Skip to main content

ปลอดภัยแค่ไหนให้พูดเรื่องเพศ

คอลัมน์/ชุมชน

เคยจัดหรือเคยผ่านกิจกรรมแนะนำตัวเองผ่านกรุ๊ปเลือดและวันเกิดกันไหมคะ?

กิจกรรมนี้มีเป้าหมายให้ผู้เข้าร่วมทำความรู้จักกันผ่านกรุ๊ปเลือดหรือวันเกิดวันเดียวกัน เพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้ทำความรู้จักกับคนอื่นมากกว่าชื่อหรือหน่วยงานที่แต่ละคนสังกัดอยู่

นึกสงสัยกันไหมว่า เวลาเราอยากให้คนอื่นรู้จักเรา ทำไมเราเลือกจะบอกแต่เพียงด้านดีๆ ของตัวเอง ส่วนด้านที่ไม่ดี เราไม่ค่อยอยากบอกคนอื่น? เป็นคำถามที่ฉันถามกับกลุ่มเพื่อนจากเครือข่ายเอดส์และยาเสพติดที่จัดกิจกรรมเรียนรู้เรื่องเพศไปเมื่อกลางเดือนเมษายนปีนี้

"
มันก็ต้องดูก่อนว่าคนที่เราคุยด้วยนั้น เป็นคนที่เราจะพูดได้แค่ไหน ถ้าเราไม่คุ้นเคยกันมาก่อน ถ้าผมบอกว่านกเขาผมไม่ขัน พูดไปแล้วเขาจะมองเราอย่างไร กลายเป็นดาบสองคมกลับมาที่เราหรือเปล่า เขาจะเอาเรื่องที่เราพูดไปพูดต่อกับคนอื่นไหม"

"
ถ้าพูดกับคนเพศเดียวกัน ก็พอจะพูดได้ แต่ถ้าไม่ใช่ก็ลำบากหน่อย"

นั่นเป็นเพราะพวกเรารู้สึกถึงความไม่ปลอดภัยที่จะเกิดขึ้น โอกาสที่เราจะเรียนรู้ถึงความเสี่ยงและความปลอดภัยชีวิตทางเพศจากตัวเราเองจึงแทบไม่เกิดขึ้น มีเงื่อนไขทางสังคมและวัฒนธรรมมากมายที่ทำให้เรารู้สึกไม่ปลอดภัยที่จะพูด ความรู้สึกนี้เกิดขึ้นได้กับทุกคน เพราะทุกคนก็มีชีวิตทางเพศทั้งในด้านที่สุขหรือทุกข์ ด้านที่เปิดเผยหรือด้านที่ต้องปกปิด

ฉันขอย้อนกลับไปเล่าประสบการณ์เรียนรู้ของผู้หญิงที่รวมตัวกันในชื่อคณะทำงานเรื่องผู้หญิงในงานเอดส์ ที่เติบโตมาจากพื้นฐานของกลุ่มคนที่มีปัญหาเดียวกัน จนพัฒนามาเป็นสำนึกร่วมของความเป็นผู้หญิงด้วยกัน เป็นจุดเริ่มต้นความไว้วางใจให้เรียนรู้เรื่องเพศจากตัวตนด้านในตัวเอง เมื่อได้ลองเริ่มพูดเรื่องเพศจากเรื่องของตัวเอง จึงเริ่มมองเห็นเงื่อนไขทางสังคมและวัฒนธรรมที่ทำให้ผู้หญิงเปราะบางต่อการติดเชื้อเอชไอวี จากบทบาทของการเป็นลูกสาว เป็นเมีย และแม่ที่ดี  ที่ผูกโยงบทบาทไว้กับค่านิยมให้ รักนวลสงวนตัว ผัวเดียวเมียเดียว ขณะเดียวกัน ประสบการณ์เรื่องเพศของผู้หญิงไม่ได้อยู่ในกรอบอุดมการณ์ทางเพศที่สังคมอยากให้เป็นเสมอไป การแบ่งปันประสบการณ์บางเรื่องที่ไม่เคยถูกเปิดเผยให้ใครรู้มาก่อนจึงเกิดขึ้น

"
ฉันเคยถูกข่มขืน เรื่องของฉันถูกเพื่อนร่วมงานเล่ากันปากต่อปาก ฉันต้องลาออกจากที่นั่น เพราะอาย"

"
ไม่กล้าบอกแฟนใหม่ให้ใช้ถุงยางอนามัย กลัวเขารู้ว่าฉันติดเชื้อ"

"
ฉันแต่งงานแล้ว แต่ยังมีความสัมพันธ์กับแฟนคนแรกอยู่ ฉันต้องปิดเรื่องนี้เป็นความลับไม่ให้สามีรู้ ฉันไม่อยากเลือกคนใดคนหนึ่ง...ฉันรักเขาทั้งสองคน"

เรื่องราวเหล่านี้พรั่งพรูออกมาจากผู้หญิงทั้งที่ไม่ได้รู้จักหรือสนิทสนมคุ้นเคยกันมาก่อน คงเป็นเพราะเริ่มมีความไว้วางใจจากการพบกันในหลายๆ เวที เมื่อมีคนหนึ่งกล้าเล่า อีกหลายคนจึงเริ่มกล้าที่จะแลกเปลี่ยนเรื่องราวของตัวเองกับคนอื่น นั่นจึงเป็นที่มาของการสร้างกติการ่วมกันให้เกิดความมั่นใจว่า พื้นที่นี้ต้องมีความปลอดภัยให้ได้พูดเรื่องเพศของตัวเองได้โดยไม่ถูกเพื่อนตำหนิหรือตัดสิน  โดยมีหลักการสำคัญร่วมกันว่า

*
ประสบการณ์ของทุกคนจะเก็บไว้เป็นความลับ ไม่นำเอาประสบการณ์และชื่อของเพื่อนไปพูดคุยกับคนอื่นนอกวงให้เกิดความเสียหายในภายหลัง
*
ยอมรับความคิดเห็น และเคารพความคิดความเชื่อที่แตกต่างกัน ในระหว่างการพูดคุยสนทนา ไม่แสดงอาการคุกคามหรือก้าวร้าวกับคนอื่นที่คิดหรือเห็นต่างออกไป เมื่อพูดไปแล้วไม่ถูกเพื่อนโน้มน้าวว่าควรจะเป็นแบบนั้นแบบนี้ อย่างนี้ไม่ควรทำ พฤติกรรมนี้ไม่ดี แต่เข้าใจในสิ่งที่เพื่อนคิดและตัดสินใจ แม้จะอยู่บนพื้นฐานความคิด ความเชื่อ และการให้คุณค่าที่ต่างกันก็ตาม
*
เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่แบ่งแยกความสัมพันธ์ว่าใครเป็นแกนนำ เป็นพี่เลี้ยง เป็นผู้ติดเชื้อ/ไม่ติดเชื้อ เป็นหัวหน้าเป็นลูกน้อง แต่ความสัมพันธ์นั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานความเป็นมนุษย์ที่เสมอกัน
*
การเรียนรู้ที่เริ่มต้นจากการพูดเรื่องเพศของตัวเอง ไม่ใช่พูดจากเรื่องของคนอื่น  จึงไม่ต้องการให้มีใครมานั่งสังเกตการณ์ หูคอยผึ่งฟังและจดบันทึกเรื่องราวของคนอื่นโดยไม่ยอมแลกเปลี่ยนเรื่องตัวเอง

เมื่อโครงการสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศเพื่อป้องกันเอดส์ นำแนวคิด "พื้นที่ปลอดภัยให้พูดเรื่องเพศ" ไปพัฒนาเป็นกระบวนการทำงานเพื่อเรียนรู้เรื่องเพศร่วมกับคนทำงานใน 6 เครือข่าย ประกอบด้วย เครือข่ายเอดส์และยาเสพติด เครือข่ายความหลากหลายทางเพศ เครือข่ายเยาวชน เครือข่ายแรงงานข้ามชาติ เครือข่ายชาติพันธุ์ และคณะทำงานเรื่องผู้หญิงในงานเอดส์ ที่แต่ละคนย่อมมีตัวตนทางเพศที่ถูกหล่อหลอมมาจาก อายุ เชื้อชาติ เพศและความหลากหลายทางเพศ ศาสนา ปรัชญา ความเชื่อ วัฒนธรรมและภาษา สภาพเศรษฐกิจและสังคม

"
แรงงานมอญ อธิบายว่า หญิงก็คือหญิง ชายก็คือชาย เปลี่ยนแปลงไม่ได้"

"
พูดกันแต่เรื่องเพศทั้งวัน สงสัยวันนี้ซื้อหวยไม่ถูกแน่ๆ ทำมาค้าขายก็ไม่ขึ้น"

เรื่องราวเหล่านี้เป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งของการเรียนรู้เรื่องเพศในสังคมไทย  คงจะดียิ่งไปกว่านี้หากสังคมมีพื้นที่ปลอดภัยให้ทุกคนค้นหาความเข้าใจเรื่องเพศจากตัวเอง มองเห็นความเสี่ยงความเปราะบางต่อการรับเชื้อเอชไอวี  ซึ่งเป็นจุดริเริ่มให้ทุกคนป้องกันจากตัวเองมากกว่าจะคาดหวังความปลอดภัยจากคนอื่นในที่สุด

หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสร้างเสริมสุขภาพทางเพศเพื่อป้องกันเอดส์ ซึ่งได้นำไปเผยแพร่ในงานสัมมนาระดับชาติเรื่องโรคเอดส์ ครั้งที่ 11 ระหว่างวันที่ 4-6 กรกฏาคม 2550