Skip to main content

พญามังรายสร้างเมืองเชียงราย (3)*

คอลัมน์/ชุมชน


ท้าวรุ่งแก่นชาย เมื่อกระทำมงคลแก่หลานแล้ว ก็เมือกลับคืนไปยังเมือง(เชียงฮุ่ง)แห่งตน


ส่วนเจ้าลาวเม็ง อายุ 35 ปี เป็นพญาแทนพ่อได้ 40 ปี อายุ 75 ไปสู่ปรโลก เจ้าราชบุตรมังรายอายุได้ 21 ปี ได้เป็นพญากินเมืองเงินยางแทนพ่อในปีกัดเม็ด จุลศักราช1 621


หลังจากพิธีมุทธาภิเสกแล้ว พญามังรายได้ยินข่าวว่า ท้าวพญาทั้งหลายที่อยู่ในประเทศใกล้เคียง ต่างต่อสู้แย่งชิงไพร่ไท ที่ดิน ไร่นา ต่างคนต่างอ้างว่าเป็นของตน ย่อมทำให้ประชารัฐทั้งหลายเป็นทุกข์ พญามังรายคิดว่า บ้านเมืองใดมีผู้เป็นใหญ่หลายคนเป็นทุกข์แก่ไพร่ไทนัก


ท้าวพญาทั้งหลายเหล่านี้ แม้จะเป็นเชื้อชาติปู่หม่อนเจ้าพญาลวจังกราช แต่เป็นเชื้อสายเจ้าลาวครอบ ลาวช้าง ซึ่งไม่ได้ผ่านพิธีมุทธาภิเสก ไม่เหมือนกับสายเจ้าพญาลาวเก้ามาตราบต่อเถิงกู อันเครื่องราชภิเสก ดาบไชย หอก และมีดสรีกัญไชย แก้วแสงอันอุดม เป็นของตั้งแต่ปู่เจ้าลาวจงมา กูก็ได้ทรงมาต่อทุกอย่าง พวกพญาอยู่เมืองใกล้กู บ่อมีผู้ใดได้น้ำมุทธาภิเสกรดหัวดั่งกูสักคน ควรกูไปรบเอาเมืองเขาทั้งหลายฝูงนี้


พญามังรายเอารี้พลช้างม้าเสนาโยธา ไปประจญปล้นเอาเมืองแห่งหนึ่ง แล้วตั้งลูกขุนอยู่รักษาเมืองนั้นชื่อเมืองมอบ จากนั้นไปปล้นอีกเมือง เจ้าเมืองพาครอบครัวหนีไป พญามังรายไล่ตามไปไล่เอาได้ฆ่าเสีย แล้วแต่งให้ลูกขุนรักษาเมืองนั้นชื่อเมืองไล่ อีกเมืองหนึ่ง พญามังรายไปปล้นได้ยามตะวันค่ำ2 แล้วแต่งลูกขุนรักษาเมืองชื่อว่าเมืองเชียงค่ำ


ส่วนอีกเมือง เมื่อพญามังรายยกทัพไปปล้นเมือง พวกคนในเมืองร้องว่า เป็นเชื้อปู่เจ้าลาวช้าง แล้วแต่งเครื่องบรรณาการออกต้อนรับพญามังราย เรียกว่าเจ้าเหนือหัว จงไว้ชีวิตพวกข้าทั้งหลายเถิด หากมีการสงคราม ก็จักขออาสาแก่เจ้าเหนือหัว พญามังรายรำพึงว่า แม้เป็นเชื้อสายปู่เจ้าลาวช้าง แต่ก็มีความเคารพยำเกรงกู จักละเมืองนี้ไว้ให้เขาเป็นข้าอาสาแก่กู เมืองนี้ได้ชื่อว่าชนช้าง ต่อมาภายหลังเรียกเมืองเชียงช้าง คำว่าเจ้าเหนือหัวเกิดแต่นั้นมา พญามังรายแต่งตั้งให้ผู้กินเมืองเชียงช้างนั้น ไปติดตามชาวเมืองที่พ่ายหนีไป จนถึงเมืองเก่าชื่อเมืองลาวพูเต่าร้อย แล้วสร้างเมืองที่นั่นชื่อเต่าร้อยยามดี


สร้างเมืองเชียงราย


.. 1805 พญามังรายได้ลูกชายผู้หนึ่งชื่อขุนเครื่อง อยู่ไม่นาน ช้างมงคลเจ้ามังรายไปหัวดอยต้าน ตะวันออก เจ้าไปตามรอยช้าง เห็นประเทศหนึ่งริมแม่น้ำกก มีม่อนดอยสูงงามนัก คำนึงในใจว่าเมื่อปู่กูเจ้าลาวจงสร้างบ้านให้เจ้าลาวเก้า ก็อยู่ที่ดอยเผาเลา เมื่อปู่กูเจ้าลาวเคียงสร้างเมืองก็อยู่เชิงดอยทั้งสาม คือ ดอยทุง ดอยทา ดอยย่าเถ้า ด้วยเหตุดังนั้น ควรกูกระทำม่อนดอยให้เป็นสะดือเมือง3 แล้วสร้างเวียงรอบดอยจอมทอง4 สร้างเสร็จในปี พ.. 1805/1806 ชื่อเมืองเชียงราย5


สามปีต่อมา เจ้าได้ลูกชายอีกคนหนึ่งชื่อว่า เจ้าขุนคราม ประมาณปีพ.. 1811/1813 เจ้ามังรายไปอยู่เมืองฝาง6ได้หนึ่งปี จากนั้นเอารี้พลไปปล้นเอาเมืองผาแดงเชียงของ7 ซึ่งลูกหลานลาวครอบสร้างไว้ เมื่อได้เมืองแล้ว พญามังรายแต่งลูกขุนกินเมือง แล้วคืนกลับมาอยู่เมืองฝางเลี้ยงดูเสนาอมาตย์ และได้ลูกชายอีกผู้หนึ่ง ใส่ชื่อว่าเจ้าขุนเครือ


ขุนเครืออายุได้ 6 ปี พญามังรายอายุได้ 36 เอารี้พลไปปล้นเอาเมืองเซริง8 ได้เมืองแล้วแต่งลูกขุนกิน แล้วคืนมาเมืองฝางเลี้ยงดูเสนาอมาตย์ได้สามวันสามคืน แล้วพญามังรายเสวยราชย์ด้วยสวัสดี มีการค้าขายอยู่ดี


***ภาพพระธาตุดอยจอมทอง เชียงราย จาก www.nairobroo.com



1*สรุปถอดความจาก ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ โดย อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว และ เดวิด เค วัยอาจ (David K. Wyatt) ซิลค์เวอร์มบุคส์ 2543 เดวิด วัยอาจ (ในหนังสือ Thailand: A Short History (ประวัติย่อเมืองไทย) ปี ค.. 1984) อธิบายว่า จุลศักราชเทียบเป็นคริสต์ศักราช(..) ได้โดยบวกกับตัวเลข 638 ในที่นี้เมื่อเทียบเป็น ค.ศ คือ ปีค.. 1259 (.. 1802)



2 อรุณรัตน์สันนิษฐานว่า เมืองเชียงคำ ในอ.เชียงคำ จ.พะเยา อาจจะเป็นเมืองโบราณในสมัยพญามังรายก็เป็นได้



3 จากคำอธิบายของอรุณรัตน์ การสร้างเมืองของชนเผ่าไท(ไต) ทุกเมืองส่วนใหญ่แล้วจะมีการสร้างศุนย์กลางเมือง ซึ่งมีชื่อเรียกต่างกันไปแต่ละกลุ่ม เช่น สะดือเมือง ในเมือง หรือเสาหลักเมือง เมืองเชียงใหม่มีสะดือเมืองแลเสาอินทขิลเป็นศูนย์กลางเมือง ส่วนคำว่าใจเมืองยังปรากฏหลักฐานเรียกศูนย์กลางเมืองที่พะยาก เมืองเชียงตุง รัฐชานประเทศพม่า และเมืองขอน (เมืองมั่งซือ) ในแคว้นใต้คง (Dehong) ในมณฑลยูนนาน ประเทศจีน



4ดอยจอมทอง ตั้งอยู่ติดกับแม่น้ำกก อ.เมือง จ.เชียงราย อรุณรัตน์อธิบายว่า พญามังรายสร้างแพงเมืองโอบล้อมรอบดอยจอมทองปัจจุบันยังปรากฏร่องรอยของแนวกำแพงเมืองเดิมเป็นหลักฐานอยู่



5 เดวิด วัยอาจ ในหนังสือ Thailand: A Short History (ประวัติย่อเมืองไทย) ปี ค.. 1984 ระบุว่าพญามังรายสร้างเมืองเชียงรายในปี ค.. 1262 (.. 1805) ส่วน Hans Penth (เจ้าของต้นฉบับใบลาน ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ที่อรุณรัตน์ และ เดวิด วัยอาจ ร่วมกันแปล) ระบุว่าพญามังรายสร้างเมืองเชียงรายปี ค.. 1263 (จาก Hans Penth "A brief history of Lanna" (ประวัติล้านนาโดยย่อ) ในหนังสือ Regions and National Integration in Thailand 1892-1992 (ภูมิภาคและนโยบายรวมพวกในประเทศไทย พ.. 2435-2535) Victor Grabowsky บรรณาธิการ)


เชียงรายปัจจุบันมีฐานะเป็นจังหวัดหนึ่งในภาคเหนือ อรุณรัตน์อ้างถึงเอกสารจีนสองฉบับ คือ พระราชพงศาวดารราชวงศ์หยวนใหม่ และ พระราชพงศาวดารราชวงศ์หมิง ว่าบันทึกไว้ว่า เมืองเชียงรายเป็นเมืองหลวงของปาไป่สีฟู (เมืองที่กษัตริย์มีชายา 800 คน) อรุณรัตน์ยังอ้างถึงเอกสาร ประวัติศาสตร์ราชวงศ์มังรายจากเอกสารจีน (โดย ต้วน หลีเซิง และอุษณีย์ ธงไชย) ซึ่งอธิบายว่า เชียงราย หมายถึง เมืองนา หรือเมืองที่มีนาปลูกข้าว



6 จากคำอธิบายของอรุณรัตน์ เมืองฝาง(. ฝาง จ.เชียงใหม่) ปัจจุบันมีแนวกำแพงเมืองบางส่วนเหลืออยู่ และบริเวณใกล้เคียงมีเมืองโบราณถึง 6 เมือง ทำให้ไม่ทราบแน่ชัดว่า เมืองฝางที่ปรากฏในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ฉบับนี้หมายถึงเมืองใด หรือมิใช่เมืองใดเลยก็อาจเป็นได้



7 คืออำเภอเชียงของ จ.เชียงราย – อรุณรัตน์



8 อรุณรัตน์อธิบายว่า เมืองเซริง เมืองเธิง หรือเมืองเทิง เป็นเมืองเดียวกัน ปัจจุบันตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำอิงในเขตอำเภอเทิง จ.เชียงราย จากการสำรวจในเมืองนี้ยังพบซากกำแพงเมืองบางส่วน จารึก และวัดร้างหลายแห่งในบริเวณใกล้กับแม่น้ำอิง