ราชบุรีอีกครั้ง ใช้ชีวิตอย่างสมถะ อย่างมีความสุข เพราะเธอได้ทำหน้าที่แม่ได้อย่างสมบูรณ์แล้ว


เป็นอย่างไรบ้างคะคุณผู้อ่านที่รักทั้งหลาย ซาบซึ้งกับพระคุณของแม่ และความรักอันยิ่งใหญ่ของแม่บ้างไหมคะ แต่ดิฉันรู้สึกเฉย ๆ อาจจะเป็นเพราะว่าดิฉันอาจจะเป็นลูกที่เลวมากไปหน่อยก็เลยไม่สามารถสัมผัสได้กับความซาบซึ้งหรือลึกซึ้งในความรู้สึกของแม่ในเรื่องนี้ และดิฉันก็ไม่เคยชินกับคำสอนของแม่อย่างคุณใหญ่ที่พรั่งพรูออกมาราวกับพระเทศน์ เพราะปรกติแม่ของดิฉันจะใช้คำผรุสวาทมากกว่า มันถึงได้แล่นจี๊ดเข้าไปในสมองโดยตรงเลย ไม่ต้องใช้การซึมซับหรือความรู้สึกใด ๆ ทั้งสิ้น ก็อย่างว่านะคะดิฉันมันก็ลูกแม่ค้าขายข้าวแกง แต่คุณใหญ่เขาออกจะผู้ดี๊ผู้ดี วิธีการสอนมันก็เลยอาจจะต่างกัน


แล้วอีกอย่างหนึ่งที่ดิฉันเห็นว่าขัดใจเหลือเกิน ในขณะที่ใคร ๆ ก็ออกมาการันตีละครเรื่องนี้ด้วยการกลับมาแสดงละครของครูเล็ก แต่ดิฉันหละกลับเป็นตรงกันข้าม ดิฉันหละไม่ชอบการแสดงของครูเล็กเลย ถ้าเป็นละครเวทีดิฉันขอยอมรับในฝีมือโดยดุษฎี ไม่มีข้อโต้แย้ง แต่พอกมาดูการแสดงของครูเล็กในละครเรื่องนี้ ดิฉันว่ามันแปลก ๆ เพราะเธอชอบทำ " ท่าใหญ่ " และชอบ "over acting" ซึ่งไม่แปลกถ้าเป็นละครเวทีเพราะนี่เป็นวิธีการของละครเวทีแต่การที่เธอติดมาใช้ในละครโทรทัศน์ที่กล้องมันซูมเข้ามาชัดจนเห็นรูขุมขนเนี่ย มันเลยดูตลกปนน่ากลัวไป จนทำให้ตัวละครอย่างคุณใหญ่กลายเป็นผู้หญิงแปลก ๆ และด้วยบทเองก็หาความเป็นคนไม่ค่อยเจออยู่แล้ว เวลาที่เธอเอ่ยปากสั่งสอนลูกครั้งใด ดิฉันก็เห็นเหมือนว่าเธอห่มขาว หรือห่มเหลืองออกมาเทศน์อย่างนั้นเลย เห็นเหมือนดิฉันไหมคะคุณผู้อ่านที่รักขา


เอาหละคะ ดิฉันก็บ่นไปอย่างนั้นแหละ ตามประสาแฟนพันธุ์แท้ละครไทย ไม่ได้รู้เรื่องการแสดงมาจากไหนหรอกค่ะ ก็จำ ๆ คนอื่นมา แต่ละครเรื่องนี้ก็น่าสนใจมากทีเดียว ก็ด้วยความที่ละครเรื่องนี้ตั้งประเด็นไว้ตั้งแต่แรกแล้วว่าจะเสนอถึง " ความเป็นแม่ " ความน่าสนใจของละครเรื่องนี้จึงมีอยู่ว่า การสถาปนาภาพของแม่อย่างไร ภาพของแม่แบบนี้มันบ่งบอกอะไรแก่เราบ้าง และมันส่งผลอย่างไรกับภาพแม่ในแบบอื่น ๆ เอาหละค่ะ มาลองอ่านกันต่อว่า แม่อย่างคุณใหญ่กำลังจะบอกอะไรแก่เรา


ชีวิตผู้หญิงที่เป็นคุณแม่นักสู้ เป็นชีวิตของผู้หญิงที่เราเคยได้ยิน เคยประสบพบเจออย่างมากหลาย กับชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่งที่ล้มเหลวกับการแต่งงานและการใช้ชีวิตคู่ ซึ่งมีสาเหตุอมตะนิรันดร์กาล คือสามีไปมีเมียน้อย แล้วต่อจากนั้นก็จะเป็นเรื่องราวการต่อสู้ชีวิตของผู้หญิงที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นแม่ ที่ต้องทำมาหาเลี้ยงลูก ๆ ที่เป็นผลผลิตจากความรักในครั้งก่อน และด้วยความไม่รับผิดชอบของผู้ชาย ด้วยความยากลำบาก ที่ต้องฝ่าฟันอุปสรรคต่าง ๆ นานา โดยเฉพาะเรื่องปากเรื่องท้อง จนในที่สุดก็ประสบความสำเร็จมีเงินมีทองมีหน้ามีตา ลูก ๆ ก็จะกลายเป็นคนดีมีงานทำเป็นที่เชิดหน้าชูตา แล้วก็กลับมาสรรเสริญเยินยอเชิดชูคุณแม่นักสู้คนนี้ พร้อมกับประณามหยามเหยียดผู้ชายหมา ๆ อย่างพ่อที่ทิ้งแม่และลูกไปอย่างไม่ใยดี นี่คือเรื่องเล่าที่ได้ยินกันมา และปฏิเสธไม่ได้ว่าภายใต้เรื่องเล่าเหล่านี้มีความจริงอยู่เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์


ผู้หญิงอย่างคุณใหญ่ก็เช่นเดียวกัน เธอแยกทางกับสามีด้วยปัญหาสุดคลาสสิก คือสามีไปมีเมียน้อย แล้วเธอก็ต้องต่อสู้ดิ้นรน หาเลี้ยงลูก ฝ่าฟันมรสุมต่าง ๆ นานาที่เข้ามาในชีวิต ซึ่งก็เหมือนกับเรื่องเล่าที่ได้กล่าวไปแล้ว เพียงแต่ว่า ในเรื่อง " ตม " นี้อาจจะไม่ได้ล่วงเข้าไปกล่าวโทษผู้ชายที่เป็นสามีอย่างตรงไปตรงมาถึงความไม่รับผิดชอบในลูกก็ตาม แต่ด้วยเรื่องราวที่ต่อสู้เพียงลำพังของผู้หญิงคนเดียวก็พอจะบอกเราได้อย่างอ้อม ๆ แล้วว่า ผู้ชายมันก็ทำเป็นแต่ " เอา " เท่านั้น


การต่อสู้ดิ้นรนในชีวิตของคุณใหญ่ และคุณแม่ยอดนักสู้ชีวิตทั้งหลาย เมื่อบั้นปลายชีวิตที่ประสบความสำเร็จแล้ว " ความเป็นแม่ " ที่ต่อสู้ดิ้นรนเลี้ยงลูกให้ได้ดีมาตลอดชีวิตโดยปราศจากพ่อข้างกาย จึงถูกยกย่องให้สูงส่งขึ้นไป เป็นแบบฉบับแม่ที่ดี และผู้หญิงที่ดีโดยปริยาย หากเมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นว่า ความเป็นแม่ที่ถูกยกให้สูงค่า และควรสรรเสริญแก่สังคมนั้น จะต้องเป็นแม่ที่ต้องแบกไว้ซึ่ง " ความเป็นแม่ที่ต้องมีลูก " อย่างเช่นคุณใหญ่และแม่อีกหลาย ๆ คน ในทางกลับกันหากเรื่อง " ตม " กลายเป็นเรื่องเล่าของแม่ในอีกแบบหนึ่ง ที่เลิกกับสามีแล้ว " ทิ้งลูก " แต่ก็ต้องดิ้นรนเพื่อหาเลี้ยงชีพ จนในที่สุดก็ประสบความสำเร็จในชีวิต (อาจจะเป็นการประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานหรือทางเศรษฐกิจ) ผู้หญิงเหล่านี้ก็จะไม่ได้ยกขึ้นมาเทียบชั้นแบบฉบับแม่ที่ดี หรือผู้หญิงที่ควรแก่การยกย่องในฐานะแม่ เพราะเธอเป็นผู้หญิงที่ต่อสู้เพื่อตัวเอง ไม่ใช่ต่อสู้เพื่อลูก


ความเป็นแม่ที่ดีภายใต้สังคมไทย และสังคมไหน ๆ จึงต้องผูกติดกับการเป็น " แม่ของลูก " เท่านั้น และไม่ยอมเปิดที่ทางให้ผู้หญิงได้มีทางเลือกอย่างอื่นได้เลย เมื่อหากชีวิตต้องเลิกรากับสามี ภาระการเลี้ยงลูกจึงต้องตกอยู่กับผู้หญิง โดยบรรทัดฐานของความเป็นแม่ที่ดี หากผู้หญิงคนไหนลุกขึ้นมาปฏิเสธความเป็นแม่ของลูกเมื่อใด วันนั้นเธอก็จะถูกเบียดให้ตกไปอยู่ในกลุ่มของผู้หญิงคนชั่วทันที ทั้ง ๆ ที่หากจะพูดถึงความจริงแล้ว " ลูก " เป็นผลผลิตอย่างละครึ่ง ๆ ระหว่างพ่อและแม่


แต่ด้วยเหตุผลทาง biological ที่ผู้หญิงต้องตั้งท้องและตัวลูกนั้นออกมาจากตัวผู้หญิง ทำให้ความเป็นแม่ทางสังคมและความเป็นแม่ทางร่างกายผูกติดกันอย่างแยกไม่ออก แต่ในขณะเดียวกันความเป็นพ่อนั้นแยกขาดจากกันอย่างสิ้นเชิง ถึงแม้ภายใต้คำอธิบายจะมีความจริงบางอย่างซ่อนอยู่ในคำว่าแม่นั้น แต่ " สเปิร์ม " ซึ่งเป็นเหมือนกับอีกครึ่งหนึ่งในการให้กำเนิดชีวิตลูก กับหดด้อยค่าลงไปอย่างถนัดตา ไม่มีคุณค่าใด ๆ ในเชิงความหมายต่อภาระการรับผิดชอบในตัวลูก และการที่จะถูกเชิดชูขึ้นมาในฐานะ " พ่อผู้ยิ่งใหญ่ " ได้เลย เนื่องจากการถูกวาทกรรมความเป็นแม่ที่ตั้งท้องลูกมาเก้าเดือนกลบหายไปสิ้น แล้วผู้หญิงเองก็กลับใช้ความยิ่งใหญ่แห่งวาทกรรมนี้ผูกรัดสภาวะทางสังคมให้กับตัวเอง และสร้างเป็นความจริงในฐานะแม่ของลูก มิหนำซ้ำนอกจากจะนำมันมากดทับกับความเป็นพ่อผู้ยิ่งใหญ่ให้หายไปแล้ว ผู้หญิงยังแอบเอาไว้ใช้ประณามเพศผู้ในความไร้รับผิดชอบในตัวลูก ทั้ง ๆ ที่ผู้หญิงเองที่สร้างความจริงอันหลอกลวงนี้ขึ้นมา ซึ่งจะว่าไปแล้วมันก็ไม่แฟร์กับผู้ชายเลยสักกะนิด


นอกจากนี้ หากเมื่อเรามองชีวิตผู้หญิงอย่างคุณใหญ่ให้ละเอียดถี่ถ้วนขึ้นอีกนิด ก็จะเห็นว่า ความเป็นแม่ที่ดีนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับ " สัญชาติญาณความเป็นแม่ " หรือ " ธรรมชาติของความเป็นแม่ " อย่างที่เราเข้าใจกันเลยสักกะนิด แต่มันยังมีปัจจัยสำคัญที่ประกอบสร้างให้เกิดขึ้นต่างหาก ปัจจัยที่ว่านั้นก็คือปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ


เมื่อตอนที่ลูกของเธอยัง " เด็ก " ในขณะที่เธอต้องรับภาระเลี้ยงดูแต่เพียงผู้เดียว และคุณใหญ่เธอก็ต้องรับภาระทางด้านเศรษฐกิจ เป็นเสาหลักของครอบครัว เธอไม่มีเวลา " ทำหน้าที่แม่ที่ดี " ไม่มีเวลาอบรมบ่มนิสัย ลูก ดูแลลูก อย่างที่แม่ที่ดีควรจะทำ จนสุดท้าย ลูกชายอย่างเบิ้มก็กลายเป็นเด็กมีปัญหา ติดยาเสพติด เพราะการไม่ทำหน้าที่แม่ของคุณใหญ่ และลูกอย่างพิพัฒน์ก็กลายเป็นคนทำอะไรไม่เป็นเพราะเติบโตมาจากการเลี้ยงของพี่เลี้ยง ไม่ใช่แม่ การที่ผู้หญิงอย่างคุณใหญ่ต้องทำหน้าที่ทางเศรษฐกิจ ทำให้ไม่สามารถทำหน้าที่แม่ได้นั้น ผลสุดท้ายที่ออกมาก็คือ ลูกกลายเป็นบุคคลที่มีปัญหา แต่เมื่อเธอต่อสู้จนพ้นจุดที่ต้องดิ้นรนทางด้านเศรษฐกิจในวัยเกือบชราแล้ว เมื่อเธอไม่ต้องรับผิดชอบทางด้านเศรษฐกิจของครอบครัวอีกต่อไป เธอจึงมีเวลา " ว่าง " มากพอที่จะมาตามแก้ปัญหาของลูก ๆ ที่เกิดขึ้น และ " ปฏิบัติหน้าที่แม่ที่ดี "


หน้าที่ของการเป็นแม่ที่ดีจึงไม่ได้อยู่เพียงแค่สัญชาติญาณตามธรรมชาติอย่างที่ใคร ๆ เขาพูดกัน แต่มันยังอยู่กับปัจจัยอื่นๆ ที่แวดล้อม จะเห็นได้ว่าถ้าภายใต้ครอบครัวปรกติ ที่มีพ่อเป็นเสาหลักหารายได้เข้ามาให้ครอบครัว และแม่ทำงานบ้าน แม่ก็จะมีเวลา " ว่าง " มากพอที่จะทำหน้าที่ของความเป็นแม่ที่ดี ในการอบรมบ่มนิสัยลูก แต่ในขณะที่ผู้หญิงต้องทำหน้าที่หลักในการหาเลี้ยงครอบครัว หน้าที่ของแม่ที่ดีจึงไม่ใช่การดูแลให้ลูกเป็นคนดี เพราะเธอไม่มีเวลา " ว่าง " แต่หน้าที่ของเธอคือการหาเลี้ยงลูกนั่นเอง ผู้หญิงอย่างคุณใหญ่ก็เช่นเดียวกัน ชีวิตของเธอทำให้เราเห็นได้อย่างกระจ่างชัดว่า ความเป็นแม่ที่ดีพร้อมที่ต้องรับผิดชอบกับลูกนั้น ไม่ใช่เพียงสัญชาติญาณตามธรรมชาติ แต่มันประกอบไปด้วยปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ทำให้ผู้หญิงนั้นต้องมีเวลาว่างพอที่จะทำหน้าที่อีกอย่างให้กับลูก และเธอก็เพิ่งจะหันกลับมาทำหน้าที่แม่ที่ดีพร้อมที่ควรแก่การสรรเสริญได้ เมื่อ " ฐานะ " ของเธอพร้อมเมื่อบั้นปลายนั่นเอง


การอธิบายเช่นนี้มิใช่เพื่อจะแยกบทบาทระหว่างชาย-หญิง และบอกว่าบทบาทเช่นนี้แหละที่ทำให้ระบบครอบครัวมัน function (ขออภัยอีกครั้งที่ต้องใช้ภาษาประกิต เพราะดิฉันคิดไม่ออก) แต่เรื่อง " ตม " ที่กำลังสถาปนาบทบาทความเป็นแม่ที่สูงค่าซึ่งเป็นประเด็นหลักที่ผู้สร้างต้องการสื่อนั้น กลับสาธิตให้เห็นถึงข้อบกพร่องอันใหญ่หลวงภายใต้ความจริงดังกล่าวที่เรื่องราวแห่งละครกำลังนำเสนอ พร้อมกับการเรียกร้อง " ความเป็นแม่ " อันสูงค่า จนทำให้ผู้หญิงอีกบางกลุ่มตกจากขอบเวทีในการแข่งขันความเป็นแม่ไปเลยทีเดียว


ความเป็นแม่ในเรื่อง " ตม " จึงเป็นข้อเรียกร้องอันหนักอึ้งที่ทำให้ผู้หญิงต้องแบกรับ มือหนึ่งก็ต้องไกวเปล อีกมือหนึ่งก็ต้องหุงข้าว จนกลายมาเป็นแบบฉบับคุณแม่ดีเด่น ที่ต้องไม่บกพร่องทั้งเรื่องในบ้าน และเรื่องนอกบ้าน ทั้ง ๆ ที่จริงแล้ว " แอก " อันนี้มันไม่ได้เกิดขึ้นมาจากไหน บางทีมันอาจจะมาจากการที่ ผู้หญิงด้วยกันเองตั้งตัวเป็นผู้กระทำและสร้างภาพ " ความเป็นแม่ที่ดี " เพื่อที่จะเขี่ยผู้หญิงประเภทแม่ใจยักษ์ คลอดลูกแล้วทิ้ง หรือพวกเด็กใจแตกที่ท้องแล้วแท้ง ให้พ้นไปจากเวทีผู้หญิงดีในสังคมไทย อย่างไม่ยอมเปิดที่ทางให้ผู้หญิงพวกนี้ได้มายืนแข่งขันได้บ้างในอนาคต เพราะพวกเธอ ไม่ใช่ " แม่ของลูกนั่นเอง "