Skip to main content

นับอายุวันโลกร้อนที่กบในน้ำร้อนตาย

คอลัมน์/ชุมชน

เชียงใหม่ได้รับผลกระทบภาวะโลกร้อนแล้ว หัวข้อข่าวมติชนที่ส่งเข้ามาทางโทรศัพท์มือถือเมื่อวานนี้ ทำให้หลานชายวัยสิบขวบตื่นเต้นกับข่าวนี้มาก ถึงขั้นขอส่งข้อความไปให้พ่อของเขาอ่านทันทีในขณะที่พ่ออยู่นอกบ้าน

ไม่น่าเชื่อว่า ข่าวเรื่องภาวะโลกร้อนทำให้เด็กในชนบทตื่นกลัวและตระหนักในเรื่องนี้ ฉันบอกเขาว่าที่ไหนก็ได้รับผลกระทบทั้งนั้นแหละ
"
ส่งข้อความกลับไป เราก็เสียเงินไหม" เขาถามก่อนที่จะกดหมายเลขส่ง
"
เสียสามบาท"
"
งั้นไม่ส่งดีกว่า รอกลับมาก่อนค่อยบอกก็ได้"


หลานชายเป็นเด็กรุ่นใหม่ที่มักจะรออะไรไม่ค่อยได้ อย่างเช่น เมื่อเขาใช้คอมพิวเตอร์ เขาจะไม่สามารถรอจนโปรแกรมที่เลือกเปลี่ยนได้ เขาจะต้องเข้าไปดูอย่างอื่นก่อนในระหว่างรอโหลด และจะบ่นว่ามันช้า ช้า ดังนั้นการรอโดยไม่ต้องเสียเงินสามบาทถือว่าเป็นเรื่องน่ายินดี แสดงว่าเขายังรอได้อยู่


ฉันบอกเขาว่า "ภาวะโลกร้อนมันส่งผลกระทบไปทั่วแหละ ป้ามีสารคดี เรื่องภาวะโลกร้อน An Inconvenient Truth โลกร้อน...ความจริงที่ไม่มีใครอยากฟัง จะดูไหม"


ฉันเล่าให้เขาฟังว่า คนที่ดูเรื่องนี้แล้ว บางคนอยากตายไปเสียก่อนจะถึงวันนั้น แต่บางคนบอกว่า อยากจะทำอะไรสักอย่างที่หยุดมันไว้ เช่นช่วยดูแลไม่ให้โลกร้อนจนถึงวันล่มสลาย และมีบางคนบางกลุ่มบอกว่า ไม่อยากดูไม่อยากรับรู้อะไรจะเกิดก็ช่างมัน


ป้าไปถามอาจารย์ท่านหนี่งว่า ท่านดูแล้วอยู่ในกลุ่มไหน ท่านบอกว่าไม่คิดฆ่าตัวตาย ไม่คิดจะตายไปแต่คิดว่าจะอยู่ให้ถึงวันนั้น "กลุ่มที่น่าสนใจที่สุดคือกลุ่มที่รู้สึกว่าต้องทำอะไรสักอย่าง เขาบอกให้รู้เพื่อให้ช่วยกัน"


ป้าถามต่อว่าช่วยอย่างไรเล่าอาจารย์ "เริ่มจากตัวเองนั่นแหละ บางคนไม่เชื่อว่า ถ้าเราใช้พลังงานน้อยลงจะช่วยได้ เราทุกคนใช้พลังงานน้อยลง ลองคิดดูว่าอะไรที่เราใช้ได้น้อยลงบ้าง" แกทิ้งคำถามแบบครูเก่า


"เช่นใช้ไฟน้อยลง สร้างบ้านที่รับแสงได้ไม่ต้องเปิดไฟ สร้างห้องน้ำที่ไม่ต้องใช้ไฟ ถ้าทำได้ใช้รถน้อยลง ใช้รถประจำทาง หรือหากว่าใกล้ ๆ ก็ใช้จักรยาน เมื่อจะซื้อสินค้าก็ดูด้วยว่าสินค้านั้น ๆ ผลิตโดยอะไรใช้ไหม"
"
ใช่" อาจารย์พยักหน้า


ในขณะที่คุยอยู่กับอาจารย์ เราอยู่กันที่ร้านหนังสือ ชื่อร้านเล่า มีน้องคนหนึ่งนั่งอยู่ด้วย เขาพูดขึ้นว่ามันไม่พอหรอก ในขณะที่โรงงานปล่อยก๊าซคาร์บอนออกมามากมาย รัฐปล่อยให้ห้างสรรพสินค้าขึ้นมาทุกมุมเมือง ขายกันทั้งวันทั้งคืน โรงแรมเปิดไฟกันสนั่น สถานที่ราชการอัก และจะให้เราปิดไฟที่ละดวงสองดวง ยังไม่พอรัฐบาลก็ยังพยายามจะสร้างโรงงานถ่านหินลิกไนท์ที่เชียงใหม่อีก อ้างงว่าเป็นพลังสะอาด ไปดูที่จีนซิสะอาดตายแหละ

ป้าก็เห็นจริงกับน้องเขา แต่อาจารย์ท่านว่า "เราก็คิดเสียอย่างนี้แหละ ไปกล่าวโทษคนอื่นก่อน คิดว่าตัวเองไม่ใช่ เราต้องมาดูที่ตัวเราก่อนว่าเราทำอะไรบ้าง ถ้าใครก็คิดจากตัวเอง ทำที่ตัวเองก่อน เริ่มจากเรานี่แหละ"
"
ผมว่ามันต้องนโยบายของรัฐนะ"


หลานชายถามว่า ป้าคิดอย่างไร คิดแบบอาจารย์หรือคิดแบบไหน ฉันบอกหลานทันทีว่าคิดเห็นด้วยกับน้องเขา แต่คิดว่าแบบอาจารย์ทำได้ง่ายกว่าและควรทำเลย เพราะเมื่อถึงวันนั้น เราก็จะได้ไม่เสียใจว่าทำไมเราไม่ทำอะไรเลย


ภาระโลกร้อน ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ หรอกนะ นักวิทยาศาสตร์เขาว่า ประมาณสิบห้าปี ไม่เกินยี่สิบปี จะเกิดภัยพิบัติ สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง ส่งผลให้เกิดปัญหาน้ำอุปโภคบริโภค พายุฤดูร้อน น้ำท่วม ภาวะแห้งแล้ง โลกภัยไข้เจ็บ พืชและสัตว์สูญพันธ์ น้ำทะเลจะขึ้นสูงอีก1เมตร และเหตุการณ์ดังกล่าวคาดว่าจะเกิดขึ้นในทศวรรษนี้โดยครึ่งหนึ่งจะเกิดขึ้นแถบเอเซีย โดยเฉพาะในพื้นที่ประเทศไทย จะอยู่ในช่วงระหว่าง 15 ปี และช้าสุดไม่เกิน 20 ปี ในเขตกทม. ก็จะใช้น้ำประปาไม่ได้ เพราะน้ำทะเลหนุนสูงและทะลักเข้าสู่คลองประปา


ฉันอยากรู้ว่าเด็ก ๆ อย่างเขาจะคิดอย่างไร จึงไปหา An Inconvenient Truth โลกร้อน...ความจริงที่ไม่มีใครอยากฟัง ฉบับบรรยายไทยมาให้ดู


หลานสาวอายุ 4 ขวบ เธอชอบดูตอนกบที่กระโดดเข้าไปในอ่างน้ำร้อนและรีบกระโดดออกมาอย่างเร็ว กับกบที่อยู่ในอ่างนั้น และน้ำค่อย ๆ อุ่นขึ้น จนร้อนแต่กบไม่รู้ตัว และคงอยู่เช่นนั้นต่อไปจนมีมือมาช่วยกบออกมาจากอ่างน้ำร้อนได้


เธอขอดูสองครั้ง เธอหัวเราะทุกครั้งที่มีคำบรรยายว่า เรื่องช่วยกบเป็นเรื่องสำคัญ หลานสาวถามเสียงใสว่า ทำไมต้องช่วยกบ


พี่ชายวัยสิบเอ็ดขวบอธิบายว่า เขาแค่เปรียบเทียบให้เห็นว่ากบก็เหมือนเรา อยู่ในโลกที่ค่อย ๆ ร้อนขึ้น และเราก็ทนได้ทนได้ มันร้อนขึ้นเรื่อย ๆ เราก็เหมือนกบที่อยู่ในอ่างน้ำที่ร้อนขึ้นเรื่อย ๆ จนตายถ้าไม่มีใครมาช่วย


"เรา ไม่ใช่กบ เรื่องไรเขาจะนั่งอยู่ในน้ำร้อน" หลานสาวว่า
"
เออ เราปิดไฟอีกดวงดีกว่า ช่วยลดภาวะโลกร้อน" ฉันบอกหลานชาย ก่อนเอื้อมมือไปปิดไฟ ดูหนังสารคดีต่อ
"
ดวงเดียวนี่น่า บ้านเราดวงเดียว"
"
ก็ใช่ ถ้าหลาย ๆ บ้าน และทุก ๆ วัน"


ตอนสุดท้ายของหนัง เขาบอกว่า เราลองสำรวจดูว่าเราทำอะไรได้บ้าง ถ้าเราทำได้ก็ทำ เช่นใช้รถน้อยลง ใช้ไฟน้อยลง ก่อนจะซื้อสินค้าดูว่าบริษัทที่ผลิตห่วงใยธรรมชาติแค่ไหน ปลูกต้นไม้ให้มากที่สุด ฯลฯ และท้ายที่สุด มอบหนังสารคดีเรื่องนี้ให้คนที่คุณรู้จักดู


"ป้า ป้ายังจะติดเครื่องทำน้ำอุ่นอยู่หรือเปล่า" หลานชายถามเพราะฉันให้ช่างไฟมาเดินสายไฟสำหรับเครื่องทำน้ำอุ่น ฉันบอกหลานว่า กำลังคิดอยู่ ถ้าไม่ติดจะได้ไหม เราอยู่แบบไม่มีน้ำอุ่นมาได้ตั้งหลายปีแล้ว หรือว่าเราจะติดเครื่องทำน้ำอุ่นแต่เราก็ไม่เปิดทุกครั้งแต่ใช้เท่าที่จำเป็นเช่นช่วงหนาวมาก ๆ ก็ได้เหมือนกัน


อยู่ ๆ หลานชายก็พูดขึ้นมาว่า "อีกสิบห้าปีถึงยี่สิบปีเองเหรอป้า ซันก็อายุยี่สิบหกหรือสามสิบปี" หลานชายนับอายุตัวเอง ฉันก็แอบนับอายุตัวเองเหมือนกันถ้าถึงวันนั้น ฉันจะอายุห้าสิบกว่าปี


หลานสาวกลับมาถามว่า อะไรกบนะเหรอ กบในน้ำร้อนจะตายไหม