Skip to main content

พื้นที่อันตราย (ตอน 6 ระวังยักษ์เขียว)

คอลัมน์/ชุมชน

เพิ่งจะเขียนไปแหมบๆ ตอนที่แล้วนี่เองเรื่องการคิดแทน เห็นไหมพูดไม่ขาดคำมันมาอีกแล้วกฎหมายความมั่นคง (ทายซิ มันเป็นความมั่นคงของใครเอ่ย?) แต่อ่านไปอ่านมาหลายรอบน่าจะเป็นความมั่นคงของยักษ์เขียวแน่เลย (แบบว่ากลิ่นไอของอำนาจมันเย้ายวนทำให้ลืมไม่ลง)

มาเข้าเรื่องกันดีกว่าเดี๋ยวก็ไม่จบเสียที จากการที่ผู้เขียนขอสงวนสิทธิไว้ ทำให้ตอนที่กฎหมายผู้ประสบภัยจากรถเข้าสภาเพื่อให้ สนช.พิจารณา เขาต้องเชิญเราไปอภิปรายในหัวข้อที่เราขอสงวนไว้ ตอนสงวนไว้ก็ไม่ค่อยรู้สึกอะไร รู้แต่ว่าถ้ามันไม่ถูกต้องเราต้องสู้ๆๆ แต่พอเขาไปนั่งในสภาก็เริ่มหวั่นๆ เหมือนกัน (ก็คนมันไม่เคยง่ะ)

พอเริ่มท่านมีชัย ประธาน สนช. ก็ให้กรรมาธิการเสียงข้างมากชี้แจงก่อน เขาก็พูดของเขาไปเรื่อย ทั้งอธิบดี / ฝ่ายกฎหมาย / ตัวแทนจากกฤษฎีกา / ประธานกรรมาธิการ พอมาถึงกรรมาธิการเสียงข้างน้อย(แหะๆ น้อยจริงๆ เพราะมีแค่ผู้เขียนกับท่านวิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ 2 คนเท่านั้น) ท่านวิริยะลุกขึ้นอภิปรายก่อน ว่าไม่เห็นด้วยกับการแก้ พ...ฉบับนี้ เพราะหลายส่วนเอื้อต่อกรมการประกันภัย แต่ไม่เอื้อต่อประชาชน การประกันภัยบุคคลที่ 3 ควรให้กรมการขนส่งทางบก และควรจะแก้เนื้อหาเอื้อต่อผู้ทำประกัน เพราะ พ...ฉบับนี้เป็นการบังคับให้ทุกคนที่มีรถต้องจ่ายเงินทำประกัน ไม่ทำก็ผิดกฎหมาย ถูกปรับถูกจับ สรุปคือต้องจ่ายอย่างเดียว ปฏิเสธไม่ได้ แต่เวลาจ่ายเงินกลับมีการกำหนดระบบระเบียบยุ่งไปหมด จนในที่สุดผู้ทำประกันก็ไม่ใช้สิทธิ เงินก้อนใหญ่ก็ไปตกอยู่กับบริษัทประกัน

นั่งฟังเพลินๆท่านมีชัยก็เรียกชื่อเราให้ลุกขึ้นอภิปราย (ทำเอาสะดุ้ง) แต่ก็ฮึดสู้ เป็นไงเป็นกัน ผู้เขียนอภิปรายว่า การที่ได้เข้ามาเป็นกรรมาธิการครั้งนี้ เพราะผู้เขียนร่วมกับเครือข่ายผู้บริโภคมายื่นหนังสือคัดค้านการแก้กฎหมายฉบับนี้ แต่พอเข้ามาเป็นกรรมาธิการกลับไม่สามารถแก้ไขหรือเสนอแนะเนื้อหาที่เกิดประโยชน์ต่อประชาชนได้ เพราะถูกบังคับให้พิจารณาในกรอบหัวข้อที่กรมการประกันภัยเสนอเข้ามา เสนออะไรก็ติดขัดข้อกฎหมายไปหมด แล้วจะมาให้แก้เนื้อหาทีละประโยค จะแก้ไปทำไม เพราะภาษากฎหมายเราก็ไม่ค่อยเข้าใจ

ภาพโดยรวมคือ การแก้กฎหมายฉบับนี้เป็นการแก้ทุกข์ร้อนของกรมการประกันภัย ไม่ใช่แก้ทุกข์ร้อนของประชาชน ผู้เขียนพูดถึงตรงนี้ ท่านประธานมีชัย ก็กล่าวตอบมาว่า ใช่แล้วบุญยืน การแก้กฎหมายครั้งนี้เป็นการแก้ทุกข์ของกรมการประกันภัย หากชาวบ้านมีทุกข์ก็ให้เสนอกฎหมายเข้ามาใหม่ (ฟังแล้วเหวอกินไปเลยไหม) ผู้เขียนก็อภิปรายต่อว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นอุปสรรคในการเข้าถึงบริการสาธารณสุข เพราะอุบัติเหตุจากรถต้องใช้ พ...รถก่อน คนที่ไม่ได้ทำ พ...ต้องออกค่ารักษาตนเองก่อน 15,000 บาท ไม่มีก็ต้องกู้เขามาจ่าย และหาก พ... ขาดเพียงวันเดียวก็ไม่คุ้มครองผู้ทำประกันแล้ว คนที่เสียเปรียบคือคนที่หาเช้ากินค่ำ ยิ่งชาวไร่ชาวนาที่ถึงหน้าเก็บเกี่ยวผลผลิต ใครจะละทิ้งผลผลิตเพื่อเข้าเมืองไปต่อประกัน เพราะเอาเข้าจริงชาวบ้านก็ไม่ได้เปิดเอกสารดูด้วยซ้ำว่าประกันจะหมดเมื่อไร บางรายประอุบัติเหตุขณะประกันขาดไปเพียง 2 วัน และตำรวจชี้ว่าเป็นคนผิด ต้องจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลตัวเอง และคู่กรณี ไม่มีเงินจ่ายก็ต้องติดคุกชดใช้ค่าเสียหาย กรณีการเขียนกฎหมายที่ให้อำนาจข้าราชการประจำและข้าราชการการเมืองมีอำนาจมากขึ้นด้วยการเขียนผูกไว้ทุกข้อว่า "ตามที่กระทรวงกำหนด" (พูดแบบให้เห็นภาพกันไปเลย) พร้อมขอเสนอแนะ 6 ข้อ คือ


1. ขอให้แก้ไขปัญหาอุปสรรคในการใช้สิทธิ การเข้าถึงสิทธิกรณี เจ็บ-ป่วยจากอุบัติเหตุ
2.
ขอให้ขยายเวลาการคุ้มครองหลังจากหมดสัญญาออกไปอีก 30 วัน
3.
ขอให้ปรับปรุงหลักเกณฑ์ ในการจ่ายสินไหม ที่รวดเร็ว และเพิ่มวงเงินชดเชยกรณีการเสียชีวิต และทุพพลภาพ ในวงเงิน 300,000 บาท และขยายวงเงินค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นจริงเต็มวงเงิน
4.
กรณีปัญหาความไม่เป็นธรรมที่เกิดจากการชี้ถูกชี้ผิดของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
5.
การลดเบี้ยประกันให้สมเหตุสมผล เพราะปัจจุบันบริษัทประกันมีกำไรส่วนต่างเป็นจำนวนมาก
6.
กรณีการออกกฎกระทรวงหรือทบทวนเรื่องที่ส่งผลได้ผลเสียต่อประชาชน ต้องเปิดโอกาสให้ตัวแทนเครือข่ายผู้บริโภคเข้าร่วมพิจารณาด้วย


พอผู้เขียนอภิปรายเสร็จ อาจารย์โคทม, อาจารย์อัมมาร์ และ สนช.อีกหลายท่านลุกขึ้นอภิปรายสนับสนุน จนท่านประธานมีชัยเสนอที่ประชุมขอให้ขยายเวลาคุ้มครองผู้ทำประกันหลังจากหมดสัญญาออกไป 30 วัน ถึงตรงนี้ฝ่ายกฎหมายของกรมการประกันภัยลุกขึ้นอภิปรายว่าขัดต่อกฎหมายข้อนั้นข้อนี้มากมายไปหมด ผู้เขียนโมโหเลยลุกขึ้นยกมือและถามว่าขณะนี้เรากำลังทำอะไรกันอยู่ กำลังแก้กฎหมายกันอยู่หรือเปล่า เพราะอะไรที่เอื้อบริษัทประกันผ่านหมด ทีประโยชน์ของประชาชนผิดหมด ก็กฎหมายข้อไหนมันผิดก็แก้สิ ไม่ใช่อะไรๆ ก็ไม่ได้อย่างนี้ (มีหลายคนหัวเราะ ไม่รู้เหมือนกันว่าเขาหัวเราะทำไม)


สรุป ที่ประชุมโหวตให้ขยายเวลาการคุ้มครองผู้ทำประกันหลังหมดสัญญาไปอีก 30 วัน ส่วนเรื่องวงเงินชดเชย ให้กระทรวงพานิชย์พิจารณา ส่วนข้ออื่นให้ผู้บริโภคเสนอกฎหมายเข้ามาให้ที่ประชุมพิจารณาใหม่ ขณะที่เขียนกรมการประกันภัยได้ปรับวงเงินค่ารักษาพยาบาลเบื้องต้นจากเดิม ที่จ่าย 15,000 บาท เป็น 35,000 บาท(เพิ่มขึ้น 20,000 บาท)


ก่อนจบผู้เขียนรู้สึกขำๆ เพราะเขาดันมาเอาคนไม่รู้กฎหมายอย่างผู้เขียนไปพิจารณากฎหมาย แต่ก็ทำให้เห็นข้อแตกต่างว่า คนที่รู้กฎหมายมีความคิดติดกรอบทุกคน แต่ผู้เขียนไม่รู้กฎหมายเลยไม่ติดกรอบ เลยเถียงกันไม่รู้จบก็สนุกดี (คนที่ร่วมประชุมเขาคงไม่ค่อยสนุกกับเราหรอก)


อันที่จริง จะว่าพื้นที่อันตรายก็ไม่ถูกซะทีเดียว เพราะพื้นที่มันก็อยู่ของมันเฉยๆ แต่คนต่างหากที่สร้างอันตรายให้กันเอง ยิ่งเป็นพื้นที่ที่ทรงเกียรติอย่างรัฐสภา หากได้คนดีเข้าไป มันก็มีประโยชน์ แต่หากได้คนไม่ดีเข้าไปมันก็อันตราย (ใหญ่หลวงนัก) อย่างเรื่อง พ...ความมั่งคงในราชอาณาจักร ที่เป็น พ...ขยายอำนาจเผด็จการ ที่ทั้งลิดรอนและคุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชน อันนี้น่ากลัวและอันตรายตัวจริงละท่านผู้อ่าน ถ้าไม่ช่วยกันคัดค้าน ระวังยักษ์เขียวจะอาละวาดถึงบ้านท่านนะ เดี๋ยวจะหาว่าไม่เตือน