Skip to main content

ชะตากรรมที่ควรเคารพ?

คอลัมน์/ชุมชน

เคยสักครั้งไหม?

ที่จะลองจินตนาการว่า เราคือดาวเล็กๆ สักดวงอยู่ในจักรวาล เหนือจากโลกขึ้นไปบนท้องฟ้า ณ ที่ซึ่งอยู่ไกลแสนไกล เวลานั้นเรามองกลับลงมาบนผืนดิน อาจจะในฐานะของวิญญาณเสรีดวงหนึ่ง หรือมนุษย์ที่ต่างภพและมิติ แล้วก็จินตนาการต่อว่า วันหนึ่งเราอาจจะตกลงไปเกิดเป็นมนุษย์ ใช้ชีวิตร่วมกับผู้คนข้างล่าง


แต่ใครเลยจะตอบคำถามเราได้ว่า อะไรเป็นผู้เลือกให้เราลงไปเกิดในหมู่บ้านใด จังหวัดไหน อยู่ส่วนไหนของโลก ไม่มีใครตอบเราได้เลย กระทั่งดวงวิญญาณของเราจุติลงใต้หลังคาบ้านหลังหนึ่ง ที่ตรงนั้นซึ่งเราจะมีพ่อ แม่ พี่น้อง ญาติ และใครต่อใครอีกมากมายในชีวิต หรือเราอาจจะไม่มีเลย บ้านหลังนั้นอาจจะเป็นบ้านที่โดดเดี่ยวที่สุดในโลก เหลือให้เราได้เรียนรู้จักกับสมาชิกในบ้านหลังนั้นเพียงลำพัง อะไรที่ทำให้เราได้พบกัน จากกัน รักกัน เกลียดกัน และเกี่ยวพันให้เราใช้ชีวิตในบ้านหลังนั้นไปจนกระทั่งเราตาย


หากนี่เป็นคำที่ใครๆ มักเรียกกันว่า "ชะตากรรม" ฉันมักจะอดคิดไม่ได้ ชะตากรรมไม่มีทางเลือกแน่นอนใช่ไหม ชะตากรรมไม่ได้แค่เลือกให้เราเกิดเป็นมนุษย์เท่านั้น แต่ชะตากรรมสร้างให้เราเติบโต จำกัดฐานะความเป็นอยู่ สร้างให้เรามีความฝัน ต้องการอนาคต และบางครั้ง ชะตากรรมก็เลือกให้เรามี "ทัศนคติ" โดยที่เราไม่รู้ตัว จะทำไงได้เมื่อเราต้องเกิดมาบนผืนดินตรงนั้น และใครต่อใครรอบตัวต่างเป็นคนสอนให้เราเติบโต


เช่นเดียวกับหญิงชราคนนั้น


เธอมีรูปร่างซูบผอม เนื้อตัวเหี่ยวย่นไปตามวัยที่ล่วงเลย 80 ปี หากแต่เธอยังคงแข็งแรง เดินเหินคล่องแคล่ว หูและตายังใช้งานได้ดี เธอทักทายฉันง่ายๆ ในวันที่เราพบกันอีกครั้ง


"โตขึ้นแล้วจริงๆ"
เธอว่าอย่างคนรำพึง ดูเธอจะแสดงความรู้สึกลึกๆ ในสายตา ว่าเธอจำฉันได้ เด็กหญิงตัวเล็กๆ ที่เคยวิ่งเล่นในลานบ้านของเธอเมื่อ 30 ปีก่อน เธอเคยอยู่ในชีวิตฉัน เป็นเพื่อนรุ่นพี่ของแม่ เธอเคยทำอาหารให้ฉันกิน และเมื่อเริ่มจำความได้ ฉันเริ่มรู้จักคำว่า ยากจน ลำบาก จากปากคำของเธอ ที่เอ่ยตัดพ้อชีวิตเสมอมาตลอดเวลา


"ยายเป็นไงบ้าง"
ฉันเอ่ยถาม แกยิ้มอย่างที่อยากเย้ยหยันให้กับโลก แล้วตอบว่า
"
โอ้ย จนยังไงก็จนยังงั้น ลูกหลานโตหมดแล้วก็ยังต้องไปรับจ้างทำไร่หาเงิน"


นี่อาจจะเป็นคำบ่น หรือไม่ใช่ ฉันตั้งใจรับฟัง และถามถึงครอบครัวแกบ้าง
"
ลูกชายติดยาไปคนหนึ่ง คนโตก็ไม่เอาไหน ทำงานไม่รอดสักที่ ไม่อดทน รับจ้างปลูกข้าวปลูกนาก็บ่นเหนื่อย ไอ้เราทำมาทั้งชีวิตยังไม่เห็นเป็นไร"

"
เห็นเขาว่ายายปลูกบ้านใหม่เหรอ" ฉันพูดไปตามข่าวที่ได้ยิน ยังไม่ได้แวะไปบ้านแกเลยสักครั้งในหลายปีมานี้


"อือ ก็บอกลูกๆ ให้อดทนเอาหน่อย มุมานะให้มีบ้านมีเรือนเหมือนคนอื่นเขาบ้าง จะตายอยู่แล้วยังไม่มีบ้านดีๆ อยู่ ก็แย่น่ะ ก็เหมือนเธอแหละนะ มานี่ปลูกบ้านให้พ่อไม่ใช่เหรอ ถือเป็นกุศลจริงๆ"
ฉันยังรับฟัง อย่างตั้งใจ สิ่งที่หลั่งไหลจากคำพูดเหล่านั้น มีทั้งคำติ คำชม มีทั้งคำสอนและการออกคำสั่ง


"มาบ้านคราวหน้า ซื้อกระเป๋าใหม่มาให้พ่อเธอด้วยนะ ดูเก่าๆ ไม่เหมาะกับเขา คนสำคัญ ชาวบ้านนับถือ ทำตัวซ่อมซ่อเขาจะดูแคลน"
เธอแนะนำพร้อมบอกให้ฉันสัญญา ฉันยิ้มๆ แล้วเออออไปตามนั้น ระหว่างที่นั่งคุยกันอยู่ เธอเอื้อมมือมาจับแขนฉันไว้


"ผิวพรรณผุดผ่องดีนะ ไปอยู่เมืองกรุงก็แบบนี้ สมัยยายสาวๆ นะอยากไปใจจะขาด เรานึกว่าเราจะได้เป็นสาวโรงงานกับเขาแล้ว แต่ดันมีลูกเสียก่อน"
ยายว่า แววตาเธอมีประกายขึ้นมาเล็กน้อย ยายมีลูกทั้งหมด 9 คน และสามีก็ตายไปนานแล้ว ตั้งแต่ลูกคนสุดท้องคลอดได้ไม่นาน


"อยู่บ้านเราก็สบายดีนะยาย อยากไปอยู่กรุงเทพฯเหรอ" ฉันถามเล่นๆ แกตอบว่า
"
โอ้ย สบายอะไร ถ้าสบายแล้วเธอจะไปเหรอ ฮ่าๆๆ" ยายหัวเราะอย่างเป็นขำเหลือเกิน


"พอฉันมีลูก ใครเขาจะให้ไป ผัวฉันก็บอกว่าช่วยกันทำไร่ทำนานี่แหละ เนื้อตัวเราก็มอมแมมมาตลอด หน้าตาไม่เคยแต่งอะไรกับเขาหรอก สมัยนั้นไม่มีคุมกำเนิด เราก็มีลูกเอา มีลูกเอา แล้วไงล่ะ จมแหงกอยู่ในหมู่บ้านนี้มา 80 กว่าปี"


ฉันจมอยู่กับเรื่องเล่า พร้อมเฝ้ามองแววตาและริมฝีปากที่ขยับไปมาของเธอ เนื้อตัวที่หยาบกร้านบอกถึงการทำงานหนัก ความห้าวหาญที่บอกถึงการต่อสู้กับชะตากรรม มองไปรอบตัวอีกครั้ง ฉันพบกับลูกๆ ของเธอหลายคนที่มาช่วยพ่อฉันสร้างบ้าน บางคนดูอารมณ์ดี ร้องเพลงแซวสาวๆ ไปรอบๆ บางคนก็ผอมซีดเพราะดื่มเหล้าจัด อีกทั้งยังพูดจาเริ่มไม่รู้เรื่อง ทั้งที่นี่เป็นเวลาแค่บ่ายกว่าๆ


"ยายก็ดีนะ มีลูกหลานอยู่ด้วย ไม่เหงา"
"
โอ้ย ไม่เหงาหรอก ให้มันไปอยู่ไกลๆ ก็ได้ ไปรับจ้างหาเงินเข้าบ้านมาบ้าง ขี้เกียจเลี้ยง พวกนี้เกาะพ่อแม่ไปจนตายน่ะแหละ พูดแล้วกลุ้ม ไหนเอาเหล้ามากินหน่อย"


แกว่า พลางควานสายตาไปยังมุมหนึ่งที่มีสำรับอาหารเพื่อเลี้ยงดูช่างก่อสร้าง
"
อ้าว ยายยังกินได้อยู่เหรอ"
"
ได้สิ สบายเดี๋ยวจะรำให้ดู ฮ่าๆ" แกพูดแล้วหัวเราะ เดินแยกไป ฉันมองตามไปสุดสายตา เห็นแกยกเหล้าขาว 35 ดีกรี ขึ้นดื่ม พลางหันไปเอ็ดลูก
"
กินให้มันน้อยๆ หน่อย เดี๋ยวก็เมาไปทะเลาะกับชาวบ้านเขา"
ลูกชายทำหน้าไม่พอใจ ดูเหมือนจะหน้าเสีย พร้อมตอบว่า "เดี๋ยวก็ทะเลาะกับแม่ก่อนน่ะแหละ"


ต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างไป จะทะเลาะกันหรือดีกัน ฉันก็รู้ดีว่า พอพลบค่ำ พวกเขาก็กลับไปยังจุดเดียวกัน นอนหลับในคาเรือนเดียวกัน และอาจตื่นขึ้นมาวันใหม่ด้วยการกินอาหารร่วมกัน


นานนักหนาที่ฉันเคยรับรู้ ครอบครัวของแกมีลูกที่หายไปนับหลายสิบปี แล้วก็กลับมา บางคนได้ข่าวว่าตายไปแล้วแต่ก็ไม่ตาย ลูกสาวคนสุดท้องออกจากบ้านไปและกลับมาพร้อมเด็กทารกไว้ให้ยายเลี้ยงดู แล้วก็จากไปอีก


ใครบางคนเอ่ยเบาๆ "มันเป็นชะตากรรม" คำที่ช่วยลบเหตุผลของทุกสิ่งทุกอย่างให้ออกไป ลบคำถามที่ยังไม่ทันได้ตอบ


ขณะที่แดดบ่ายกำลังทาบเงาแก่ต้นไม้ กระจายแทนที่เม็ดฝน ฟ้ากำลังสว่างขึ้น ผู้คนรอบตัวเหมือนน้อมรับชะตากรรมของตัวเองได้ดี ไม่ว่าพี่สาวข้างบ้านที่ถูกสามีทุบตี และอดทนมาโดยตลอดจนลูกโต บอกกับฉันว่า "ทำไงได้ เราลงหอร่วมโรงกับเขา จะทิ้งไปก็สงสารลูก" และคุณป้าอีกคนที่อยู่ในบ้านหลังหนึ่งโดยลำพังมานานนับสิบปี เพราะสามีและลูกตายหมดแล้ว

"
ก็อดทนไปจนวันตายน่ะแหละ แต่ก่อนตาย ก็อยากจะรวยๆ กับเขาสักครั้ง"
ฉันได้แต่พยักหน้าเบาๆ กับเรื่องราวเหล่านั้น


หันกลับมาอีกที ยายคนเดิมวนกลับมาอีกครั้ง
"
มีเงินมีทองก็หาเข้าบ้านมาเยอะๆ มาเลี้ยงดูคนบ้านเราบ้าง อดอยากปากแห้ง เป็นคนยากคนจน เมื่อไหร่จะถูกหวยกับเขาก็ไม่รู้ เฮ้ย คิดแล้วกลุ้ม"


ฉันหัวเราะไปอย่างอัตโนมัติ ก่อนที่พ่อจะเดินมาสะกิดแขนแล้วพูดว่า
"
อย่าไปเชื่อเขามาก ดีแล้วนะที่พ่อไม่ได้แต่งงานด้วย สมัยก่อนคนนี้แหละ ที่เขายุให้พ่อเอาเป็นเมีย ไม่งั้น ลูกก็จะได้เป็นลูกเขาล่ะ"
"
อ่า ค่ะ"
ฉันตอบสั้นๆ ได้แค่นั้น แล้วคำว่าชะตากรรมก็แล่นอยู่เต็มหัว


ชะตากรรมคงไม่ว่าอะไร ถ้าจะต้องหัวเราะและร้องไห้อยู่ในเวลาเดียวกัน