Skip to main content

AF 4 กับ 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลก

คอลัมน์/ชุมชน

อาจเป็นไปได้ว่า "น้องตี๋" วีอะไรสักอย่างแห่งบ้าน AF หรืออเเคเดมีแฟนเทเชีย ซึ่งเป็นโครงการการประกวดร้องเพลงอันเลื่องชื่อแห่งยุคนี้ น่าจะสามารถเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลกได้ในยุคโหวตนิยมเช่นนี้ เพราะว่าการตัดสินเรื่องสิ่งมหัศจรรย์ของโลกในยุคใหม่ก็หันมาใช้วิธีเดียวกันนี้ด้วยเช่นกัน

เป็นที่ฮือฮาพอสมควรกับการจัดอันดับเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลก โดยให้คนทั่วโลกนั้นโหวตเข้าไปเลือกสิ่งมหัศจรรย์ของโลกที่ตนพึงใจ ซึ่งทำให้นครวัด แห่งกัมพูชา และสถาปัตยกรรมอีกหลายๆ แห่ง ที่เคยรับรู้กันอยู่ และเคยได้รับการรับรองจากองค์กรยูเนสโกว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลกอยู่เดิมกลับไม่ติด อันดับจากการโหวตในครั้งนี้ ส่วนที่ทางยูเนสโกไม่ได้รับรองกลับได้กลายมาเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลกแทนโดยอาศัยความนิยมจากประชาชน


เช่นเดียวกับการประกวดร้องเพลงแห่งบ้านเอเอฟไม่ว่าจะครั้งไหน ก็จะพบว่าคนที่ร้องเพลงได้ดีและคนที่คอมเมนเตอร์หรือผู้วิจารณ์ซึ่งมาจากผู้เชี่ยวชาญและมืออาชีพทางด้านดนตรี และการร้องเพลง บอกว่าร้องได้ดี และผู้ชมก็ค่อนข้างพึงพอใจกลับมักจะถูกโหวตออกเป็นรายแรกๆ เพราะมีคะแนนนิยมไม่ดีพอ เสียงดีกลับไม่ช่วยอะไร แม้ว่าจะเป็นการประกวดร้องเพลงก็ตาม


ในขณะที่ประเภทที่เกิดมาอาจไม่เคยรู้ด้วยซ้ำว่าจังหวะคืออะไร ทำนองคืออะไร กลับอาศัยหน้าตาดี บ้านมีสตงคฺ์ หรือการออดอ้อนดี กลับโกยคะแนนนิยมไปได้เยอะ ซึ่งการมีคะแนนนิยมเยอะนั้น ไม่ได้รับประกันใดๆ ได้เลยว่าร้องเพลงดี แต่กระนั้นก็เป็นการันตีว่าคนๆ นี้กำลังเป็นที่นิยมเป็นโอกาส ของนายทุนในการที่จะใช้ประโยชน์ในการทำเงินได้ต่อไป


ขณะเดียวกันวิธีคิดเช่นนี้เมื่อถูกนำมาใช้กับสิ่งมหัศจรรย์ของโลกและโหวตโดยผู้ที่ไม่ได้พิจารณาถึงเรื่ององค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมศิลปกรรมหรือโบราณคดีแต่อย่างใด ใช้ใจอย่างเดียว และการโหวตนั้นก็ทำโดยชาวโลกที่เข้าถึงอินเตอร์เน็ตเท่านั้น และเนื่องจากเรื่องนี้เป็นเรื่องของชื่อเสียงหรือการสร้างรายได้ให้ประเทศด้วย ดังนั้น แม้คนในประเทศกัมพูชาทั้งประเทศที่มีประชากรอยู่สิบกว่าล้านคน และเข้าถึงอินเตอร์เน็ตเพียงประมาณ 3 แสนคนจะร่วมกันโหวตให้นครวัต ก็ไม่สามารถสู้ได้กับคนเพียง 2 % ของประเทศจีน ที่มีประชากรรวมถึง 1.3 พันล้านคนโหวตให้กำแพงเมืองจีน หรือชาวสหรัฐฯ ที่สามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ซึ่งก็จะสามารถโหวตให้อะไรเป็นสิ่งหัศจรรย์ของโลกก็ได้


การใช้วิธีการคัดเลือกสิ่งต่างๆ โดยให้คะแนนนิยมนั้น ที่สุดแล้วก็คือเครื่องมือชนิดหนึ่งของ ระบบทุนนิยที่ต้องการจะทำรายได้ ดังตัวอย่างที่ได้กล่าวมาแล้ว ทั้งในกรณีของเอเอฟ และในกรณีของสิ่งมหัศจรรย์ของโลก ซึ่งจะเป็นประโยชนฺ์กับบรรดาบริษัทท่องเที่ยวทั้งหลาย รวมทั้งประเทศที่เป็นเจ้าของสิ่งมหัศจรรย์ของโลกเหล่านั้นก็จะได้ฉวยโอกาสที่จะทำรายได้จากการท่องเที่ยวมากขึ้น โดยผู้คนก็พลอยหลงหลไปกับสิ่งที่ไม่จริง ดังนั้น หากจะโยงมาถึงระบอบประชาธิปไตยที่เรากำลังโหยหากันอยู่นี้ แน่นอนทีเดียวว่า คงไม่มีวิธีใดดีกว่าการได้ออกไปเลือกตั้ง และโหวตให้คะแนนกับคนที่เราต้องการให้ มาเป็นตัวแทนของเราในการดูแลบริหารจัดการประเทศ กระนั้นก็ไม่มีสิ่งใดที่จะการันตีได้เลยว่า คนที่ได้คะแนนนิยมสูงสุดนั้นจะเป็นคนที่ดีที่สุดสำหรับภารกิจนั้นๆ ซึ่งประสบการณที่ผ่านมาของบ้านเมืองเราเองก็พิสูจน์ให้เห็นแลัวว่า คนอย่างอดีตนายกรัฐมนตรีที่ได้รับคะแนนนิยมสูงสุด ก็ไม่ได้เป็นคนดีหรือคนที่ใช่ที่สุดสำหรับการบริหารประเทศ

สำหรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็เช่นกัน แม้จะมีคนไปลงประชามติรับรองมากแค่ไหนก็ตาม ก็คงจะไม่ได้เป็นเครื่องรับรองได้ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุด หรือว่าเป็นของจริงที่สุด แต่เป็นเพียงแค่แสดงว่าประชาชนให้ความนิยมมากแค่ไหนเท่านั้น ซึ่งก็คงเหมือนกับการที่คนโหวตให้ "น้องตี๋" แห่งเอเอฟกันอย่างท่วมท้น ก็ไม่ได้หมายความว่า น้องตี๋จะเป็นคนที่ร้องเพลงเพราะที่สุดแห่งบ้านเอเอฟ


ที่สุดแล้ว เราจะหาของจริงจากโลกยุคโหวตนิยมได้อย่างไรกันบ้างละนี่???