Skip to main content

เขยมะริกัน : อยากมีผัวฝรั่งจังเลยค่า

คอลัมน์/ชุมชน













1


อยากมีผัวฝรั่งค่า ดิฉันอยากมีผัวฝรั่ง อุ๊ย กราบขออภัยคุณผู้อ่านที่รักทุกคนด้วยนะคะ ถ้าเผื่อว่าดิฉันใช้คำไม่สุภาพ พอดีแถวบ้านของดิฉันเขาก็พูดแบบนี้กันทุกคน (และต่อจากนี้ดิฉันก็ขอใช้คำนี้เลยนะคะ) ที่ดิฉันบอกไปอย่างนั้น ก็อย่างเพิ่งด่า ประณามหยามเหยียดดิฉันนะคะ ว่าอยากมีผัวจนตัวสั่น หรือเป็นผู้หญิงขายชาติ ขายแผ่นดินอะไรทำนองนั้น (เพราะในสมัยก่อนใช้ตรรกะนี้กับผู้หญิงไทยที่แต่งงานกับฝรั่ง ) แต่ดิฉันมีเหตุผลของดิฉัน ก็อยากให้คุณผู้อ่านที่รักฟังเหตุผลของดิฉันก่อน อย่าเพิ่งด่วนตัดสินใจไป

 










เรื่องมีอยู่ว่า ตอนนี้ดิฉันจบการศึกษาแล้ว และยังไม่มีงานทำ (คือเป็นบัณฑิตตกงาน แฟชั่นใหม่ ที่กำลังมาในเร็ว ๆ นี้ ) ดิฉันเองก็ไม่รู้ว่าจะทำงานอะไร เงินเดือนที่ได้จะเท่าไหร่กันเชียว จะพอเลี้ยงปากเลี้ยงท้องดิฉันให้พ้นเดือนต่อเดือนรึเปล่า หากว่าดิฉันจะเรียนต่อ ก็ไม่รู้จะเอาเงินที่ไหนมาส่งเสียตัวเองเรียน ถ้าไม่ทำงานเสียก่อน เพราะที่บ้านก็มีแค่แม่คนเดียวที่ขายข้าวแกงได้กำไรวันละไม่กี่ร้อย เมื่อดิฉันนำความนี้ไปปรึกษาเพื่อน ๆ จึงได้รับความคิดเห็นมาว่า " แกก็หาผัวสิยะ เอาผัวรวย ๆ นะจะได้สบาย ๆ " ฟังดูทีแรกก็เหมือนว่าจะเป็นความคิดที่ออกจะสิ้นคิดสักหน่อย แต่เมื่อคิดกับมันจริง ๆ เข้าแล้ว มันเป็นความจริง (ที่ปฏิเสธไม่ได้) ยิ่งกว่าอะไรทั้งสิ้น









 

โดยเฉพาะ เมื่อดิฉันได้ดูละครเรื่อง " เขยมะริกัน " ดิฉันยิ่งมีความหวังขึ้นมาว่า สักวันหนึ่งดิฉันจะได้เจอฝรั่งผู้ชายหล่อ ๆ มีชาติมีตระกูล ไม่ใช่ฝรั่งจน ๆ สกปรก ๆ แถว ๆ ข้าวสาร (ที่ชอบอ้างการเดินทางเพื่อแสวงหาจิตวิญญาณอะไรก็ไม่รู้ ) แต่ถึงแม้ว่าตอนนี้ดิฉันอาจจะยังไม่เจอฝรั่งอย่างจอร์จในเขยมะริกัน และดิฉันก็จำต้องพึ่งพาฝรั่งข้าวสารไปพลาง ๆ ก่อน ด้วยความหวังว่าบางทีอาจจะมีลูกท่านทูตปลอมตัวมา เพื่อแสวงหารักแท้ และจิตวิญญาณแห่งเอเชีย ที่ประเทศไทย และมาตกหลุมรักกับสาวไทยอย่างดิฉัน แต่ถ้ายังหาไม่เจอ ก็ไม่ท้อใจ เพราะถึงอย่างไรฝรั่งที่ข้าวสารมันก็ยังมีเงิน " ดอลลาร์ " ที่อย่างไรก็สบายกว่าพี่ไทยเยอะ เห็นด้วยไหมคะ คุณผู้อ่านที่รักขา


2


ละครเรื่อง เขยมะริกัน เป็นละครแนวคอเมดี้ (แปลเป็นไทยว่าละครแนวตลกขบขัน ) ที่ออกอากาศทางช่องสาม เพิ่งจะลาจอไปไม่กี่วันมานี้ เป็นบทประพันธ์ของเพ็ญศิริ (ที่ช่วงนี้บทประพันธ์ของเธอฮิตมาก เป็นละครก็ตั้งหลายเรื่อง ) บทโทรทัศน์ โดย เอกลิขิต นำแสดงโดยแอนดริว เกร็กสัน (พระเอกลูกครึ่งที่หล่อมาก ) และเบ๊นซ์ พรชิตา ณ สงขลา ก่อนอื่นดิฉันขอบ่นเล็กน้อยก่อนที่จะไปอ่านเรื่องราวอย่างย่อ ๆ ของละครเรื่องนี้ว่า ดิฉันรำคาญกับ " น้ำเสียง " ของ " ฝรั่ง " จอร์จเป็นอย่างมาก เพราะไม่รู้ว่าเป็นสำเนียงฝรั่งจากไหน อเมริกา หรือยุโรป (เหนือ ใต้ ออก ตก ) แต่ดิฉันคิดว่าคงไม่ใช่แน่เพราะเท่าที่ฟังดู มันคล้ายๆ สำเนียงของ " แขก " ขายถั่วแถวๆ มหาวิทยาลัยของฉันมากกว่าจะเป็นสำเนียงของฝรั่งที่พูดไทยไม่ชัด


เขยมะริกัน เป็นเรื่องราวของ จอร์แดน (แอนดริว เกร็กสัน ) หนุ่มลูกครึ่งไทย-อเมริกัน เป็นลูกชายของนักการทูตที่กำลังจะถูกจับแต่งงานกับเบ็ตตี้คู่หมั้นที่พ่อแม่ได้หมั้นหมายไว้ให้ โดยที่จอร์แดนไม่ได้รักเบ็ตตี้เลยสักนิด จอร์แดนและ เคน (มอริส เค ) คนขับรถคู่ใจ จึงตัดสินใจหนีมาเที่ยวที่เมืองไทย เปลี่ยนชื่อใหม่เป็นจอร์จ แต่โชคร้ายที่ทั้งสองคนถูกไกด์ผีหลอกเอาเงินไปจนหมดตัว จอร์จได้เจอกับสอง คนขับรถตุ๊กตุ๊ก ซึ่งกำลังถูกเจ้าหนี้ทำร้าย จอร์จได้เข้าไปช่วย สองจึงตอบแทนบุญคุณโดยการให้จอร์จและเคนไปอาศัยอยู่กับสมจิตรเมียของเขา


จอร์จมาเป็นคนขับรถตุ๊กตุ๊กที่ตลาดมหารวย ซึ่งมี เจ๊รำภา (อภิรดี ภวภูตานนท์ ) เป็นเจ้าของคิว เจ๊ รำภาตกหลุมรักจอร์จตั้งแต่ครั้งแรก โดยที่ตลาดมหารวยมี คุณนายเนื้อทอง (ดวงตา ตุงคะมณี) เป็นเจ้าของตลาด ที่ขี้เหนียวและเอาเปรียบบรรดาพ่อค้าและแม่ค้าในตลาด คุณนายเนื้อทองมีลูกสาวสองคนคือ เดือน (พรชิตา ณ สงขลา) และ ดาว (ฐนิชา ดิษยบุตร) ศัตรูและคู่แข่งของคุณนายเนื้อทองคือ คุณนาย ส้มจีบ (ทาริกา ธิดาทิพย์) เจ้าของตลาดเฮงเจริญ ซึ่งในสมัยก่อนทั้งสองคนเคยเป็นเพื่อนรักกัน คุณนายส้มจีบมีลูกชายหนึ่งคนคือ บริพัฒน์ (พลวัตร มนูประเสริฐ) บริพัฒน์หลงรักเดือนลูกสาวคุณนายเนื้อทองอยู่ และเดือนก็ดูเหมือนว่าจะมีใจให้ แต่คุณนายเนื้อทองไม่ยอม เนื่องจากเป็นลูกชายของคู่แข่งคนสำคัญ


เดือนรู้จักจอร์จเพราะไปทวงเงินค่าดอกเบี้ยกับวิมล แต่วิมลไม่มีเงินเพราะลูกเปิดเทอม ทำให้จอร์จ กล่าวหาว่าเดือนเป็นคนสวยใจดำ จากนั้นเดือนก็เกลียดขี้หน้าจอร์จเป็นต้นมา จากการแข่งขันที่ดุเดือดระหว่างตลาดเฮงเจริญกับตลาดมหารวย ทำให้เดือนกับจอร์จมีโอกาสใกล้ชิดกันมากขึ้น และเริ่มก่อตัวขึ้นเป็นความรักอย่างเงียบ ๆ แต่เดือนก็ปฏิเสธมาตลอด และยังปฏิบัติต่อจอร์จเหมือนคนที่เกลียดขี้หน้ากัน จอร์จสืบทราบมาว่าเจ๊รำภาทำธุรกิจที่ผิดกฎหมาย จึงพยายามสืบหาความจริง ในขณะนั้นพ่อและแม่ของจอร์จรู้ว่าจอร์จมาอาศัยอยู่ที่นี่ จึงตามมาพบเพื่อให้กลับบ้าน พอทุกคนในตลาดรู้ความจริงว่าจอร์จเป็นถึงลูกท่านทูต จึงโกรธจอร์จเพราะคิดว่าจอร์จเป็นคนหลอกลวง รวมทั้งเดือน ซึ่งรู้ว่าจอร์จมีคู่หมั้นแล้ว ยิ่งโกรธมาก


จอร์จไม่ยอมกลับไปกับพ่อและแม่ เพราะต้องการสืบความจริงเกี่ยวกับธุรกิจที่ผิดกฎหมาย เจ๊รำภาเริ่มสงสัย และคิดว่าเป็นแผนของคุณนายเนื้อทอง จึงสั่งลูกน้องจับคุณนายเนื้อทองและบังเอิญจับคุณนายส้มจีบไปด้วย แต่สุดท้ายจอร์จก็พาพวกที่ตลาดไปช่วยให้ออกมาได้ หลังจากเหตุการณ์นี้คุณนายส้มจีบกับคุณนายเนื้อทองก็กลับมาปรองดองกัน ความรักของจอร์จกับเดือนก็สมหวัง โดยที่จอร์จต้องพิสูจน์ตัวเองเล็กน้อยเพื่อให้คุณนายเนื้อทองยอมยกลูกสาวให้


3


เป็นอย่างไรบ้างคะ คุณผู้อ่านที่รัก ดิฉันอาจจะเล่าไม่สนุกเท่ากับที่ละครเล่นจริง ๆ เพราะตามจริงแล้ว ละครเรื่องนี้สนุ๊กสนุกนะคะ โดยเฉพาะตัวชูโรงอย่างคุณนายส้มจีบ ที่ดิฉันขอยกตุ๊กตาทองให้เลย เสียงของเธอได้ใจดิฉันจริงๆ ถึงแม้ว่าดิฉันจะต้องทนฟังเสียงแหลม ๆ อย่างนั้นตลอดทั้งเรื่อง แต่ดิฉันก็พอใจมากกว่าที่จะฟังเสียงพูดแปล่ง ๆ ของฝรั่งพูดไทยสไตล์แขกของพระเอกมากกว่า


แต่ถึงอย่างไรก็ตามทั้งหมดทั้งมวลนั่นก็ไม่ใช่ประเด็นหลักที่ทำให้ดิฉันพยายามติดตามดูละครเรื่องนี้ เพราะนอกจากความหล่อของพระเอกแล้ว ประเด็นที่ทำให้ดิฉันติดตามดูละครเรื่องนี้ก็คือ " ความรัก " ระหว่างหนุ่ม (ลูกครึ่ง) ฝรั่งกับสาวไทยว่าจะลงเอยกันอย่างไร จะเหมือน ๆ กับเรื่องเล่าที่ดิฉันได้ยินได้ฟังมาหรือเปล่า ?


เรื่องราว " ความรัก " ระหว่างหนุ่มฝรั่งกับสาวไทย หากเมื่อจะลองย้อนไปดูละครที่ผ่าน ๆ มา เราคงคุ้นเคยกับละครเรื่อง " บุญรอด " หรือในชื่อของหนังสือคือผู้หญิงคนนั้นชื่อบุญรอด ซึ่งเป็นละครที่กล่าวถึงเรื่องราวความรักของหนุ่มฝรั่งที่มาหลงรักสาวไทยอย่างบุญรอด ที่ดิฉันขอย้อนกล่าวถึงเรื่องบุญรอดนั้น ก็เพื่อจะพาคุณผู้อ่านที่รักทั้งหลายเข้าไปสำรวจถึงเงื่อนไขและบริบทใน " ความรัก " ของหนุ่มฝรั่งกับสาวไทย โดยในกรณีของบุญรอดนั้น เราจะเห็นได้ว่า เธอรักกับหนุ่มฝรั่งภายใต้เงื่อนไขของหญิงไทยใจงาม ที่ไม่ยอมถูกประณามว่าเป็นกะหรี่ขายตัว


ความรักของบุญรอด เป็นความรักที่เกิดจากการเห็นคุณงามความดีของหนุ่มฝรั่ง ภายใต้การเปรียบเทียบความเป็นผู้ชายที่ " หมาไม่แหลก " ของผู้ชายไทยคนอื่น ๆ ความไม่เป็นผู้หญิง " ไทย " ของกะหรี่คนอื่น ๆ ในเรื่อง (ซึ่งความไม่เป็นผู้หญิงไทยของ " กะหรี่ " คนอื่น ๆ เป็นเหตุให้ผู้ชายฝรั่ง " ดี ๆ " คนหนึ่งไม่เลือก) กับความดีของผู้หญิงอย่างบุญรอด ความรักของบุญรอดกับนายช่างบ็อบ จึงเป็นความรักภายใต้บริบทของความรักต่างชาติพันธุ์ และเป็นเรื่องของผู้ชายและผู้หญิงดี ๆ สองคนมาเจอกัน


ซึ่งหากจะนำเรื่องเล่าต่าง ๆ และสิ่งที่ดิฉันและคนอื่น ๆ พบเห็นในความจริงของสังคม (ซึ่งก็ต้องแบ่งเป็นชนชั้นอีกครั้งหนึ่ง ตามฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม) มาพิจารณาถึงเงื่อนไขและบริบทของความรักระหว่างหญิงไทยกับหนุ่มฝรั่ง ซึ่งแถว ๆ บ้านของดิฉันเรียกว่าผัวฝรั่งนั้นจะเห็นได้ว่า ในกรณีแรก กรณีแบ่งตามชนชั้นทางเศรษฐกิจและสังคมที่ถือว่าเป็นชนชั้นกลาง (ระดับต่ำ) เรียกง่าย ๆ ตามภาษาบ้านดิฉันเรียกว่า กรณีชาวบ้านอย่างเรา ๆ การมีผัวฝรั่งของหญิงไทย โดยเฉพาะตามที่เรารับรู้กันทั่วไป คือหญิงชาวอีสาน มักนิยมมีผัวฝรั่ง จึงมีการกำหนดสเป็กฝรั่งเกิดขึ้นจากกรณีตัวอย่างที่มากมายของหญิงชาวอีสานว่า หญิงไทยที่จะได้ผัวฝรั่งจะต้องผอม ๆ (แต่นมใหญ่) ดำ ๆ ดั้งหัก ๆ หน้าแบน ๆ ตามแบบฉบับชาติพันธุ์ของคนอีสาน


ความจริงของความรู้สึกที่เรียกว่า " ความรัก " ที่จะนำคนสองคนมาอยู่ด้วยกันเป็นผัวเป็นเมียในกรณีนี้ จึงเป็น " ความจริง " ที่แสนจริง ไม่มีความรู้สึก " รักโรแมนติก " อย่างเรื่องราวของเขยมะริกันแต่อย่างใด เรื่องราวความจริงของหญิงไทย (ที่ส่วนมากมักถูกอ้างถึงว่าเป็นหญิงชาวอีสาน ที่ประกอบอาชีพขายบริการ หมอนวด และอื่น ๆ) กับผัวฝรั่ง ในกรณีของชนชั้นนี้ ที่ผู้หญิงชาวไทยอาจจะอ่อนด้อยทางฐานะเศรษฐกิจ การศึกษา ความสัมพันธ์ของหญิงไทยจึงตั้งอยู่ความจริงที่แสนจริง คือ ความต้องการเลื่อนชั้นทางเศรษฐกิจ โดยความฝันถึงชีวิตข้างหน้าที่ดีกว่า ด้วยเพราะ หนุ่มฝรั่งมีเงิน " ดอลลาร์ " และอาจจะดีกว่าหนุ่มไทยแถว ๆ บ้าน ที่การงานก็อาจพอ ๆ กัน กินเหล้า เมายา เล่นการพนัน ในขณะที่ฐานะทางเศรษฐกิจไม่เอื้อที่จะให้ทำได้อย่างไม่เดือดร้อน


ในขณะที่หนุ่มฝรั่ง ก็อาจจะเป็นเพียงความต้องการผู้หญิงต่างเชื้อชาติ ที่มีคุณสมบัติในการเป็นแม่ (คือมีลูกได้ ) เอาใจปรนนิบัติ พัดวีได้เก่ง ไม่เรื่องมาก เพราะอาจจะคุยกันไม่รู้เรื่อง ไม่ต้องมาเรียกร้องว่าเธอจะรักฉัน เธอจะเอาฉันไปจนแก่จนเฒ่าไหม หย่ากันเธอจะแบ่งมรดกของฉันไปครึ่งหนึ่งไหม ฯลฯ คืออาจจะต้องการหาความเป็นผู้หญิงโลกที่สาม ที่ในโลกที่หนึ่งไม่มี


ความสัมพันธ์ที่แสนจริงนี้ จึงตั้งอยู่ภายใต้เงื่อนไข ความสัมพันธ์ "ต่างตอบแทน " ซึ่งกันและกันอย่างจริงที่สุด หญิงไทยคนนั้น อาจจะสบายขึ้นโดยที่ไม่ต้องทำงานหนักเหมือนเดิม (แต่อาจจะหนักกว่าเดิม เพราะต้องรับใช้ผัวฝรั่ง ? ) หนุ่มฝรั่งคนนั้นก็อาจจะได้รูปแบบครอบครัวที่คิดฝันหา ความสัมพันธ์ตามความเป็นจริง จึงไม่เป็นเหมือนความสัมพันธ์ในรูปแบบความรักที่แสนโรแมนติก ที่ตั้งอยู่ภายใต้เงื่อนไขของความรู้สึกล้วน ๆ เหมือนอย่างเช่นในละครเรื่องเขยมะริกัน หรือในอีกชนชั้นที่สูงขึ้นทางเศรษฐกิจ สังคมมากกว่านี้


4


ในขณะที่ผู้หญิงในอีกชนชั้นหนึ่ง ที่อาจจะมีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดี (มาก) มีการศึกษาที่ดี (มาก) รูปแบบในความสัมพันธ์ของเธอกับหนุ่มฝรั่ง จึงไม่ได้อยู่ภายใต้เงื่อนไขอย่างผู้หญิงในกลุ่มที่แล้ว ความสัมพันธ์ของหญิงไทยชายฝรั่งในกลุ่มนี้ จึงอยู่ภายใต้เงื่อนไขการแลกเปลี่ยนที่มองไม่เห็น และคำนวณไม่ได้ เป็นรูปธรรมที่ยิ่งใหญ่ คือความรักนั่นเอง เงื่อนไขในการก่อเกิดของความรักของผู้หญิงกลุ่มนี้จึงแตกต่าง ชายฝรั่งที่ได้พบได้เจอก็อาจจะแตกต่างจากในอีกกลุ่มหนึ่ง


เช่นเดียวกัน เพราะความรักที่จะเกิดขึ้นในกรณีจะเป็นความรักที่เกิดขึ้นภายใต้การสื่อสารผ่าน " ภาษา " ที่ต้องคุยกันรู้เรื่อง ถูกใจแน่หละ ผู้หญิงพวกนี้ต้องพูดคุยกับฝรั่งรู้เรื่อง ก่อนที่จะคุยกันรู้เรื่องเธอก็อาจจะต้องทำงานที่เดียวกัน หรือเจอกันจากการไปประชุมต่างประเทศ งานอินเตอร์เนชั่นแนลต่าง ๆ


ละครเรื่องเขยมะริกัน ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องแต่ง เรื่องที่สร้างขึ้น แต่ภายใต้เรื่องราวของการแต่งการสร้างก็ย่อมแสดงถึงความเชื่อ ความคิดบางอย่าง รูปแบบของความสัมพันธ์ของเดือนกับจอร์จ จึงเป็นรูปแบบของความรู้สึกรักล้วน ๆ และเป็นรักของชนชั้นกลาง (ระดับสูง) ที่มีเงินมีทอง มีการศึกษาพอ ๆ กัน ไม่ต้องอาศัยคุณงามความดี การพิสูจน์อะไรเหมือนในบุญรอด ไม่ได้มีการคาดหวังการแลกเปลี่ยนแบบต่างตอบแทนตามที่คิดคำนวณได้ อย่างในความจริงที่แสนจริงอย่างผู้หญิงในอีกชนชั้น


ในขณะที่ละครกำลังดำเนินไปเรื่อย ๆ คนดูอย่างดิฉันและอีกหลาย ๆ คนที่ยังไม่ได้อ่านหนังสือเรื่องย่อละครเล่มละ 25 บาท ซึ่งยังไม่รู้ว่าแท้จริงแล้วพระเอกจอร์จของเรานั้น แท้จริงเป็นถึงลูกท่านทูต ไม่ได้เป็นฝรั่งขี้นกตกยากที่เผอิญเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น พระเอกไม่ได้รวย แต่เป็นเพียงคนขับรถตุ๊กตุ๊กจริง ดิฉันก็คงได้ลุ้นตัวโก่งมากว่านี้ว่า ความรักระหว่างฝรั่งจนๆ กับผู้หญิงไทยรวยๆ จะเกิดขึ้นอย่างไร ภายใต้เงื่อนไขอะไร ซึ่งขอให้ตอนจบจอร์จยังขับรถตุ๊กตุ๊ก และไม่ได้หันมาจับธุรกิจจนร่ำรวย หรือเป็นลูกเจ้าลูกนายปลอมตัวมาด้วยเถิด แต่สุดท้ายละครเรื่องนี้ก็ดำเนินตามสูตรเดิม ที่เน่าที่สุด ไร้ซึ่งภูมิปัญญาที่จะคิดได้ ด้วยการให้พระเอก เป็นลูกผู้ดีมีเงินปลอมตัวมาเป็นคนจน มาขับรถตุ๊กตุ๊ก เพื่อจะตามหารักแท้กับหญิงไทย


การเลือกรูปแบบความรัก ระหว่างพระเอกจอร์จกับนางเอกเดือน ในเขยมะริกันนั้น เป็นเสมือนการยืนยันหลักการความสัมพันธ์ระหว่างหญิงไทยชายฝรั่ง ที่เรียกว่า " ความรัก " ล้วนๆ นั้น จะต้องเกิดภายใต้เงื่อนไขแห่งชนชั้นกลาง (ระดับสูง) เท่านั้น ความรัก จึงกลายเป็นเหมือนความรู้สึกที่ว่างพอ จากการที่ไม่ต้องคิดถึงเรื่องอนาคต เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องการอยู่รอด ของพ่อแม่พี่น้องของตนเอง ความรัก จึงเหมือนกับว่าเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากชนชั้นกลาง ที่ไม่อาจจะเกิดขึ้นกับชนชั้นล่างแต่อย่างใด


การมีผัวฝรั่งของเดือนในเขยมะริกัน จึงไม่เหมือนในบุญรอด ไม่ต้องพิสูจน์ตัวเองให้หนีจากข้อหาหญิงขายบริการที่มีผัวฝรั่งเพราะอยากจะรวย เพราะเธอเป็นถึงลูกเจ้าของตลาด ไม่ต้องพิสูจน์ความดีงามแห่งจิตใจกับผู้ชายไทยคนอื่นๆ (นอกเสียจากผู้ชายจีนในเรื่อง) เหมือนในบุญรอด และที่สำคัญแต่เหมือนกัน เธอกับจอร์จ บุญรอดกับบ็อบ ต่างก็พูดจากันเข้าใจ ด้วยภาษาเดียวกัน (และบุญรอดเองก็พ้นจากการ " จน " แล้วเธอจึงตัดสินใจแต่งกับบ็อบ - ตามละครนะคะ )


การมีผัวฝรั่งของเดือนจึงตั้งอยู่บนการพิสูจน์ " รักแท้ " ของผู้ชายฝรั่งอย่างจอร์จเพียงเท่านั้น ไม่ต้องฝันถึงการเลื่อนชั้นทางเศรษฐกิจ ไม่ต้องคิดถึงชีวิตที่ดีกว่านี้ ไม่ต้องคำนวณความคุ้มได้คุ้มเสีย ไม่ต้องกลัวจะถูกกล่าวหาว่าเป็นเมียเช่า หรือหญิงขายบริการ เพราะผู้หญิงอย่างเดือน หรืออยู่ในฐานะชนชั้นอย่างเดือน คงพูดภาษาอังกฤษได้ถูกต้องตามแกรมมาร์ (ในกรณีที่ผัวฝรั่งพูดไทยไม่ได้ ) เหมือนกับผู้หญิงในอีกชนชั้น สิ่งที่เดือนคิด หรือผู้หญิงในชนชั้นอย่างเดือนคิด คือรักแท้ดั่งเทพนิยายของชนชั้นกลางก็เท่านั้น


การมีผัวฝรั่งของหญิงไทย จึงไม่ได้สะท้อนเพียงแค่ " ความรัก " ที่ข้ามชาติพันธุ์อย่างกรณีของเขยมะริกันเพียงเท่านั้น และดูเหมือนว่า คำว่าความรักของหญิงไทยชายฝรั่ง ที่เป็นความรักในนิยาม อันแสนหวาน ดั่งในเพลงที่ร้องว่า รักไม่มีพรมแดน รักไม่มีศาสนานั้น คงเป็นความรักที่ถูกจำกัดไว้เพียงแค่ชนชั้นกลางเพียงเท่านั้น และในเขยมะริกันเอง ก็ได้สะท้อนความคิดที่นักวิชาการหลายคนได้ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า ความรู้สึกที่เรียกว่าความรักนั้น ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของมนุษยชาติภายหลังจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นยุคที่ได้ก่อกำเนิดชนชั้นใหม่ คือชนชั้นกลาง ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดี มีเวลาว่างเหลือเฟือที่พอจะคิดประดิษฐ์อารมณ์ที่เรียกว่า " รัก " ขึ้นมา


ดิฉันดูเรื่องเขยมะริกันจบ ดิฉันก็พลอยหดหู่ใจในเมื่อความจริงระหว่างหญิงไทยกับชายฝรั่ง มันไม่ได้มีเพียงมิติเดียว และการตอกย้ำภาพแห่ง ความสัมพันธ์ของหญิงไทยชายฝรั่งภายใต้ความรู้สึกที่เรียกว่ารักนั้นให้แตกต่างกัน โดยชนชั้นทางเศรษฐกิจ สังคมของผู้หญิงไทย ผู้หญิงในอีกชนชั้นหนึ่งจึงสามารถจะมีภาพความรักที่แสนหวาน โรแมนติกเหมือนในอีกชนชั้นได้ การมีผัวฝรั่งของอีกชนชั้นหนึ่งจึงกลายเป็นเพียงการเลื่อนชั้นทางเศรษฐกิจ โดยที่ผู้หญิงเหล่านั้นก็อาจจะถูกกล่าวหาว่าเป็นหญิงขายบริการไป


ดิฉันก็เลยกังวลใจว่า ในกรณีของตัวเอง สังคมจะตัดสินว่าอย่างไร ระหว่างผู้หญิงที่มีการศึกษา พูดภาษาอังกฤษได้รักกับหนุ่มชาวต่างชาติ หรือว่าจะเป็นหญิงขายบริการที่อยากจับฝรั่ง เพราะอยากรวย เพราะดิฉันก็ไม่แน่ใจว่า ถึงแม้ดิฉันจะเรียนจบมหาวิทยาลัย แต่มันก็ไม่ได้มีป้ายแขวนคอ เมื่อพิจารณาจากรูปร่างหน้าตาของดิฉันแล้ว ก็คงจะอยู่ในกรณีหลังมากกว่า เอ หรือว่าดิฉันจะต้องแต่งชุดนักศึกษาตลอดเวลา ช่วยดิฉันคิดหน่อยนะคะ คุณผู้อ่านที่รักขา