Skip to main content

นกขมิ้นเหลืองอ่อน

คอลัมน์/ชุมชน


นานหลายปีมาแล้ว ผมเคยอ่านสารคดีเรื่องวิถีชีวิตของคนอเมริกัน ที่ว่าด้วยการโยกย้ายอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากอเมริกันชนโดยเฉพาะชนชั้นกลางนั้น มีพื้นฐานความต้องการด้านความทะเยอทะยานและให้คุณค่ากับความสำเร็จ-ความล้มเหลวสูงยิ่ง เมื่อถึงวัยที่ต้องหางานทำ การโยกย้ายจากรัฐหนึ่งไปอีกรัฐหนึ่ง เพื่อความก้าวหน้านั้นเป็นเรื่องปกติ บางครั้งถึงกับย้ายข้ามฝั่งจากตะวันออกไปตะวันตกหรือจากเหนือไปใต้ เป็นระยะทางหลายพันกิโลเมตร กว่าจะมีครอบครัว คนอเมริกันบางคนต้องย้ายบ้านกันเป็นสิบครั้ง หรือแม้เมื่อมีครอบครัวแล้ว ก็ยังต้องย้ายกันอีกไม่รู้กี่ครั้ง


พวกฝรั่งย้ายบ้านกันที เขามักจะไม่ขนย้ายเฟอร์นิเจอร์ไปด้วย ถ้าไม่ขายพร้อมกับบ้านก็จะขายให้ร้านรับซื้อของเก่า หรือไม่ก็เอามาปิดป้ายขายกันหน้าบ้านนั่นเอง พอย้ายไปที่ใหม่ก็ซื้อเอาใหม่ ข้าวของที่ย้ายไปจึงมักจะมีแต่ข้าวของส่วนตัว หนังสือ เสื้อผ้า ของใช้


ว่าไปแล้วก็แปลกดี แม้อเมริกาจะเป็นประเทศหัวหอกบริโภคนิยม วัตถุนิยม แต่อเมริกันชนจำนวนไม่น้อย กลับไม่ยึดติดกับสมบัติเท่าไร ย้ายทีก็พร้อมจะขาย เพื่อไปซื้อเอาใหม่ แต่คนไทยเราถ้าต้องย้ายบ้าน ก็คงต้องขนสมบัติทุกอย่างไปด้วย เหมือนครั้งหนึ่งที่ผมต้องขายบ้านและย้ายของไปฝากไว้ที่บ้านยายที่อยู่อีกจังหวัดหนึ่ง คราวนั้นใช้รถหกล้อหนึ่งคันกับรถกระบะอีกสามคันถึงจะขนหมด รถวิ่งตามกันไปเป็นขบวน ชาวบ้านมองตามราวกับเป็นทัวร์ลูกทุ่งเวทีไทยอะไรอย่างนั้น


แม้ไม่ใช่เรื่องใหญ่อย่างย้ายบ้าน แค่ย้ายเล็กๆ อย่างย้ายหอพัก ผมว่าหลายๆ คนก็คงต้องเคยย้ายกันมาบ้างแล้ว เพราะวิถีชีวิตทุกวันนี้ ไม่ได้เอื้ออำนวยให้คนเรา เรียน และทำงาน อยู่ใกล้บ้านกันสักเท่าไร หรือหากอยู่ใกล้ แต่บางคนก็อยากไปเรียน หรือทำงานไกลบ้านมากกว่า


สมัยเรียน ผมย้ายหอพักประมาณ 6-7 ครั้ง เฉลี่ยก็ประมาณเทอมละครั้ง เทียบกับเพื่อนบางคน ยังนับว่าน้อยมาก เพราะบางคนปีหนึ่งย้ายตั้ง 3-4 ครั้ง ย้ายเสียจนเพื่อนจำไม่ได้ว่าอยู่ที่ไหน ขณะที่บางคนอยู่ที่เดียวไม่เคยย้ายเลยตั้งแต่ปี 1 จนกระทั่งเรียนจบก็มี เหตุผลในการย้ายของผมในแต่ละครั้งก็ต่างกันไป ครั้งแรกๆ เพราะยังไม่รู้อะไรมากย้ายตามเพื่อนไปเรื่อย ต่อมาเจอห้องแบ่งเช่าถูกๆ อยากอยู่คนเดียวก็แยกออกมา


เมื่อเรียนจบ ผมก็มีเหตุต้องย้ายเนื่องมาจากการเปลี่ยนงานอีกหลายครั้ง จากกรุงเทพฯ ย้ายไปอยู่นครปฐม จากนครปฐม ย้ายเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ จากนั้นก็กลับมาอยู่นครปฐม ก่อนจะไปอยู่เพชรบุรี แล้วก็ย้ายกลับมาอยู่นครปฐมอีกสองปีกว่า แล้วก็กลับมาอยู่กรุงเทพฯ ช่วงสั้นๆ พอแต่งงานแล้วก็ย้ายไปอยู่เพชรบุรี พอมีเพื่อนชวนไปทำร้านอาหารก็ย้ายไปอยู่สุพรรณบุรี พอเลิกทำก็ย้ายกลับเพชรบุรี ก่อนจะย้ายมาไกลถึงลำพูน นับรวมๆ ตั้งแต่ออกจากบ้านมาเรียนและทำงาน ผมย้ายข้าวของไปสิบกว่าครั้งแล้ว ฉะนั้น ในครั้งหลังสุด จึงตั้งใจว่า ถ้าไม่จำเป็นจะไม่ย้ายอีกแล้ว


ลำพูนเป็นเมืองเล็กๆ ที่เงียบสงบ ไม่พลุกพล่าน สบายๆ ค่าครองชีพก็ถูก(มาก)วันๆ ใช้เงินไม่กี่สิบบาท บ้านที่ผมอยู่แม้จะเป็นบ้านเก่าแต่ก็ไม่โทรม อยู่ในย่านชุมชนใกล้อำเภอป่าซาง ค่าเช่าไม่ถึงพันบาท ไม่ต้องจ่ายค่าน้ำเพราะใช้น้ำบ่อ มีมอเตอร์ไซค์คันหนึ่งก็ตะลอนเที่ยวไปได้ทั่ว ผมหวังอยู่ตลอดเวลาว่า ที่นี่จะเป็นที่สุดท้ายก่อนจะมีบ้านเป็นของตัวเอง แต่ก็นั่นละครับ ใครจะไปรู้อนาคตได้ หลังจากอยู่ลำพูนมาสองปีกว่า ผมก็มีเหตุต้องย้ายอีก แม้จะไม่ได้ไกลมาก คือย้ายมาเชียงใหม่ ซึ่งห่างจากลำพูนประมาณสามสิบกิโลเมตร กระนั้นการเก็บของ ย้ายของ จัดของ มันก็เหนื่อยอยู่ดี


ผมว่า คนทำงานหนังสือ เวลาย้ายบ้านจะมีปัญหาคล้ายๆ กัน คือหนังสือมักจะเยอะ แล้วมันก็หนักด้วย ผมเองเวลาย้ายทีไร ลังหนังสือเป็นตั้งๆ ทุกที นักเขียนบางท่าน ที่ผมเคยไปช่วยย้ายบ้าน เฉพาะลังหนังสือก็ปาเข้าไปสองคันรถกระบะแล้ว แถมเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่พ้นคือระหว่างการขนย้ายจะต้องมีเอกสาร ต้นฉบับ หรือหนังสือบางเล่ม ตกหล่นสูญหายไป ย้ายหลายครั้งก็หายหลายหน หนังสือบางเล่มผมต้องซื้อใหม่ 2-3 ครั้ง เพราะหายไประหว่างการขนย้าย แต่เมื่อย้ายบ่อยๆ เข้าก็มีประสบการณ์ คุณแม่บ้านของผม ไปซื้อลังพลาสติกใบใหญ่มาหลายใบ เก็บข้าวของทุกอย่างลงไปในลัง พอจะย้ายก็ยกลังไปเลย หนักหน่อยแต่ก็สะดวกกว่า


ตอนที่นั่งจัดของ ผมคิดถึงเพื่อนคนหนึ่งที่มีชีวิตต่างจากผมมาก เราเป็นเพื่อนสนิทกันตอนมัธยมต้น พอขึ้นมัธยมปลายก็เรียนกันคนละที่แต่ก็ยังได้เจอกันบ้าง พอจบ ม.6 ผมไปเรียนต่อที่อื่น ขณะที่เขาเรียนต่อราชภัฎในจังหวัด พอเรียนจบ ผมย้ายงานและย้ายที่อยู่ไปหลายครั้งหลายหน แต่เขาก็ยังคงทำงานอยู่ในจังหวัด ไม่ได้ไปไกลกว่าละแวกบ้าน ครั้งหนึ่งเจอกัน เขาบอกกับผมว่า เขาเคยไปทำงานที่สุรินทร์ พอเย็นวันศุกร์ก็นั่งรถไฟกลับบ้าน การได้ไปทำงานที่อื่นไปใช้ชีวิตคนเดียว มันทำให้เขารู้สึกเป็นอิสระ แต่ด้วยความเป็นห่วงแม่บวกกับแม่เป็นห่วง เขาเลยเลือกจะกลับมาทำงานใกล้บ้าน เขาบอกว่า เขาอิจฉาผมที่ได้ไปทำงานไกลบ้าน ได้เห็นอะไรต่างๆ มากมาย ได้รู้จักโลกกว้างมากกว่าเขา


ผมคิดถึงคำพูดที่ว่า คนเราถ้าออกไปอยู่ไกลบ้านก็จะได้ "ดวงตา" คือมองเห็นโลกกว้าง แต่ก็จะไม่มี "ราก" คือย้ายไปเรื่อยๆ ไม่ได้หยุด ในทางตรงกันข้าม ถ้าอยู่กับบ้านก็จะมีราก คือมีความอบอุ่น ผูกยึดกับถิ่นเกิด แต่ก็จะไม่ได้ดวงตา ไม่ได้พบเห็นอะไรที่แตกต่างจากสังคมคุ้นเคย


ขณะที่เขาอิจฉาผมที่ได้เห็นโลกกว้าง ผมก็อิจฉาเขาที่ได้อยู่บ้าน มีความสงบสุข ปลอดภัย ไม่ต้องย้ายรังนอนบ่อยๆ เป็นนกขมิ้นเหลืองอ่อนแบบผม