Skip to main content

ย่ำดินในไร่หมุนเวียน(2)

คอลัมน์/ชุมชน

ราวกับว่าโลกกลายเป็นสีเขียว .. บนเนินลูกนั้น เต็มไปด้วยต้นข้าวแตกระบัด เรา(ผมกะพี่วินัย)เริ่มการสำรวจไร่หมุนเวียนครั้งใหม่ ..

..จากแม่น้ำรันตีหลังหมู่บ้าน เราล่องเรือราวครึ่งชั่วโมงก่อนจอดเทียบท่าเนินดินสูง ป่ายปีนแนวไร่หมุนเวียน ..ดินดำบนภูยุบยวบไปตามรอยย่ำที่เหยียบย่าง ..


ก่อนออกจากบ้านพี่วินัยแนะนำว่า ให้ใส่รองเท้ายางสำหรับเดินป่าของแก มีจุดเด่น คือ พื้นรองเท้าจะเป็นปุ่มๆ คล้ายรองเท้าสตั๊ดนักกีฬาฟุตบอล สนนราคาอยู่ที่คู่ละ 89 บาท หากซื้อในตลาดสังขละบุรี
(
เพียงแต่คู่ที่ผมใส่ ปุ่มๆ เริ่มเลือนๆ ไปหมดแล้ว)


ก่อนจะถึงแนวไร่หมุนเวียน ฝนเริ่มปรอยเม็ด .. แนวเขาจรดเส้นขอบฟ้า ท้องฟ้าบางทีก็เป็นสีฟ้าจัดเมื่อกระทบแสงแดด บางทีก็หม่นเทาด้วยเมฆฝนเมื่อลมเริ่มพัดจัด


แปรปรวนราวกับหัวใจของคน


ต้นข้าววัยเยาว์มองเห็นเป็นแนวอยู่สุดเนินลูกนั้น ..หญิงสาวสวมหมวกปีกกว้างกำลังดายหญ้า ความกรากกรำที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงของมนุษย์เผ่าพันธุ์หนึ่ง


ถามเธอว่ามีความสุขกับการทำไร่ไหม เธอไม่ตอบ ..ผมเพียงแค่คาดเดาเอาว่า หากชีวิตมีทางเลือกได้มากกว่านี้ เธอคงไม่เลือกมาดายหญ้าในไร่


...


พี่วินัยบรรยายเรื่องพืชผักกินได้ในไร่ ผมถามแกตอบ ..จนผ่านเนินดินลูกที่สาม


ช่วงหนึ่งสายตาของผมไปสะดุดเข้ากับต้นไม้ชนิดหนึ่ง ลำต้นสูงเขียวเทียมหน้าอก ลักษณะใบเป็นหยักยาวและเป็นแฉกๆ สัก 8-10 แฉกต่อหนึ่งขั้ว ยอดอ่อนกำลังแตกขรีดูขรึมๆ สมกับสมัญญานามว่า "พาหนะแห่งนิพพาน" ของกลุ่มชนที่เรียกตัวเองว่า "บุปผาชน"


ผมอึ้ง อมยิ้มและพร้อมกดชัตเตอร์
ปากถามพี่วินัยว่า "แล้วนี่มันมีชื่อเรียกเป็นภาษากะเหรี่ยงว่าอะไร"
แกหัวเราะ ก่อนตอบมาเป็นคำถาม "รู้จักด้วยหรือ"
"
เคยเห็นจากหนังสือหน่ะพี่" ผมตอบตัดประเด็น


แกเอื้อมมือมาขยี้ใบอ่อนๆ ก่อนเด็ดออกมาจากขั้ว
"
เรียกว่า ยะพรอ-คูหละ"


คูหละ เป็นชื่อเรียกแขกจมูกแหลม แขกจมูกแหลม หมายถึง ฝรั่งหรือคนตะวันตกที่มาเที่ยวเมืองไทย พี่วินัยถึงได้เพิ่มคำว่า "คูหละ"ต่อท้ายคำเรียกขานว่า "ยะพรอ-คูหละ"


แขกมันชอบแกให้เหตุผล


...


"อ่าว พี่ แล้วพี่เด็ดยอดมันมาทำไมหละนั่น"
"
เป็นยานอนหลับ สำหรับคืนนี้"
ผมได้ยินกังวานเสียงทิ้งท้ายอย่างนั้น ระหว่างผมกดชัตเตอร์


 



 ดอกไม้เล็ก ๆ ริมแม่น้ำรันตี สีสันสดใส



 กล้วยครับ กะเหรี่ยงเรียก สะกวิ่งซะ แปลว่า กล้วยลูกใหญ่



 กลางผืนไร่หมุนเวียน สันเขาจรดเส้นขอบฟ้า ไม้ยืนตายซากบ่งบอกกาลเวลาว่า
พื้นที่ทำไร่หมุนเวียนของคนกะเหรี่ยงได้รับตกทอดมาหลายชั่วอายุคน



 บนเนินลูกนั้น ข้าววัยเยาว์เอนโอนซบตัวแก่ผืนดินดำ ราวกับว่ากำลังรำลึกถึงคุณค่าแห่งโลกธรรมชาติที่มอบชีวิต



 พี่วินัยกำลังสาธิตวิธีการดักหนูในไร่ข้าวด้วยไม้ไผ่เล็กๆ และเชือกเพียงเส้นเดียว เอ ผมจำไม่ได้ว่า
เครื่องมือชนิดนี้ทำงานอย่างไร
(ใครรู้วานตอบที) จำได้แต่ว่าเจ้านี่สามารถดักไก่ป่าได้ด้วย
"หวดดังป็อกเป็นอันนิ่งสนิท" สำนวนพี่วินัยแกว่าอย่างนั้น



 หญิงสาวนางนั้นดายหญ้าในไร่



 ป่าไผ่อันสมบูรณ์รกครึ้ม เต็มไปด้วยใบไผ่ที่ร่วงหล่นทับถม
พื้นที่นี้เป็นไร่ซากที่สมบูรณ์เต็มที่พร้อมจะเปลี่ยนเป็นไร่ข้าวในปีต่อไป



พืชผักในไร่สมบูรณ์มาก มีหลากหลายชนิด (บางชนิดเสนอเอาไว้ในตอนที่แล้ว) มะระขี้นก กะเหรี่ยงเรียก
มะระขี้นกเหมือนกัน พี่วินัยแกว่าชนิดนี้ไม่ใช่ผักพื้นเมืองแต่นำเข้าจากพื้นล่าง



เป็นยอดฟักทอง กะเหรี่ยงเรียก โหล๊วเค๊ซะ ซะ แปลว่าลูก



ถั่วฝักยาว กินได้เลยไม่ต้องล้างหรือใช้น้ำด่างทับทิม



 พืชผักในไร่บางชนิดคนกะเหรี่ยงหยอดหลุมพร้อมข้าว ชนิดนี้เป็นถั่วดินชนิดหนึ่งซึ่งนอกจากได้กินเมล็ด
ของมันแล้ว มันยังเป็นพืชคลุมดินชั้นยอดที่ช่วยเหลือให้ต้นข้าวงอกงามและอุดมสมบูรณ์



 ปิดเรื่องด้วยภาพครอบครัวพี่วินัยครับ