Skip to main content

บัวสีเทา : เที่ยวละไม เจอใครก็คุย

คอลัมน์/ชุมชน

ดูโทรทัศน์ก่อนไปเที่ยว

ครั้งหนึ่ง, เมื่อเสียงเพลง ... "เด็กเอ๋ยเด็กดี ต้องมีหน้าที่สิบอย่างด้วยกัน...." ดังก้องจากโทรทัศน์ พร้อมกับรูปภาพของเด็กๆ มากหน้าหลายตา ที่ตั้งหน้าตั้งตาร้องเพลงนี้



แต่ก่อนที่เพลงจะบรรเลงขึ้น คุณครูท่านหนึ่งถามเด็กๆ ว่า "รู้ไหมจ๊ะ ว่าเด็กดีเป็นอย่างไร" เมื่อเด็กๆ ฟังคำถาม บางคนก็พยักหน้า บางคนก็ส่ายหัว แต่แล้วเพลง "หน้าที่เด็ก" ก็ดังขึ้นมาโดยพลัน



ผมนั่งใจจดจ่อกับจอโทรทัศน์อยู่นาน เพื่อที่จะฟังเพลงดังกล่าวให้จบ และนึกถึงตัวเองและพวกเพื่อนๆ หลายคนที่ดื่ม เที่ยว ว่า อันว่าข้าพเจ้านี้จะเป็นเด็กที่ดีตามแบบฉบับของเพลงไหมหนา แต่ก็ไม่ได้ตอบ เพราะพอคิดไปคิดมาแล้ว ก็ฉุกขึ้นมาอีกว่า เพลงนี้น่ะได้ยินมาตั้งแต่เกิดแล้วนี่นา ทำไมสมัยนี้ยังคงมีการเปิดเพลงทำนองนี้กันอยู่อีก?



พอเพลงดังกล่าวจบ ก็พลันต้องร้อง "อ๋อ" ทันทีครับ เพราะผู้ใหญ่รัฐบาล เขาเป็นผู้ที่นำบทเพลงนี้มาเปิดสู่สาธารณชน โดยมุ่งหวังให้เด็กๆ ที่ดูโทรทัศน์ได้เข้าใจ และตระหนักในการเป็นเด็กที่ดีของสังคม



ดังนั้น ก็ไม่ต้องคิดมากกว่าทำไมเขาต้องเอาเพลงนี้มาเปิดอย่างโหมโรงอีกครั้งในสมัยนี้ เพราะมันก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องย้ำให้เด็กๆ อยู่ในร่องในรอย เป็นเด็กดีไม่ก่อปัญหาของสังคม



แต่อย่าลืมนะครับ ว่าเพลงนี้เปิดมาตั้งแต่สมัยไหนแล้วก็ไม่รู้ เพราะตั้งแต่เกิดมาผมก็ได้ยินเพลงนี้เลย ก็ไม่เห็นว่าปัญหาของเด็กจะลดลงแต่อย่างใด ทว่ากลับเป็นไปในทางตรงกันข้ามและปัญหาที่เด็กเผชิญก็มีมากขึ้นทุกวันๆ



มีช่วงหนึ่ง ในระยะหลังๆ ที่ไม่ค่อยได้ยินเพลงนี้บ่อยนัก แต่ก็มักจะได้ยินมากๆ ตอนงานวันเด็กแห่งชาติของแต่ละปี ซึ่งพอได้มีโอกาสฟังเพลงนี้ ในวันปกติธรรมดาที่ไม่ใช่วันสำคัญอะไร ผมก็สงสัยว่าทำไมจึงเอาเพลงนี้มาเปิดขึ้นในยามนี้



ในความเข้าใจของผมแล้ว การนำเพลงนี้มาเปิดอย่างกว้างขวางและบ่อยครั้งในยามนี้นั้น ดูจะเป็น "สัญญาณ" บางอย่างที่บ่งชี้ว่า เวลานี้เด็กๆ ไม่ค่อยเป็นเด็กดีกันเสียแล้ว หรืออาจต้องการสร้างค่านิยมใหม่ให้เด็กๆ เป็นคนดีของสังคม เนื่องเพราะหากมองไปทั่วสังคมก็จะพบว่า เด็กเป็นคนที่ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ในสังคมไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพศ เรื่องการก่ออาชญากรรม การใช้ความรุนแรง การใช้ยาเสพติด ติดการพนัน ติดแฟชั่น ฯลฯ



แน่นอนว่าหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐก็เร่งทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เด็กเผชิญ คงจะด้วยเหตุนี้หรอกกระมัง ที่ทำให้รัฐบาลต้องเร่งสร้างกระแสค่านิยมใหม่ๆ ให้เกิดกับเด็กๆ ให้อยู่ในขอบเขตอันดีงามตามขนบประเพณีและวัฒนธรรมของสังคมไทย



ดังนั้น อาจเป็นไปได้ว่า เมื่อสังคมไทยมองว่าเด็กเป็นปัญหา รัฐจึงต้องเข้ามาแก้ไข แต่อย่าลืมว่าการที่ผู้ใหญ่แบ่งเส้นว่าแบบนี้เป็นเด็กดี แบบนั้นเป็นเด็กเลว จะยิ่งเป็นการสร้างความแตกต่างให้เกิดขึ้นในหมู่เด็ก และสร้างการเลือกปฏิบัติในหลายๆ อย่างเพื่อเป็นการกีดกันเด็กที่สังคมตราหน้าว่าเป็น "เด็กเลว"



ดังนั้น การที่ผู้ใหญ่มองว่าเด็กแต่ละคนเป็นแบบไหนนั้น ก็น่าจะเป็นเพียงแค่สิ่งที่จะทำให้รู้ว่า จะทำงานกับเด็กแต่ละแบบอย่างไร จะเข้าถึง หรือเรียนรู้ธรรมชาติของเด็กแต่ละกลุ่มอย่างไร ไม่ใช่เป็นการสร้างคำนิยามแล้วนำมาดูถูก เหยียดยามและกีดกันเด็กที่สังคมเรียกว่า "เด็กเลว"


เด็กเที่ยวกลางคืนแต่เรียนหนังสือเก่ง, เด็กที่แต่งตัวตามแฟชั่นแต่รู้จักทำมาหากินเก็บเงินส่งตัวเองเรียน, เด็กที่มีเพศสัมพันธ์ในวัยเรียนแต่ป้องกันทุกครั้ง ฯลฯ จะเป็นเด็กแบบไหนกัน จะมีที่ยืน ที่ทางในสังคมได้อย่างไร ถ้าสังคมมีมาตรฐานเด็กดี เด็กไม่ดี แค่มาตรฐานเดียว


และเป็นมาตรฐานที่ไม่เคยเข้าใจเด็กเลย


คุยกับแซปที่ร้านเหล้าตอง


ร้านขายเหล้าข้างทางหรือร้านที่ขายเหล้าเป็นฝา คือขายทีละฝา บางร้านก็ขายเบียร์ ขายเหล้าเป็นขวด ตามแต่ลูกค้าจะตัดสินใจซื้อ ร้านเล็กๆ ที่บางแห่งมุงด้วยหลังคาสังกะสี มีพื้นที่นั่งไม่มาก มีคนขายประจำประมาณ 2 คนขึ้นไป บางแห่งมีเพลงเปิดให้ฟัง บางแห่งก็ไม่มี


ลักษณะที่ว่ามาข้างต้น คือที่เรียกๆ กันในหมู่นักดื่ม ว่าร้านเหล้าตอง


ในร้านเหล้าตอง จะมีผู้คนหลายวัย หลายแบบ หลายเพศ ไปนั่งดื่ม กิน รินเหล้าเบียร์พูดคุย รถขายของจำพวก ปลาหมึก ลูกชิ้น มักแวะเวียนมาเยี่ยมเยียนส่งเสียงเรียกลูกค้าในร้านเหล้าตองให้สั่งอาหารของเขาเหล่านั้นเป็นกับแกล้ม


โดยมากแล้วร้านเหล้าตองจะมีอยู่ทั่วไป ตามสองข้างทาง มีทั้งถนนสายใหญ่ ถนนสายเล็กระหว่างอำเภอ บ้างก็อยู่ข้างๆ สถานศึกษา บางแห่งก็อยู่รวมกันเป็นโซน ซึ่งแต่ละแห่ง แต่ละที่ มีลักษณะเฉพาะที่ต่างกันแล้วแต่ความชอบของใครที่ว่าจะชอบดื่มกินแบบไหน หรือสาวเสริฟร้านไหนที่มีใครรู้จักหรือแอบชอบอยู่ก็อาจจะเป็นเหตุผลที่แต่ละคนเลือกกินดื่มในบรรยากาศที่ต่างกันไป


ส่วนมากแล้วพี่เหน่ง จะเป็นคนชอบกินดื่มที่ร้านเหล้าตอง ก่อนที่จะไปเที่ยวต่อในผับประจำ เพราะเหมือนเป็นการวอร์มร่างกาย อุ่นเครื่องให้กับตัวเองไปในตัว ก่อนที่จะไปเต้นกระจายในผับที่มีพื้นที่และบรรยากาศต่างกันไป


พี่เหน่งมีรุ่นน้องคนหนึ่งชื่อ "เต้ย" - เต้ย เป็นชายหนุ่มตัวผอมสูงอายุไม่เกิน 18 ปี แต่ประสบการณ์ในการกินเที่ยวมีมากกว่าผมด้วยซ้ำ เต้ยจะมีลักษณะการใช้ชีวิตที่ ใครต่อใครเรียกหรือ นิยามว่า "เด็กแซป"


ชายหนุ่มรุ่นน้องคนนี้ได้รับฉายาว่า "สิงห์เหล้าตอง" เพราะเขาไม่ชอบเที่ยวตามเธค ผับ เหมือนรุ่นพี่ เต้ยจะมีเพื่อนในกลุ่มประมาณ 5 – 7 คน ที่เที่ยวด้วยกันประจำ คือมากินดื่มที่ร้านเหล้าตองอยู่บ่อยๆ


ความที่เป็นคนอยู่รอบนอกเมือง เขามักจะมานั่งดื่มที่ร้านเหล้าตองแล้วจึงค่อยกลับบ้านหลังจากเสร็จภารกิจกิน ดื่ม และหลีสาว (ตามประสาบ่าวน้อย)


กล่าวสำหรับเด็กแซปแล้ว เท่าที่เต้ยอธิบาย เขาบอกว่าลักษณะการแต่งตัวจะใส่กางเกงขาเดฟเสื้อกระชับๆ ส่วนใหญ่จะเป็นวัยรุ่นที่อยู่เขตอำเภอรอบนอก คนทั่วไปมองว่าเด็กแซปแต่งตัวไม่สะอาดและดูน่ากลัว แต่ก็เป็นเพียงบางกลุ่มเท่านั้น และกลุ่มเด็กแซป ส่วนมากจะไม่เรียกตัวเองว่าแซป จะเป็นคนอื่นเรียกมากกว่า คือส่วนใหญ่เด็กแซปจะไม่ชอบที่มีคนเรียกว่า "แซป"



"คนส่วนใหญ่จะเรียกเราว่าแก๊ง ผมไม่ชอบที่เขาเรียกเราว่าแก๊ง อยากให้เรียกว่า พวกเพื่อนฝูงเคยโดนเรียกว่าแซป ผมไม่ชอบที่เขาว่าพวกผมเป็นแซป กลางคืนไปดื่มเหล้าตามร้านต่างๆ เพื่อนเลี้ยงแล้วมีทะเลาะกันบ้างคนจะมองว่าเป็นแก๊งซามูไร ทั้งที่เรากินเที่ยวตามธรรมดา" เสียงน้อยใจๆ ของเต้ย
"
อย่างพี่เป็นแซปมั้ย" ผมถามเปลี่ยนเรื่อง


"ไม่น่าจะใช้มั่ง ไม่รู้ดูไม่ออก แต่ผมไม่อยากเรียกใครว่าแซปไม่แซป มันพูดยาก บางคนดูการแต่งตัวหรือท่าทางการพูดจาก็รู้ว่าใช่หรือไม่ ทางที่ดีไม่ต้องนิยามเลยจะดีกว่า" เต้ยบอก


แต่แม้จะไม่นิยามว่าเป็นแบบไหน เขาก็เล่าให้ฟังว่า ลักษณะเด่นๆ ที่ได้ยินจากเพื่อนๆ คนอื่นๆ มาอีกทีนั้นเป็นอย่างไร


นั่นคือ ลักษณะเด่นๆ ของเด็กแซป คือทรงผมดูยุ่งๆ ปาดหน้า ใส่เสื้อตัวเล็กรัดรูป หรือใส่เสื้อเชิ้ตมีลายพร้อย นุ่งกางเกงขาเดฟหรือกางเกงลายทหาร ถุงเท้าขาวดึงขึ้นสูง รองเท้าต้องผ้าใบยี่ห้อคอนเวิร์ส ออลสตาร์ หรือแจ็คพาเซล บางครั้งใส่เสื้อทับสีดำและเสื้อข้างในสีส้มหรือเสื้อทหารลายพราง นุ่งกางเกงฟุตบอล ใส่รองเท้าคีบก็มีคละเคล้ากันไป



"วันนี้เต้ย ใส่เสื้อสีดำ กางเกงทหาร งั้นก็เรียกแซปได้ดิ" ผมถามกวนๆ


"บอกแล้วไงพี่ว่าอย่าเรียกว่าแซป ไม่ชอบจริงๆ นะ" น้ำเสียงหนักแน่นของเต้ยตอกย้ำผ่านหูของผมอีกครั้ง จนพี่เหน่งต้องชวนให้ชนแก้วเหล้าคุยกันเรื่องอื่น แต่ไม่ทันไร เต้ยก็เสริมอีกนิดว่า
"
ถ้าเป็นผู้หญิงจะซอยผมด้านบนให้สูงๆ สั้นๆ แต่ยังไว้ยาวและเรียกว่า ‘สก๊อย’ หรือ ‘เลดี้แซป’ เป็นพวกเดียวกับเด็กแซป นุ่งกางเกงขาสั้นลายดอกสีชมพู เสื้อสีขาวตัวเล็ก ใส่รองเท้าหูคีบ"


แล้วเต้ยก็ชี้ให้ดูสาวเสริฟที่กำลังเดินมา "นั่นไง สก๊อย"


น้องสาวเสริฟ ทำหน้าไม่พอใจ จนพี่เหน่งต้องบอกน้องว่าไม่มีอะไร แล้วก็จับแก้วของพวกเรา 3 คน ชนกินดื่มกันต่อ